ความตึงเครียดจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือไวรัส COVID-19 สร้างความวิตกกังวลกับผู้คนทั่วทั้งโลก
ประเด็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญตอนนี้ อุปกรณ์สำหรับป้องกันตัวเองเบื้องต้นอย่าง ‘หน้ากากอนามัย’ และ ‘แอลกอฮอล์ล้างมือ’ ขาดแคลนอย่างหนัก
ซึ่งไม่เพียงแต่กระทบต่อประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความจำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยในการป้องกันเชื้อโรคเวลาทำงาน
มิหนำซ้ำยังมีการผลิตหน้ากากที่ไม่ได้มาตรฐานออกมาจำหน่าย เช่น วัสดุที่ใช้ผลิตบางเกินไป ใช้กระดาษทิชชูมาผลิตหน้ากาก ไม่มีการเคลือบสารป้องกัน ไม่มีลวดตรงกลางหน้ากากอนามัย และที่หนักหนาสาหัสคือการนำหน้ากากอนามัยที่ผ่านการใช้งานแล้วมาจำหน่ายต่อ
คำถามคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าหน้ากากอนามัยที่สวมใส่อยู่เป็นของ ‘แท้’ หรือ ‘ปลอม’? adB ได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นมาให้คุณใช้สังเกตหน้ากากอนามัยในท้องตลาดอย่างง่ายๆ
มาตรฐานกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าหน้ากากอนามัยที่ได้รับมาตรฐานต้องมี 3 ชั้น
– ชั้นนอกจะต้องมีสารเคลือบกันน้ำ
– ชั้นกลางต้องเป็นแผ่นสำหรับกรองเชื้อโรค
-ชั้นในต้องเป็นวัสดุที่มีผิวนุ่ม เพราะชั้นนี้จะสัมผัสโดยตรงกับผู้สวมใส่
ในส่วนของการผลิตหรือนำเข้าหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว ตามข้อกำหนดของมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตราฐานเลขที่ มอก. 2424-2552 ระบุรายละเอียดไว้ว่า
ลักษณะทั่วไปต้องไม่มีกลิ่นผิดปกติ ไม่เปรอะเปื้อน และไม่มีตำหนิ รวมถึงเวลาใช้งานจะต้องคลุมจมูกและปาก สามารถปรับกระชับได้พอดีกับรูปหน้า และไม่ฉีกขาดขณะสวมใส่
ส่วนวัสดุในการผลิตนั้น แผ่นที่ใช้ประกับแผ่นกรองแบคทีเรียควรทำจากวัสดุที่ไม่เกิดเศษเส้นใยและปราศจากกลิ่น, แผ่นกรองแบคทีเรียนั้นเป็นผ้า nonwoven หรือวัสดุทำมาจากใยสังเคราะห์ รวมทั้งแถบปรับกระชับดั้งจมูก ควรทำจากวัสดุดัดได้ เช่น อะลูมิเนียม และสีที่ใช้จะต้องไม่ตก (อ่านมาตรฐานฉบับเต็มได้ที่ www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2552/E/139/8.PDF)
นอกจากนี้จะต้องมีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียขนาด 3 ไมครอน ไม่น้อยกว่า 95 เปอร์เซ็นต์สำหรับหน้ากากทั่วไป แต่หน้ากากประเภทกรองละเอียดและประเภทต้านของเหลวซึมผ่าน จะต้องมีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียขนาด 3 ไมครอน และสามารถกรองอนุภาคขนาด 0.1 ไมครอน ไม่น้อยกว่า 98 เปอร์เซ็นต์
ในเบื้องต้นเราสามารถดูหน้ากากที่ได้รับมาตรฐานผ่านภาชนะที่ใช้บรรจุซึ่งจะต้องประกอบไปด้วย ชื่อผลิตภัณฑ์, ประเภท, จำนวนชิ้น, เดือนปีที่ผลิตและเดือนปีที่หมดอายุ, รหัสรุ่นที่ทำ, คำแนะนำเกี่ยวกับการเก็บรักษา และชื่อผู้ผลิตหรือโรงงานที่ผลิต หรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน
นอกจากนี้สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยยังออกประกาศว่า หากไม่มีอาการใดๆ การใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาในที่สาธารณะ ไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และอาจเพิ่มความเสี่ยงได้หากใช้ไม่ถูกวีธี
ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยในกรณีป่วยเป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากต้นทาง, ให้การดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจใกล้ชิด, เป็นบุคลากรทางการแพทย์ และเข้าไปในสถานที่ที่มีคนแออัด อากาศถ่ายเทไม่ดีเท่านั้น ทั้งยังย้ำด้วยว่าหน้ากากผ้าไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้
อย่างไรก็ตาม นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายว่าเรื่องนี้ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ เพราะหากจะเทียบระดับการป้องกันโรคระหว่างหน้ากาก N95 และหน้ากากอนามัยทางการแพทย์อาจจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันต่ำกว่า แต่เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ และการใช้หน้ากากผ้าก็ถือว่ามีประโยชน์ดีกว่าไม่มีการป้องกันเลย แต่ถ้าหากใช้หน้ากากผ้าก็ต้องดูให้ดีว่าเป็นผ้าที่มีความแน่นของเส้นใยที่พอเหมาะ เช่น ผ้าสาลู และการตัดเย็บจะต้องให้มีขนาดพอเหมาะและกระชับกับใบหน้าเพื่อการป้องกันได้ดีที่สุด
นอกจากนี้ยังมีแนะนำว่า ‘การล้างมือให้สะอาด’ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการป้องกันตัวเองในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อกลุ่มไวรัสโคโรนา เพราะโอกาสติดเชื้อมาจากการสัมผัสกับเชื้อในละอองฝอยที่มือไปสัมผัสแล้วมาป้ายที่ตาบ้างหรือหยิบจับอาหารเข้าปากบ้าง โดยไม่จำเป็นต้องใช้แอลกอฮอล์ก็ได้ แค่ใช้สบู่ธรรมดาก็สามารถชำระล้างเชื้อโรคได้แล้ว
ที่มา:
- www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2022877
- www.hfocus.org/content/2020/03/18622
- www.bbc.com/thai/thailand-51311296
- http://medicaldevices.oie.go.th/Article.aspx?aid=8482