21 ตุลาคม วันรักต้นไม้แห่งชาติ (National Annual Tree Care Day)

        21 ตุลาคมของทุกปีเป็น ‘วันรักต้นไม้แห่งชาติ’ (National Annual Tree Care Day) ซึ่งเกิดขึ้นมาจากปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ที่ทรงให้คุณค่าของพื้นที่สีเขียวมาโดยตลอด ทำให้วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2533 คณะรัฐมนตรีในเวลานั้นมีมติกำหนดให้วันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็น ‘วันบำรุงรักษาต้นไม้ประจำปีของชาติ’ ก่อนจะมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘วันรักต้นไม้แห่งชาติ’ ซึ่งมีกิจกรรมบำรุงรักษาต้นไม้ มีกิจกรรมการปลูกทดแทนต้นที่ตายลงให้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ เพื่ออนุรักษ์พื้นที่สีเขียวและคืนสมดุลให้กับธรรมชาติทุกปี

        แม้ว่าจะมีการตั้งวันสำคัญดังกล่าวมานานเกือบ 30 ปี แต่พอย้อนกลับมาดูในวันนี้ ปัญหาเรื่องพื้นที่สีเขียวยังคงไม่ได้หายไปจากเมืองไทย องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำด้านสิ่งแวดล้อมไว้ว่า เมืองที่มีคุณภาพควรจะมีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยอยู่ที่ 9 ตร.ม. ต่อประชากรหนึ่งคน แต่จากข้อมูลของสำนักงานสวนสาธารณะ กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2560 เผยว่า กรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวเพียงแค่ 6.43 ตร.ม. ต่อประชากรหนึ่งคน ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐาน และยังไม่นับรวมการย้ายถิ่นฐานของประชากรจากต่างจังหวัดเข้าสู่กรุงเทพฯ ที่จะทำให้ช่องว่างดังกล่าวถ่างออกมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

        นับรวมปัญหาทางอ้อมอีกหนึ่งอย่างจากการขาดแคลนพื้นที่สีเขียว กับการที่คนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 อยู่เนืองๆ จากแหล่งมลพิษหลากหลาย ทั้งไอเสียจากเครื่องยนต์ดีเซล และการเผาขยะในที่โล่งแจ้ง รวมทั้งการปล่อยคาร์บอนของโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยงานวิจัยของ The Natture Conservancy ที่ศึกษาเรื่องพื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่ 245 เมืองทั่วโลกได้ยืนยันว่า การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง สามารถช่วยดูดซับฝุ่นได้ดีและยั่งยืนที่สุดวิธีหนึ่ง โดยพื้นที่สีเขียวที่มีจำนวนมากพอ สามารถลดปริมาณฝุ่นได้เฉลี่ย 7–24 เปอร์เซ็นต์ จากการดักจับฝุ่นของใบไม้ แต่แน่นอนว่าการจะแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการจัดการแหล่งที่มาของมลพิษและพัฒนาพื้นที่สีเขียวไปพร้อมๆ กัน
       
        ในปี 2562 สำนักงานสวนสาธารณะ กรุงเทพมหานคร ได้วางเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้เพิ่มจาก 6.43 ตร.ม. ต่อประชากรหนึ่งคน ให้เป็น 6.79 ตร.ม. ต่อประชากรหนึ่งคน โดยจะเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะประมาณ 750 ไร่ ยกตัวอย่างเช่น สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, โครงการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เขตบางบอน เป็นสวนสาธารณะ, โครงการก่อสร้างสวนสาธารณะภายในสถานีพัฒนาที่ดินกรุงเทพมหานคร ฯลฯ ซึ่งหากดูจากเป้าหมายดังกล่าว จะเห็นว่าการสร้างพื้นที่สีเขียวยังคงไม่กระจายครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ อย่างเพียงพอ

        เส้นทางของกรุงเทพฯ ในการเดินไปสู่เมืองคุณภาพ ที่มีพื้นที่สีเขียวเพียงพอต่อประชากร ยังคงเป็นหนทางไกล ที่หากจะเปลี่ยนแปลงจริงๆ จำต้องผ่าตัดเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมและขับเคลื่อนปัญหาทุกข้อต่อไปพร้อมๆ กันถึงจะสำเร็จได้

 


ที่มา:

  • https://greennews.agency/?p=17542
  • www.greenpeace.org/thailand/story/1874/green-areas-tackle-air-pollution
  • https://ngthai.com/environment/17055/plant-trees-fight-pm2-5