ครั้งนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศมารีวิวแคปซูลกันบ้างนะครับ
ตามประสาคนชอบดื่มกาแฟ การได้ลองกาแฟใหม่ๆ ก็เป็นเรื่องหนึ่ง การได้ลองเครื่องชงกาแฟแบบใหม่ๆ ก็เป็นความสุขอย่างหนึ่งเช่นกัน คนบ้าผู้หลงใหลกาแฟ ก็มีสภาพไม่แตกต่างอะไรกับพวกบ้าเครื่องเขียน คนบ้ากาแฟก็มักจะชอบซื้อเครื่องโน้นเครื่องนี้มาลอง กาน้ำบ้าง กระดาษกรองใหม่ๆ บ้าง และสิ่งที่ซื้อบ่อยที่สุดรองลงมาจากเมล็ดกาแฟก็น่าจะเป็นแก้วกาแฟที่ซื้อกันไม่รู้จักพอ
ปัจจุบันหากนับรวมเครื่องชงที่มีที่บ้าน ผมก็มีหลายขนานอยู่ ตั้งแต่เครื่องชงเอสเพรสโซ แอโรเพรส เฟรนช์เพรส เคเมกซ์ ไปจนถึงเครื่องทำกาแฟแบบแคปซูล ซึ่งก็เคยมีทั้งดอลเช กุสโต( Dolce Gusto) ของครุปส์ (Krups) สมัยที่ยังไม่มีแคปซูลสตาร์บัคส์ขาย เคยมีทั้งเครื่องชงแคปซูลของเซกาเฟรโด (Segafredo) สีขาวสะอาดตาตัดกับกาแฟสีเข้มและเนสเพรสโซ (Nespresso)
แต่ที่ใช้บ่อยและทนกว่าใครเพื่อนก็เห็นจะเป็นเนสเพรสโซ จุดขายของเนสเพรสโซคือ มีเมล็ดกาแฟให้เลือกเยอะมาก ทุกวันนี้หากเข้าไปดูในแอพลิเคชันของเนสเพรสโซจะพบกับแคปซูลจากหลากหลายแหล่งทั่วโลก คั่วและผสมมาให้มีกลิ่นและรสที่รุ่มรวย เลยมีบางคนซื้อเอามาทำเป็นเครื่องอะโรมาในบ้านไปแล้ว ที่สำคัญเครื่องเนสเพรซโซทุกวันนี้ราคาจับต้องได้ เมื่อเทียบกับเครื่องทำเอสเพรสโซจริงๆ ซึ่งทั้งการใช้งานและการดูแลรักษานั้นยุ่งยากกว่า
และแคปซูลกาแฟที่จะรีวิวกันในครั้งแรกนี้ก็คือ Stockholm Fortissio Lungo แม้ว่าชื่อจะเป็นสตอกโฮล์ม แต่ว่าจริงๆ แล้วเมล็ดข้างในมาจากโคลอมเบียและจากอินเดีย ซึ่งที่อินเดียเมล็ดกาแฟนี้จะมีกระบวนการแปรรูปและเก็บเกี่ยวที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของที่นั่นเรียกว่า Monsooned Malaba โดยอาศัยความได้เปรียบของลมมรสุมสร้างเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง (เรื่องนี้เอามาเล่าได้อีกตอนหนึ่งเลย) ซึ่งจะพบได้เฉพาะเมล็ดกาแฟที่มาจากฝั่งอินเดียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น
รสชาติกาแฟให้บอดี้กำลังดี กลิ่นคาราเมลที่เป็นเอกลักษณ์ของกาแฟจากโคลัมเบียออกมาชัดเจน ความเข้มได้มาจากเมล็ดกาแฟจากอินเดีย ซึ่งก็เป็นเอกลักษณ์ของกาแฟมที่มาจากแถบนี้ที่นิยมคั่วเข้ม
แล้วสรุปคือชื่อสตอกโฮล์มเกี่ยวกับแคปซูลนี้ตรงไหน เนสเพรสโซเขียนบรรยายสั้นๆ บอกว่า ชื่อนี้เป็นแรงบันดาลใจของการเบลนด์ เพราะตอนนี้ยุโรปแถบสแกนดิเนเวีย เป็นโลกใหม่ของกาแฟ นัยว่าแถบยุโรปเหนือกำลังคึกคักกับ specialty coffee และนักคั่วกาแฟหน้าใหม่ไฟแรงหลายคนมาจากที่นั่น
อันนี้ผมไม่ทราบได้ ทราบแต่ว่าถูกใจไม่น้อยกับเจ้า ‘สตอกโฮล์ม’ เล็กๆ ในบ้านของผม รุ่นนี้เพิ่งออกมาเมื่อมีนาคมปี 2021 ยังมีให้กดสั่งในแอพพลิเคชันของเนสเพรสโซ
แคปซูลเจ้าปัญหา: เรายังรักษ์โลกได้ไหมหากเราดื่มกาแฟแคปซูล
สิ้นปีที่ผ่านมา เป็นปีที่เนสเพรสโซประกาศไว้ว่าจะเลิกใช้แคปซูลแบบเก่า และเมื่อขึ้นปีใหม่ 2022 แคปซูลของเนสเพรสโซจะเปลี่ยนมาใช้อลูมิเนียมที่เกิดจากกระบวนการรีไซเคิลทั้งหมด ซึ่งก็น่ายินดี
คุณอาจสงสัยกันว่าเนสเพรสโซผลิตแคปซูลกาแฟมากแค่ไหน
มีบทความของ เดวิด บูร์โรว์ (David Burrow) เขียนไว้ใน Coffeehit.co.uk โดยอ้างข้อมูลจาก BBIA Bio-Based abd Biodegradable Industry Association กลุ่มผู้ผลิตวัตถุดิบที่เน้นเรื่องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บอกว่าใน 1 นาที เนสเพรสโซผลิตแคปซูลได้เฉลี่ย 39,000 แคปซูล แต่มีเพียง 10,000 แคปซูลเท่านั้นที่ถูกนำกลับมารีไซเคิลใหม่ นี่เป็นความท้าทายของเนสเพรสโซอยู่ไม่น้อยในฐานะเจ้าตลาดกาแฟแคปซูล ซึ่งปฎิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
ว่ากันตามเนื้อผ้าถ้าเข้าไปดูเบื้องหลังการวางแผนที่จะนำเอาแคปซูลเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ พวกเขาก็วางแผนไว้ค่อนข้างเป็นระบบ การเลือกใช้อลูมิเนียมตั้งแต่แรก ส่วนหนึ่งก็เพื่อต้องการให้กระบวนการในการนำแคปซูลกลับมาใช้ใหม่ สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะขั้นตอนการรีไซเคิลอลูมิเนียมทำได้ง่ายและดีกว่าพลาสติก แต่แบรนด์อื่นที่ทำแคปซูลพลาสติกปัจจุบันก็เริ่มเสนอทางเลือกให้กับผู้บริโภค เช่น การสมัครสมาชิกรายเดือนเพื่อนำเอาแคปซูลนั้นมารีไซเคิล หรือใช้พลาสติกที่มีส่วนผสมของพลาสติกรีไซเคิลเข้าไปในวัตถุดิบ
ระบบก็คล้ายๆ กันกับเนสเพรสโซ คือสามารถนำเอาแคปซูลที่ใช้แล้วส่งคืน โดยผ่านทางบริการเดลิเวอรี หรือไปหย่อนหน้าร้านก็ได้ ทางผู้ผลิตก็จะมีส่วนลดให้กับลูกค้าเป็นค่าตอบแทน ปัจจุบันเนสเพรสโซทำกระบวนการนี้ได้แพร่หลายมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ส่วนแบรนด์อื่นๆ ก็กำลังตามมา แต่ก็ทำได้เป็นบางพื้นที่ของโลก
สำคัญไปกว่านั้น ผมคิดว่าสิ่งที่ยากที่สุดและเป็นความจริงแท้เสมอมาก็คือ
ความมักง่ายก็มักชนะทุกกระบวนการได้เสมอ
ที่ผ่านมาเนสเพรสโซ ใช้เงินสำหรับความพยายามรีไซเคิลวัตถุดิบของพวกเขาไปแล้วตั้งแต่เริ่มแนะนำตัวเองกับตลาดโลกในปี 2000 ไปกว่า 20 ล้านปอนด์ หรือเกือบๆ 900 ล้านบาท ในการสร้างวิถีแห่งการนำกลับมาใช้ใหม่ แต่ถามว่าได้ผลดีมากหรือยัง ก็ตอบได้ว่าดีขึ้น แต่ผมคิดว่า ถ้าหากประเมินจากพฤติกรรมของคนรอบข้างที่เห็น ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ พูดได้ว่าก็ยังห่างไกลจากผลที่แบรนด์ตั้งไว้
ปัญหาที่จะเจอได้เลยก็อย่างเช่น หลายคนไม่รู้ว่ามีกระบวนการนี้อยู่ (หากคุณไม่ได้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน ก็อาจไม่รู้เลย) หรือการซื้อเครื่องชงกาแฟทางออนไลน์ ซึ่งพนักงานในร้านไม่มีโอกาสได้แนะนำเรื่องการนำแคปซูลกลับมาใช้ใหม่ หรือรวมไปถึงว่าสมาชิกในบ้านของคุณเอง ก็ไม่รู้ว่าเราจะเก็บ ‘ขยะ’ พวกนี้ไว้ทำไมในบ้าน ทำไมไม่เอาไปทิ้งสักที หรืออาจจะมีผู้หวังดีหยิบไปทิ้งให้ก็มีอยู่บ่อยๆ ฯลฯ
เรื่องพวกนี้ถ้าจะให้ได้ผลเลิศ ต้องเริ่มกันตั้งแต่ระดับนโยบายของรัฐ การปลูกฝังเรื่องการรีไซเคิล แยกขยะ ให้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาพลเมือง แล้วภาคเอกชนก็มารับช่วงต่อ น่าจะเป็นทางที่ยั่งยืนที่สุด
แต่หากว่าจะรอถึงวันนั้น สายสิ่งแวดล้อมอาจรอไม่ไหว ถ้าอย่างนั้นแล้ว เราควรเลือกกาแฟแคปซูลแบบไหนดีที่จะกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
ผมแนะนำแบบนี้ครับว่า ก่อนจะตัดสินใจซื้อ ลองหาข้อมูลก่อนว่าแบรนด์ไหนที่มีบริการในการเก็บกลับแคปซูลกาแฟเหล่านี้อย่างเป็นระบบเป็นรูปธรรมที่สุดบ้าง และแบบไหนที่สะดวกและเหมาะกับเราที่สุด และแบรนด์นั้นๆ ทำอะไรไปแล้วบ้าง
บางแบรนด์ใช้พลาสติก ซึ่งไม่ใช่เป็นพลาสติกเกรดที่ย่อยสลายได้ อันนี้ก็ควรหลีกเลี่ยงครับ
บางแบรนด์มีส่วนผสมของพลาสติกที่ที่ย่อยสลายได้-ก็ถือว่าดีขึ้น แต่ลองดูว่า เขามีโปรแกรมในการกำจัดพลาสติกอย่างไรเพิ่มเติมไหม สิ่งสำคัญคือฝาที่ใช้ครอบแคปซูลพลาสติกนั้น เป็นอะลูมิเนียมฟอยล์ที่สามารถย่อยสลายได้ไหม อันนี้ก็สำคัญ เพราะเศษฟอยล์เหล่านี้หากย่อยสลายไม่ได้ ก็จะสร้างปัญหา ทั้งเรื่องของการอุดตันตามท่อระบายน้ำ หรือเสี่ยงต่อการที่สัตว์ต่างๆ จะกินเข้าไป เพราะคิดว่าเป็นอาหาร
บางแบรนด์มีโปรแกรมที่ชัดเจนเรื่องการเก็บคืนและนำเอาวัสดุเหลือใช้เหล่านี้ไปใช้ต่ออย่างเป็นรูปธรรม เช่น การนำไปรีไซเคิลใหม่ทั้งหมด การนำกากกาแฟในแคปซูลไป upcycling ที่เป็นสินค้าอื่นๆ ได้ หรือนำไปเป็นปุ๋ย หรือเชื้อเพลิงได้อีกต่อ อันนี้ก็น่าส่งเสริม หรือหากคุณต้องการใช้แคปซูลแบบเติมเอง เพื่อลดการซื้อแคปซูลใหม่ ก็เป็นแนวความคิดที่ดีครับ แต่อยากให้แน่ใจว่าแคปซูลที่คุณใช้แล้วได้แยกขยะและทิ้งอย่างถูกวิธีนะครับ
เนสเพรสโซในฐานะผู้นำ ก็มีความพยายามในการทำเป็นต้นแบบและลดคำครหาเรื่องการสร้างขยะใหม่ เนสเพรสโซแต่ละประเทศมีการนำเอาวัสดุเหลือใช้มา upcycling ในรูปแบบต่างๆ นอกเหนือจากการเลือกอลูมิเนียมมาทำเป็นวัสดุสำหรับทำแคปซูล เพราะทั้งเก็บความสดของกาแฟได้ดี อีกอย่างคือมันรีไซเคิลใหม่ได้ไม่รู้จบ
ปัจจุบันเนสเพรสโซมีโปรแกรมการจัดการแคปซูลหลังใช้ ทั้งนำกากกาแฟไปทำปุ๋ย ไปเป็นพลังงานในโรงไฟฟ้าชุมชนในบางประเทศ มีการส่งคืนแคปซูลอลูมิเนียมเหล่านี้กับพนักงานไปรษณีย์ที่มาส่งของโดยลูกค้าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ฯลฯ ซึ่งทำแล้วกว่า 59 ประเทศทั่วโลก
ส่วนหนึ่งก็ต้องบอกว่าเนสเพรสโซนั้นเติบโตมาจากธุรกิจกาแฟแบบ B2B มาก่อน คือจำหน่ายเครื่องชงแบบแคปซูล single cup ให้กับโรงแรมและร้านอาหารมานานตั้งแต่ ปลายทศวรรษ 1980 ฉะนั้นความรู้เรื่องการจัดการทรัพยากรพวกนี้ ส่วนหนึ่งผมคิดว่าเขาได้แลกเปลี่ยนกับโรงแรมหลายๆ แห่งทั่วโลกที่เป็นลูกค้าของเขาอยู่แล้ว จากนั้นก็นำมาประยุกต์ใช้กับลูกค้าตามบ้านอย่างเราเมื่อเริ่มทำตลาดเครื่องชงกาแฟแคปซูลแบบเป็นจริงจังเมื่อ 20 ปีก่อน
บอกไว้ก่อนครับว่า ผมไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเนสเพรสโซหรือแบรนด์แคปซูลอื่นๆ แต่อย่างใด แต่ที่เอามาเล่าเพราะเชื่อว่าหลายคนมีความสงสัยเหมือนกับผมว่า ถ้าเราต้องดื่มกาแฟ แต่เพิ่มขยะที่ไม่จำเป็นมากเกินไปมันอาจทำให้เรารู้สึกผิดอยู่ไม่น้อย
สรุปก็คือ หากทำตามร่องตามรอยที่เขามีบริการเรา ก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไรกับการรีไซเคิล
ได้แต่หวังว่าทุกแคปซูลที่เรานำส่งคืนจะถูกนำไปใช้อย่างเหมาะสมจริงๆ
เรื่อง: เอกศาสตร์ สรรพช่าง