ท่ามกลางจำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง Xenophobia หรืออาการเกลียดกลัวชาวต่างชาติ (ในบริบทนี้คือชาวเอเชีย) ก็กำลังเป็นลักษณะอาการที่ลุกลามและแพร่ระบาดเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น
เคสที่ 1 คนไทย วัย 24 ปี ใช้ชีวิตที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มาตั้งแต่อายุ 13 ปี ปัจจุบันทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ถูกวัยรุ่นชาวอังกฤษทำร้ายร่างกาย ชิงทรัพย์ และถูกเหยียดว่าเป็นพาหะของเชื้อไวรัสโคโรนา
เคสที่ 2 นักศึกษาชาวสิงคโปร์ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) ถูกกลุ่มวัยรุ่นชาวอังกฤษรุมทำร้ายร่างกาย และถูกเหยียดเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา ขณะเดินเล่นบนถนนออกซ์ฟอร์ด (ดังที่ปรากฏอยู่ในภาพนี้)
เคสที่ 3 ผู้หญิงชาวเอเชีย ถูกชายผิวสีทำร้ายร่างกาย และถูกเหยียดว่าเป็นเชื้อโรค ภายในสถานีรถไฟใต้ดินนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพราะเธอสวมหน้ากากอนามัย
นอกจากนี้หลายสำนักข่าวต่างประเทศยังได้รายงานประเด็นที่ชาวเอเชียตกเป็นเป้าให้ชาวตะวันตกหรือแม้กระทั่งชาวเอเชียด้วยกันเองทำร้าย และไม่ได้รับการต้อนรับ (ไม่ต่ำกว่า 30 ประเทศทั่วโลก) เพราะกลัวว่าจะนำเชื้อไวรัส COVID-19 มาเผยแพร่
คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมโรคระบาดถึงเป็นชนวนปลุกเร้าอาการเกลียดกลัวให้เกิดขึ้นในระดับรุนแรงถึงขั้นเหยียดเชื้อชาติ เลือกปฏิบัติ และแสดงออกอย่างชัดเจนว่ารังเกียจหรือไม่ยอมรับหากต้องอยู่ร่วมกับชาวเอเชีย
นักจิตวิทยาสันนิษฐานว่า (ซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริงสำหรับกรณีนี้) ความหวาดกลัวลักษณะนี้เกิดจากความคิดขัดแย้งภายในบุคคล ร่วมกับการรับรู้จากสภาวะทางสังคม เช่น แรงงานต่างชาติ ความรู้สึกรุกล้ำ ความไม่มั่นคงในตัวเอง ปัจจัยเหล่านี้จะนำไปสู่อาการเกลียดชังในท้ายที่สุด จนกระตุ้นให้คนคนหนึ่งแสดงออกซึ่งพฤติกรรมต่อต้านบางอย่างออกมาเพื่อเพิ่มความรู้สึกปลอดภัยให้ตัวเอง
หมายความว่า ยิ่งอยู่ภายใต้ในสถานการณ์คับขันที่บีบคั้นให้มนุษย์ต้องตัดสินใจเลือกทำอะไรสักอย่าง ซึ่งอาจถึงขั้นดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดจากความยากลำบากที่คาบเกี่ยวระหว่างความเป็นและความตายมากเท่าไหร่ มนุษย์จะเผยตัวตนหรือสันดานที่แท้จริงออกมามากเท่านั้น แม้ว่าจะต้องลดทอนคุณค่าหรือตัวตนความเป็นมนุษย์ของคนอื่นก็ตาม
โรเบิร์ต ฟูลลิเลิฟ (Robert Fullilove) ศาสตราจารย์ประจำศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นอาการเกลียดกลัวชาวเอเชียกรณีไวรัสโคโรนาว่าคล้ายกับกรณีโรคระบาดในอดีต เช่น สถานการณ์โรคเอดส์หรือเชื้อเอชไอวีในช่วงยุค 1980 สิ่งสำคัญที่จะช่วยหยุดความรุนแรงและอาการเกลียดกลัวเหล่านี้คือการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับทุกๆ คน
ส่วน คริสตัล วัตสัน (Crystal Watson) นักวิชาการจากศูนย์เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพจอห์น ฮอปกินส์ มีความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นบทเรียนในอดีต เพราะในหลายๆ ครั้งต่อให้มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง แต่คนจำนวนหนึ่งยังคงยึดถือความเชื่อทางศาสนา หรือใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล การแก้ไขในเรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่ทำความเข้าใจหรือเห็นอกเห็นใจเท่านั้น แต่คนที่ถูกกระทำอย่างชาวเอเชียต้องได้รับการเยียวยาด้วย และประเด็นสำคัญที่สุดคือ ตอนนี้ทุกคนไม่ว่าจะสัญชาติหรือเชื้อชาติอะไรก็ตามกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง การเหยียดและกีดกันจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ทั้งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น ในทางตรงกันข้าม ทุกคนต้องร่วมมือและพึ่งพาอาศัยกันมากกว่า เพราะความร่วมมือจะทำให้ทุกคนผ่านวิกฤตไปได้
ภายใต้ในสถานการณ์คับขันที่บีบคั้นให้มนุษย์ต้องตัดสินใจเลือกทำอะไรสักอย่าง ซึ่งอาจถึงขั้นดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดจากความยากลำบากที่คาบเกี่ยวระหว่างความเป็นและความตาย มนุษย์จะเผยตัวตนหรือสันดานที่แท้จริงออกมา
ที่มา:
- www.dailymail.co.uk/news/article-8011863/Thai-City-worker-assaulted-robbed-two-teenagers-shouted-coronavirus-him.html
- www.straitstimes.com/singapore/uk-police-release-images-of-4-men-linked-to-covid-19-racism-attack-on-singaporean-student
- https://twitter.com/TonyySays/status/1224801488956002305
- https://en.wikipedia.org/wiki/Xenophobia_and_racism_related_to_the_2019%E2%80%9320_coronavirus_outbreak
- www.bbc.com/news/world-asia-china-51371770
- www.forbes.com/sites/marshallshepherd/2020/02/28/the-science-of-why-coronavirus-exposes-racism-and-xenophobia/#5e277e7b3695
- www.npr.org/2020/03/02/811363404/when-xenophobia-spreads-like-a-virus