“เขาผู้ถูกบังคับให้สูญหาย!…
ยิ่งกว่านิยาย ขยายนิยาม ‘ความป่าเถื่อน’
เงียบและเบา ฝีเท้านั้น กลับสั่นสะเทือน
ทิ้งรอยเกลื่อนซากปรัก แล้วจากไป”
นี่คือบางส่วนจากบทกวีที่กวีซีไรต์ พ.ศ. 2556 อย่าง อังคาร จันทาทิพย์ เขียนขึ้นจากเค้าโครงเรื่องราวการถูกบังคับให้สูญหายของนักเคลื่อนไหวชาวกระเหรี่ยงนาม ‘บิลลี่’ – พอละจี รักจงเจริญ ที่อยู่ๆ ก็หายสาบสูญอย่างไร้ร่องรอยยาวนานกว่า 5 ปี อังคารนำบทกวีนี้มาโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาอีกครั้ง หลังจาก DSI แถลงข่าวพบชิ้นส่วนกระดูกของนักเคลื่อนไหวคนดังกล่าวใต้ผืนน้ำของอุทยานแห่งชาติ และได้รับการยืนยันแน่ชัดแล้วว่าบิลลี่นั้นถูกฆาตกรรม และเสียชีวิตแล้ว
ใน พ.ศ. 2554 ‘บิลลี่’ – พอละจี รักจงเจริญ ร่วมเคลื่อนไหวกับชาวบ้านผู้ตั้งรกรากอยู่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเตรียมยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ จากกรณีที่หมู่บ้านของตนถูกบุกรุกทำลายข้าวของ เนื่องมาจากกรณีพิพาทเรื่องการเรียกคืนพื้นที่
พ.ศ. 2557 บิลลี่หายตัวไปอย่างลึกลับ และยาวนานกว่า 5 ปี หลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ซึ่งแจ้งว่าได้ปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว
เรื่องราวของเขานั้นถูกสะท้อนออกมาในบทกวีวรรคหนึ่งของ อังคาร จันทาทิพย์ ได้อย่างกินใจว่า
“คำของปู่ให้ปกป้อง คำของเขา…
‘รอยเท้าบรรพบุรุษเราอยู่ที่นี่’*
ตรงกลาง ‘ใจแผ่นดิน’ กินอยู่ดี
รอยเท้าเล่าวิถีและชีวิต
แต่รุ่นปู่อยู่ก่อนมือถือกฎหมาย
ชั่วคืนกลายเป็น ‘บุกรุก’ ชี้ถูกผิด
ป่ากับคน สัมพันธ์เยี่ยงฉันมิตร
โอ้ ขุนเขา ใครคิดจะถือครอง!?”
ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 มีนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนในไทยถูกทำให้สูญหายหรือถูกฆาตกรรมมากว่า 30 กรณี จนสื่อต่างชาติเคยเขียนถึงไทยไว้ว่า “ประเทศนี้ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่อันตรายที่สุดในเอเชียสำหรับผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม”
คำถามคือเมื่อไหร่กันที่ความเป็นธรรมจะได้รับการสะสาง เมื่อคำว่า ‘บังคับให้สูญหาย’ (Enforced Disappearance) นั้น เป็นคำทางกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่มักเชื่อมโยงกับอำนาจของรัฐ
“ยิ่งกว่านิยาย ขยายนิยามแห่งความเศร้า…
โอ้ มรสุม คลุมขุนเขาตะนาวศรี”
อังคาร จันทาทิพย์ จบบทกวีของเขาที่ประโยคนี้
a day BULLETIN ขอร่วมไว้อาลัยให้แก่การจากไปของ ‘บิลลี่’ – พอละจี รักจงเจริญ
อ่านบทกวีเต็มๆ ของ อังคาร จันทาทิพย์ ได้ที่ http://bit.ly/2lxcYKd