โรคกลุ่ม Non-Communicable Diseases-NCDs เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไม่ได้เกิดขึ้นจากการติดเชื้อโรค และไม่ได้ติดต่อจากคนสู่คน แต่เป็นโรคที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ นิสัยหรือพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต ซึ่งจะค่อยๆ สะสมไปทีละน้อยโดยอาจพบอาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้บ้าง หากไม่ได้รับการรักษา ในที่สุดจะแสดงอาการออกมาเป็นโรคเรื้อรังได้
สาเหตุหลักสำคัญของกลุ่มโรค NCDs คือพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ชอบรับประทานอาหารหวานจัด เค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง อาหารปิ้งย่าง ชอบการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย การนอนดึก การมีความเครียดสูง โดยโรคกลุ่ม NCDs จะเป็นโรคที่หลายๆ คนรู้จักกันดี ดังต่อไปนี้
โรคเบาหวาน
• ภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติอย่างควบคุมไม่ได้ โดยมีสาเหตุมาจากร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลินหรืออินซูลินในร่างกายทำงานผิดปกติ ซึ่งอินซูลินนั้นเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้ร่างกายนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงาน เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้น จึงส่งผลให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและเกิดโรคเบาหวานขึ้นในที่สุด
• อาการที่แสดงว่ามีน้ำตาลในเลือดสูง ได้แก่ ปัสสาวะมาก และบ่อยครั้ง โดยเฉพาะตอนกลางคืน คอแห้ง หิวน้ำ อ่อนเพลีย น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน มีแผลติดเชื้อที่ผิวหนังบ่อยๆ และหายช้า สายตาพร่ามัว ชาปลายมือ ปลายเท้า หมดความรู้สึกทางเพศ
(รายละเอียดเพิ่มเติม ที่นี่)
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
• เกิดจากการเกาะของคราบไขมันภายในผนังหลอดเลือดหัวใจ โดยอาจมาจากการสะสมของคอเลสเตอรอลและสารต่างๆ ภายในหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดตีบและอุดตันจน ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ไม่เพียงพอ
• สัญญาณเตือนหัวใจขาดเลือด คือ รู้สึกเหนื่อย หอบ หมดแรง หายใจติดขัด หรือแน่นหน้าอกบ่อยครั้ง รวมทั้งผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หรือเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง สูบบุหรี่
(รายละเอียดเพิ่มเติม ที่นี่)
โรคหลอดเลือดสมอง
• โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เกิดจากภาวะหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือแตก ทำให้สมองขาดเลือดและเนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย ซึ่งสามารถเกิดได้กับทุกส่วนของสมอง ดังนั้น หากสมองส่วนใดขาดเลือด จะส่งผลให้ร่างกายหยุดทำงาน เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิต
• โรคหลอดเลือดสมองแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด (Ischemic Stroke) มีสาเหตุมาจากหลอดเลือดสมองตีบ (Thrombotic Stroke) หรือจากการอุดตัน (Embolic Stroke) ส่งผลให้เกิดภาวะสมองขาดเลือด พบมากถึง 80% ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด และโรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกในสมอง (Hemorrhagic Stroke) เกิดจากภาวะหลอดเลือดสมองปริแตกหรือฉีกขาด ทำให้มีเลือดไหลไปยังเนื้อเยื่อสมอง แม้จะพบเพียง 20% แต่ก็มีอันตรายถึงชีวิต
• ผู้ที่ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ อายุ (ผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี มีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากภาวะเสื่อมของหลอดเลือดและภาวะหลอดเลือดแข็งตัว) เพศ (เพศชาย มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าเพศหญิง) กรรมพันธุ์ (ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น) ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ โรคเบาหวาน โรคอ้วน
• อาการเตือนโรคหลอดเลือดสมอง เช่น ภาวะอ่อนแรง ส่วนใหญ่มักพบภาวะอ่อนแรงครึ่งซีกกับร่างกายข้างใดข้างหนึ่ง สูญเสียความรู้สึกหรืออาการชาตามร่างกาย มักเกิดกับร่างกายเพียงด้านเดียว พูดติดขัด มีปัญหาการพูด ไม่สามารถทรงตัวได้ มีอาการเดินเซ หรือเวียนศีรษะ
(รายละเอียดเพิ่มเติม ที่นี่)
โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronic Bronchitis) และโรคถุงลมปอดโป่งพอง (Pulmonary Emphysema)
• โรคนี้มักเกิดจากการหายใจเอามลภาวะที่เป็นพิษ ในรูปก๊าซหรือฝุ่นเข้าไป ทำให้มีการอักเสบและทำลายระบบทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมและปอด โรคนี้เกือบทั้งหมดจะเกิดร่วมกัน ผู้ป่วยบางรายอาจมีหลอดลมอักเสบมากกว่า แต่บางรายอาจมีถุงลมปอดโป่งพองมากกว่า น้อยรายที่จะเกิดเพียงอย่างเดียว ทางการแพทย์จึงเรียกรวมว่า โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease หรือ COPD)
• อาการที่ควรสังเกต คือ ระยะแรก มักไอตอนเช้าหลังตื่นนอน ไอแห้ง ๆ หรือมีเสมหะเล็กน้อย หากมีการสูบบุหรี่ร่วมด้วยจะมีอาการมากกว่าปกติ หากปล่อยไว้จะเริ่มมีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบากเพิ่มขึ้น อาการจะแย่ลงเรื่อย ๆ ถึงขั้นเสียชีวิตจากภาวะการหายใจล้มเหลว
โรคมะเร็ง
โรคนี้เกิดจากเซลล์ของร่างกายมีความผิดปกติที่ DNA หรือสารพันธุกรรม ส่งผลให้เซลล์มีการเจริญเติบโต มีการแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์ รวดเร็ว และมากกว่าปกติ ดังนั้น อาจทำให้เกิดก้อนเนื้อผิดปกติ และในที่สุดก็จะทำให้เกิดการตายของเซลล์ในก้อนเนื้อนั้น โดยมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม
• ปัจจัยเสี่ยงมาจากสิ่งแวดล้อม 90% ได้แก่ สารพิษตกค้าง อาหารปิ้งย่าง มลภาวะ ความเครียด การติดเชื้อ อนุมูลอิสระ และที่เหลืออีก 10% สามารถเกิดจากพันธุกรรมที่ถ่ายทอดมาจากพ่อและแม่
• ในแต่ละวัน สิ่งแวดล้อมและสารพิษรอบตัว หรือแม้กระทั่งรหัสพันธุกรรมที่ผิดปกติมาตั้งแต่เกิด สามารถกระตุ้นให้เกิดยีนกลายพันธุ์ได้ตลอดเวลาโดยที่ไม่มีสัญญาณเตือน หากร่างกายไม่มีสารต้านอนุมูลอิสระที่เพียงพอมาต่อสู้ หรือระบบซ่อมแซม และกำจัดยีนที่ผิดปกติมาแก้ไข ยีนกลายพันธุ์เหล่านั้น จะเปลี่ยนเป็นยีนมะเร็งในที่สุด
โรคความดันโลหิตสูง
• โรคนี้เป็นภาวะความดันเลือดภายในหลอดเลือดแดงสูงกว่าปกติตลอดเวลา หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงตามมา จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ และยังพบว่าเป็นสาเหตุของการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง และภาวะหัวใจล้มเหลวได้
• ความดันโลหิตปกติ (Normal blood pressure) คือความดันโลหิตน้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท
• ความดันโลหิตเริ่มสูง (Elevated blood pressure) คือ ความดันโลหิตตัวบนอยู่ในช่วง 120-129 มิลลิเมตรปรอท และความดันโลหิตตัวล่างยังต่ำกว่า 80 มิลลิเมตรปรอทความดันโลหิตระดับนี้มีแนวโน้มแย่ลงในอนาคต หากไม่ได้รับการรักษาหรือกระทำการใดๆ เพื่อช่วยควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ
• ความดันโลหิตสูงระดับ 1 (Stage 1 hypertension) คือความดันโลหิตตัวบนอยู่ในช่วง 130-139 มิลลิเมตรปรอท หรือ ความดันโลหิตตัวล่างอยู่ในช่วง 80-89 มิลลิเมตรปรอท
• ความดันโลหิตสูงระดับ 2 (Stage 2 hypertension) คือความดันโลหิตตัวบนมีค่าตั้งแต่ 140 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป หรือความดันโลหิตตัวล่างตั้งแต่ 90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
(รายละเอียดเพิ่มเติม ที่นี่)
โรคอ้วน (ลงพุง)
• เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญอาหารในร่างกาย ส่งผลให้มีไขมันสะสมที่หน้าท้องและมีรอบเอวขนาดใหญ่ เส้นรอบเอว ตั้งแต่ 80 เซนติเมตรขึ้นไปสำหรับผู้หญิง และ 90 เซนติเมตรขึ้นไปสำหรับผู้ชาย ทั้งยังมีระดับความดันโลหิต ไขมัน และน้ำตาลในเลือดสูง มักเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน และโรคหัวใจได้มากขึ้น
• การที่มีไขมันสะสมในช่องท้องมากเกินไป ไขมันในช่องท้องจะแตกตัวเป็นกรดไขมันอิสระเข้าสู่ตับ เกิดไขมันพอกตับ ทำให้เกิดการอักเสบของตับตามมา นอกจากนั้นกรดไขมันอิสระจะไปยับยั้งกระบวนการเผาผลาญของกลูโคสที่กล้ามเนื้อ เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดเบาหวาน มีความเสี่ยงที่จะมีระดับไขมันในเลือด ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจในอนาคต
(รายละเอียดเพิ่มเติม ที่นี่)
ลดความเสี่ยงโรค NCDs ด้วยการปรับพฤติกรรม
• รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นการรับประทานผักและผลไม้
• หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด เค็มจัด อาหารมัน อาหารปิ้งย่าง เนื้อแดงที่ผ่านกระบวนการแปรรูป เช่น แหนม แฮม
• งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
• พักผ่อนให้เพียงพอ คลายความเครียดโดยการทำกิจกรรมที่ชอบ
• ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที/ครั้ง สัปดาห์ละ 5 ครั้ง
• อย่าลืมตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรู้ทันก่อนสาย เพราะบางครั้งหลายโรคก็ไม่แสดงอาการออกมาให้เราสังเกตได้
บทความโดย:ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลสมิติเวช
ภาพ: Getty Images