นักวิจัยแนะนำให้รัฐบาลอังกฤษยกเลิกการสะสมไมล์ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน

        Committee on Climate Change (CCC) หรือคณะกรรมการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งรัฐบาลอังกฤษ ได้รายงานผลการศึกษาเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนให้เท่ากับศูนย์ (Net-Zero Carbon Emissions) ภายในปี 2050 ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่ได้เสนอแนวทางไว้คือให้สายการบินภายในประเทศอังกฤษยุติ Frequent Flyer Program หรือการสะสมไมล์เพื่อแลกรับสิทธิพิเศษด้านการบิน เพราะการเดินทางด้วยเครื่องบินมากเกินไปทำให้เกิดการสะสมของคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ ซึ่งมีส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศโลกระดับรุนแรงได้

        หากรัฐบาลบังคับใช้มาตรการนี้จริง พฤติกรรมของผู้คนที่ต้องเดินทางจะเปลี่ยนแปลงไปทันที เช่น หันไปใช้บริการรถไฟและขนส่งสาธารณะแทน หรือไม่ก็เลือกเดินทางด้วยเครื่องบินสำหรับการเดินทางระยะยาวเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดผลกระทบโดยตรงต่อเที่ยวบินประมาณ 70% ขณะที่ประชากรในประเทศอังกฤษราว 15% จะไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้เท่าไหร่ เพราะเป็นกลุ่มประชากรที่มีฐานะและกำลังในการใช้จ่าย

        ในระยะยาว มาตรการนี้จะเป็นหนทางสำคัญที่ทำให้ประเทศอังกฤษบรรลุความตกลงปารีส ซึ่งเป็นเป้าหมายตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มุ่งมั่นลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ของกลุ่มประเทศที่ร่วมลงนามให้ได้ภายในปี 2050 ซึ่งอังกฤษคือประเทศแรกที่กำหนดข้อผูกมัดทางกฎหมายกับข้อตกลงนี้

        ดร. ริชาร์ด คาร์ไมเคิล หนึ่งในนักวิจัยจากราชวิทยาลัยลอนดอนผู้ศึกษาเรื่องนี้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่านอกจากมาตรการด้านการบิน วิถีชีวิตประจำวันอื่นๆ ก็สามารถแก้ไขและบรรเทาวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมได้ เช่น การลดบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม เพราะใช้พลังงานในกระบวนการผลิตจำนวนมาก นั่นหมายถึงการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศมหาศาล รวมถึงหันมาใช้จักรยานและยานยนต์ที่ใชัพลังงานไฟฟ้าแทนน้ำมัน

        ในรายงานผลการศึกษายังย้ำถึงความสำคัญของมาตรการนี้ว่า การปล่อยปละละเลยที่จะควบคุมการปล่อยคาร์บอนจากอุตสาหกรรมการบิน ถือเป็นอุปสรรคที่จะทำให้ไม่สามารถบรรลุความตกลงปารีสได้ และการสนับสนุนให้ประชากรในอังกฤษจำนวนมากเดินทางด้วยเครื่องบินจาก Frequent Flyer Program นั้น สร้างการปล่อยคาร์บอนเกินความจำเป็น

 


ที่มา: