ยานวิกรม (Vikram) อินเดียลงจอดขั้วใต้ของดวงจันทร์ไม่สำเร็จ

        นับเป็นอีกครั้งที่ความพยายามในการลงจอดบนดวงจันทร์ล้มเหลว โดยเมื่อวานที่ผ่านมา (6 กันยายน 2562) ยานวิกรม (Vikram) ของอินเดียได้สูญเสียการติดต่อกับภาคพื้นโลกระหว่างการลงจอดบนดวงจันทร์ ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียงแค่ 5 เดือน หลังจากยาน Beresheet ของอิสราเอลเพิ่งเผชิญชะตากรรมที่คล้ายกันก่อนหน้า ซึ่งหากการลงจอดประสบความสำเร็จ อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่ 4 ของโลก ที่สามารถเหยียบผิวดวงจันทร์ได้ ต่อจากสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา และจีน

        ยานวิกรม เป็นตัว Lander ที่เดินทางไปกับภารกิจของยานจันทรายาน 2 (Chandrayaan 2) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาหาธาตุองค์ประกอบสำคัญบนดวงจันทร์รวมถึงการมีอยู่ของน้ำบนดวงจันทร์ ซึ่งถูกพัฒนาโดยองค์การวิจัยด้านอวกาศของอินเดีย (ISRO) และถูกปล่อยตัวจากศูนย์อวกาศ Satish Dhawan ในอินเดียไปเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

        รายงานระบุว่าลำดับของการลงจอดส่วนใหญ่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่เมื่อยานกำลังลงจอดในระยะประมาณ 2.1 กิโลเมตรก่อนถึงพื้นผิวดวงจันทร์ กลับเกิดการขาดหายของสัญญาณกับทางโลก และอาจเป็นสาเหตุให้ยานไม่สามารถลดความเร็วในการลงจอดได้อย่างปลอดภัย ซึ่งขณะนี้ องค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย (ISRO) กำลังเร่งวิเคราะห์ข้อมูลที่มีเพื่อค้นหาข้อสรุปที่ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นกับยาน

        ยานนั้นมีจุดประสงค์ในการลงจอดใกล้กับบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งยังไม่เคยมีการลงจอดของยานอวกาศหรือรถสำรวจ (Rover) มาก่อน ซึ่งทางนักวิทยาศาสตร์ของ NASA เคยออกมาเผยแพร่งานวิจัยที่แสดงถึงหลักฐานว่ามีน้ำแข็งอยู่บนพื้นผิวของดวงจันทร์ในบริเวณทั้งขั้วเหนือและขั้วใต้ โดยเฉพาะบริเวณหลุมอุกกาบาตที่มีพื้นที่อยู่ในเงามืดอย่างถาวร ซึ่งทำให้น้ำแข็งสามารถคงอยู่ได้โดยไม่ถูกความร้อนจากแสงแดดทำให้ละลาย

        อนึ่ง น้ำแข็งนั้นมีความสำคัญต่อการบินอวกาศของมนุษย์ เพราะสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงจรวดในการสนับสนุนนักบินอวกาศได้ และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ NASA วางแผนที่จะพามนุษย์ไปสำรวจบนดวงจันทร์ในปี 2024

 


ที่มา: www.newscientist.com/article/2215704-indias-vikram-moon-lander-appears-to-have-crashed-on-the-moon