ญี่ปุ่นประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติมาเนิ่นนานและวางแผนเพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคตไว้เป็นอย่างดี เพราะแต่ละปีจะต้องพบกับมรสุมนานาชนิด ทั้งในรูปแบบย่อมๆ ไปจนถึงยักษ์ใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันประเทศของเขาก็ขึ้นชื่อมากในเรื่องของการรับมืออย่างมีแบบแผนและเป็นระบบ จนหลายๆ ประเทศต่างให้ความสนใจศึกษาและถอดบทเรียนเพื่อจะนำไปปรับใช้กับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในประเทศของตน
สำหรับกรณีภัยพิบัติล่าสุดอย่างไต้ฝุ่นหมายเลข 19 หรือ ‘ซูเปอร์ไต้ฝุ่นฮากิบิส’ ที่ผู้คนทั่วทั้งโลกยังคงเกาะติดและจับตามอง รวมถึงคอยส่งกำลังใจช่วยให้ญี่ปุ่นพ้นเคราะห์โดยเร็ว เราก็ได้เห็นการปรากฏขึ้นของรูปแบบการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างมืออาชีพ รวมถึงนวัตกรรมน่าทึ่ง ซึ่งล้วนเกิดขึ้นมาจากความไม่ต้องการให้ความสูญเสียเดินซ้ำรอยเดิม
หลังจากคลื่นลมเริ่มคลี่คลาย ท้องฟ้าญี่ปุ่นหลายพื้นที่กลับมาสดใส a day BULLETIN ก็ขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ 5 นวัตกรรมที่กลายเป็นฮีโร่ของภัยพิบัติครั้งใหญ่นี้
1. Live Camera
หลายๆ สถานที่สำคัญในญี่ปุ่น โดยเฉพาะบริเวณแหล่งท่องเที่ยว เช่น โตเกียวทาวเวอร์ อะกิฮาบาระ รวมถึงภูเขาไฟฟูจิ ฯลฯ จะมีกล่องถ่ายทอดบรรยากาศสถานที่เหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา ในสถานการณ์ปกติ กล้องฯ พวกนี้คือตัวช่วยสำหรับการออกแบบการเดินทางของนักท่องเที่ยว เช่น ดูสีของใบไม้ เช็กว่าวันนี้หิมะตกหรือเปล่า รวมถึงตัดสินใจว่าจะเดินทางไปภูเขาไฟฟูจิในวันที่หมอกลงหนาดีไหม ส่วนในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ ผู้คนทั่วโลกจึงใช้ประโยชน์ในการติดตามและตรวจสอบสถานการณ์ของญี่ปุ่น ภายใต้การมาถึงของซูเปอร์ไต้ฝุ่นฮากิบิสได้แบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง
2. Free Wi-Fi
ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติอาจทำให้บางพื้นที่เกิดไฟดับ สัญญาณอินเทอร์เน็ตใช้การไม่ได้ แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องของการส่งสัญญาณเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ในเหตุการณ์ซูเปอร์ไต้ฝุ่นฮากิบิส เครือข่ายโทรศัพท์ในญี่ปุ่นได้เตรียมการเพื่อรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินนี้ไว้เป็นอย่างดี โดยได้ปล่อยสัญญาณไว-ไฟให้ใช้ฟรี เพียงเปิดสัญญาณไว-ไฟที่โทรศัพท์ มองหา SSID: 00000JAPAN เชื่อมต่อได้ทันที ไม่ต้องล็อกอิน ไม่ต้องมีรหัสผ่าน
3. ทางเท้าอัจฉริยะ
นอกจากญี่ปุ่นจะขึ้นชื่อเรื่องการออกแบบทางเท้าที่เอื้อต่อการเดินเท้าแล้ว ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ น้ำท่วมเมือง ทางเท้ายังแปลงมาเป็นพนังกั้นน้ำได้อย่างชาญฉลาด โดยเฉพาะในจุดเสี่ยง เช่น ประตูทางเข้าอาคารหรือทางเข้ารถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อป้องกันทรัพย์สินไม่ให้เสียหายจากแรงปะทะของน้ำหรือสิ่งของที่ถูกน้ำพัดพามา
4. ตาข่ายคลุมอาคาร
ก่อนซูเปอร์ไต้ฝุ่นจะมาเยือน ตามท้องที่ต่างๆ จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปคลุมตาข่ายตามบ้านเรือนหรืออาคารร้าง ซึ่งเป็นตาข่ายอย่างดี เหนียวแน่นทนทานต่อการฉีกขาด เพื่อป้องกันไม่ให้ชิ้นส่วนของบ้านหรืออาคารเก่าหลุดออกไปสร้างความเสียหายแก่บริเวณข้างเคียง ความใส่ใจในรายละเอียดแบบนี้เองที่ช่วยป้องกันไม่ให้ความเสียหายบานปลาย ลดการสูญเสียทรัพย์สินไปได้อย่างมหาศาล
5. อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ
อุโมงค์ระบายน้ำขนาดยักษ์ที่กำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในขณะนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Sairyu no Kawa’ หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ ‘Metropolitan Area Outer Under Discharge Channel’ ตั้งอยู่ในพื้นที่รอบนอกของเมืองคาสุคาเบะ Kasukabe) จังหวัดไซตามะ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับกรุงโตเกียว ทั้งนี้บริเวณดังกล่าวมีสายน้ำหลายสายไหลผ่าน รวมถึงมีผืนดินอยู่ในระดับต่ำ เกิดน้ำท่วมได้ง่าย ญี่ปุ่นจึงใช้เงินลงทุนราว 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และใช้เวลาอีกสิบกว่าปี เพื่อสร้างอุโมงค์ที่ประกอบด้วยถังเก็บน้ำที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 30 เมตร ลึก 70 เมตร ทั้งหมด 5 ถัง ซึ่งแต่ละถังเชื่อมต่อกับแม่น้ำทั้งสายเล็กและสายใหญ่ เพื่อเป็นทางระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเอโดะ ก่อนจะปล่อยไปสู่ทะเลที่อ่าวโตเกียวต่อไป นับเป็นระบบระบายน้ำที่ยอดเยี่ยมและชาญฉลาดจนวิศวกรทั่วโลกต้องมาศึกษา
ที่มา:
- สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น – 在東京タイ王国大使館
- Sculptor’s Wife JP สามีดิฉัน เป็นศิลปินญี่ปุ่น
- www.dplusguide.com/2018/water-discharge-tunnel-saitama-kanto-japan
- https://en.wikipedia.org/wiki/Metropolitan_Area_Outer_Underground_Discharge_Channel
- https://medium.com/social-innovation-japan/japans-free-disaster-wifi-service-00000japan-665c2f40fcb8
ที่มาภาพ: Tokyo Tower Live Camera: http://bit.ly/31dESKa