หัวใจสำคัญของการมีสุขภาพดี เพียงแค่กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และทำจิตใจให้แจ่มใสอย่างที่เคยบอกต่อๆ กันมาอาจไม่พอ เพราะหลายครั้งที่เราคิดว่า มีไลฟ์สไตล์และดูแลสุขภาพอย่างดีแล้ว แต่โรคต่างๆ อาจจะกำลังเกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้บอกให้เรารู้ตัว
สำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมทำให้สุขภาพแย่ลง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ นอนดึก ไม่ชอบออกกำลังกาย มีภาวะน้ำหนักเกิน ชอบอาหารรสจัด ชอบอาหารปิ้งย่างหรือทอด ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจได้ ทั้งนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เผยสถิติในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 ว่า มีคนไทยเพียง 2% ที่ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และมีถึง 59% ที่คิดว่าตนเองมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพประจำปี
ความสำคัญของการตรวจสุขภาพ
อันที่จริง ‘การตรวจสุขภาพ’ คือพื้นฐานการดูแลคุณภาพชีวิตให้ดำรงอยู่ได้นานๆ แต่หลายคนกลับยังไม่เข้าใจว่าเราต้องตรวจอะไร ตรวจเมื่อไหร่ ตรวจแล้วดีอย่างไร เพราะถ้าเปรียบร่างกายเป็นรถยนต์ การตรวจสุขภาพก็เสมือนการตรวจสภาพเครื่องยนต์ทุกปี แต่การเข้าอู่ซ่อมรถนั้น ถ้าเราไม่ทราบว่าตรงไหนที่เริ่มใช้การไม่ได้ เพื่อจะได้ซ่อมตรงจุด เราก็เหมือนคนขับรถที่ดีแต่ขับอย่างเดียว
นอกจากนี้เรื่องของสุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเราเอง แต่โยงหรือส่งผลกระทบไปถึงคนรอบตัวเรา เช่น คนรัก พ่อแม่ ลูก รวมไปถึงหน้าที่การงาน ดังนั้น การตรวจสุขภาพจึงเสมือนการรับผิดชอบต่อตัวเองเพื่อไม่ให้คนรอบข้างต้องกังวล และนับเป็นความโชคดีของคนไทยที่มีโรงพยาบาลที่มีคุณภาพหลายแห่งได้รับการยอมรับในระดับสากลตามมาตรฐาน JCI หรือ Joint Commission International โดยนำเครื่องมือการแพทย์ที่ทันสมัยในยุคดิจิทัล พร้อมการตรวจที่ให้ผลที่ไวและแม่นยำกว่าแต่ก่อน
ทำไมต้องตรวจสุขภาพประจำปี
ปกติเราทุกคนควรได้รับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้งหากไม่มีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะทุกวันนี้ปัจจัยภายนอกต่างๆ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทีละน้อยโดยที่เราไม่อาจทราบได้ เช่น มลภาวะฝุ่น PM2.5 ควันพิษจากท่อไอเสีย สารเคมีและสารก่อมะเร็งที่ตกค้างในผักและผลไม้ โรคระบาด เช่น ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โรคโควิด-19 และปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ในตัวบุคคลเอง เช่น โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม รวมไปถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น การออกกำลังกายน้อยลง รับประทานอาหารเก่งขึ้น สูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น มีความเครียดสะสมมากขึ้น แต่กลับพักผ่อนน้อยลง ดังนั้น การดูแลตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ คือการป้องกันการเกิดโรค ด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี ที่ทำให้พบสิ่งผิดปกติในร่างกายได้ก่อนที่จะลุกลามจนยากเกินรักษา
ตรวจสุขภาพตามช่วงวัย ต่างกันอย่างไร
การตรวจสุขภาพประจำปี คือการตรวจเพื่อส่งเสริมสุขภาพในทุกเพศวัย เพื่อรู้ทันความผิดปกติก่อนที่จะเกิดโรค นำไปสู่การป้องกันและวางแผนการรักษาอย่างทันท่วงที โดยมีตัวอย่างตามช่วงวัย ดังนี้
การตรวจที่แนะนำ |
18-29 ปี |
30-39 ปี |
40-49 ปี |
50-59 ปี |
มากกว่า 60 ปี |
การซักประวัติทางสุขภาพ สอบถามประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว ประวัติการใช้ยา |
● |
● |
● |
● |
● |
การตรวจเบื้องต้น เช่น การตรวจความดันโลหิต ตรวจหาดัชนีมวลกาย |
● |
● |
● |
● |
● |
ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ได้แก่ เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด เพื่อหาความผิดปกติของของเลือด เช่น ภาวะโลหิตจาง ภูมิคุ้มกันของร่างกาย รวมถึงโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว |
● |
● |
● |
● |
● |
ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (FPG) และน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1c) เพื่อประเมินความเสี่ยง และคัดกรองโรคเบาหวาน |
● |
● |
● |
● |
● |
ตรวจระดับไขมันในเลือด เพื่อดูระดับคอเลสเตอรอล คอเลสเตอรอลชนิดดี คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี และไตรกลีเซอไรด์ เพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง |
● |
● |
● |
● |
● |
ตรวจระดับกรดยูริก เพื่อประเมินความเสี่ยงโรคเก๊าต์ |
● |
● |
● |
● |
● |
ตรวจการทำงานของไต เช่น ครีเอตินิน (Creatinine) ซึ่งเป็นของเสียที่เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อ และ ค่า BUN (Blood Urea Nitrogen) ซึ่งเป็นของเสียจากการย่อยสลายโปรตีน ทั้งสองตัวนี้ช่วยเพื่อประเมินความสามารถในการขับของเสียของไต |
● |
● |
● |
● |
● |
ตรวจการทำงานของตับ เป็นการตรวจดูเอ็นไซม์และสารต่างๆ ในเลือด เพื่อหาภาวะตับอักเสบ ภาวะดีซ่าน |
● |
● |
● |
● |
● |
ตรวจไวรัสตับอักเสบ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี โดยตรวจจากส่วนประกอบของเชื้อ (HBsAg) และระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ (HBsAb) |
● |
● |
● |
● |
● |
ตรวจปัสสาวะ ช่วยในการวินิจฉัยโรคในระบบทางเดินปัสสาวะเบื้องต้น รวมถึงโรคเบาหวาน |
● |
● |
● |
● |
● |
ตรวจอุจจาระ ช่วยในการวินิจฉัยโรคในระบบทางเดินอาหารเบื้องต้น เช่น ภาวะการอักเสบติดเชื้อในลำไส้ พยาธิ รวมถึงตรวจหาภาวะเลือดปนในอุจจาระซึ่งอาจเกิดจากแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ริดสีดวงทวาร มะเร็งทางเดินอาหารและลำไส้ |
● |
● |
● |
● |
● |
ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เป็นการประเมินการทำงานของหัวใจในขณะพัก เพื่อดูความผิดปกติเช่นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด |
● |
● |
● |
● |
● |
เอกซเรย์ปอด เพื่อดูความผิดปกติในช่องทรวงอก เช่น ขนาดของหัวใจ วัณโรคและโรคต่างๆ ของปอด เช่น โรคปอดเกิดจาก PM2.5 และ COVID-19 |
● |
● |
● |
● |
● |
ตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง ตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะภายใน เช่น ตับอ่อน ม้าม ตับ ไต รวมถึงมดลูกและรังไข่ในผู้หญิงและต่อมลูกหมากในผู้ชาย |
● |
● |
● |
● |
● |
ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ เช่น TSH และ Free T4 |
● |
● |
● |
||
ตรวจสุขภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (EST: Exercise Stress Test) เพื่อตรวจคัดกรองว่ามี เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ หรือไม่ขณะออกแรงและช่วยหาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจากการออกกำลังกาย (ควรงดอาหารมื้อหนักๆ ก่อนทำการตรวจประมาณ 4 ชั่วโมง) |
● |
● |
● |
||
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram : ECHO) เพื่อดูการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ, ขนาดของห้องหัวใจ, การไหลเวียนเลือดในหัวใจ สามารถใช้วินิจฉัยโรคหัวใจแต่กำเนิด, โรคลิ้นหัวใจพิการ, โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ, โรคของเยื่อหุ้มหัวใจ (ไม่ต้องงดน้ำและอาหาร) |
● |
● |
● |
||
การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งทางเดินอาหาร (CEA) การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งตับ (AFP) |
● |
● |
● |
● |
|
สารบ่งชี้มะเร็งตับอ่อน ท่อน้ำดี ถุงน้ำดี (CA19-9) |
● |
● |
|||
สารบ่งชี้มะเร็งเต้านม (CA15-3) และมะเร็งรังไข่ (CA125) ในสตรี |
● |
● |
|||
สารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) ในสุภาพบุรุษ |
● |
● |
|||
ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยการตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) เพื่อดูความผิดปกติของเซลล์และการตรวจหาเชื้อไวรัสมะเร็งปากมดลูก แนะนำในสตรีทุกคนที่อายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป หรือ 3 ปีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก หลังจากนั้นทำการตรวจทุก 1-2 ปี ส่วนสตรีที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุกปี หากผลตรวจเป็นปกติติดต่อกัน 3 ปี สามารถตรวจทุก 3 ปีได้ ยกเว้นกลุ่มที่มีความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก เช่น มีการติดเชื้อ ไวรัสเอช พี วี(HPV) |
● |
● |
● |
● |
● |
การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมพร้อมอัลตราซาวน์เต้านมทุก 1-2 ปี เพราะมะเร็งเต้านมเป็นโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย แนะนำให้ตรวจในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป |
● |
● |
● |
||
Fibroscan เทคโนโลยีในการตรวจหาภาวะพังผืดในเนื้อตับ และตรวจวัดปริมาณไขมันสะสมในตับ โดยไม่รู้สึกเจ็บ ตรวจซ้ำได้บ่อย โดยไม่มีผลข้างเคียง (ควรงดอาหาร อย่างน้อย 3 ชั่วโมง ก่อนรับบริการ กรณีตั้งครรภ์ และใส่เครื่องมือแพทย์ที่ฝังในร่างกาย ไม่ควรทำ) |
● |
● |
● |
● |
|
Carotid Duplex Ultrasound การตรวจหลอดเลือดใหญ่ที่คอ ( Common Carotid Artery) ที่ไปเลี้ยงสมองด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อตรวจดูการไหลเวียนเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง และคราบหินปูนหรือคราบไขมัน ( Plaque) ที่เกาะอยู่ภายในหลอดเลือด เพื่อดูความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือตัน |
● |
● |
● |
||
การส่องกล้องคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยเทคนิคที่ NBI (Narrow Band Image) ที่สามารถตัดติ่งเนื้อที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ผ่านกล้องได้ในทันทีโดยไม่ต้องเปิดหน้าท้อง ช่วยลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด ลดระยะเวลาการอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาล ฟื้นตัวได้เร็ว ลดภาวะแทรกซ้อน ปลอดภัย และที่สำคัญไม่มีแผลเป็นที่จะทำให้ต้องกังวลใจ |
45 ปีขึ้นไป สามารถตรวจได้ |
● |
● |
การเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพประจำปี
• ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง หากอดนอนจะทำให้ผลการตรวจผิดปกติได้ โดยเฉพาะค่าความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และอุณหภูมิของร่างกาย
• งดอาหารและเครื่องดื่ม อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงก่อนตรวจ (สามารถจิบน้ำเปล่าได้เล็กน้อย)
• งดดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนตรวจสุขภาพ เนื่องจากแอลกอฮอล์อาจมีผลต่อการตรวจบางอย่าง หากดื่มไปแล้ว ควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลให้ทราบก่อนตรวจ
• หากกำลังรับประทานยาเพื่อควบคุมความดันโลหิต สามารถรับประทานต่อได้ตามที่แพทย์แนะนำ
• หากมีโรคประจำตัวหรือประวัติสุขภาพอื่นๆ กรุณานำผลการตรวจหรือรายงานจากแพทย์มาเพื่อประกอบการวินิจฉัย
• สำหรับสุภาพสตรี ไม่ควรอยู่ในช่วงก่อนและหลังมีประจำเดือน 7 วัน หากมีประจำเดือนให้งดตรวจปัสสาวะ เพราะเลือดจะปนเปื้อนในปัสสาวะ มีผลต่อการแปลผลการตรวจ
• การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) หลีกเลี่ยงการตรวจในช่วงมีประจำเดือน ซึ่งเต้านมมีความคัดตึง ควรตรวจหลังจากมีประจำเดือน
• กรณีสงสัยว่าตั้งครรภ์ โปรดแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเพื่องดการตรวจเอกซเรย์ และการทำ Fibroscan
การตรวจสุขภาพประจำปีไม่ได้เป็นเพียงการตรวจหาโรคร้ายที่ซ่อนอยู่ในร่างกายเท่านั้น แต่ยังเป็นแนวทางการเรียนรู้ร่างกายของตนเอง เราจะทำให้เห็นจุดที่อาจจะบกพร่องในอนาคต หรือจุดที่อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหากไม่ได้รับการแก้ไข นอกจากนี้บางคนอาจไม่รู้ว่าตนเองมีโรคที่ถูกส่งต่อผ่านพันธุกรรมหรือไม่ ดังนั้น การตรวจสุขภาพประจำปีถือเป็นการวางแผนสุขภาพในอนาคต หากพบเจอความเสี่ยง สามารถรับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการป้องกัน ดูแลและช่วยให้ร่างกายแข็งแรงเพิ่มขึ้นได้
แม้การลงทุนด้านสุขภาพจะเห็นผลช้า หรือยังไม่เห็นผล แต่ก็คุ้มค่าที่จะลงทุน ไม่ต้องมาบ่นทีหลังว่า “รู้แบบนี้ ถ้าตรวจสุขภาพประจำปี ก็คงไม่ต้องมารักษาโรคเมื่อสายไปแล้ว”
บทความโดย: นายแพทย์ธเนศ สินส่งสุข
แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน ประจำศูนย์สุขภาพ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท
ภาพ: Getty Images