มีคนจำนวนมากตั้งคำถามเกี่ยวกับอันตรายจากสารพิษที่เกิดขึ้นและลอยมาตามควันไปจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานที่ย่านกิ่งแก้ว-ลาดกระบังไม่กี่วันที่ผ่านมา สารพิษดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคนเราอย่างไร หน้ากากอนาภัยที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันช่วยได้มากน้อยแค่ไหน และผู้อาศัยในรัศมีโดยรอบได้รับผลกระทบอย่างไร
อันตรายจากสารพิษ
สารพิษสำคัญจากเหตุการณ์ไฟไหม้ในครั้งนี้ คือ สไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene Monomer) โดยปกติแล้ว เป็นสารเคมีที่มีความจำเป็นทางด้านอุตสาหกรรม มีค่าเป็นกรด เวลาฝนตกก็จะกลายเป็นฝนกรด แม้จะถูกชะล้าง แต่สารเคมีก็จะลงไปสู่ดิน แทรกซึมไปบริเวณนั้น พัดพาไปปนเปื้อนอาหารการกินดื่ม อุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน แนะนำว่าผู้ที่อยู่ใกล้เคียงจุดเกิดเหตุควรทำความสะอาด และระหว่างนั้นก็ใส่อุปกรณ์ป้องกันตัวเองด้วย สารพิษดังกล่าวหากได้รับการเผาไหม้ก็จะเกิดเป็นควันดำๆ มาพร้อมกับสารพิษตัวหลักอย่างคาร์บอนมอนนอกไซต์ (Carbon Monoxide) คาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide) หรืออาจจะมีไซยาไนด์ (Cyanide) ปนเปื้อนมาด้วย
อันตรายระยะสั้น
อันตรายเบื้องต้นจากการสัมผัสในระยะสั้น จะทำให้ตาหรือผิวหนังที่ถูกสัมผัสเกิดการระคายเคือง หากสัมผัสต้องรีบอาบน้ำทันที ถ้าหากใครมีประวัติภูมิแพ้ง่าย ก็มีโอกาสเกิดผื่นแพ้ที่ดวงตาและผิวหนัง ส่วนผลต่อระบบเดินหายใจ จะเกิดอาการเหนื่อย หอบ ไอ หากมีการปนเปื้อนกับอาหาร ก็จะทำให้ผู้รับประทานคลื่นไส้อาเจียน หากรับสารพิษมาเป็นเวลานาน อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินประสาท ทำให้ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า เดินเซ อ่อนเพลีย ถ้าสัมผัสในปริมาณมากๆ มีโอกาสเกิดภาวะชัก หรือเสียชีวิตด้วยเช่นกัน
อันตรายระยะยาว
สำหรับผลในระยะยาวคือมีภาวะเสี่ยงเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งหลอดอาหาร สำหรับคนที่มีประวัติเสี่ยงสัมผัสสูง จำเป็นต้องตรวจติดตามอย่างน้อยประมาณห้าถึงหกปี ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงต่อการสัมผัส เช่น ถ้ากลุ่มบุคคลที่เข้าไปช่วยเหลือ นักดับเพลิง นักข่าว แนะนำว่าอาจจะต้องพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกาย ส่วนกรณีประชาชนปกติที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้น หากไม่พบอาการที่มันผิดปกติรุนแรงอะไร แนะนำให้ลองสังเกตอาการดูก่อนได้
การดูแลรักษาตนเองเบื้องต้น
เบื้องต้นดูจากอาการ ถ้ามีความเสี่ยงอยู่ในแหล่งที่มีโอกาสสัมผัสสารพิษ ให้รีบกลับบ้าน ปิดประตู ปิดหน้าต่าง และอาจจะเปิดเครื่องปรับอากาศได้ หากอาการระคายเคืองตา แสบคอ หายใจลำบาก และไอ ให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยตัวเอง เช่น ถ้าระคายเคืองตา ควรล้างตาอย่างน้อย 15 นาที หากแสบคอ ให้ดื่มน้ำเยอะๆ ในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีโรคเกี่ยวกับปอด โรคหัวใจ รวมไปถึงเด็กเล็ก หากยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการผื่นแพ้ รักษาเบื้องต้นด้วยตัวเองแล้วไม่ทุเลา ให้รีบพบแพทย์
คำแนะนำเบื้องต้น
หากมีความจำเป็นต้องออกไปข้างนอก ควรจะใส่หน้ากากที่มีไส้กรอง หรือเป็นแบบ N95 เพราะมีประสิทธิผลในการป้องกันสารพิษเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจ อย่างหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าที่เราใช้กันในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะใช้ได้แค่ป้องกันฝุ่นและเชื้อโรค แต่ทางที่ดีที่สุดคือไม่ควรออกไปข้างนอก ควรอยู่ในบ้าน หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งถือเป็นอันดี
ข้อมูลโดย: แพทย์หญิงพรรณราย เลอวัฒนกิจถาวร
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (ผ่านการอบรมความรู้พื้นฐานด้านอาชีวเวชศาสตร์) โรงพยาบาลสมิติเวช
ที่มา: รายการ คุยรอบโรค กับหมอสมิติเวช ตอน ไฟไหม้โรงงาน
ภาพ: Reuters