ฐปณีย์ เอียดศรีไชย: อัพเดตสถานการณ์น้ำท่วมอุบล

        จากสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี ที่วิกฤตหนักที่สุดในรอบ 41 ปี ได้สร้างผลกระทบและความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะกับชาวบ้าน เกษตรกร รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ในหลายพื้นที่ภาคอีสาน a day BULLETIN ต่อสายตรงถึง ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวภาคสนาม และผู้ก่อตั้งเพจสำนักข่าว The Reporters ที่เดินทางไปสำรวจสถานการณ์น้ำท่วมในอุบลฯ ตลอดวันเสาร์ที่ผ่านมา เพื่อสอบถามความคืบหน้า โดยสามารถสรุปสถานการณ์จากการลงพื้นที่ของเธอได้ ดังนี้

        ในการลงพื้นที่พบอุปสรรคเกี่ยวกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ช้าและขาดหาย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่น้ำท่วม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการสื่อสารโดยเฉพาะกับบรรดานักข่าว “เมื่อลงพื้นที่เราก็ต้องการที่จะรายงานข่าวแบบถ่ายทอดสด แต่สิ่งที่พบคือไลฟ์เฟซบุ๊กได้เพียง 1-2 นาทีสัญญาณก็กระตุก หรือถูกระงับการเผยแพร่แล้ว จึงต้องใช้วิธีการอัดคลิปมาลงแทน เท่ากับว่าเราไม่สามารถรายงานสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที”

        จากภาพถ่ายและคลิปชี้ให้เห็นว่าน้ำท่วมในพื้นที่เกือบทั้งหมดของจังหวัด มีเพียงตัวเมืองหรือ ‘พื้นที่ไข่แดง’ เท่านั้น ที่น้ำไม่ท่วม ส่วนบริเวณรอบนอกตัวเมืองได้รับความเสียหายทั้งหมด หลายพื้นที่ที่เคยเป็นถนนให้รถสัญจร บัดนี้กลายสภาพเป็นคลองที่ต้องเดินทางด้วยเรือโดยสารเท่านั้น โดยล่าสุด (14 กันยายน) ระดับความสูงของน้ำในแม่น้ำมูลอยู่ที่ 10 เมตร 94 เซนติเมตร (จุดวัดคือจุดที่แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และลำน้ำสาขาจะไหลมารวมกันเพื่อไหลออกสู่แม่น้ำโขงต่อไป) ทั้งนี้ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวโดยเปิดเผยว่า น้ำท่วมครั้งนี้จะต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือน จึงจะระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้ทั้งหมด

        สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ เธอยังได้รับความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกจาก มนตรี อุดมพงษ์ นักข่าวภาคสนาม ของรายการข่าว 3 มิติ ที่ได้ลงพื้นที่ไปยังภาคอีสานตั้งแต่เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนหน้า โดยเขาได้สรุปความคืบหน้าของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต กล่าวคือสาเหตุที่ต้องใช้เวลาถึง 1 เดือนสำหรับระบายน้ำออกจากพื้นที่เป็นเพราะน้ำขังอยู่ในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นแอ่ง ส่วนน้ำที่อยู่รอบนอกจะกลับเข้าฝั่งได้ภายใน 1 สัปดาห์ แต่พื้นที่ในทุ่งรับน้ำอย่างลำน้ำชีตอนบน ที่ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และยโสธร จะได้รับผลกระทบจากน้ำที่ยังท่วมขังอยู่นานนับเดือน เพราะน้ำไม่สามารถไหลเองตามธรรมชาติได้จึงต้องใช้เครื่องสูบน้ำช่วยระบายออก

        น้ำท่วมนานนับเดือนย่อมส่งผลให้ข้าวในนาตาย หลังจากนี้เกษตรกรจะต้องประสบปัญหาข้าวเน่า ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายอย่างมหาศาล ยังไม่รวมถึงผู้ประกอบการ ร้านค้า และชาวบ้านที่บ้านเรือนได้รับความเสียหายอย่างหนัก ดังนั้น นอกจากการช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในช่วงที่ชาวบ้านต้องอพยพหนีน้ำท่วมและวางแผนบริหารจัดการน้ำท่วมขังแล้ว รัฐบาลยังต้องมีมาตรการในการเยียวยาผู้ประสบภัยวิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ด้วย

        “พื้นที่บริเวณหมู่บ้านคูเดื่อกับหมู่บ้านกุดตาขาวที่เราได้ล่องเรือไปสำรวจและพูดคุยกับชาวบ้าน พบว่ามีสภาพคล้ายกันคือระดับน้ำยังสูงอยู่ราวๆ เกือบ 3 เมตร บ้านหลายหลังถูกน้ำท่วมจนมิดหลังคา ซึ่งระดับน้ำที่สูงขนาดนี้ ลำพังความช่วยเหลือเพียงแค่การแจกถุงยังชีพไม่เพียงพอ เราอยากเห็นการยกระดับความช่วยเหลือให้เป็นวาระเร่งด่วน รวมถึงหลังจากนี้เมื่อน้ำลดลงแล้ว รัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือต่อความเสียหายทั้งหมดอย่างไร ทั้งความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตร การสูญเสียรายได้จากการไม่ได้ออกไปทำงาน รวมถึงทรัพย์สินที่เสียหายไปอย่างมหาศาล”

        นอกจากนี้ เมื่อคืนที่ผ่านมาทาง ดร. ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือนักวิชาการผู้เคลื่อนไหวผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมยังได้โพสต์อัพเดตสถานการณ์น้ำท่วมเมืองอุบลฯ ว่ามีไฟดับยาวในหลายพื้นที่น้ำท่วม ขณะนี้สิ่งที่ผู้ประสบภัยที่อุบลฯ ต้องการอย่างเร่งด่วนคือ 1) เทียนพรรษา 2) ไฟฉาย 3) ผ้าใบ 4) น้ำมันเชื้อเพลิง และ 5) ยาแก้ปวดและยาแก้น้ำกัดเท้า โดยสามารถบริจาคได้ที่ศูนย์ฯ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลฯ

        ทั้งนี้การให้ความช่วยเหลือชาวบ้านและผู้ได้รับผลกระทบควรติดต่อผ่านศูนย์ต่างๆ จะส่งผลดีกว่าการเดินทางลงพื้นที่ไปช่วยเหลือด้วยตนเอง เพราะขณะนี้น้ำมันเรือมีจำนวนจำกัด

 


ที่มา: The Reporters, Thapanee Eadsrichai, Chainarong Setthachua

เครดิตภาพ: The Reporters, Thapanee Eadsrichai