แอฟริกาในแผนที่

Into Africa: แอฟริกาในแผนที่โลก

แผนที่โลกบนแผ่นกระดาษโปสเตอร์ที่ติดอยู่บนผนัง ไม่ว่าจะที่บ้าน ที่ทำงานหรือโรงเรียน อาจทำให้เราเข้าใจแอฟริกาผิดไป

        เราคงชี้ไม่ผิดหรอกว่าทวีปแอฟริกาอยู่ส่วนไหนของแผนที่ แม้อาจจะกึกกักอึกอักสับสนกับทวีปอเมริกาใต้ที่อยู่ใกล้ๆ เพราะรูปร่างคล้ายๆ กัน หากใช้มือจิ้มลากเส้นบนแผ่นที่โดยเริ่มที่ประเทศไทยออกไปทางซ้าย ข้ามผืนน้ำกว้างใหญ่สีฟ้าซึ่งคือมหาสมุทรอินเดียออกไปก็จะถึงผืนทวีปแอฟริกาด้านตะวันออก จนไปถึงอีกฝั่งหนึ่งทางด้านทะเลแอตแลนติก แล้วที่อยู่ถัดออกไปก็คือทวีปอเมริกาใต้

        หากใช้จินตนาการ ส่วนของทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้สามารถเอามาประกบต่อกันแบบต่อจิ๊กซอว์ได้พอดิบพอดี นักภูมิศาสตร์อธิบายว่าเพราะทั้งสองทวีปเคยเป็นผืนแผ่นดินใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของกันและกันมาก่อนที่แยกออกจากกันเพราะการยกและยุบตัวของเปลือกโลก

        ทวีปแอฟริกาดูเผินๆ ก็คือทวีปที่มองดูเหมือนหูช้างแอฟริกานั่นแหละ ส่วนของติ่งหูคือพื้นที่ส่วนล่างที่เป็นที่ตั้งของประเทศแอฟริกาใต้ ด้านซ้ายของทวีปคือส่วนที่ติดอยู่กับหัวช้าง

        ทวีปแอฟริกาที่เราเห็นบนแผนที่ดูเหมือนขนาดไม่ใหญ่โตนัก

        แต่ขนาดบนแผนที่ของทวีปแอฟริกานี่เองที่อาจทำให้หลายคนยังเข้าใจผิด เพราะดูแผนที่ทำให้เห็นว่าทวีปแอฟริกานั้นก็ดูไม่ใหญ่เท่าไหร่ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศมหาอำนาจที่เรารู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน รัสเซีย และกลุ่มประเทศในยุโรป ไม่เว้นแต่ประเทศแคนาดา หรือเขตกรีนแลนด์ที่ขั้วโลกเหนือและแอนตาร์กติกาที่ขั้วโลกใต้

        เรา – ในฐานะคนมองดูแผนที่ จึงอาจเห็นว่าทวีปแอฟริกาเป็นทวีปเล็กๆ และอาจทำให้เรามองข้ามผืนทวีปที่กว้างใหญ่ทวีปนี้ ซึ่งมีขนาดพื้นที่ 30.2 ล้านตารางกิโลเมตรไป

       ในความเป็นจริง กรีนแลนด์ที่อยู่บนขั้วโลกเหนือที่เห็นเป็นผืนแผ่นน้ำแข็งสีขาวขนาดใหญ่ บนแผนที่มีขนาดเล็กกว่าทวีปแอฟริกาทั้งทวีปถึง 14 เท่า หรือมีขนาดเล็กพอๆ กับประเทศ D.R. Congo ซึ่งเป็นเพียง 1 ใน 54 ประเทศในแอฟริกาเท่านั้น

        หรือแผนที่ของประเทศแคนาดาที่มีพื้นที่เพียง 9.1 ล้านตารางกิโลเมตร แต่ดูมีขนาดใหญ่กว่าทวีปแอฟริกาเกือบ 2 เท่าตัว ทั้งๆ ที่ในความจริงแล้วมีขนาดเล็กกว่าทวีปแอฟริกาถึง 3 เท่า ไม่แตกต่างจากประเทศรัสเซียบนแผนที่ที่ดูเหมือนมีขนาดใหญ่โตกว่าทวีปแอฟริกามาก ทั้งที่จริงๆ แล้วมีพื้นที่เพียง 16.4 ล้านตารางกิโลเมตร เล็กกว่าทวีปแอฟริกาเกือบ 2 เท่า

        หากจะลองเลือกประเทศที่เรารู้จักกันดีตามขนาดพื้นที่ แล้ววางประเทศเหล่านั้นทาบลงในทวีปแอฟริกา 1 ทวีป เราจะสามารถวางประเทศต่อไปนี้ลงไปได้…

        …เริ่มตั้งแต่สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สเปน ไอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส นอร์เวย์ โคลอมเบีย ฟินแลนด์ กรีซ อิตาลี ตุรกี โปแลนด์ ยูเครน อินเดีย รวมไปถึงจีนและอินเดีย

        ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ขนาดของพื้นที่ในทวีปแอฟริกาสามารถจุประเทศใหญ่ๆ แบบนี้หลายประเทศรวมกันไว้ได้

 

        ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ อาจอธิบายได้ว่าแผนที่โลกบนแผ่นกระดาษซึ่งคุ้นตาเราที่สุดนั่นคือต้นตอของความเข้าใจที่เราอาจมีผิดไปต่อทวีปแอฟริกา

        …แม้ไม่ใช่เพราะความตั้งใจของผู้ที่คิดค้นแผนที่ฉบับนี้ขึ้นมาในทีแรกก็ตาม เขาคือนักทำแผนที่ชาวยุโรปที่ชื่อ Gerardus Mercator เขาเป็นชาวเฟลมิช ซึ่งคือดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศเบลเยียมในปัจจุบัน เขาพยายามจะเขียนแผนที่โลกซึ่งมีทรงกลมบนแผ่นกระดาษสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบนๆ

        แผนที่ของเขาสำเร็จเมื่อ ค.ศ. 1569 หรือเมื่อเกือบ 600 ปีก่อน และตั้งแต่นั้นก็ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการเดินเรือของชาวยุโรป และต่อมาก็เป็นต้นแบบของแผนที่โลกที่นิยมใช้มากที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งรู้จักกันในชื่อแผนที่แบบ Mercator

        แผนที่แบบ Mercator ตั้งอยู่บนแนวคิดของการวาดให้เส้นละติจูดและลองจิจูดทอดยาวออกเป็นเส้นตรง โดยให้เส้นศูนย์สูตรอยู่ตรงกลางของแผนที่ ดังนั้น จึงทำให้ผืนแผ่นดินส่วนที่อยู่ห่างออกไปจากเส้นศูนย์สูตรมีขนาดใหญ่กว่าความเป็นจริง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเห็นพื้นที่ของกรีนแลนด์ทางขั้วโลกเหนือและแอนตาร์กติกาทางขั้วโลกใต้ใหญ่กว่าที่เป็นจริงมาก เพราะเป็นส่วนที่อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรมากที่สุด

        ต่อมามีผู้ที่ท้าทายความถูกต้องของแผนที่แบบ Mercator โดยเฉพาะในเรื่องของสัดส่วนที่ถูกต้องและเป็นจริง จนออกมาเป็นแผนที่โลกแบบ Gall-Peters ซึ่งในแผนที่เวอร์ชันนี้จะมีทวีปแอฟริกาอยู่ตรงกลาง และมีขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับแผ่นผืนดินของทวีปอื่นๆ – ความจริงเกี่ยวกับทวีปแอฟริกาที่หลายคนเข้าใจผิดมาโดยตลอดก็ถูกเปิดเผย

        แผนที่แบบใหม่นี้เริ่มเป็นที่รู้จัก องค์การยูเนสโกพยายามรณรงค์ให้เปลี่ยนมาใช้แผนที่แบบใหม่เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดๆ และโรงเรียนในอังกฤษและบางรัฐในสหรัฐอเมริกาก็เริ่มหันมาใช้แผนที่แบบ Gall-Peters นี้กันบ้างแล้ว แต่ก็คงอีกนานกว่าแผนที่แบบ Mercator เดิมที่ถูกใช้งานมานานและเป็นที่คุ้นตากับคนทุกรุ่นทุกสมัยจะถูกโยนทิ้งไป

        หลายคนมองแผนที่แบบ Gall-Peters ด้วยความรู้สึกแปลกๆ และไม่คุ้นตา บ้างก็ว่าดูผอมๆ แคบๆ ไม่ได้สัดส่วน แม้ว่าแผนที่แบบนี้จะแสดงขนาดของพื้นดินและประเทศต่างๆ ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากกว่าแผนที่แบบ Mercator ก็ตาม

        ถึงตอนนี้อาจจะเริ่มมีคำถามแล้วว่า แล้วถ้าเราอยากเห็นจุดต่างๆ บนแผนที่ของโลกใบนี้อย่างที่เป็นจริงๆ เราจะให้ลูกหลานหรือแม้กระทั่งตัวเราเองดูแผนที่จากที่ไหนดีล่ะ ในเมื่อแผนที่ก็มีตั้งหลายแบบจนน่าสับสนเช่นนี้

        มีผู้แนะนำว่า วิธีง่ายๆ ก็ดูจากแผนที่บนลูกโลกทรงกลมไงล่ะ

        หากมีลูกโลกวางไว้ตรงหน้า อาจลองใช้มือหมุนมองหาทวีปแอฟริกา และไล่เรียงดูชื่อประเทศต่างๆ หากพอมีเวลาและสนุก อาจลองเปรียบเทียบขนาดของทวีปและประเทศต่างๆ บนลูกโลกดูต่อ ซึ่งอาจจะทำให้พบว่า เราอาจจะยังเข้าใจโลกของเราใบนี้อย่างผิดๆ อยู่ไม่น้อยเลย