เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ผู้ป่วย COVID-19 หลีกเลี่ยงการรับประทาน ‘ยาไอบูโพรเฟน’ (Ibuprofen) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มแก้อาการอักเสบ หลังจากเจ้าหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของฝรั่งเศสออกมาเตือนว่ายาดังกล่าวอาจทำให้อาการติดเชื้อ COVID-19 แย่ลง
Olivier Veran รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ได้ทวีตข้อความในแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า การรับประทานยาที่มีฤทธิ์ต้านอักเสบ เช่น ไอบูโพรเฟน อาจเป็นปัจจัยที่เร่งให้อาการติดเชื้อ COVID-19 แย่ลงกว่าเดิม ในกรณีที่มีไข้แนะนำให้กินพาราเซตามอลแทน แต่หากกินยาแก้อักเสบอยู่หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมให้ปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ
โดยก่อนหน้าที่ WHO จะประกาศให้ไวรัส COVID-19 เป็นการระบาดใหญ่ (Pandemic) รัฐมนตรีท่านนี้ก็ออกมาเตือนเรื่องการติดเชื้อแทรกซ้อนอย่างรุนแรงที่เชื่อมโยงกับการใช้ไอบูโพรเฟนไปแล้วครั้งหนึ่ง
อีกทั้ง การศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ The Lancet ก็ได้สันนิษฐานว่าเอนไซม์ชนิดหนึ่งที่ถูกกระตุ้นเมื่อได้รับยาต้านอักเสบอย่างไอบูโพรเฟนนั้น อาจทำให้อาการผู้ติดเชื้อ COVID-19 แย่ลงเช่นกัน
เมื่อนักข่าวนำเรื่องนี้ไปถาม Christian Lindmeier โฆษกของ WHO เขาให้คำตอบว่าพวกผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานสาธารณสุขของสหประชาชาติ กำลังพิจารณาเรื่องนี้เพื่อให้คำแนะนำเพิ่มเติม โดยระหว่างนี้แนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอลแทน และอย่าใช้ยาไอบูโปรเฟนเป็นยารักษา เพราะเป็นเรื่องที่ควรระวังเป็นอย่างมาก
ส่วนการกินพาราเซตามอลก็ต้องกินตามปริมาณที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เพราะหากใช้ยามากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อตับได้ แต่ Lindmeier กล่าวเสริมว่าหากไอบูโพรเฟนถูกจ่ายโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ก็แน่นอนว่าต้องทานตามคำแนะนำดังกล่าว
ไอบูโพรเฟนเป็นยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) นิยมใช้เพื่อรักษาอาการปวด ลดไข้ และแก้อักเสบจากสาเหตุต่างๆ โดยจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์มากมาย แต่ที่ทุกคนคุ้นชื่อกันดีคือ ‘Nurofen’
เมื่อยาไอบูโพรเฟนถูกอ้างว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้อาการติดเชื้อ COVID-19 แย่ลง Reckitt Benckiser โฆษกของ Nurofen จึงได้แถลงการณ์ผ่านทางอีเมลว่า บริษัทได้ตระหนักถึงความกังวลที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการใช้ยาไอบูโพรเฟนสำหรับรักษาอาการ COVID-19 อย่างไรก็ตามไอบูโพรเฟนเป็นยาที่ได้รับการยอมรับและถูกนำมาใช้อย่างปลอดภัยในการลดไข้ ลดอาการปวด รวมถึงรักษาการติดเชื้อไวรัสมานานกว่า 30 ปี และปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ พิสูจน์ได้ว่าการใช้ไอบูโพรเฟนรักษาผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทำให้อาการรุนแรงขึ้น
ไม่ใช่แค่ทาง Nurofen ที่ออกมาพูดถึงว่าข้อกล่าวอ้างนี้ยังไม่หลักฐานพิสูจน์ทางวิทยาศาตร์ เพราะนักวิจัยหลายคนก็ออกมาพูดประเด็นนี้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น Muge Cevik นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์ และ Global Health Division หรือ Dr. Yvonne Maldonado ศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์และนักระบาดวิทยาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
แต่ Dr.Yogen Kanth ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านโรคหัวใจจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ที่ศึกษาด้านการอักเสบให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์อาจส่งผลกระทบต่อวิธีที่ไวรัส COVID-19 จับกับเอนไซม์ผิวเซลล์ของมนุษย์ โดยมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ว่าไวรัส COVID-19 นั้นจับกับโปรตีนผิวเซลล์ที่เรียกว่า ACE2 และมีสมมติฐานว่าการให้ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน สามารถเพิ่มระดับของ ACE2 ที่แสดงในรูปแบบสัตว์ได้ แต่ไม่ใช่กับในผู้ป่วย
ที่มา:
- www.sciencealert.com/who-recommends-to-avoid-taking-ibuprofen-for-covid-19-symptoms
- https://edition.cnn.com/2020/03/16/health/coronavirus-ibuprofen-french-health-minister-scn-intl-scli/index.html