“เมื่อความล้มเหลวของการบริหารจัดการ และรับมือกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นเกินจะเยียวยาได้ ทำให้เราแทบไม่เหลือทางเลือกและมองเห็นว่าชีวิตคนไทยไปจบที่จุดไหน”
เราคิดในใจขณะที่มือกำลังพิมพ์ ตากำลังเรียบเรียง สมองกำลังประมวลผล
Recap โควิด-19 ในประเทศไทย
สำหรับการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว (2563) ด้วยสายพันธ์ุดั้งเดิมคืออู่ฮั่นสายพันธ์ุ S ส่วนสายอู่ฮั่นพันธ์ุ L เดินทางไประบาดยังแถบยุโรป จากนั้นได้กลายพันธ์ุเป็นสายพันธ์ุ G และแน่นอนการกลายพันธ์ุแปลอีกอย่างคือการวิวัฒนาการ หมายความว่า ไวรัสได้พัฒนาศักยภาพขึ้นมีคุณสมบัติแพร่ระบาดได้ง่าย และรวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิม จึงระบาดไปทั่วโลกทำให้สายพันธ์ุ G เข้ามาแทนโควิด-19 สายพันธ์ุดั้งเดิมไปโดยปริยาย
เมื่อโควิด-19 เดินทางไปกลายพันธ์ยังฝั่งยุโรป จึงเกิดเป็นสายพันธ์ุใหม่ขึ้น 2 สายพันธ์ุต่างพื้นที่กัน คือ สายพันธ์ุแอฟริกาใต้ (Beta) มีความสามารถแพร่กระจายไม่เร็วเท่าสายพันธ์ุอังกฤษ (Alpha) ที่สามารถแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธ์ุอื่นๆ 40-70 เปอร์เซ็นต์ และยังทำให้เกิดการเสียชีวิตที่มากขึ้น จึงเข้ามาแทนที่สายพันธ์ุ G อย่างรวดเร็ว ซึ่งสองสายพันธ์ุนี้ได้เข้ามาระบาดในประเทศไทยในระลอกที่ 2 และ 3 ตามลำดับ
ยังมีสายพันธ์ุ B.1.36.16 ที่ระบาดในช่วงต้นปีนี้ โดยเดินทางมาจากเมียนมา และคาดว่าจะกลายเป็นสายพันธ์ุประจำถิ่นในไทย ไวรัสสายพันธุ์นี้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ ส่วนสายพันธ์ุที่กรมการแพทย์กำลังเป็นกังวลคือ สายพันธ์ุอินเดีย (Delta) ที่มีอัตราการแพร่ระบาดที่เร็วกว่าสายพันธ์ุ Alpha ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน ซึ่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้คาดการณ์ไว้ว่ามีโอกาสแพร่กระจายแซงสายพันธ์ุ Alpha ภายใน 3 เดือนนี้ ที่มาพร้อมลูกน้อย Delta Plus ที่สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ง่ายกว่าเดิม และยังมีสายพันธ์ุบราซิล (Gamma) ที่มีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน และลดประสิทธิภาพวัคซีนลงไปอีก
แม้ล่าสุดจะมีสายพันธุ์ที่กำลังมาแรงแซงเพื่อน คือสายพันธ์ุแลมป์ดา (Lambda) ที่มีการกลายพันธุ์ซับซ้อนกว่า สามารถแพร่เชื้อได้เร็วกว่าเดลตา ซึ่งองค์กรอนามัยโลกจัดให้เป็นสายพันธ์ุที่น่าสนใจ แต่ยังไม่น่ากังวลเนื่องจากยังไม่มีข้อมูลบ่งบอกว่ารุนแรงกว่าสายพันธ์ุเดลตาในตอนนี้
นอกจากคุณสมบัติการแพร่กระจายที่พัฒนาได้รวดเร็วแล้ว สิ่งที่น่ากังวลของการกลายพันธุ์ของโควิด-19 นี้คือ ความแข็งแรงของตัวไวรัสที่มีสามารถหลบเลี่ยง หรือต่อต้านภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ แต่ผลการศึกษาจาก PHE มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้ยืนยันแล้วว่า วัคซีนของไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพป้องกันโควิด-19 สายพันธ์ุ Alpha และ Delta ได้เมื่อฉีดครบทั้ง 2 เข็ม
ระยะการฟักตัวของโควิด-19 สายพันธ์ุ Alpha
วันที่ 1-14 ไม่แสดงอาการเมื่อติดเชื้อ
หลังจากได้รับเชื้อระยะแรกพบว่าผู้ป่วยไม่ได้แสดงอาการ ดังนั้น การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในระยะ 14 วันแรกนี้จึงทำได้ยาก แต่ก็เป็นช่วงที่เชื้อไวรัสเพิ่มจำนวนในร่างกายมากที่สุด (ระยะฟักตัว) หากสงสัยว่าตัวเองติดเชื้อ หรือกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงควรไปตรวจรอบแรก และเริ่มกักตัวทันที แล้วปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์
วันที่ 8-14 แสดงอาการระยะแรก
ในระยะแรกที่ผู้ติดเชื้อเริ่มแสดงอาหาร พบว่าผู้ติดเชื้อ 81 เปอร์เซ็นต์ มีอาการไข้ขึ้น ไอแห้ง เมื่อยล้า มีเชื้อโควิด-19 ลงปอด เมื่อตรวจแล้วพบการเกิดจุดขาวพร่าในปอดจำนวนมาก มีเพียง 14 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถึงขั้นวิกฤตจนเกิดภาวะแทรกซ้อนจนจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในห้อง ICU
วันที่ 12-20 อาการในขั้นวิกฤต
จะพบผู้ติดเชื้อจำนวน 5 เปอร์เซ็นต์ที่จะเกิดอาการโคม่า ซึ่งส่วนใหญ่เกิดประมาณวันที่ 16 จะมีภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน รวมถึงระบบอื่นๆ ภายในร่างกายทรุดลงร่วมด้วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวจะเกิดได้มากที่สุด
อาการโควิด-19 สายพันธ์ุ Delta เบื้องต้น
สำหรับผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธ์ุดั้งเดิม มักจะมีอาการคล้ายกับการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ ไอย่างต่อเนื่อง และสูญเสียการรับรู้กลิ่นหรือรสชาติ
ส่วนสายพันธุ์เดลตา อาการสูญเสียการรับรสและกลิ่นจะไม่ได้อยู่ในอาหารป่วยเบื้องต้น 10 อันดับแรกแล้ว แต่อาการป่วยที่พบบ่อยที่สุดสำหรับผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาคือ ปวดศีรษะ เจ็บคอ และน้ำมูกไหล แม้แต่ในกลุ่มวัยที่แข็งแรงอย่างวัยรุ่นถึงวัยหนุ่มสาวก็สามารถมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดรุนแรงได้ ต่อให้ไม่ถึงขนาดล้มป่วยหนักก็ตาม
หน้ากากอนามัยชั้นเดียวเอาไม่อยู่
ผศ. ดร. นพ. สิระ นันทพิศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางคลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกา (CDC) พบว่า การสวมหน้ากากอนามัยสองชั้นสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้มากขึ้นกว่าการสวมชั้นเดียว
โดยให้สวมหน้ากากผ้าด้านนอกทับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (surgical mask) ด้านใน สามารถป้องกันการติดเชื้อได้มากขึ้นถึง 85.4 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากหน้ากากผ้าช่วยเพิ่มความกระชับของหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ สามารถป้องกันรอยรั่วด้านข้างได้ดี
แนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด -19 ฉบับล่าสุด
สำหรับแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์ และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ได้แบ่งกลุ่มตามอาการเป็น 4 กรณี ดังนี้
1. ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ไม่มีอาการอื่น ๆ หรือ สบายดี (Confirmed case: asymptomatic COVID-19)
– แนะนำให้นอนโรงพยาบาล หรือในสถานที่รัฐจัดให้ อย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ
– ดูแลรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เองและอาจได้รับผลข้างเคียงจากยา
2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือโรคร่วมสำคัญ ภาพถ่ายรังสีปอดปกติ (Symptomatic COVID-19 without pneumonia and no risk factors for severe disease)
– ให้ดูแลรักษาตามอาการ ส่วนมากหายได้เอง
– แนะนำให้นอนโรงพยาบาล หรือในสถานที่รัฐจัดให้ อย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่เริ่มมีอาการ หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้นอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง พิจารณาจาหน่ายผู้ป่วยได้
– พิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ตามดุลยพินิจของแพทย์
3. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่มีปอดบวม (Pneumonia) เล็กน้อย ซึ่ง ไม่เข้าเกณฑ์ข้อ 4 (COVID-19 with risk factors for severe disease or having co-morbidity or mild pneumonia) ปัจจัยเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) รวมโรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ โรคไตเรื้อรัง (CKD) โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม) ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และเม็ดเลือดขาวขนาดเล็กลิมไฟไซนท์ (Lymphocyte) น้อยกว่า 1,000 เซลล์/ลบ.มม. หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงของโรคมากขึ้น
– แนะนำให้นอนโรงพยาบาล อย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่เริ่มมีอาการ หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น
– แนะนำให้ยาฟาวิพิราเวียร์เร็วที่สุดนาน 5 วัน หรือมากกว่า ขึ้นกับอาการทางคลินิกตามความเหมาะสม หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
– อาจพิจารณาให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ร่วมกับยาฟาวิพิราเวียร์ในกรณีที่มีผู้ป่วยมีอาการ และภาพถ่ายรังสีปอดที่แย่ลงคือ ในกรณีภาพถ่ายรังสีปอดแย่ลง (progression of infiltrates) หรือค่าการหายใจเข้าเท่ากับ หรือมากกว่า 96 เปอร์เซ็นต์ หรือพบว่ามีค่าออกซิเจนในเลือดลดลงเท่ากับ หรือน้อยกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ ของค่าที่วัดได้ครั้งแรกขณะออกแรง (exercise-induced hypoxia)
4. ผู้ป่วยที่มีการยืนยันว่ามีปอดมีภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน (Hypoxia) หรือเรียกว่าภาวะออกซิเจนลดลง เท่ากับ หรือน้อยกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ของค่าที่วัดได้ครั้งแรกขณะออกแรง หรือ ภาพรังสีทรวงอกมี progression ของ pulmonary infiltrates
– แนะนำให้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก อาจพิจารณาให้ยาโลปินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ (Lopinavir/Ritonavir) 5-10 วัน ร่วมด้วย (ตามดุลยพินิจของแพทย์)
– แนะนำให้ยาคอร์ติสเตียรอยด์
เนื่องจากสถานการณ์การติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นทุกวัน จนทำให้หลายโรงพยาบาลไม่สามารถรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ทุกราย กรมการแพทย์จึงออกมาตรการการรักษาตัวเองเบื้องต้นด้วยวิธี ‘Home Isolation’ สำหรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการป่วยไม่รุนแรงมาก เนื่องจากสามารถหายเองได้
แต่ด้วยสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมากที่ไม่ได้มีพื้นที่บ้านใหญ่โตกว้างขวางนัก ทั้งหลายครอบครัวยังอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ มีคนหลายรุ่นอยู่ร่วมกัน สำหรับเราคาดว่ามาตรการ Home Isolation ไม่น่าจะช่วยบรรเทาความยากลำบากนี้ได้สักเท่าไหร่
ทั้งยังมีผู้ป่วยในภาวะวิกฤตมากมายที่ไม่มีกำลังพอจะจ่ายค่าเตียงในอัตราที่สูงเสียดฟ้า ทำได้เพียงรอความตายอยู่ที่บ้าน และมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตด้วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นทุกวัน รวมถึงยอดผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่อาจไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อแล้วยังไม่รู่ว่าเท่าไหร่
คำถามต่อไปคือ พวกเราทำได้แค่ดูแลตัวเองให้ดีที่สุดอย่างนั้นเหรอ หรือต้องถึงขั้นอาบน้ำด้วยเจลแอลกอฮอลล์กันเลยหรือเปล่า เมื่อไหร่กันที่เราจะได้ฉีดวัคซีนดีมีคุณภาพ และหากจะถามหาคำตอบว่าเพราะอะไรสถานการณ์จึงมาถึงจุดวิกฤตเช่นนี้ได้ ทั้งที่เหล่าประชาชนอย่างพวกเราต่างทำงานหนัก ทั้งยังจ่ายภาษีกันทุกปีก็อยากจะทำความเข้าใจ และหาคำตอบที่รับได้จากรัฐบาลเช่นกัน ว่าในขณะที่ประเทศอื่นนำเข้าวัคซีนคุณภาพ สามารถช่วยชีวิตประชาชนได้หลายแสนล้านคน ทำให้ประเทศกลับมาปกติ เศรษฐกิจเริ่มกลับมาขับเคลื่อนได้ในสภาพคล่องแล้ว
แต่ตอนนี้บ้านเรากลับมีผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น และโควิดสายพันธ์ใหม่กลายพันธุ์อันตรายมากขึ้น… อาจจะถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ควรมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางในการจัดการปัญหานี้รวมถึงคนที่มีส่วนในการดูและรับผิดชอบเรื่องนี้ทั้งหลายด้วย
ที่มา: – https://www.bbc.com/thai/international-57692589
– https://www.thairath.co.th/lifestyle/health-and-beauty/2077943
– https://covid19.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=135
– https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000041688
– https://www.tnnthailand.com/news/covid19/84860/
– https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2694020
ภาพ: Getty Images, วิทยา ภู่ทอง