วัคซีน COVID-19

เมื่อการเร่งผลิตวัคซีน COVID-19 อาจยิ่งทำให้มนุษยชาติเดินอยู่บนความเสี่ยงครั้งใหญ่

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกคำสั่งให้เร่งมือผลิตวัคซีนรักษาโรค COVID-19 เป็นการใหญ่ เขาถึงกับเสนอประมาณว่า – ก็ใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีอยู่ไปก่อนไม่ได้หรือ

        คำตอบจากนักวิทยาศาสตร์ก็คือ – ไม่ได้, เราใช้วัคซีนที่มีอยู่ หรือแม้กระทั่ง ‘วิธี’ ผลิตวัคซีนแบบเดิมๆ ก็ยังไม่ได้เลย และเหตุผลที่วัคซีนต้องใช้เวลายาวนาน 12-18 เดือนนั้น ไม่ใช่เพราะนักวิทยาศาสตร์ไร้ความสามารถ แต่เพราะนี่คือกระบวนการที่ ‘เสี่ยง’ อย่างยิ่ง ถ้าเร่งรัดหรือใช้เวลาน้อยเกินไป เป็นไปได้ที่จะเกิดผลร้ายมากกว่าผลดี

        และนี่คือเหตุผลสำคัญที่สุด ที่มนุษยชาติต้องร่วมแรงร่วมใจกัน ‘ผลัก’ กราฟของจำนวนผู้ติดเชื้อให้เลื่อนออกไปในอนาคตให้ได้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยการพยายามรักษาระยะห่างทางสังคม ด้วยการกักตัว และด้วยการ ‘ใจเย็นๆ’ ในทุกหนทางเท่าที่จะทำได้

        เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์สามารถ ‘ซื้อเวลา’ ในการผลิตวัคซีนได้ยาวขึ้น

อดีตสอนเราว่า…

        ในปี 1976 ซึ่งเป็นปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเหมือนกับปี 2020 ในเดือนกุมภาพันธ์ เกิดเหตุพบผู้ป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ขึ้นในค่ายทหารที่นิวเจอร์ซีย์ ทำให้ทหารคนหนึ่งตาย ตอนนั้นเกิดความหวาดกลัวอย่างยิ่งว่าโรคนี้จะระบาดต่อเนื่องไปกลายเป็นโรคระบาดใหญ่ ประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด จึงสั่งการเร่งรัด ประกาศแผนฉีดวัคซีนให้กับทุกคนในประเทศ โดยใช้เงินถึง 136 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

        เขาไม่ฟังเสียงใคร โดยเฉพาะเสียงของนักวิทยาศาสตร์ที่เตือนว่าต้องมีการทดลองทางคลินิกอย่างดีเสียก่อน แต่กลับผลักดันสภาคองเกรสให้ออกกฎหมายยกเว้นบริษัทผลิตวัคซีนว่าไม่ต้องรับผิด ถ้าหากวัคซีนไปทำร้ายใคร

        อเมริกาเริ่มฉีดวัคซีนในเดือนตุลาคมให้กับคนราว 40 ล้านคน ทั้งที่ยังไม่ได้ทดลองให้ดีก่อน แล้วพอถึงเดือนธันวาคม ก็พบว่าวัคซีนที่ว่านี้ไปเพิ่มความเสี่ยงให้กับการเกิดโรคที่ชื่อ Guillain-Barre ซึ่งเป็นโรคทางระบบประสาทที่ทำให้ขยับร่างกายไม่ได้

 

วัคซีน COVID-19

 

        เหตุการณ์ทำนองนี้ทำให้การทดลองวัคซีนเป็นเรื่องใหญ่ ต้องใช้เวลา ก่อนหน้านี้ก็เคยมีเหตุการณ์ที่เรียกว่า The Cutter Incident เกิดขึ้นในปี 1955 เมื่อผู้ผลิตวัคซีนชื่อ Cutter Laboratories ล้มเหลว ด้วยการฉีดไวรัสป้องกันโรคโปลิโอให้คน แต่สุดท้ายกลับทำให้คนป่วยเป็นโปลิโอมากถึง 40,000 คน มี 260 คน ที่ร่างกายเป็นอัมพาต และอีก 10 คนเสียชีวิต

        หรือในปี 1942 ก็เคยมีการฉีดวัคซีนไข้เหลือง แต่วัคซีนนี้ปนเปื้อนไวรัสตับอักเสบบี ผลลัพธ์ก็คือในจำนวนทหาร 300,000 นายที่ได้รับการฉีดวัคซีนนี้ เสียชีวิต 150 คน

        การ ‘ทดลอง’ กับวัคซีนจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก และต้องทำอย่างละเอียดรอบคอบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้ว่าจะมีแรงกดดันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สาธารณสุข ฯลฯ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็บอกว่าเรา ‘รีบไม่ได้’ ไม่อย่างนั้นอาจเกิดผลร้ายอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

วัคซีนคืออะไรกันแน่?

        ขณะนี้ มีอยู่อย่างน้อย 43 ราย ที่กำลังพัฒนาวัคซีนสำหรับ​ COVID-19 อยู่ ทั้งห้องแล็บในบริสเบน ออสเตรเลีย ในฮ่องกง ในสหรัฐอเมริกา ในอังกฤษ ซึ่งมีทั้งห้องแล็บของเอกชนและห้องแล็บของมหาวิทยาลัย และส่วนใหญ่ เป็นการคิดค้นวิธีผลิตวัคซีนที่ใช้วิธีแบบใหม่ เรียกว่า DNA หรือ RNA Vaccine ซึ่งจะเขียนถึงต่อไป ว่า DNA หรือ RNA Vaccine คืออะไร

        ในตอนนี้ วัคซีนที่เริ่มทดลองกับมนุษย์แล้วคือวัคซีนของบริษัทไบโอเทคจากอเมริกา ชื่อว่า Moderna ซึ่งเริ่มทดลองกับมนุษย์ในวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา โดยใช้อาสาสมัครสุขภาพดี 45 คน ที่อยู่ในซีแอตเทิล

        หลายคนอาจสงสัยว่า เพิ่งมี COVID-19 ได้ไม่นาน แต่เราก็เหมือนมีวัคซีนต้นแบบแล้วไม่ใช่หรือ แล้วทำไมเราถึงจะรีบผลิตวัคซีนออกมาไม่ได้

        เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปตั้งคำถามกันก่อน ว่าอะไรคือ ‘วัคซีน’

         ถ้าย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 16 ในจีน เราจะพบวิธีปฏิบัติแบบหนึ่งที่น่าสยดสยองมาก นั่นคือการเอาสำลีหรือผ้าไปชุบกับ ‘หนอง’ ของคนที่เป็นโรคฝีดาษ แล้วยัดเข้าไปในรูจมูกของเด็กที่สุขภาพดี แม้ฟังดูน่าสยองและน่าขยะแขยง แต่นั่นก็คือ ‘หลักการ’ ของการทำวัคซีน ซึ่งก็คือการนำเอาเชื้อโรคที่อ่อนแอ หรือว่าเชื้อโรคบางส่วนใส่เข้าไปไว้ในร่างกายของมนุษย์ แล้วปล่อยให้ร่างกายของเราสร้างภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า แอนตี้บอดี้ (Antibodies) ขึ้นมาต่อต้านโรคนั้นๆ เอง ซึ่งก็แน่นอนว่า การใช้วิธีแบบโบราณก็คือเราต้องป่วยเสียก่อน ถึงจะเกิดภูมิคุ้มกันต่อโรคเหล่านี้ขึ้นมาได้

 

วัคซีน COVID-19

 

        ในโลกยุคใหม่ หลักการของวัคซีนยังเหมือนเดิม แต่วัคซีนนั้นมีอยู่หลายประเภทด้วยกัน เช่น

        วัคซีนที่เกิดจากเชื้อโรคที่ไม่ทำงานหรือตายไปแล้ว เรียกว่า Inactived Vaccine คือเชื้ออาจถูกทำลายโดยสารเคมี รังสี หรือความร้อน ทำให้มันยังมีรูปร่างเหมือนเดิม แต่ว่าตัวของมันตายไปแล้ว วัคซีนประเภทนี้ อาทิ วัคซีนโปลิโอ วัคซีนตับอักเสบเอ วัคซีนพิษสุนัขบ้า และวัคซีนไข้หวัดใหญ่บางประเภท

        วัคซีนที่เชื้อยังไม่ตาย แต่อ่อนแอลง เรียกว่า Attenuated Vaccine จำนวนมากเป็นไวรัสที่ยังไม่ตาย แต่มีการเพาะเลี้ยงในเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้มันไม่เป็นอันตราย หรือไม่ก็เป็นสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกันแต่ไม่ได้เป็นอันตรายเท่า ซึ่งพอเข้าไปในร่างกาย ร่างกายก็จะเรียนรู้แล้วก็สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา

        วัคซีนทั้งสองอย่างที่ว่ามาข้างต้น เป็นการใช้เชื้อโรคทั้งตัวฉีดเข้าไป อาจจะเป็นเชื้อที่ตายแล้วหรือเชื้อที่อ่อนแอลงก็ได้ ซึ่งหลายคนก็ยังหวาดเสียวอยู่ดีว่ามันจะฟื้นคืนฤทธิ์ขึ้นมาได้หรือเปล่า ก็เลยมีวัคซีนอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า Subunit Vaccine คือแทนที่จะใช้เชื้อโรคทั้งตัว ก็ใช้เฉพาะ ‘หน่วยย่อย’ ของมัน คือหน่วยที่เรารู้ว่าจะไปกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันตอบสนอง ตัวอย่างเช่น วัคซีนตับอักเสบบี ซึ่งก็จะมีแค่ส่วนโปรตีนที่เป็นเปลือกของไวรัสเท่านั้น คือเป็นเพียง Subunit ของมัน

        อีกประเภทหนึ่งคือไม่ได้ฉีดเชื้อโรคเข้าไปในร่างกาย แต่ฉีด ‘สารพิษ’ ที่เกิดจากเชื้อโรคนั้นๆ เข้าไป เรียกว่า Toxoid Vaccine โดยสารพิษที่ฉีดเข้าไปนั้นไม่ทำงานแล้ว จึงไม่ก่อให้เกิดอาการป่วยหรือมีอาการป่วยน้อย ตัวอย่างเช่น วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก เป็นต้น

        วัคซีนประเภทที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 ก็คือวัคซีนประเภทใหม่ ที่เรียกว่า DNA หรือ RNA Vaccination คือการผลิตวัคซีนโดย ‘ลงลึก’ ไปถึงสารพันธุกรรมของไวรัส แล้วไปตัดเอาแค่ ‘ชิ้นส่วน’ เล็กๆ ของ DNA หรือ RNA เอานำเอาไปใส่ไว้ในเซลล์ของมนุษย์ เพื่อให้เซลล์ผลิตแอนติเจน (Antigen) ออกมา คำว่า Antigen เป็นคำเรียกรวมๆ หมายถึงอะไรก็ตามที่ไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันหรือแอนตี้บอดี้ทำงาน วิธีนี้เป็นวิธีใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นในต้นศตวรรษที่ผ่านมานี้นี่เอง

ทำไมการผลิตวัคซีนจึง ‘รีบไม่ได้’

        ที่จริง ต้องบอกว่า ก่อนจะถึงศตวรรษนี้ การผลิตวัคซีนเป็นเรื่องที่ใหญ่และยาวนานมากๆ อย่างเช่น การผลิตวัคซีนโรคโปลิโอ เพราะต้องมีการทดลองในแบบลองผิดลองถูกนานมาก อาจนานได้ถึง 10-20 ปี

        ที่ต้องใช้คำว่า ‘ลองผิดลองถูก’ หรือ Trial and Error นั้น โดยเนื้อแท้เป็นอย่างนั้นจริงๆ เนื่องจากเราไม่รู้ว่าส่วนไหนของเชื้อโรคทำให้เราเกิดอาการป่วยบ้าง และส่วนไหนของเชื้อโรคที่ไปกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาบ้าง

        ที่ผ่านมาในศตวรรษที่แล้ว การผลิตวัคซีนจึงเป็นงานเหนื่อยหนักหนาสาหัส โดยเฉพาะกับไวรัส เพราะนักวิทยาศาสตร์ต้องทำให้ไวรัสอ่อนแอ ด้วยการเลี้ยงมันในเซลล์ของมนุษย์ที่แยกออกมาแล้ว และนำไปเก็บไว้ในห้องแล็บที่อุณหภูมิต่ำ เมื่อไวรัสอ่อนแอได้ที่แล้ว จึงสามารถนำกลับเข้าไปในร่างกายมนุษย์อีกทีในรูปของวัคซีน

        จนกระทั่งถึงทศวรรษ 1980s นักวิทยาศาสตร์ถึงใช้วิธี Subunit โดยใช้เฉพาะบางชิ้นส่วนของไวรัสที่เป็นโปรตีนหรือน้ำตาล เช่น ที่บริเวณเปลือกของไวรัส แล้วนำมาผลิตเป็นวัคซีน ซึ่งก็นับว่าก้าวหน้าขึ้น แต่ที่ก้าวหน้าจริงๆ ก็คือเมื่อต้นศตวรรษที่ผ่านมา กับวิธี DNA และ RNA Vaccine ซึ่งก้าวหน้าขึ้นมาได้ก็เพราะเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ทำให้เราสามารถหารหัสพันธุกรรมของไวรัสได้รวดเร็วขึ้นและราคาถูกลง งานที่เคยต้องใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี จึงลดลงมาเหลือหลักเดือนหรือสัปดาห์เท่านั้น

        เราเรียกชิ้นส่วนของ DNA หรือ RNA ของไวรัสนี้ว่า Snippet หรือไม่ก็ Sliver ซึ่งก็คือชิ้นส่วนเล็กๆ ที่มันทำหน้าที่เป็น ‘โรงงาน’ ในการผลิตโปรตีนเฉพาะ แต่ละส่วนที่แตกต่างกันจะผลิตโปรตีนแตกต่างกัน โดยนักวิทยาศาสตร์สามารถเลือกได้ว่าจะเอาชิ้นส่วนไหนมาทำวัคซีน ด้วยการเลือกชิ้นส่วนที่ก่อให้เกิดการสร้างโปรตีนที่จะไปกระตุ้นให้แอนตี้บอดี้ทำงานนั่นเอง

        วิธีนี้ฟังดูยุ่งยาก แต่มันมีผลดีกว่าวัคซีนแบบเดิมๆ มาก นั่นเพราะถ้าชิ้นส่วนของไวรัสเข้าไปอยู่ในเซลล์ของเราได้แล้ว มันจะไปกระตุ้นให้ร่างกายเราผลิตภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นสิบๆ ปี โดยไม่ต้องมาคอยฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำๆ อีก

        ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดสำหรับโคโรนาไวรัสก็คือ ถ้าเราสามารถหา ‘ชิ้นส่วน’ ในสารพันธุกรรม ‘ร่วม’ ของโคโรนาไวรัสทุกสายพันธุ์ได้ เราก็จะสามารถผลิตวัคซีนที่ป้องกันโรคที่เกิดจากโคโรนาไวรัสทุกอย่างได้ เป็นโรคซาร์ส เมอร์ หรือโควิด-19 ก็ไม่ต้องกลัวกันอีกต่อไป และถ้าจะดียิ่งขึ้น ก็คือการหาพันธุกรรมร่วมของไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้งปวง อย่างที่ บิล เกตส์ ให้เงินวิจัยเอามาทำอยู่ มันคือวัคซีนที่เรียกว่า Universal Flu Vaccine หรือวัคซีนที่รักษาไข้หวัดใหญ่ได้ครอบจักรวาลนั่นเอง

 

วัคซีน COVID-19

 

        ทีนี้มาถึงคำถามที่ว่า แล้วทำไมเรา ‘รีบ’ ไม่ได้?

        ต้องบอกก่อนว่า การผลิตวัคซีนนั้นแบ่งออกเป็นสามขั้นตอนใหญ่ๆ ขั้นตอนแรกสุดก็คือการหาว่า เชื้อโรคนั้นๆ หน้าตาเป็นอย่างไร ขั้นตอนที่สองคือการผลิตแล้วนำมาทดลองกับสัตว์ก่อน เมื่อได้ผลแล้วค่อยนำมาทดลองกับมนุษย์ ส่วนขั้นตอนที่สามก็คือเมื่อรู้แน่ๆ ว่าได้ผลแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการผลิตจริง ที่ต้องเป็นการผลิตแบบ mass production

        อย่างที่บอกไปแล้วว่า เราสามารถใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันมาถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสได้รวดเร็วมาก ตอนนี้เรารู้ว่า ลำดับเบส 29,903 ใน RNA ของ SARS-CoV2 เป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งก็ทำให้เราทำงานต่อได้

        การรู้รหัสพันธุกรรมนี้ เป็นเหมือนการยิงปืนนัดแรก เพราะนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกสามารถนำเอารหัสพันธุกรรมมาศึกษาร่วมกันได้ในทันที เพื่อดูว่าส่วนไหนของรหัสพันธุกรรมที่จะถอดออกมาเป็นโปรตีนเฉพาะบ้าง ส่วนสำคัญก็คือโปรตีนที่เรียกว่า S-Protein ซึ่งก็คือโปรตีนที่กลายมาเป็นหนามมงกุฎแหลมๆ ยื่นออกมา นอกจากนี้ก็ยังมีโปรตีนอื่นๆ อีก เช่น โปรตีนที่กลายเป็นแคปซูลหุ้มสารพันธุกรรมของไวรัสเอาไว้ เป็นต้น

        พูดง่ายๆ ก็คือ สารพันธุกรรมของไวรัสก็เหมือนสารพันธุกรรมของมนุษย์ ที่จะคอยกำหนดให้มีการสร้างโปรตีนเป็นตับ ไต กระเพาะ แขน ขา อะไรทำนองนั้นนั่นเอง แต่ในกรณีของไวรัส SARS-CoV2 นี้ ก็ต้องหาว่าตรงไหนกันแน่ของไวรัสที่ทำหน้าที่เป็นแอนติเจน

        ในวิธีการนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้เจอหน้าไวรัสตัวเป็นๆ เลย พวกเขาทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ คิดโน่นปะนี่ จนกระทั่งในที่สุดก็ออกมาเป็น ‘พิมพ์เขียว’ ของส่วนที่ต้องการ จากนั้นก็ต้องส่งพิมพ์เขียวนี้ไปให้ห้องแล็บที่รับผลิต แต่ว่าไม่ได้ผลิตไวรัสจริง เป็นไวรัสที่มีสารพันธุกรรมแบบสังเคราะห์ขึ้นมาเฉพาะส่วนที่จะสร้างแอนติเจนได้ ก่อนจะส่งกลับมาเป็นไวรัสตัวเป็นๆ อยู่ในหลอดอีกทีหนึ่ง เพื่อนำมาทดลองต่อไป

         ก็คือ เมื่อเรารู้รหัสทั้งหมดแล้ว ก็นำรหัสที่ได้มาพลิกดูว่าตรงไหนที่มีฤทธิ์มีเดชบ้าง แล้วก็ ‘ออกแบบ’ พันธุกรรมใหม่เอาเฉพาะส่วนที่มีฤทธิ์มีเดช แล้วส่งไปผลิตตามการออกแบบ ก่อนจะนำกลับมา ‘ทดลอง’ จริงๆ ในสัตว์และในมนุษย์ต่อไป ซึ่งถ้าหากว่าไม่ได้ผล ก็จะต้องย้อนกลับไปรื้อพิมพ์เขียวการออกแบบใหม่ เพื่อกลับมาสั่งผลิตอีกหน

        นั่นคือขั้นตอนแรกที่เทคโนโลยีช่วยให้เร็วขึ้นมาแล้ว แต่ขั้นตอนที่สองไม่มีเทคโนโลยีอะไรมาเร่งให้ยาวนานขึ้นได้ แม้ทรัมป์จะอยากให้วัคซีนสำเร็จในไม่กี่เดือน แต่นักวิทยาศาสตร์ก็บอกทรัมป์ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะแค่สองสามเดือน วัคซีนก็อาจสำเร็จเพียงเพื่อสำหรับการทดสอบเท่านั้นเอง

        โดยปกติแล้ว ต้องทดลองในสัตว์หลายต่อหลายเฟส ก่อนจะมาทดลองในมนุษย์ แต่บริษัท Moderna ตัดสินใจจะทำสองอย่างนี้ควบคู่กันไป คือทดลองในมนุษย์พร้อมกับทดลองในสัตว์ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าจะเกิดความล้มเหลว อาจเกิดเหตุไม่คาดฝันอะไรขึ้นมาก็ได้

         เมื่อเราฉีดวัคซีนให้สัตว์หรือมนุษย์แล้ว ถัดจากนั้นคือ ‘กระบวนการของธรรมชาติ’ ที่จะเป็นไปเอง ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเอง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไป และในแต่ละรายก็มีภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกันไปด้วย ดังนั้นมันจึงเป็นขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนและใช้เวลานานมาก

        และแน่นอน – นี่เป็นขั้นตอนที่มีความเสี่ยงหลายอย่าง

        ความเสี่ยงอย่างแรกก็คือ – ถ้าหากว่า COVID-19 แพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ก็เป็นไปได้ที่เหล่าอาสาสมัครผู้รับวัคซีนไปแล้ว จะติดเชื้อไปด้วย จนทำให้ผลการทดลองสับสนปนเปไปหมด เราจะไม่สามารถ ‘สกรีน’ หรือ ‘คัดกรอง’ อาสาสมัครได้ว่าใครเป็นใคร เนื่องจากเชื้อจะเข้าไปตีกันวุ่นวาย และการทดลองก็ต้องทำในอาสาสมัครจำนวนมาก จึงมีความเสี่ยงที่การแพร่ระบาดนี้จะลามมาถึงตัวอาสาสมัคร ลองคิดดูว่า อาสาสมัครของ Moderna 45 คนนั้น ถ้าได้รับเชื้อไปสักห้าหกคน จะทำให้ผลการทดลองเพี้ยนไปได้มากแค่ไหน

        ความเสี่ยงนี้จึงทำให้การรักษา ‘ระยะห่างทางสังคม’ หรือ Social Distancing สำคัญและจำเป็นมาก ไม่ใช่แค่เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเท่านั้น แต่เพื่อให้กระบวนการทดลองในมนุษย์เป็นไปได้อย่างราบรื่นด้วย สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์คาดหมายตรงกันกับคุณหมอเลยก็คือต้อง ‘ดีเลย์’ การเกิด ‘พีก’ ของโรคระบาดออกไปให้ได้มากที่สุด ด้วยการ Stay Home หรือ ‘อยู่บ้าน’ กันให้ได้มากๆ

 

วัคซีน COVID-19

 

        ความเสี่ยงถัดไปที่สำคัญมากก็คือความเสี่ยงทางการเงิน เพราะการทดลองนี้เป็นการทดลองใหญ่ ต้องใช้งบประมาณสูงมาก หลายคนบอกว่า ถ้าสำเร็จก็จะได้เงินตอบแทนกลับมาสูง แต่ไม่มีใครรู้หรอกว่า ไวรัสอาจจะหายไปเองก่อนที่วัคซีนจะออกมาหรือเปล่า หรือว่าวัคซีนที่ใช้วิธี DNA และ RNA Vaccine จะได้ผลไหม จะมีคนจำนวนเท่าไหร่ที่สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้จากวัคซีนนี้ และจะต้องให้วัคซีนกับใครบ้าง กับทุกคนเลย ซึ่งต้องใช้วัคซีนหลายพันล้านชุด หรือเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยงไม่กี่คนเท่านั้น หรือให้เฉพาะกับคนอายุเกิน 40 ปี ดังนั้น ถ้ารัฐไม่ยื่นมือเข้ามาสนับสนุนเงินทุนแบบเดียวกับที่ บิล เกตส์ ทำ เมื่อเวลาผ่านไป หลายองค์กรก็อาจจะรามือไปก็ได้

        จะเห็นได้ว่า เรื่องวัคซีนนั้นสลับซับซ้อน มันจึงต้องใช้เวลาในการผลิตยาวนานมาก และสิ่งที่เราจะช่วยได้จริงๆ ก็คือการรักษาระยะห่างทางสังคมเอาไว้ก่อน

        นี่คือเรื่องสำคัญ