Health & Heart

การเรียกความเชื่อมั่นกลับมา จนรู้สึกเหมือนได้ทำงานวันแรกในทุกๆ วัน

วันหยุดเพิ่งผ่านพ้นไป แต่ใช่ว่านั่นคือการพักผ่อนหย่อนใจสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง สำหรับใครหลายคน ช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงเป็นเพียงแค่ห้วงเวลาหนึ่งที่ดึงตัวเองหลุดออกจากวงจรการทำงานประจำ และครุ่นคิดบางสิ่งบางอย่างกับตัวเอง ทว่าข้อมูลข่าวสารเรื่องโรคระบาดที่แพร่หลายมาในระยะนี้ กลับทำให้หลายคนตื่นตระหนกมากกว่าเคย ไหนจะเรื่องที่เศรษฐกิจตกต่ำ การเมืองที่ไร้ความหวัง ปัญหาสังคมที่ป่วนปั่นประเดประดังเข้ามาช่างบั่นทอนจิตใจเราเหลือเกิน การกลับไปทำงานอีกครั้งในช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก

        ลองนึกดูว่าสิ่งเหล่านี้ได้บั่นทอนจิตใจหรือกลไกในสมองของคุณจนเผลอลืมอะไรไปหรือเปล่า เป้าหมายที่ตั้งไว้เมื่อตอนแรกของการเข้ามาทำงานกับองค์กรที่ทำอยู่ในปัจจุบันคืออะไร แน่นอนว่าการกลับไปคิดถึงสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ภาพจำของใครอาจค่อนข้างรางเลือน เพราะวันจันทร์นั้นเป็นตัวกระตุ้นเตือนคุณให้เข้าสู่วงจรการทำงานอีกครั้ง

        แต่อีกด้าน นี่เป็นเวลาที่ดีมากที่จะจุดประกายความคิด ปรับเปลี่ยนทัศนคติในการทำงาน ใช้ทักษะ ประสบการณ์ และคุณประโยชน์ทั้งหมดที่มีเพื่อกระตุ้นเร้าความหลงใหลและเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเพื่อพุ่งชนเป้าหมายที่ตั้งไว้ช่วงแรก เพราะว่าการมีตัวตนที่ชัดเจนและเป้าหมายในหน้าที่การงาน “จะช่วยให้ชีวิตมีความหมายและแรงจูงใจ หากคุณไม่มีสิ่งนี้ แค่การลุกออกจากเตียงทุกเช้าอาจเป็นเรื่องท้าทายสำหรับคุณ” Hatice Necla Keleş ศาสตราจารย์สาขาวิชาการจัดการองค์กร กล่าว

        ลองใคร่ครวญสักนิดว่า “ชีวิตเราเป็นใคร และเราทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าไปทำไม” คือสิ่งที่จะคอยย้ำเตือนให้คุณกลับมาเป็นหนึ่งเดียวกับงานอีกครั้ง โดยที่คุณไม่จำเป็นที่จะต้องพยายามเป็นใครที่ไหน เพียงแค่คุณเป็นคุณ และก้าวเดินต่อไปด้วยวิธีการของคุณ ไม่มีวิธีใดถูกที่สุด และไม่มีทางใดผิดที่สุด “เพราะการตั้งเป้าหมายย่อมมีได้หลายวิธีการ” Karen Dillon นักเขียนเจ้าของหนังสือชื่อดัง How Will You Measure Your Life? บอกไว้เช่นนั้น

        ส่วนใครที่ทำงานโดยไม่มีเป้าหมายมาโดยตลอด ก็อาศัยจังหวะนี้ลองตั้งเป้าหมายกันดู เพื่อให้งานที่กำลังทำในทุกวันนี้กลับมามีความหมายอีกครั้งหนึ่ง ลองคิดเสียว่าเราจะทำให้งานของเราแตกต่างไปจากคนอื่นได้อย่างไร และเรากำลังมีส่วนร่วมสร้างสิ่งใดที่ดีกว่าให้เกิดขึ้นต่อตัวเองและสังคมส่วนรวม

        สาเหตุที่ทำให้คุณรู้สึกว่างานของคุณนั้นไร้ความหมายก็คือ ‘ความเครียด’ ต่อให้นั่นเป็นความเครียดระดับจิ๋ว (micro-stresses) แต่ถ้ารวมกันเป็นร้อยเป็นพันก็อาจสะสมกลายเป็นบาดแผลขนาดใหญ่ในจิตใจของคุณ และมีโอกาสเพิ่มขึ้นทวีคูณเลยในช่วงโรคระบาดเช่นนี้ 

        เช่นเดียวกันกับวิธีการเยียวยา คุณอาจเริ่มต้นได้ง่ายๆ จากแค่สิ่งเล็กน้อย โดยคำแนะนำจาก Keleş คือ “หยุดเสพความคิดลบๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อสมองและชีวิตความเป็นอยู่จนไร้ซึ่งความสุขและเรี่ยวแรงในการสู้ต่อไป”

        เชื่อว่าสำหรับใครหลายคน ตั้งแต่มีปัญหาโรคระบาดเข้ามา ปีนี้ย่อมเป็นปีที่ยากลำบาก ไม่ใช่เรื่องแปลกหากคุณรู้สึกแย่ แต่ควรทำความเข้าใจและยอมรับให้ได้ว่า “จงมีเมตตากับตัวเอง ไม่ได้มีเพียงแค่คุณคนเดียวที่ทุกข์ทรมาน คุณไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลกใบนี้ ไม่ว่าใครก็ตามทั่วโลกก็ต้องเผชิญเรื่องราวที่เลวร้ายไม่ได้ต่างไปกับคุณ อย่าปล่อยให้ตัวเองจมดิ่งไปกับความรู้สึกแย่เพียงลำพัง” 

        จำไว้เสมอว่า “คุณมองโลกอย่างไร โลกก็จะเป็นไปในแบบนั้น” หากคุณฝึกฝนอารมณ์เชิงบวก โลกของคุณก็จะดีขึ้นในแง่บวกตามมา ท้ายที่สุดแล้ว Viktor Frankl จิตแพทย์ชื่อดังชาวออสเตรีย ให้กำลังใจว่า “แต่ละคนจะสามารถค้นพบความหมายในชีวิตได้เอง แม้ว่าจะผ่านสถานการณ์ (ที่รู้สึกเหมือนว่า) สิ้นหวังมาสักเท่าไรก็ตาม” 

        กลับมาเข้าสู่เรื่องงาน มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะคิดได้ว่าความหมายของงานคุณคืออะไร ดังนั้น มันอาจต้องใช้เวลาและความสามารถในการค้นหาสักระยะ นี่คือคำถามที่ Dillon แนะนำให้ลองถามตัวเองคือ ฉันมีอะไรเป็นแรงผลักดันในการทำงานนี้? ฉันมีอะไรเป็นคุณค่าที่ยึดถือ? ฉันทำอะไรได้ดี? และฉันสามารถมอบอะไรแก่ผู้อื่นได้บ้าง? งานที่ฉันทำจะส่งผลต่อผู้อื่นได้อย่างไรและทำไม? และที่สำคัญ อะไรคือสิ่งที่ทำให้ฉันตื่นเต้นในการทำงานที่นี่ตั้งแต่ตอนแรก? 

        ในอีกทางหนึ่งแบบรวบรัด ลองพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานดูว่า เราจะสามารถทำเพื่อสังคมโลกให้ดีขึ้นได้อย่างไร? ทำไมงานของเราถึงยังมีความสำคัญ? เพื่อทำให้ตัวของคุณเองได้พลังงานและกำลังใจกลับคืนมาด้วยเช่นกัน

        คำถามเหล่านี้เหมือนกำลังปูทางให้เราก้าวไปสู่เส้นทางในอุดมคติ ปรับเปลี่ยนเป้าหมายของคุณให้สอดคล้องกับพันธกิจขององค์กร จนบางคราคุณอาจจะต้องเหนื่อยล้าไปกับการทำไปเพื่อคุณประโยชน์ที่ใหญ่หลวงอยู่ตลอดเวลา ทางที่ดี Dillon เสนอว่าในขณะที่การสร้างภาพใหญ่มันอาจจะหนักหนาสาหัสเกินไป “ลองมองหาวิธีเล็กๆ น้อยๆ ที่จะทำให้คุณสามารถเป็นตัวของตัวเองได้บ้าง” ไม่ว่าจะเป็นการหยิบยื่นมือช่วยเหลือคนอื่นบ้าง อาจจะเป็นน้องเด็กฝึกงาน สมาชิกรุ่นน้อง คนที่กำลังมีปัญหา หรือออกไปทำงานอาสาสมัครข้างนอกดูเลยก็ย่อมได้

        สิ่งนี้ก็เพื่อทำให้คุณสามารถก้าวข้ามผ่านต่อไปข้างหน้าได้ Keleş เห็นด้วยว่า “นั่นจะทำให้ตัวเองได้รู้สึกมีความหมายและความพึงพอใจขึ้นมา พร้อมทั้งยังรู้สึกเชื่อมโยงกับคนจำนวนมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครหลายคนต้องการ แต่ว่ากำลังขาดในทุกวันนี้”

        เมื่อคิดได้เช่นนั้นแล้ว ลองสร้างงานที่มีความหมายในสไตล์ของคุณขึ้นมา และมองหาวิธีที่ทำให้องค์กรของคุณรับมือกับปัญหาท้าทายต่างๆ ที่จะเข้ามาในเร็ววันได้ง่ายดายยิ่งขึ้น ลองนึกดูว่าจุดแข็ง ทักษะ และความสนใจของคุณจะช่วยให้องค์กรของคุณรับมือกับความท้าทายในวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้อย่างไร เป้าหมายหลักคือการเปลี่ยนแปลงบทบาทของคุณให้ตรงกับประสบการณ์และแรงจูงใจของคุณ

        หรืออีกทางหนึ่ง Dillon เสนอให้คุณลองไปหาและพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานที่คุณสนิท “เพราะแม้ว่าคุณจะสูญเสียความกระตือรือร้นในหน้าที่การงานหรือองค์กร แต่ใช่ว่าคุณจะหมดความรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ร่วมงานกับเพื่อนของคุณไป ดังนั้น ไปหาเขา แล้วแสดงความขอบคุณต่อเขาสักหน่อย บอกเขาว่า ‘ฉันขอบคุณ และฉันสนุกกับการทำงานร่วมกับคุณมาก’ แม้เป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็ทำให้คุณได้เชื่อมโยงถึงซึ่งกันและกันได้ด้วยดี”

        เพราะการขอบคุณจะช่วยให้คุณได้ฟื้นฟูอารมณ์และจิตใจ ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการมองโลกในแง่บวกและขอบคุณสิ่งเหล่านั้น วิธีนี้จะช่วยลดความรู้สึกตึงเครียด อาการเจ็บป่วย และช่วยให้คุณนอนหลับได้สบายยิ่งขึ้น อาจฟังดูเป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่ถ้าหากแค่เพียงพูดขอบคุณเฉยๆ อาจไม่ได้ช่วยอะไรมาก ทางที่ดีลองเขียนใส่กระดาษ แปะเอาไว้ตามที่ต่างๆ หรือใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเป็นตัวช่วยย้ำเตือนคุณในตอนเช้าหรือตอนเย็นย่อมช่วยให้คุณรู้สึกฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจเลยทีเดียว

        ในทางตรงกันข้าม ใครบางคนอาจจะค่อนขอดว่า ‘ในช่วงโรคระบาดเช่นนี้ คุณจะควรจะรู้สึกดีว่ายังมีงานทำ’ การมีความคิดลบใดๆ แทนที่จะเอาแต่บ่นถึงงานที่ทำว่ามักทำให้เกิดความรู้สึกเครียด หรือเศร้าซึมไปกับมัน ก็ควรที่จะเปลี่ยนเป็นความรู้สึกขอบคุณมากกว่าที่เรายังมีงานให้ทำอยู่ ทว่านี่คือสิ่งที่ Sarah Greenberg นักจิตอายุรเวชและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตขององค์กรเรียกว่า gratitude bypassing หรือ การแสดงความรู้สึกขอบคุณแบบส่งๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นจริงที่เต็มไปด้วยอารมณ์เชิงลบอื่น ๆ ทั้งที่คุณรู้สึกไม่ดีกับงานที่ทำ การแก้ไขปัญหากลับเป็นเพียงการบอกว่า ‘ขอบคุณ’ จึงอาจไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องเท่าไรนัก

        การขอบคุณทั้งที่ยังมีความรู้สึกครุกรุ่นไปด้วยความเจ็บปวดอาจเป็นเพียงการตอบสนองปฏิกิริยาเพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกเชิงลบของตัวเอง ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพเอาเสียเลย และถ้าเอาแต่ทำเช่นนั้น “คุณก็ไม่มีทางที่จะได้รับผลลัพธ์ในทางบวกจากการขอบคุณ และคุณก็จะได้รับผลลัพธ์ทางลบจากการหลีกหนีแทน นั่นก็เพราะว่าการก้าวข้ามผ่านและหลีกหนีมันเป็นแค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ท้ายที่สุดแล้วความรู้สึกเชิงลบก็จะไล่ตามคุณได้ทันภายหลังและโหมกระหน่ำกว่าเดิม”

        สิ่งที่ควรทำจริงๆ ไม่ใช่ใคร่ครวญกับงานที่คุณกำลังทำแล้วเอาแต่โฟกัสว่าทำไมคุณถึงควรจะขอบคุณงานของคุณ จนลืมคิดไปว่ามันไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหา นอกจากเสียว่า “นั่นคือความรู้สึกขอบคุณที่ออกมาจากก้นบึ้งของจิตใจของคุณอย่างแท้จริง ถ้าเช่นนั้นก็จงเปล่าเสียงออกมา เพราะนั่นจะทำให้คุณมีความสุขยิ่งกว่าเดิม” นี่คือคำแนะนำจาก Greenberg ที่เคยยอมอดทนติดอยู่กับงานที่มาเป็นเวลานานทั้งที่ควรจะออกจากงานไปได้แล้ว

        ท้ายที่สุดนี้ หากมันเหนือบ่ากว่าแรงจนเกินไป แทนที่จะมัวแต่ปลอบประโลมจิตใจตัวเองด้วยถ้อยคำขอบคุณที่ไม่ได้ออกมาจากความรู้สึกที่แท้จริง การพิจารณาเรื่องเปลี่ยนอาชีพอาจเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ดี

        แต่อย่าเพิ่งตัดสินใจผลีผลาม เพราะ “เวลาที่ใครก็ตามอยู่ท่ามกลางความรู้สึกตึงเครียด ย่อมตัดสินใจอะไรผิดพลาดเสมอภายใต้เงื่อนไขเหล่านั้น” Dillon กล่าว อีกทั้งช่วงนี้ตลาดแรงงานยังไม่สู้ดีนัก ลองสงบจิตสงบใจให้ดี อย่าเพิ่งวู่วามขณะนี้ นั่งรอให้วิกฤตผ่านพ้นไปก็ได้ ลองดูท่าทีหลังสถานการณ์ดีขึ้นว่าคุณจะยังอยากโยกย้ายงานอยู่หรือไม่ ถ้าใช่ ก็เตรียมให้พร้อมเพื่อโยกย้ายงานได้ทันที

        เหนือสิ่งอื่นใด อย่าลืมกลับไปทบทวนกลวิธีทั้งหลายที่กล่าวมาก่อนตัดสินใจเปลี่ยนงาน ทั้งตั้งคำถามกับตัวเองอีกสักครั้งว่าอะไรคือเป้าหมายที่เราเข้ามาทำงานในองค์กรนี้เป็นวันแรก คำถามที่ใครหลายคนมักหลงลืมกันไป ขุดมันขึ้นมาใหม่เพื่อใช้เป็นแรงผลักดันให้สามารถกลับมาทำงานได้อีกครั้งในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ คุณอาจจะหายเป็นปลิดทิ้ง กลับมาทำงานได้แบบปกติสุข โดยไม่คิดถึงเรื่องโยกย้ายงานในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ก็เป็นได้


อ่านต่อเพิ่มเติม:

https://hbr.org/2021/02/how-to-find-meaning-when-your-job-feels-meaningless
https://hbr.org/tip/2016/08/to-build-resilience-write-down-what-youre-grateful-for
https://www.bbc.com/worklife/article/20210329-should-you-be-grateful-for-a-job
https://www.linkedin.com/pulse/how-fine-tune-your-gratitude-practice-sarah-greenberg

ภาพ: Getty Images