ในปี 2022 อะไรทำให้ร้านกาแฟเป็นที่พึ่งทางใจมากกว่าโบสถ์

ถุงนี้ที่เปิดชง 

Madi Coffee Beans 

ถุงนี้ซื้อมาจากร้านของน้องรักซึ่งเปิดร้านกาแฟย่านเจริญกรุง ชื่อเดียวกับกาแฟเลยครับ เจ้าของร้านเลือกเอง โดยได้เมล็ดกาแฟที่ถูกใจ มาจากไร่กาแฟที่แม่จันใต้ เชียงราย ตลอดกระบวนการเมล็ดกาแฟไม่ผ่านการใช้สารเคมีใดๆ เลย โดยใช้กระบวนการ wet process(บางคนก็จะเรียกว่า wash process)  พูดง่ายๆ คือใช้น้ำในทุกขั้นตอนในการเปลี่ยนจากผลเชอร์รี่มาเป็นเมล็ดเขียวพร้อมคั่ว ข้อดีของการทำ  wet process อย่างหนึ่งคือ ในขั้นตอนของการหมักโดยใช้เมือกกาแฟ ในขั้นตอนนี้จะส่งผลให้เมล็ดกาแฟเมื่อไปคั่วมีรสชาติที่แตกต่างกัน การหมักแบบนี้ หากตากให้ดี แล้วนำไปคั่วให้ดีในระดับอ่อนถึงกลาง จะสามารถดึงรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของเมล็ดกาแฟออกมาได้ ถุงนี้ออกฟรุตตี้นิดๆ ให้ความรู้สึกสดชื่น สำหรับผมคิดว่าเหมาะกับการดื่มเป็นกาแฟหลังอาหารกลางวัน ล้างปากกำลังสวยเลย


ในปี 2022 อะไรทำให้ร้านกาแฟเป็นที่พึ่งทางใจมากกว่าโบสถ์

        แม้ผมจะเป็นคนพุทธ แต่ก็เรียนโรงเรียนคริสต์มาตั้งแต่อนุบาลจนถึงประถม โรงเรียนที่จัดตั้งโดยนักบวชและครูสอนศาสนาคริสต์ในต่างจังหวัด สะท้อนภาพของความทันสมัยความเจริญ พ่อแม่ที่พอจะมีทางเลือกก็อยากส่งลูกเข้าเรียน ‘โรงเรียนฝรั่ง’ คงอารมณ์เหมือนพ่อแม่สมัยนี้ที่อยากให้ลูกเรียนโรงเรียนอินเตอร์ แต่เด็กๆ อย่างผมไม่รู้เรื่องหรอกครับ รู้แต่ว่างานคริสมาสต์ของโรงเรียนคือที่สุดของความสนุกสนาน 

        การไปโรงเรียนฝรั่ง ทำให้ผมรู้ว่าคริสตศาสนิกชนต้องไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ ผมเองก็คุ้นเคยกับธรรมเนียมของชาวคริสต์อยู่บ้าง แม้ว่าจะมีโบสถ์อยู่ใกล้ๆ โรงเรียน แต่ผมก็ไม่รู้ว่า การไปโบสถ์วันอาทิตย์มีธรรมเนียมอย่างไรบ้าง คิดเอาว่าน่าจะเหมือนกับที่เราเห็นในหนัง เหมือนกับที่เราไปวัดนั่นแล แต่ที่รู้แน่ๆ คือ ผมเชื่อว่ายุคนี้คนน่าจะไปโบสถ์น้อยลง เนื่องจากถูกกิจกรรมอย่างอื่นในชีวิตบดบังไปเสียหมด ปรากฎการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ใดที่หนึ่งของโลกนะครับ เป็นกันในทุกๆ ที่ 

        ผมไปอ่านเจอรายงานการศึกษาของ American Enterprise Institute โดย แดเนียล ค็อกซ์ (Daniel Cox) ผู้อำนวยการศูนย์และดูแลโครงการ Survey Center on American Life เขายังเป็นสมาชิกอาวุโสที่สถาบันนี้ด้วย ได้เปิดเผยรายงานเรื่องความสัมพันธ์ของคนอเมริกันกับการไปโบสถ์ว่า ทุกวันนี้คนอเมริกันให้ความสำคัญกับการไปโบสถ์น้อยลง จากที่เคยเห็นโบสถ์เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว ทั้งเป็นสถานที่ที่ยึดชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ทั้งช่วยให้บรรดาผู้อพยพได้ซึมซับวัฒนธรรมเมื่อมาถึงอเมริกาอีกด้วย เรียกง่ายๆ ว่าโบสถ์ อาจถือเป็น Third Place ของคนเมื่อสัก 50 ปีก่อนก็ไม่ผิดนัก แต่ทุกอย่างดูเหมือนเริ่มเปลี่ยน

        การสำรวจในปี 1999 พบว่าชาวอเมริกัน 70% บอกว่าตัวเองเป็นสมาชิกของโบสถ์ มัสยิด หรือโบสถ์ของชาวยิว แต่พอมาถึงปี 2020 ตัวเลขลดลงเหลือเพียง 47% เท่านั้น 

        การสำรวจในปี 2019 พบว่ามีชาวอเมริกันเพียง 3 ใน 10 คนเท่านั้นที่ยังไปโบสถ์ทุกสัปดาห์ นั่นหมายถึงว่า Third Place ที่เคยมีมนต์ขลังเมื่อกว่า 50 ปีก่อน ถูกแย่งพื้นที่ทางจิตใจไปแล้วด้วย Third Place ที่น่านั่งและอาจเยียวยาจิตใจได้ดีกว่า 

        และการสำรวจในเดือนตุลาคมปี 2021 โดย American Survey Center ก็ยังพบด้วยว่า พื้นที่เชิงพาณิชย์อย่างร้านกาแฟ กลายเป็นสถานที่แห่งความไว้วางใจของชุมชนชาวอเมริกัน แซงหน้าโบสถ์ไปแล้ว 

        ดร.มาเรีย เอสปิโนลา (Dr.Maria Espinola) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ และพฤติกรรมด้านประสาทวิทยาที่มหาวิทยาลัย University of Cincinnati College of Medicine บอกว่าเรื่องนี้มันไม่ใช่เพียงแค่ว่าคุณต้องการไปซื้อกาแฟเท่านั้น แต่มันกลายเป็นเรื่องของการสร้างสัมพันธ์ต่อในละแวกบ้านใกล้เรือนเคียง จนเกิดเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจในที่สุด และยังพบด้วยว่าผู้ที่มี “Third Place” ของตัวเองคือกลุ่มคนมีความเชื่อมโยงกับชุมชนของตน คนเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมอื่นๆ มากกว่า มีความไว้เนื้อเชื่อใจในเพื่อนบ้านมากกว่า และมีผลลัพธ์ทางสังคมในเชิงบวกต่างๆ มากมาย 

        และสำหรับชาวอเมริกันจำนวนมาก “Third Place” ของพวกเขาก็คือร้านกาแฟและผลจากการสำรวจในเชิงตัวเลขก็ไม่แตกต่างกัน ในปี 2019 ผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 67% บอกว่า “Third Place” ของตัวเองนั้นไม่ใช่โบสถ์อีกต่อไปแต่เป็นสถานที่อย่างร้านกาแฟ บาร์ ร้านอาหาร สวนสาธารณะ หรือสถานที่อื่นๆ ในชุมชนที่ไปเป็นประจำ ตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือ 56% ในปี 2021 ซึ่งเป็นเป็นไปได้ว่าเป็นผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19

        ถ้าคุณเป็นลูกค้าประจำร้านกาแฟสักแห่ง บาริสต้าเห็นหน้าคุณทุกวัน และรู้ว่าคุณชอบสั่งกาแฟแบบไหนแล้วทำกาแฟที่คุณชอบมาเสิร์ฟให้ ซึ่งนั่นจะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกดี จากนั้นคุณอาจเริ่มทักทายกับพนักงานและบาริสต้า สำหรับร้านกาแฟที่ให้ความสำคัญกับพนักงานร้านที่ทำหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ดีและเข้าใจธรรมชาติของชุมชนที่อยู่รอบข้างด้วยแล้ว ไม่ยากเลยที่ร้านกาแฟจะกลายเป็น Third Place ที่ผู้คนอยากไปมากกว่าโบสถ์ ปลอดพิธีกรรม ตรงไปตรงมา ไม่มีการยัดเยียด อย่างเดียวที่เราต้องการคือกาแฟดีๆ และเพลงเพราะๆ

        หากพูดกันตรงไปตรงมา อาจพูดได้เช่นกันว่า แนวทางการทำธุรกิจของสตาร์บัคส์มีผลอย่างมากต่อการรับรู้ Third Place ของคนอเมริกันเปลี่ยนแปลงไป ว่ากันตั้งแต่การเลือกที่ตั้ง การให้ความสำคัญกับชุมชน และตัวพนักงานที่ถูกฝึกเพื่อเป็นตัวแทนแบรนด์ของบริษัท เหมือนกับที่สตาร์บัคส์มักบอกอยู่เสมอว่าธุรกิจของเขาไม่ใช่กาแฟ แต่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับคนที่ใช้กาแฟ เป็นกลยุทธในการเชื่อมผู้คนเข้าหากัน ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของร้านกาแฟคือ การที่มันมีอยู่เกือบทุกหนทุกแห่ง ลูกค้าสามารถแวะไปนั่งดื่มกาแฟเป็นครั้งคราว หรือจะเป็นไปลูกค้าประจำก็ได้ หลายแห่งเปิดขายเกือบทุกวันในสัปดาห์ และลูกค้าสามารถเข้าไปทำกิจกรรมได้หลากหลาย 

        จริงๆ หลายโบสถ์มีแนวความคิดเรื่องการนำร้านกาแฟ มาเป็นส่วนหนึ่งของการดึงดูดผู้คนในชุมชนเข้าไปในโบสถ์มากขึ้น ฟังดูก็เข้าท่านะครับ แต่ก็พบว่ามีการโต้เถียงกันอย่างกว้างขวางถึงเรื่องข้อจำกัดทางศาสนา เช่นว่าเคยมีการเปรียบเทียบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอดีตที่โบสถ์สมัยก่อนใช้ดึงคนเข้ามาในโบสถ์มากขึ้น เช่น การเปิดให้แลกเงินหรือการแลกเปลี่ยนสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ รวมถึงการเปิดร้านขายของที่ระลึก ฯลฯ แต่สุดท้ายก็มีการตั้งคำถามว่าการทำงานวันอาทิตย์นั้นจะขัดกับหลักคำสอนของศาสนาหรือไม่(สำหรับผู้ที่เคร่งศาสนา นี่น่าจะเป็นประเด็นที่ต้องตีความ) และการใช้การค้านำผู้คนมายังโบสถ์ ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า สมควรทำหรือไม่ 

        กระนั้นในประวัติศาสตร์ของอเมริกันชน ก็มีการนำเอาร้านกาแฟไว้ในโบสถ์เช่นกันนะครับ มีการบันทึกไว้เป็นเรื่องเป็นราวว่า ร้านกาแฟที่ชื่อ Nameless Coffee ที่โบสถ์ Parish Unitarian ในแคมบริดจ์สแควร์ แมสซาชูเสต ถือเป็นร้านกาแฟแห่งแรกที่เปิดในโบสถ์ในปี 1967 เป็นร้านกาแฟที่ไม่แสวงหากำไร และยังมีการแสดงดนตรีสดให้กับผู้ที่มาโบสถ์ด้วยศิลปินนักแต่งเพลงระดับแกรมมีอย่าง เทรซี่ แชปแมน หรือ แพตตี้ ลาร์กิ้น อีกด้วย ปัจจุบันโบสถ์ยังอยู่ครับแต่ร้านกาแฟไม่ได้เปิดดำเนินกิจการแล้ว

        จริงๆ วัดพุทธ ก็น่าทำเหมือนกันนะครับ แบ่งแผงขายพระเครื่องมาขายกาแฟ หามุมสวยๆ ในวัด ก็น่าสนใจไม่น้อย…


เรื่อง: เอกศาสตร์ สรรพช่าง