into africa

COVID-19 in Africa: ไวรัสทำลายชีวิตของผู้คนในประเทศที่เปราะบางและยากไร้อย่างไรบ้าง?

ไม่นานมานี้ มีข่าวเล็กๆ บนหน้าหนังสือพิมพ์ไทยและต่างประเทศว่า มีผู้ป่วย ‘คนไทย’ หนีจากโรงพยาบาลท้องถิ่นในกรุงฮาราเร เมืองหลวงของสาธารณรัฐซิมบับเว ประเทศในเขตแอฟริกาตอนใต้ เมื่อแพทย์สงสัยว่าเขาอาจจะติดเชื้อไวรัสโคโรนา และจะขอตรวจเชื้อในห้องปฏิบัติการ

        ต่อมาข่าวนี้ก็ค่อยๆ เงียบหายไป พร้อมกับรายละเอียดที่เพิ่มเติมว่า ผู้รายงานไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ว่า ผู้ป่วยที่หลบหนีไปนั้น เป็น ‘ชาวไทย’ หรือ ‘ผู้ที่เพิ่งเดินทางมาจากประเทศไทย’ กันแน่ 

        ข่าวนี้น่าสนใจ และดูเหมือนจะเป็นเรื่องตื่นตูมบนความสับสนของผู้คนในทวีปแอฟริกา ทั้งนี้ เพราะรายงานเกี่ยวกับโรค​ COVID-19 ในทวีปแอฟริกายังมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเอเชีย ยุโรป อเมริกา โอเชียเนีย (ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และหมู่เกาะแปซิฟิกใต้) ที่ต่างมีประชากรได้รับเชื้อกันถ้วนหน้า และสำนักข่าวเกาะติดสถานการณ์กันแบบเรียลไทม์

        โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงดูเป็นเรื่องที่ไกลตัวสำหรับชาวแอฟริกาเกือบ 1.3 พันล้านคน ผู้คนส่วนใหญ่ในแอฟริกายังรับรู้เพียงแค่ว่า เชื้อไวรัสที่น่ากลัวนี้เกิดขึ้นจริง แต่ก็ระบาดหนักแต่ในจีนมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา และแพร่กระจายมายังประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทย แต่ก็ยังไม่เริ่มเข้ามาในแอฟริกา

        แต่ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือ?

 

        การที่มีรายงานผู้ติดเชื้อโคโรนา 2019 น้อยในแอฟริกา มิได้หมายความว่าเชื้อไวรัสดังกล่าวจะไม่สามารถทะลุข้ามพรมแดนเข้าไปยังในทวีปแห่งนี้ได้ เพราะอย่างที่รู้กันว่าจีนและแอฟริกามีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิด ‘ราวกับพี่น้อง’ ทั้งผู้คนที่เดินทางไปมาหาสู่กันเป็นเรื่องปกติ รวมทั้งสินค้าที่นำเข้าส่งออกระหว่างกันเป็นเรื่องธรรมดา คงไม่มีสาเหตุอันใดที่เชื้อไวรัสโคโรนาจะไม่สามารถข้ามพรมแดนผ่านพาหะโดยเฉพาะ ‘ผู้คน’ ที่เดินทางไปมาระหว่างกัน รวมถึง ‘เที่ยวบิน’ มากมายจากทั่วทั้งโลก

        ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ระบุว่า มีรายงานผู้ติดเชื้อโคโรนา 2019 เพียง 11 รายในแอฟริกาทั้งทวีป โดยเป็นผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อแล้ว 11 ราย (8 รายจากประเทศแอลจีเรีย, 1 รายจากประเทศไนจีเรีย และอีก 2 รายจากประเทศเซเนกัล) แต่พอสองสัปดาห์ต่อมา ก็มีรายงานว่า COVID-19 ได้แพร่ระบาดเข้ามาในทวีปแล้ว

        เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขเคนยาประกาศว่า ได้พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นรายแรก ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากอิตาลี ทั้งนี้ เพราะประเทศเคนยาถือเป็นหนึ่งใน hub ของการเดินทางในดินแดนแอฟริกาตะวันออก และสายการบินเคนยาแอร์เวย์ก็มีเครือข่ายที่ครอบคลุมเชื่อมต่อจากเอเชียและยุโรปเข้ามาสู่ประเทศต่างๆ ในแอฟริกา

        กระทั่งในวันที่ 23 มีนาคม 2563 ประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของทวีป (ตามต่อจากประเทศไนจีเรีย) มีผู้ติดเชื้อสะสมเป็น 274 ราย ทั้งที่ 20 วันก่อนที่ไม่พบผู้ติดเชื้อแม้สักราย

        ล่าสุด เมื่อ 1 เมษายนที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 5,406 คน ใน 49 ประเทศในแอฟริกา นับเป็นการเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ และอยู่ในระดับที่น่ากังวลไม่น้อยไปกว่าระดับการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อในประเทศไทยและที่อื่นๆ ทั่วโลก  

        เราทั้งหลายน่าจะพอคาดเดาได้ว่า ระบบสาธารณสุขในแอฟริกายังไม่อยู่ในระดับที่ก้าวหน้ามากพอจะสามารถตรวจเชื้อหาโคโรนา 2019 ได้อย่างทันท่วงที หรือสามารถรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อได้ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริง จึงดูเหมือนว่าก่อนหน้านี้แอฟริกามีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนน้อย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าเมื่อการระบาดกระจายตัวในวงกว้าง คือวิธีการจัดการกับปัญหา โดยเฉพาะในทวีปที่ผู้คนยังยากจนเช่นนี้ ที่เราพอจะรู้กันว่าการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ดีของคนส่วนใหญ่ในแอฟริกายังเป็นเรื่องที่ห่างไกลเหลือเกิน ยังไม่รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจซึ่งอยู่ในช่วงกำลังจะขยับตัวและขยายความก้าวหน้าไปสู่ประเทศส่วนใหญ่ในแอฟริกา – วิกฤตไวรัสระบาดครั้งนี้ย่อมจะต้องส่งผลกระทบกันเป็นทอดๆ ไปสู่เศรษฐกิจในแอฟริกาด้วย

 

        สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในแอฟริกา โดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดที่มีอยู่ทั่วทุกแห่งหน หรือในเมืองใหญ่ ศูนย์รวมผู้ใช้แรงงานที่คอยทำงานป้อนระบบเศรษฐกิจของแอฟริกาให้โตวันโตคืน พวกเขาคือผู้ที่เดินทางมาอยู่ในแห่งพักพิงชั่วคราวที่มีแต่ความแออัดยัดเยียด หรืออาจจะเรียกเป็นภาษาที่พอจะรับได้หน่อยว่าอาศัยอยู่ใน townships ซึ่งก็หมายถึง ‘สลัม’ หรือชุมชนแออัดอยู่ดี

        ห้องน้ำแบบส้วมหลุมที่ต้องใช้ร่วมกัน ไม่รวมน้ำที่ใช้กินดื่มในชีวิตประจำวันที่มาจากการหาบใส่ถัง เพราะยังไม่มีระบบประปา การกินข้าวที่ต้องใช้ฟืนซึ่งก็ต้องออกไปหามาอย่างยากลำบาก เช่นนั้นแล้ว ‘การล้างมือ-กินร้อน-ช้อนส่วนตัว’ จึงไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำได้โดยง่ายดายและทันที ยังไม่รวมถึงการหาสบู่หรือเจลฆ่าเชื้อโรคที่เราป่าวประกาศให้หามาใช้กันอย่างทุกวันนี้

        คำถามคือ การให้ประชากรในวัยแรงงานที่ทำงานรับค่าจ้างรายวันกักตัวอยู่ที่บ้านเพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือเพื่อไม่ให้เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสไปติดผู้อื่นจะเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากเพียงใด – แรงงานที่หาเช้ากินค่ำ ต้องเดินทางไกลหลายกิโลเมตรต่อวันด้วยรถขนส่งสาธารณะที่ต้องอัดแน่นอย่างปลากระป๋อง หรือลองนึกภาพรถตู้เก่าซอมซ่อที่จำกัดไว้เพียง 14 ที่นั่ง ก็ถือว่าเบียดสุดๆ แล้ว แต่ผู้โดยสารในแอฟริกาอาจต้องเบียดเสียดกันเข้าไปถึง 20-25 คนเลยทีเดียว

 

         ความท้าทายของเราในวันนี้ นอกจากเรื่องการจัดการปัญหาโรคระบาดครั้งใหญ่ที่กำลังรุมเร้ารัฐบาลและประชาชนของทุกประเทศอย่างถ้วนหน้าแล้ว ก็คือการจัดการกับปัญหาที่มาพร้อมๆ กับโรค COVID-19 ทวีปที่ขึ้นชื่อว่า ‘เปราะบางและอ่อนแอ’ ที่สุดในโลก

        แม้ว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกาจะรับรู้ถึงภัยอันตรายของ COVID-19 และได้มีมาตรการปิดโรงเรียน สถานที่ที่คนมารวมตัวกันจำนวนมาก จำกัดการเข้าประเทศของคนที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และมาตรการอื่นๆ ตามที่ประเทศทั่วโลกเลือกดำเนินการกันแล้ว แต่ดูเหมือนว่าในเรื่องของการจัดการผู้มีรายได้น้อยที่ยังต้องปากกัดตีนถีบ (บ้างมีงาน บ้างตกงานในสถานการณ์ปกติ) ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดเข้าขั้นวิกฤตของไวรัสเช่นนี้ คือเป็นสิ่งที่ท้าทายและยากลำบากของรัฐบาล

        อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กันก็คงจะไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจของแอฟริกาที่ยังต้องพึ่งพิงการส่งออก เพราะวิกฤตไวรัสส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกเกิดภาวะถดถอย (recession) และย่อมจะส่งผลกระทบต่อแอฟริกาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง สาเหตุสำคัญเป็นเพราะในแอฟริกามีการค้าขายกับประเทศนอกภูมิภาคมากกว่าค้าขายกันเอง 

        ทั้งยังเป็นการค้าขายในสัดส่วนที่สูงมากอีกด้วย – เพียงการค้าขายกับจีนประเทศเดียวก็คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีแล้ว ดังนั้น ในช่วงที่จีนล็อกดาวน์ประเทศ ภาคอุตสาหกรรมถดถอยหรือต้องหยุดชะงัก ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ของแอฟริกาที่จะต้องหดหายไปในจำนวนมหาศาลเช่นกัน 

        ยังไม่นับรวมคนค้าขายปลีกย่อยในแอฟริกา ที่ปกติจะเดินทางข้ามประเทศโดยเครื่องบินเพื่อออกไปซื้อสินค้าจากประเทศอื่นๆ กลับมาขายปลีกในแอฟริกา อาทิ เส้นผมสังเคราะห์ที่นำมาทำเป็นวิก เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ที่จะต้องได้รับผลกระทบจากปัญหาการหยุดให้บริการของเที่ยวบินระหว่างประเทศ และย่อมส่งผลมาถึงกระเป๋าสตางค์ของพวกเขาในที่สุด

        ประเทศไทยก็เช่นกัน โดยเฉพาะที่ตลาดโบ๊เบ๊และประตูน้ำ ก็ถือเป็นแหล่งช้อปปิ้งยอดฮิตของคนแอฟริกา โดยเฉพาะเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งหุม ที่พ่อค้าแม่ค้าชาวแอฟริกาต่างชื่นชมว่ามีคุณภาพดีกว่าเสื้อผ้าจากจีน ก็คงพลอยรับผลกระทบนี้ไปโดยปริยาย

 

         โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ COVID-19 น่ากลัวและท้าทายชีวิตของพวกเราทุกคน แต่สำหรับผู้คนที่คุณภาพชีวิตต่ำกว่ามาตรฐาน ในทวีปที่ขึ้นชื่อว่า ‘เปราะบางและอ่อนแอ’ และมักถูกหลงลืมอย่างเช่นแอฟริกา นับเป็นเรื่องที่สาหัส เจ็บปวด และอาจยิ่งวิกฤตกว่าที่เราเผชิญอยู่หลายเท่าตัว