46 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา: อำนาจเผด็จการที่ถูกทวงคืนด้วยพลังของประชาชน

        ย้อนกลับไปเมื่อ 46 ปีที่แล้ว วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ถือเป็นหนึ่งเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย กับจุดเริ่มต้นใหญ่ในการทวงคืนประชาธิปไตยโดยประชาชน หลังจากที่ประเทศไทยตกอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมายาวนานกว่า 16 ปี

        จุดเริ่มต้นของการลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนเกิดจากความน่าเบื่อหน่ายในระบบการปกครองของทหาร ที่ลากยาวมาตั้งแต่การปฏิวัติรัฐประหารในปี 2500 โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ส่งผลให้ประเทศไทยตกอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมาตั้งแต่ช่วงเวลานั้น

        หลังการเสียชีวิตของจอมพลสฤษดิ์ในปี 2506 ก็มีการสืบทอดอำนาจต่อโดย จอมพลถนอม กิตติขจร ต่อมา แม้ว่าในปี 2512 จอมพลถนอมจะประกาศจัดการเลือกตั้งที่ถูกตั้งคำถามถึงโปร่งใส ซึ่งสุดท้ายจอมผลถนอมก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมโดยใช้พรรคสหประชาไทยของตัวเองเป็นแกนนำรัฐบาลได้สำเร็จ แต่เพียง 2 ปี การบริหารภายใต้รัฐบาลผสมที่ไร้เสถียรภาพทำให้จอมพลถนอมทำรัฐประหารตัวเองในปี 2514 และกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีในระบบเผด็จการอีกครั้ง

        ในช่วงเวลาที่ประชาชนไม่มีสิทธิ์มีเสียง ความไม่พอใจได้ค่อยๆ ก่อตัวสะสมขึ้นมา จากข่าวการทุจริตโกงกิน การเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้องของกลุ่มผู้มีอำนาจ และเหตุการณ์ที่ทำให้ความโกรธของประชาชนระเบิดออกมาในที่สุดคือการพยายามปกปิดข่าวเฮลิคอปเตอร์ตกในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร โดยอ้างว่าเป็นการไปทำราชการลับ แต่จริงๆ ทหารใช้อำนาจและเครื่องมือจากภาษีประชาชนไปใช้ในการล่าสัตว์เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

        การประท้วงเริ่มชัดเจนยิ่งขึ้น หลังการมีการตีพิมพ์ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ที่กล่าวถึงเหตุการณ์เครื่องบินตกออกเผยแพร่ บวกกับในวันที่ 6 ตุลาคม 2516 รัฐบาลของจอมพลถนอม ได้สั่งจับกุมนักศึกษา อาจารย์ และนักการเมืองรวม 13 คน ที่เป็นแกนนำออกมาแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เหตุการณ์นั้นทำให้การชุมนุมประท้วงรุนแรงมากขึ้น มีการรวมตัวที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และขยายสู่ถนนราชดำเนิน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าในการชุมนุมประท้วงครั้งนั้นมีประชาชนและนักศึกษาเข้าร่วมกว่าห้าแสนคน

        รัฐบาลทหารของจอมพลถนอมในขณะนั้นโดนแรงกดดันของประชาชนอย่างหนัก และได้มีการเปิดโต๊ะเจรจากับผู้ประท้วงในวันที่ 13 ตุลาคม 2516 โดยรัฐบาลทหารออกมาประกาศว่าจะทำตามการเรียกร้องของผู้ชุมนุม และปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้ง 13 คน แต่หลังจากการเจรจา กลุ่มนักศึกษาและประชาชนยังคงชุมนุมกันต่ออีกหนึ่งคืน จนมาถึงวันที่ 14 ตุลาคม ช่วงเวลาก่อนเที่ยงวัน รัฐบาลทหารได้สั่งการใช้กำลังสลายการชุมนุม มีการใช้รถถัง เฮลิคอปเตอร์ และแก๊สน้ำตา ยิงใส่ผู้ชุมนุม จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 ราย ซึ่งการปราบปรามลากยาวไปจนถึงวันที่ 15 ตุลาคม

        หลังเหตุการณ์สูญเสีย จอมพลถนอมได้ประกาศลงจากตำแหน่ง และหนีออกนอกประเทศไปพร้อมกับ จอมพลประภาส และ พ.อ. ณรงค์ (บุตรชายของจอมพลถนอม) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้มีการแต่งตั้ง สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ในที่สุด

        แม้ว่าหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม จอมพลถนอมกับเพื่อนจะถูกยึดทรัพย์ แต่ไม่มีการเอาผิดในกรณีปราบปรามฆ่าประชาชน และไม่มีการสร้างมาตรการป้องกันเผด็จการมาจนถึงปัจจุบัน และหากไม่มีการทบทวนบทเรียนจากการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมกดขี่ประชาชน เราก็ไม่รู้วงจรอุบาทว์ที่ต้องใช้เลือดเนื้อของประชาชนทวงคืนความยุติธรรมแบบนี้จะต้องเกิดขึ้นในประเทศนี้อีกกี่ครั้ง

 


อ้างอิง: