หลังจากจากกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศ พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในไทยเพิ่ม 32 ราย ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 114 ราย ทำให้สถานการณ์ไวรัสระบาดในประเทศไทยยิ่งเข้มข้นและเพิ่มความตึงเครียดขึ้นไปอีก จนประชาชนหลายคนเริ่มเกิดคำถามขึ้นว่า ถึงเวลาหรือยังที่เราควรกักตุนอาหารเอาไว้ในยามฉุกเฉิน
แม้ล่าสุดคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลจะออกมาปฏิเสธข่าวปลอมที่มีการออกประกาศให้ประชาชนเริ่มกักตุนอาหารว่าไม่เป็นความจริง และขอให้รับฟังมาตรการรับมือจากกระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรคเป็นหลัก แต่ความรู้เรื่องการกักตุนอาหารเป็นสิ่งที่น่าคิดต่อไม่น้อยว่าหากสถานการณ์เลวร้ายจนถึงขั้นปิดประเทศและประกาศการแพร่ระบาดในระยะที่ 3 ที่สามารถติดต่อผ่านคนในประเทศด้วยกันเองได้จริง ข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ควรทราบเพื่อเตรียมพร้อมรับมือในอนาคต
อ้างอิงจากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ในประเทศอังกฤษ แนะนำว่า การเริ่มกักตุนอาหารควรเตรียมตัวให้พร้อมอยู่ตลอดในเบื้องต้น เนื่องจากการเริ่มออกไปซื้ออาหารในช่วงเวลาที่สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต ราคาอาหารจะยังคงไม่สูงมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่อาหารขาดตลาด และยังลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการที่ต้องเข้าไปแย่งซื้ออาหารอีกด้วย โดยปริมาณอาหารที่เหมาะแก่การกักตุนควรมีให้เพียงพอสำหรับ ‘การใช้ชีวิตระยะหนึ่ง’ ในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ต่อการกักตุนอาหาร 1 ครั้ง
ส่วนอาหารที่เหมาะสำหรับเตรียมไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ควรเป็นอาหารที่มีพลังงานสูง ทานได้ง่ายโดยไม่ต้องหุงหรืออุ่นแล้ว ควรเป็นอาหารที่มีน้ำหนักเบา เก็บได้นาน สะดวกต่อการพกพาและกินพื้นที่น้อย เช่น อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อาหารประเภท Power Bar รวมไปถึง น้ำดื่มที่เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากต่อร่างกาย ที่ควรมีให้เพียงพอ รวมไปถึงยารักษาโรค วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ เพื่อช่วยป้องกันการเจ็บป่วยยามฉุกเฉิน
ที่มา:
- www.goodhousekeeping.com/health/a31261097/what-to-stock-up-on-for-coronavirus
- www.thebangkokinsight.com/301784/
- https://montreal.ctvnews.ca/people-are-hoarding-supplies-as-covid-19-spreads-but-why-and-is-it-useful-an-expert-weighs-in-1.4836837
ภาพ: reuters