วิธีการใช้ชีวิตอย่างปกติและมีคุณค่า ในวันที่ยังต้องเก็บตัวอยู่บ้านกันอีกสักพัก

การต้องอยู่กับโรคระบาดร้ายแรงอย่างโควิด-19 มาเป็นเวลากว่า 1 ปี นอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างมาก ทั้งความวิตกกังวลจากการติดเชื้อ การเข้าถึงระบบการรักษา โดยเฉพาะการขาดรายได้ หรือมีรายได้ลดลง การต้องทำงานที่บ้าน รวมถึงต้องกักตัวไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านเหมือนปกติ อาจทำให้เกิดความเครียดสะสมจนอาจลุกลามเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงในที่สุด

        การป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 คือ สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน เว้นระยะห่างทางสังคม ล้างมือสม่ำเสมอด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 20 วินาที รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและแยกสำรับ รวมถึงการดูแลร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง  

        การเว้นระยะห่างทางสังคมด้วยการทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home (WFH) และกักตัวในบ้านให้ห่างไกลจากโรค เป็นการควบคุมโดยจำกัดพื้นที่ในการใช้ชีวิตของแต่ละคน เพื่อป้องกันการสัมผัสเชื้อจากผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการในสถานที่ต่างๆ และระหว่างการเดินทาง เมื่อต้องอยู่บ้านไประยะหนึ่งอาจทำให้เกิดความเบื่อหน่ายหรือความเครียดขึ้นได้ 

วิธีแก้เบื่อ เมื่อต้องกักตัวหรือทำงานที่บ้าน

        • จัดเวลาทำงาน ตั้งเวลาทำงานให้ตรงกับเวลาที่เคยทำในออฟฟิศ ทั้งเวลาเข้างาน พักกลางวัน และเลิกงาน เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และช่วยให้คนในครอบครัวไม่รบกวนเวลาทำงาน

        • จัดเวลาและช่วยกันทำงานบ้าน โดยเฉพาะในวัยรุ่นที่ต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้าน ควรมีหน้าที่รับผิดชอบงานบ้านง่ายๆ ถือเป็นกิจกรรมแก้เบื่อที่ได้ประโยชน์    

        • จัดเวลาทำงานอดิเรกที่ชอบ สามารถทำได้คนเดียวหรือร่วมกันทำทั้งครอบครัว งานบางอย่างอาจเพิ่มรายได้ หรือสามารถช่วยเหลือคนในสังคม เช่น การทำอาหารแจกเพื่อนบ้าน การเย็บหน้ากากผ้า และการทำคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียเพื่อให้กำลังใจหรือความรู้แก่คนทั่วไป

        • จัดเวลาสลายไขมัน เพิ่มตารางออกกำลังกาย 15-30 นาทีต่อวัน ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและเพิ่มภูมิคุ้มกันโรค

        • จัดเวลาหาความรู้เพิ่มเติม ปัจจุบันทำได้ง่ายผ่านโลกออนไลน์  เช่น ความรู้ช่วยป้องกันโรคระบาด การช่วยเหลือผู้อื่น การฝึกทำอาหาร การซ่อมแซมบ้านและการเรียนภาษาเพิ่มเติม เป็นต้น นอกจากจะแก้เบื่อแล้วยังอาจเป็นประโยชน์ในอนาคต

กักตัวแบบไม่เครียด

        • ติดต่อสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ กับบุคคลภายนอก ทั้งผู้ร่วมงาน ครอบครัว คนรัก รวมถึงแพทย์ พยาบาลที่ดูแลในกรณีมีโรคประจำตัว เพื่อลดความคิดถึง คลายเครียด และลดความวิตกกังวลเรื่องปัญหาสุขภาพ

        • ติดตามข่าวสารอย่างมีสติ ไม่ตื่นตระหนกต่อเหตุการณ์หรือหมกมุ่นเกินไป เสพข่าวแต่พอดีจากข้อมูลที่เชื่อถือได้เท่านั้น  

        • ดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่คลายเครียดด้วยการสั่งอาหารที่มีไขมันสูง หรือวิตกกังวลจนหมกมุ่นกับการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่ได้รับการรับรองโดยผู้เชี่ยวชาญ  

        • ตรวจสอบอาการทางร่างกายและจิตใจสม่ำเสมอ ปรึกษาแพทย์ในกรณีวิตกกังวลมากจนนอนไม่หลับ หรือไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ 

        • ใช้ชีวิตอย่างปกติและมีคุณค่า รับผิดชอบและทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ หาเวลาพักผ่อนกับกิจกรรมที่ชอบโดยไม่ต้องออกนอกบ้าน เช่น ออกกำลังกาย เล่นดนตรี วาดภาพ ปลูกต้นไม้ ดูหนัง ฟังเพลง หรือเล่นกับสัตว์เลี้ยง  

        •  ฝึกรับรู้และยอมรับ  เมื่อวิตกกังวล หรือรู้สึกลบ ไม่จำเป็นต้องพยายามปรับให้เป็นบวกในทันที ควรอยู่บนพื้นฐานความจริง โดยคิดว่ามีข่าวร้ายก็ต้องมีข่าวดีอยู่บ้าง สิ่งสำคัญไม่ควรรู้สึกผิดหวังในตัวเองที่มีความเครียด 

        • ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นกรณีรายได้ลดลง ตกงาน หรือมีบุคคลใกล้ชิดติดเชื้อ อย่าตำหนิหรือรู้สึกผิดโทษตัวเอง เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คนทั่วโลกก็เผชิญปัญหาเช่นกัน  

        • ชะลอการการตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆ ขณะมีความเครียด ไม่ควรตัดสินใจทำอะไรในทันทีโดยเฉพาะเรื่องสำคัญ  เช่น การลาออกจากงาน การย้ายที่อยู่ การขายบ้าน การหย่าขาดจากคู่สมรส เนื่องจากจิตใจไม่มีความมั่นคงจากภาวะท้อถอย หมดหวัง นำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ง่าย ควรประคับประคองให้ผ่านสถานการณ์ต่างๆ ไปทีละขั้นตอน   

        • ลองใช้ชีวิตให้ช้าลง ตั้งรับว่าการระบาดของโควิด-19  ยังคงจะดำเนินไปอีกสักพักใหญ่ ตื่นเช้าด้วยการจิบกาแฟ รับประทานอาหารเช้าปรุงเอง พูดคุยกับคนในครอบครัว ฟังเพลง ชื่นชมต้นไม้  เตรียมพร้อมร่างกายและจิตใจก่อนฟังข่าวสารและเริ่มทำงาน

        ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่สร้างความเครียดมากที่สุดคือ ความวิตกกังวลจากการติดเชื้อ การรักษา และความรุนแรงของโรค รวมถึงการที่เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะจบลงเมื่อไร และเราจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนในอดีตได้อีกหรือไม่ ดังนั้นควรใช้ชีวิตให้ปกติ แม้อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ด้วยการทำงานที่บ้าน หรือกักตัวอยู่บ้านแบบไม่เคียด  และการจัดการกับเวลาเพื่อแก้เบื่อ ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รวมถึงการปฏิบัติตามการรายงานของภาครัฐอย่างเคร่งครัด 


บทความโดย: นายแพทย์พรรษ กรรณล้วน 
แพทย์ชำนาญการสาขาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์