สร้างระบบกักตัวที่บ้านผ่าน Web และ Mobile App

        ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะคลี่คลายลงเมื่อไหร่ และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคส่วนต่างๆ ในสังคมดูจะหนักขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเศรษฐกิจที่ซบเซา รวมถึงประชาชนที่ต้องดำเนินชีวิตด้วยความกังวล เพราะไม่สามารถพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

        หากลองเขยิบไปมองประเทศรอบข้าง จะเห็นได้ว่าหลายประเทศมีมาตรการในการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างเข้มงวด เด็ดขาด และรวดเร็ว จนเราอดอิจฉาไม่ได้ อาทิ เกาหลีใต้ ที่นับเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด (ถ้าไม่นับรวมจีน) แต่เขาสามารถตรวจคัดกรองผู้ป่วยได้สูงสุดถึงวันละหมื่นคน ทำให้สามารถตรวจพบผู้ป่วยได้รวดเร็ว ตั้งแต่ระยะแรกของอาการป่วย หรือฮ่องกง ที่มีการนำ AI เข้ามาช่วยเฝ้าระวัง รวมถึงวิเคราะห์อาการของผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทำให้แพทย์ตัดสินใจและเริ่มทำการรักษาได้อย่างถูกต้องทันท่วงที และอีกหลายประเทศที่มีมาตรการงดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศเสี่ยงต่างๆ

        ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการงดรับนักท่องเที่ยวใดๆ และยังไม่มีมาตรการในการจัดการกับกลุ่มคนที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็ดขาดเพียงพอ นอกจากการขอความร่วมมือเท่านั้น ทำให้ตอนนี้เรายังต้องเผชิญปัญหาดังกล่าวเพิ่มเติมด้วย

        ล่าสุด ภาคประชาชนในบ้านเราเริ่มขยับตัวแล้ว! ผ่านการระดมไอเดียในการพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โดยการนำเทคโนโลยี และการออกแบบเข้ามาช่วยเหลือ โดยเริ่มนำร่องจากการสร้างระบบกักตัวที่บ้าน (หรือสถานที่ที่มีการกำหนดไว้ใช้สำหรับกรณีนี้) ผ่าน Web และ Mobile app

        ระบบกักตัวที่บ้าน หรือ Home Quarantine System สามารถสมัครใช้ได้ผ่าน Web & Mobile app ทำให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล 1 คน สามารถดูแลคนไข้หลักร้อยหลักพันได้ด้วย Digitalcare board โดยมีระบบช่วยเหลือแจ้งเตือน และค้นหาความผิดปกติ ระบบที่ว่านี้จะส่งข้อมูลการดูแลตัวเอง จนถึงแนวทางปฏิบัติที่ปรับปรุงให้ทันต่อสถานการณ์โรคทุกสัปดาห์ เพื่อให้แพทย์และพยาบาลทราบอย่างทันท่วงที โดยข้อมูลจะถูกเก็บเป็นประวัติคนไข้ EMR ที่ใช้ส่งต่อได้ รวมไปถึงมีระบบแชตและวิดีโอคอลให้ใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ด้วย

        โดยระบบดังกล่าวจะเปิดให้เปิดให้ใช้ฟรี 19 มี.ค. นี้ ทั้งฝั่งโรงพยาบาลและผู้ที่ต้องได้รับการกักกัน

        ส่วนตอนนี้ทางโครงการกำลังเปิดรับ ‘อาสาสมัคร’ ร่วมลงชื่อ และให้ข้อมูลว่าท่านเป็นใคร สามารถทำอะไรได้ และอยากทำอะไร ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีความรู้ทางการแพทย์ หรือไม่มีความรู้ทางการแพทย์แต่มีใจอยากช่วย เพื่อเป็นฐานข้อมูลไว้สำหรับหาโอกาสในการช่วยเหลือกันและกัน

        โดยสามารถเข้าไปร่วมลงทะเบียนอาสาสมัครได้ที่ https://welcare.opensource-technology.com

        นอกจากนั้น ทางโครงการยังมีโปรเจ็กต์สำหรับพัฒนาระบบต่างๆ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย พร้อมให้ความร่วมมือ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์สามารถทำงานได้ง่าย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ

        การพัฒนาระบบวัดสัญญาณชีพด้วยเทอร์โมสแกน เพื่อลดภาระงานและการสัมผัสผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนักมาก ที่จะต้องไปวัดอัตราการเต้นหัวใจและการหายใจวันละ 4-6 ครั้ง เพื่อคัดกรองเบื้องต้น ด้วยกล้องขนาดเล็กติดบนหุ่นยนต์และการประมวลผลบนคลาวด์

        ออกแบบ ARI Clinic (Acute Respiratory Infection Clinic) และโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยต้องสงสัยและผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 จะได้มี workflow ที่เหมาะสม และปลอดภัยกับคนทำงาน อีกทั้งใช้ทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการระบายอากาศ จุดล้างมือ เส้นทางของส่วนสะอาดและส่วนสกปรก

 


ที่มา: Facebook หมอก้อง โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา : Kong Kespechara