กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศและใกล้เคียงว่า สามารถตรวจจับแผ่นดินไหวครั้งแรกในประเทศลาว เมื่อเวลา 4.03 น. ของวันนี้ (21 พฤศจิกายน 2562) ขนาด 5.9 โดยมีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากจังหวัดน่าน 20 กิโลเมตร
หลังจากนั้นกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวยังสามารถตรวจจับเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้เป็นระยะ รวมทั้งสิ้น 29 ครั้ง ซึ่งมีผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนดังกล่าว โดยครั้งล่าสุดที่ตรวจจับได้มีขนาด 3.6 เกิดขึ้นเวลา 10.36 น. แต่ความสั่นไหวระดับรุนแรงที่สุดที่ตรวจจับได้นั้น มีขนาด 6.4 โดยเกิดขึ้นในประเทศลาว เวลา 6.50 น. สร้างแรงสั่นสะเทือนไปยังบางส่วนของพื้นที่ทั้งในประเทศเวียดนาม เมียนมา จีน รวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดน่าน พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง และเลย
สำหรับในประเทศไทย ตรวจจับแรงสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้ 1 ครั้ง ณ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน เวลา 9.23 น. ซึ่งมีขนาน 3.8
นอกจากนี้ นับตลอดการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวทั้ง 29 ครั้ง แม้จะมีรายงานว่าบางพื้นที่ในกรุงเทพฯ สามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นไหวดังกล่าว แต่ รศ. อเมก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ได้อธิบายถึงการรับรู้แรงสั่นสะเทือนในกรุงเทพฯ กับองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ThaiPBS) ไว้ว่า คลื่นที่รู้สึกได้ไม่ใช่คลื่นแผ่นดินไหว แต่เป็นการสะท้อนคลื่นที่เกิดขึ้นจากดินอ่อนบริเวณกรุงเทพฯ โดยคลื่นลักษณะนี้มีความถี่ต่ำ ทำให้อาคารสูงในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 30-50 เมตรรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวโดยธรรมชาติที่เกิดขึ้น น.อ. สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตอนิยมวิทยา พร้อมกับ นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีทรัพยากรธรณี ได้ชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่ของกรมอุตุนิยมวิทยาใช้เทคโนโลยีตรวจสอบเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง พบว่าแรงสั่นสะเทือนมีขนาดน้อยลงเรื่อยๆ จนไม่มีความน่ากังวลใจสำหรับประชาชนในประเทศไทย
ที่มา:
- www.earthquake.tmd.go.th/inside.php
- www.facebook.com/tmd.go.th/videos/441261509761622
- https://news.thaipbs.or.th/content/286297