อะไรดีก็เก็บไว้ อะไรที่แย่ก็ผ่าออก มารู้จักปัญหาและอันตรายที่เกิดจากฟันคุด

ปกติแล้วคนเราจะมีฟันแท้ 32 ซี่ โดยมี 4 ซี่ เป็นฟันกรามที่อยู่ด้านในที่สุด ซึ่งอาจขึ้นมาได้หรือบางคนก็ไม่สามารถขึ้นได้ในช่องปากมักเรียกกันว่าฟันคุด ช่วงอายุประมาณ 15-20 ปี เป็นเวลาที่เหมาะสมในการตรวจประเมินร่วมกับการเอกซเรย์ว่ามีฟันกรามซี่สุดท้ายพัฒนาขึ้นในขากรรไกรหรือไม่ และแนวโน้มจะเป็นฟันคุดหรือไม่ 

        สำหรับทันตแพทย์ ฟันคุดหมายถึงฟันซี่ใดก็ตามที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติ อาจจะมีกระดูก เหงือกมาปิดขวาง หรือเอียงไปชนฟันข้างเคียง โดยฟันคุดมักจะพบที่ตำแหน่งฟันกรามซี่ท้ายสุด หรือบางครั้งเกิดบริเวณตำแหน่งของฟันเขี้ยว บางคนปล่อยทิ้งไว้นานๆ สร้างอาการปวด และสร้างความรำคาญใจอยู่ตลอดเวลา หากไม่ตัดสินใจผ่าฟันคุดออก อาจเกิดหลายปัญหารวมทั้งเป็นอันตรายได้

ปัญหาและอันตรายที่เกิดจากฟันคุดมีอะไรบ้าง

        มีกลิ่นปากและฟันซี่อื่นผุ ฟันคุดที่ขึ้นมาในลักษณะเอียง จะทำให้มีเศษอาหารที่ติดระหว่างฟันคุดและฟันข้างเคียง ไม่สามารถทำความสะอาดได้ทั่วถึง เกิดเป็นกลิ่นปาก รวมทั้งการผุบริเวณซอกฟันข้างเคียงได้

        เหงือกอักเสบ เมื่อฟันคุดงอกขึ้นมาในช่องปากเพียงบางส่วน เหงือกที่ปกคลุมฟันมักมีเศษอาหารไปติดใต้เหงือก ทำความสะอาดได้ยาก จนมีการอักเสบบวมแดง และติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้เหงือกบริเวณนั้นเกิดเป็นหนอง จนเกิดการปวด หากการติดเชื้อลุกลามไปมากขึ้น อาจทำให้เจ็บคอกลืนน้ำลายไม่ได้  มีไข้ อ้าปากได้น้อยลง หรือหายใจลำบาก เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

        ทำให้ฟันเรียงเก ขณะที่ฟันคุดกำลังขึ้นจะมีแรงดันต่ออวัยวะรอบๆ รวมทั้งฟันข้างเคียง ทำให้การเคลื่อนของฟันข้างเคียงหรือเกิดการเรียงตัวที่ซ้อนกันได้ 

        เกิดถุงน้ำหรือเนื้องอกรอบๆ ฟันคุด ถุงหุ้มรอบฟันคุดหรือเนื้อเยื่อสร้างฟันอื่นๆ อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นถุงน้ำหรือเนื้องอกในขากรรไกรได้  มีผลทำให้ฟันเคลื่อนที่ผิดตำแหน่งเดิม กระดูกรอบๆ เกิดการกร่อนละลาย เป็นอันตรายกับเหงือกและฟันใกล้เคียง จนถึงอาจขยายขนาดใหญ่จนใบหน้าผิดรูป มีปัญหาการสบฟันตามมาได้

ควรผ่าฟันคุดออกในเวลาที่เหมาะสม

        ฟันคุดเป็นฟันที่มีเนื้อเยื่อและหรือกระดูกปิดขวางอยู่ ทันตแพทย์จึงไม่สามารถถอนฟันได้ตามปกติ จำเป็นต้องผ่าเหงือก ตัดกระดูก ตัดฟันออกทีละนิด เพื่อนำฟันคุดออกมา แต่ก็ไม่ต้องกังวลเพราะไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอันตรายต่อฟันข้างเคียง หรือส่วนอื่นที่อยู่บริเวณนั้นๆ การผ่าตัดฟันคุดอาจใช้เวลานานกว่าถอนฟันตามปกติ ขึ้นกับลักษณะและตำแหน่งของฟันคุดซี่นั้นๆ รวมทั้งอายุของผู้ป่วย  

        การผ่าฟันคุดในช่วงที่ฟันกำลังมีการสร้างรากฟันเสร็จแล้วประมาณครึ่งรากหรือมากกว่านั้น แต่ยังสร้างรากไม่เสร็จสมบูรณ์ มักจะเป็นช่วงที่ผ่าได้ง่ายที่สุดของฟันกรามล่างที่สาม โดยช่วงอายุการเจริญของฟันขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละคน โดยมากจะเป็นช่วงอายุ 15-20 ปี ทันตแพทย์จึงแนะนำให้มีการตรวจประเมิน วางแผนการรักษาฟันคุด แม้ฟันอาจจะยังไม่ขึ้นมาในช่องปากในช่วงอายุดังกล่าว

หลังผ่าตัดฟันคุดควรทำอย่างไร 

        เมื่อทันตแพทย์ผ่าฟันคุดเสร็จ จะให้กัดผ้าก๊อชไว้แน่นประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อห้ามเลือด ไม่แนะนำให้อมน้ำแข็ง แต่ให้ทำการประคบเย็น ใช้น้ำแข็งใส่ถุงพลาสติกและห่อผ้ามาประคบแก้มด้านนอกบริเวณที่ผ่าฟันคุด ในช่วง 1-2 วันหลังจากผ่าฟันคุด และทำตามคำแนะนำเพิ่มเติมที่ทันตแพทย์เป็นผู้แนะนำ เช่น แปรงฟันตามปกติแต่ไม่แปรงฟันแรงๆ ตรงบริเวณที่ผ่า รับประทานอาหารอ่อนๆ รับประทานยาแก้ปวดและยาอื่นตามที่ทันตแพทย์สั่ง และกลับมาติดตามอาการหรือตัดไหมตามนัด

อย่าตกใจกับอาการที่พบได้บ่อยหลังผ่าฟันคุด 

        หลังผ่าฟันคุดผู้ป่วยจะมีอาการปวด การบวมของใบหน้าบริเวณที่ผ่าได้ รวมทั้งอาจพบการช้ำบริเวณแก้ม  อาการปวดให้ใช้ยาแก้ปวดตามที่ทันตแพทย์แนะนำอาการมักจะดีขึ้นใน 2-3 วัน  ส่วนอาการบวมหรือช้ำของใบหน้า แนะนำให้ใช้การประคบเย็นในช่วง 1- 2 วันแรก แล้วต่อด้วยประคบอุ่นหลังจากนั้น จะทำให้อาการดีขึ้นใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอ้าปากได้น้อยหลังผ่าฟันคุด ให้ค่อยๆ ฝึกการอ้าปากได้ภายหลังจากเลือดหยุดดีแล้ว หากการอ้าปากได้น้อยเป็นอยู่นานกว่า 1 สัปดาห์  ทันตแพทย์จะแนะนำท่าทางในการบริหารขากรรไกรให้ท่านได้

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้อื่นๆ

        • การติดเชื้อหลังผ่าตัด สังเกตได้จากการปวดบวมเป็นมากขึ้นหลังผ่าไปประมาณ 3-5 วัน หรือมีหนองเกิดขึ้น สาเหตุที่เป็นไปได้ของการติดเชื้อหลังผ่าฟันคุด เช่น ฟันคุดอยู่ลึกใช้เวลาผ่าตัดนาน หรือการดูแลรักษาความสะอาดแผลผ่าตัดไม่ได้

        • แพ้ยา สังเกตได้จากอาการปากบวม ตาบวม มีผื่นขึ้น หรือหายใจลำบากหลังจากได้รับยา ให้รีบหยุดยาและพบทันตแพทย์ทันที

        • เลือดออกเยอะหรือนานกว่าปกติ สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดมักเกิดจากการกัดผ้าที่ห้ามเลือดได้ไม่ดีพอ หรือการออกแรงบ้วนเลือดที่ออกมา ทั้งนี้อาจมีสาเหตุอื่นๆได้อีกหลายสาเหตุ  เบื้องต้นแนะนำให้ใช้ผ้ากอซสะอาดพับให้หนาพอสมควร วางบริเวณแผลผ่าตัดแล้วออกแรงกัดนิ่งๆอย่างน้อย 30 นาที กลืนน้ำลาย ไม่ออกแรงบ้วน  หากไม่สามารถหยุดเลือดได้ หรือมีเลือดออกปริมาณมาก ควรไปพบทันตแพทย์

        • ชาริมฝีปากและคาง การชาที่เป็นอยู่นานกว่าฤทธิ์ยาชา (3-4 ชั่วโมง) อาจเกิดจากการที่ส่วนของฟันคุดอยู่ใกล้เส้นประสาทรับความรู้สึกในขากรรไกรล่าง  ทันตแพทย์สามารถประเมินความเสี่ยงในการชาเบื้องต้นได้จากภาพเอกซเรย์ และปรึกษาผลดีผลเสียกับผู้ป่วยก่อนผ่าฟันคุดได้  หากเกิดการชาภายหลังการผ่าตัดแนะนำให้พบทันตแพทย์ผู้ผ่าตัด เพื่อให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวต่อไป

        เมื่อรู้จักกับฟันคุดแล้วว่าปล่อยไว้จะเกิดผลเสียอย่างไร ปรึกษาทันตแพทย์เพื่อตรวจประเมิน ให้คำแนะนำแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะเกิดอันตรายขึ้น


บทความโดย: ทันตแพทย์หญิงปาริฉัตร ลิ้มสุวรรณ
ทันตแพทย์ด้านศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล 
โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์

ภาพ: Getty Images