ต้นเหตุของ COVID-19

ไวรัสตัวร้ายมาจากไหนกันแน่? กำเนิดอันลึกลับของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ต้นเหตุของ COVID-19

แม้แต่ตอนนี้ ถ้าถามนักวิทยาศาสตร์ว่า เจ้าไวรัส SARS-CoV-2 ที่เป็นต้นเหตุของโรค COVID-19 มาจากไหน เชื่อไหมว่ายังไม่มีใครกล้ายืนยันว่ามันมีกำเนิดจากไหนกันแน่

        แม้ไม่ถึงกับลึกลับดำมืด แต่ก็ยังไม่มีข้อยืนยันมั่นคงได้ – ว่าไวรัสที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายไปทั่วโลกตัวนี้ มีกำเนิดมาอย่างไร ค้างคาวหรือ หรือว่าตัวนิ่ม หรือว่าสัตว์ป่าอื่นๆ แล้วมันมาจากไหนกันแน่ มาจากถ้ำ หรือมาจากป่าในหูเป่ย หรือว่าเป็นอย่างที่จีนพยายามจะบอก นั่นคือมาจาก ‘ที่อื่น’

        ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ ดูขัดแย้งกันไปหมด ตัวอย่างเช่น

        ถ้าย้อนกลับไปในวันที่ 27 ธันวาคม 2019 เราพบว่าเริ่มแรกทีเดียว คนที่เข้ารักษาตัวด้วยโรคนี้ มีอยู่ 66% ที่เคยเข้าไปในตลาดที่อยู่กลางเมืองอู่ฮั่น ซึ่งก็น่าจะบ่งชี้ว่า ที่นั่นคือจุดแรกเริ่มของการระบาด

        แต่ถ้าไปดูการศึกษาของโรงพยาบาลอู่ฮั่นเอง (ดูได้ที่ www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(20)30183-5/fulltext#%20) เราจะพบว่า มนุษย์คนแรกสุดที่ป่วยด้วยโรคนี้ไม่ได้เข้าไปที่ตลาดแห่งนั้น คืออาจจะเคยเข้าไป แต่ไม่ได้เข้าไปเป็นประจำ

        แล้วที่สำคัญก็คือ ในการศึกษาถึง ‘วิวัฒนาการ’ ของไวรัสชนิดนี้ (ดูที่ https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1002/jmv.25731) ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Molecular Dating คือการดูการเปลี่ยนแปลงของลำดับในสารพันธุกรรมและกรดอะมิโน พบว่าไวรัสที่ว่านี้มีกำเนิดขึ้นมาในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งก็ก่อให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นมาว่า ความสัมพันธ์ระหว่างโรคระบาดนี้กับสัตว์ป่าเป็นอย่างไร

        ถ้าเราดูให้ลึกลงไปอีกนิด เราจะพบว่า สารพันธุกรรมของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้มีลักษณะเป็น RNA ที่มี ‘ลำดับเบส’ ราวๆ 30,000 เบส

        ถ้าใครเรียนชีววิทยาระดับมัธยมมา น่าจะพอรู้ว่าสารพันธุกรรมจะมี ‘เบส’ อยู่ 4 ตัว มาเรียงรายกันไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็น ‘รหัส’ ที่อาจจะถอดออกมาตรงนั้นตรงนี้ เพื่อกลายมาเป็น ‘ยีน’ แล้วเป็นยีนนี่เองที่ ‘ถอดรหัส’ ออกมาเป็นโปรตีนที่สิ่งมีชีวิตเอาไปใช้ประโยชน์ต่างๆ พบว่าทั้งสามหมื่นเบสในไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ จะมียีนอยู่รวมด้วยกันทั้งหมด 15 ยีน (ถ้าเทียบกับมนุษย์ เรามีลำดับเบสอยู่ราว 3 พันล้านเบส และมียีนอยู่ราว 30,000 ยีน) โดยที่ต้องบอกคุณไว้ตรงนี้ด้วยว่า ในทั้งหมด 15 ยีนนั้น มีอยู่พื้นที่หนึ่งที่สำคัญมาก นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า ยีนเอส (S Gene) ซึ่งจะถอดรหัสออกมาเป็นโปรตีนเอส (S Protein) ที่เราพบอยู่บน ‘เปลือก’ หุ้มไวรัส

        แต่ยีนเอสสำคัญอย่างไร – ยังไม่บอกตอนนี้ ก่อนจะบอก อยากชวนมาดู ‘ชื่อ’ ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้กันเสียก่อน

        อย่างที่บอกไว้ข้างต้น มันมีชื่อว่า SARS-CoV-2 ที่ได้ชื่อนี้ก็เพราะมันเป็นไวรัสในกลุ่มที่เรียกว่า ‘เบตาโคโรนาไวรัส’ (Betacoronavirus) ที่มีลักษณะเหมือนกับ SARS-Cov อันเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส

        หลังจากเกิดโรคซาร์สระบาด ก็มีการค้นพบเจ้า ‘เบตาโคโรนาไวรัส’ อีกหลายตัว ส่วนใหญ่มันจะอยู่ใน ‘ค้างคาว’ โดยเฉพาะค้างคาวที่อยู่ในจีนัส Rhinolophus

        แต่เบตาโคโรนาไวรัสที่อยากให้คุณรู้จัก แม้ว่าชื่อจะอ่านยากอยู่สักหน่อย ก็คือไวรัสชื่อ RaTG13 ซึ่งมีการเก็บตัวอย่างได้จากค้างคาว Rhinolophus affinis อันเป็นค้างคาวที่อยู่ในยูนนาน

        เมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งมีการค้นพบกันว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับไวรัส RaTG13 มาก โดยสารพันธุกรรมเหมือนกันมากถึง 96% (ดูรายละเอียดที่ www.nature.com/articles/s41586-020-2012-7)

        พอเป็นแบบนี้ หลายคนก็ตั้งท่าจะบอกว่า นั่นไง – ต้องเป็นค้างคาวแน่ๆ ที่เป็นต้นตอของ COVID-19

        แต่ช้าก่อน เพราะเรื่องมันไม่ง่ายขนาดนั้น!

 

        ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2020 มีการค้นพบใหม่ว่า ยังมีไวรัสอีกชนิดหนึ่งที่หน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับ SARS-CoV-2 มากกว่า RaTG13 คือเหมือนกันมากถึง 99%

        แต่ปัญหาก็คือ เจ้าไวรัสที่ค้นพบใหม่นี้ไม่ได้อยู่ในค้างคาว

        มันอยู่ในตัวนิ่ม!

        พอเป็นแบบนี้ หลายคนก็เลยเทความเชื่อไปว่า ต้องเป็นตัวนิ่มแน่ๆ ที่เป็นต้นตอของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้

        แต่ต่อมามีการศึกษาเพิ่มเติมอีก พบว่าไวรัสโคโรนาที่มาจากตัวนิ่มมาเลเซีย (Malaysian Pangolin หรือมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Manis javanica) ซึ่งคือตัวนิ่มที่อยู่ในถิ่นเฉพาะ ซึ่งก็ควรจะเป็นไวรัสโคโรนาที่มีสารพันธุกรรมเหมือนกับ SARS-CoV-2 มากๆ แต่กลับปรากฏว่ามีความเหมือนแค่ 90% เท่านั้นเอง ซึ่งก็ทำให้ความเชื่อเหวี่ยงกลับไปอีกข้าง กลายเป็นคิดว่าตัวนิ่มไม่น่าจะเป็นต้นตอของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้หรอก

        แต่…

        เรื่องนี้ไม่ได้จบแค่นี้ อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นว่ามีพื้นที่เล็กๆ ที่เรียกว่า ‘ยีนเอส’ (ที่ถอดรหัสออกมาเป็นโปรตีนเอส) อยู่ในยีนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

        ปรากฏว่า นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ถ้าเรามาดู ‘เฉพาะ’ ยีนที่เรียกว่ายีนเอสนี้ ปรากฏว่าไวรัสโคโรนาที่ได้มาจากตัวนิ่ม กลับมีความเหมือนกับยีนเอสของ SARS-CoV-2 มากถึง 99% เลยทีเดียว

        แล้วถ้าย้อนกลับไปดูไวรัส RaTG13 ที่ได้จากค้างคาว ก็พบด้วยว่าถ้าเป็นค้างคาวต่างถิ่นกัน สารพันธุกรรมจะมีความเหมือนแค่ 77% เท่านั้นเอง นั่นแปลว่า เมื่อดูโดยรวมทั้งหมดแล้ว ไวรัสโคโรนาจากตัวนิ่มน่าจะมีความสามารถในการเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ได้มากกว่า

        อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปรียบเทียบในทางพันธุกรรมแล้ว นักวิทยาศาสตร์คาดว่า SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรค COVID-19 น่าจะเกิดจากการ ‘รวมตัว’ (หรือ Recombination) ระหว่างไวรัสที่แตกต่างสองสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์แรกน่าจะคือ RaTG13 ที่พบในค้างคาว ส่วนอีกสายพันธุ์หนึ่งน่าจะเป็นไวรัสที่มีความใกล้เคียงกับไวรัสที่พบในตัวนิ่ม

        การรวมตัวที่ว่าจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อไวรัสทั้งสองต้องติดเชื้อสิ่งมีชีวิตเดียวกันในเวลาเดียวกัน แต่คำถามที่นักวิทยาศาสตร์ยังตอบไม่ได้มีอยู่สองคำถาม นั่นก็คือการรวมตัวที่ว่านี้เกิดขึ้นในสิ่งมีชีวิตชนิดใด (ค้างคาว ตัวนิ่ม หรือสัตว์สปีชีส์อื่น) และเหนืออื่นใดก็คือ การรวมตัวที่เกิดขึ้นนี้มันเกิดขึ้นโดยมี ‘เงื่อนไข’ หรือ ‘สภาวะ’ แบบไหน

        นั่นคือสิ่งที่เรายังไม่รู้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ – แม้ผ่านมาจนถึงบัดนี้ เราก็ยังไม่รู้เลยว่า ไวรัสตัวร้ายที่กำลังทำให้ทั้งโลกปั่นป่วนอยู่นี้ มันมีกำเนิดมาจากที่แห่งใดกันแน่

 


หมายเหตุ: เรียบเรียงจากบทความของ Alexandre Hassanin, Maître de Conférences (HDR) à Sorbonne Université, ISYEB – Institut de Systématique, Evolution, Biodiversité (CNRS, MNHN, SU, EPHE, UA), Muséum national d’histoire naturelle (MNHN) โดยมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์อยู่ในเว็บไซต์ The Conversation (https://theconversation.com/coronavirus-origins-genome-analysis-suggests-two-viruses-may-have-combined-134059)