ทำไมการลืมถึงสำคัญต่อการ Move On ไปข้างหน้า

เคยสงสัยไหมว่า – ทำไมเราถึงลืมสิ่งต่างๆ

        หลายคนอาจคิดว่า สมองเราคงมีพื้นที่เก็บน้อยล่ะสิ เราถึงลืมโน่นนี่ได้

        แต่ถ้าบอกคุณว่า จริงๆ แล้ว นักวิทยาศาสตร์บอกว่าเรายังค้นไม่พบ ‘ขีดจำกัด’ เรื่องความทรงจำของมนุษย์เลย คือแปลว่าสมองมนุษย์เราสามารถเก็บรักษาความทรงจำเอาไว้แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีที่สิ้นสุด หรือพูดง่ายๆ ก็คือเราน่าจะ ‘จำได้ทุกเรื่อง’ คุณอาจสงสัยขึ้นมาก็ได้ว่า อ้าว! ถ้าอย่างนั้นแล้วทำไมเราถึงลืม

        The Persistence and Transience of Memory งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Neuron บอกว่า ที่จริงแล้วกระบวนการ ‘ลืม’ (หรือจริงๆ คือการ ‘ลบความทรงจำ’ นั้นเป็นกระบวนการจำเป็นมากสำหรับเรา

        เราอาจคิดว่า ความทรงจำสมบูรณ์แบบคือการไม่ลืมอะไรเลย แต่ถ้าหากจะทำให้เราอยู่ในโลกนี้แล้วยังสามารถรับมือและสำรวจโลกนี้ต่อไปได้ละก็ กระบวนการลืมนั้นสำคัญมาก

         อย่างแรกสุดก็คือการ ‘ลืมข้อมูลเก่า’ นั้น ทำให้เรามีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น Neurogenesis-mediated forgetting minimizes proactive interference งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ที่นักวิทยาศาสตร์ฝึกหนูให้เดินในเขาวงกต พอเดินแล้ว จากนั้นก็เปลี่ยนตำแหน่งต่างๆ ในเขาวงกตเสียใหม่ แล้วก็วางยาหนูบางส่วน เพื่อทำให้มันลืมข้อมูลเขาวงกตเดิม

        ผลปรากฏว่า หนูที่ลืมเขาวงกตเดิมไปแล้ว สามารถเรียนรู้เขาวงกตใหม่ได้เร็วขึ้นกว่าหนูที่ยังจดจำเขาวงกตเดิมมากทีเดียว นั่นเป็นเพราะความทรงจำเก่าที่อยู่คงอยู่ ทำให้เราต้องเสียเวลา ‘ประมวลผล’ ข้อมูลเก่าซ้ำๆ ทั้งที่ข้อมูลพวกนั้นไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไปแล้ว

 

        ดังนั้น การ ‘ลืม’ ข้อมูลเก่า จึงสำคัญมากๆ สำหรับชีวิตของเรา เพราะมันช่วยให้เราไม่ต้องกลับไปผ่านกระบวนการข้อมูลล้นเกิน โดยค่อยๆ เปรียบเทียบข้อมูลหนึ่งๆ กับข้อมูลเดิมๆ ที่มีอยู่ทั้งหมดอีก ตรงนี้สำคัญมาก เพราะมันคือหนึ่งในวิธีที่นักวิทยาศาสตร์ใช้สร้าง ‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรือ AI ขึ้นมา

        นักวิทยาศาสตร์พบว่า ถ้าให้ AI จดจำทุกเรื่องราว มันจะทำงานได้ช้าลง หรือบางครั้งก็ทำงานไม่ได้เลย มีการทดลองโดยสอนให้คอมพิวเตอร์จดจำใบหน้าของคนหลายพันคน โดยจดจำแต่ลักษณะเฉพาะของใบหน้าคนเหล่านั้นเก็บเอาไว้ เช่น คนไหนมีตาสีฟ้า ตาสีน้ำตาล ริมฝีปากหนาหรือบาง ฯลฯ แต่พอนำใบหน้า ‘ใหม่’ ที่ไม่ได้มีลักษณะเหมือนกับใบหน้าต่างๆ ที่ว่ามาให้คอมพิวเตอร์ดู มันกลับไม่สามารถรับรู้ได้ว่านั่นคือใบหน้า เพราะมันมัวไปเสียเวลาอยู่กับรายละเอียดพวกนั้น เช่น ตาสีอะไร ปากหนาหรือบาง ฯลฯ

        เพื่อแก้ปัญหานี้ นักวิจัยต้องใช้วิธีที่เรียกว่า Regularization โดยบังคับให้ระบบ ‘ลืม’ ข้อมูลในรายละเอียดบางส่วน จนกระทั่งเหลืออยู่แค่ ‘ข้อมูลที่เป็นแก่น’ (Core Information) เช่น หน้าต้องมีตาสองตา มีปาก มีจมูก เสียก่อน ไม่ใช่กระโจนลงไปหารายละเอียดเลยในทันที

 

        สมองของเราก็เช่นกัน สมองมีความทรงจำสองแบบ คือ Episodic memory หรือเรื่องที่เกิดขึ้นมาเป็นเรื่องๆ กับความทรงจำที่เป็นความรู้โดยทั่วไป เรียกว่า Semantic memory ความทรงจำแบบแรกจะจางหายไปเร็วกว่า เช่น เราไม่จำเป็นต้องจำได้ว่า เมื่อหกสัปดาห์ที่แล้วเราใส่เสื้อเชิ้ตสีอะไร แต่การรู้ว่าการรีดเสื้อทำอย่างไร หรือเสื้ออยู่ตรงไหนในตู้เสื้อผ้า คือสิ่งที่สมองของเราเลือกจะเก็บรักษาเอาไว้

        นักประสาทศาสตร์พบว่า การลบความทรงจำในสมองเกิดขึ้นได้ด้วยการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ๆ มา ‘ทับ’ หรือแทนที่เซลล์ประสาทเดิม ทำให้เซลล์ประสาทหรือตัวเชื่อมระหว่างเซลล์ประสาทเดิมมีอาการอ่อนแอลง ซึ่งเอาเข้าจริงก็คล้ายๆ การเขียนข้อมูลใหม่ทับลงไปบนพื้นที่เก็บข้อมูลของคอมพิวเตอร์เหมือนกัน

        จะเห็นได้ว่า การ ‘ลืม’ นั้นสำคัญกับชีวิตเรามาก โดยเฉพาะหากเราอยาก Move On หรือเคลื่อนต่อไปข้างหน้า

        ถ้าลืมไม่ได้ – ก็ Move On ได้ยากนั่นเอง