ถุงนี้ที่เปิดชง
Starbucks Reserve Christmas
ต้องบอกว่าสตาร์บัคส์นี่เป็นคนที่สร้างวัฒนธรรมการดื่มกาแฟในช่วงเทศกาลคริสต์มาสก็ว่าได้นะครับ แต่ละปีจะมีการเปิดตัวเมล็ดกาแฟใหม่ประจำปี ส่วนปีนี้ก็น่าตื่นเต้นเช่นกัน สตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ นำเอากาแฟสามชนิดมาผสมกันกับกาแฟหายากโดยเอาเมล็ดกาแฟจาก Hacienda Alsacia ในคอสตาริกา เมล็ดกาแฟสุมาตราและกาแฟจากจากภูมิภาคอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย
อะโรมาที่ได้จากการผสมผสานทั้งสามเมล็ดกาแฟนี้ มีกลิ่นของซิตรัส กลิ่นเครื่องเทศและมีกลิ่นผิวส้ม อาฟเตอร์เทสหวานติดลิ้นยาวนาน
บุคลิกของสตาร์บัคส์ มักจะเป็นกาแฟที่คั่วมากลางค่อนข้างเข้มอยู่แล้ว ฉะนันกาแฟถุงนี้ผมแนะนำว่าชงแบบผ่านน้ำ ชงกับเครื่องเคเม็กซ์หรือเฟรนช์เพรสก็เหมาะดี แต่ไม่แนะนำว่าให้เอาไปดริปมือเท่าไหร่เพราะรสอาจะเข้มไปนิด
รีบสอยนะครับ เพราะเป็นกาแฟที่ออกเฉพาะฤดูกาล
เอธิโอเปีย
บ้านเกิดของกาแฟกำลังแย่
หากคุณเกิดทันสมัยที่เพลง Heal The World ของไมเคิล แจ็กสัน กำลังดัง ภาพหนึ่งที่เราจะจำกันได้ขึ้นใจเลย คือภาพเด็กหัวโตตัวลีบที่ได้รับผลกระทบจากภาวะของการขาดสารอาหาร
30 กว่าปีก่อน ทวีปแอฟริกาถือเป็นทวีปที่ยากจนคข้นแค้นมากที่สุดของโลก ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ทวีปแอฟริกาเปลี่ยนไปมาก คนที่นั่นเริ่มมีเงิน เริ่มรวยขึ้นมาบ้างจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การทำเหมือง อุตสาหกรรมการเกษตร ก็ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นบ้างแต่เมื่อเทียบกับทวีปอื่นๆ ในโลกก็ต้องยอมรับกันตามตรงว่ายังด้อยกว่ามากนัก
กระนั้นในโลกของกาแฟ ทวีปนี้กลับให้สร้างสรรเมล็ดกาแฟดีๆ มากมายสำหรับคอกาแฟแล้วเมล็ดกาแฟอาราบิกาที่มาจากแอฟริกามีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีประวัติศาสตร์ที่น่าหลงใหล โดยเฉพาะเมล็ดกาแฟที่มาจากเอธิโอเปียซึ่งถือได้ว่าเป็นบ้านเกิดของกาแฟก็ว่าได้
มีเรื่องเล่ากันมาซึ่งคุณก็น่าจะเคยได้ยินมาบ้างเกี่ยวกับคนเลี้ยงแพะที่ไปเจอว่าแพะของตัวไปกินเมล็ดอะไรสีแดงๆ เข้า แล้วเกิดคึกผิดปกติ เลยลองหยิบมากินดูบ้าง พบว่าเขาก็คึกคักไม่แตกต่างจากแพะ ตั้งแต่นั้นมากาแฟก็แพร่หลายออกไปเรื่อยจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของมนุษย์กว่าพันล้านคนทั่วโลกที่ดื่มกาแฟทุกวัน
ในทุกๆ วันมีร้านกาแฟเปิดใหม่ทั่วโลกนับร้อย นับพันร้าน เคยสงสัยกันไหมครับว่าเราจะมีกาแฟเหลือกินเหลือใช้อย่างนี้ไปอีกนานเท่าไหร่
จากการประมาณการของ IBIS World บริษัทวิจัยการตลาดระดับโลก เขาประมาณการกันว่าร้านกาแฟและคาเฟ่ที่เน้นจำหน่ายกาแฟ ช่วงตั้งแต่ปี 2006-2021 เฉลี่ยแล้วธุรกิจนี้มีการเติบโตที่ประมาณ 2.5% ทั่วโลกอันนี้รวมทุกประเภทแล้วทั้งร้านกาแฟสาขา ทั้งร้านกาแฟเฉยๆ หรือร้านกาแฟพวก specialty เรื่องที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ก็คือ ปริมาณเมล็ดกาแฟอาราบิกาผลผลิตยังน่าเป็นห่วงเพราะมีแนวโน้มคงตัวและลดลง สวนทางกับปริมาณการบริโภค (และการเปิดร้านคาเฟ่เก๋ๆ)
สาเหตุไม่ใช่อื่นใด ก็มาจากเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนั่นแล ที่เป็นตัวการสำคัญ ทำให้เรื่องราวต่างๆ มันดูแย่ลง โดยเฉพาะสถานการณ์ในเอธิโอเปียบ้านเกิดของกาแฟ
การส่งออกเมล็ดกาแฟ ถือเป็นธุรกิจหลักธุรกิจหนึ่งของเอธิโอเปียซึ่งในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงของการเอาตัวรอดจากการที่ผลผลิตเมล็ดกาแฟอาราบิกา ลดลงอย่างมากเรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลในหมู่ Coffee Hunter ทั้งหลาย(Coffee Hunter อธิบายง่ายๆ ก็คือนายหน้าผู้เชี่ยวชาญกาแฟ ที่ออกเสาะหาเมล็ดกาแฟชั้นเลิศจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อมาเสนอขายให้กับแบรนด์กาแฟทั่วโลก) ว่าจะทำอย่างไรกันดีถึงจะทำให้เอธิโอเปียสามารถหลุดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ได้ เพราะกาแฟจากที่นี่ทั้งขายได้ราคาดีและรสชาติก็เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร
ซึ่งก็ดูเหมือนว่า ไม่ง่ายสักเท่าไหร่
มีชาวเอธิโอเปียเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการเพาะปลูกเมล็ดกาแฟกว่า 15 ล้านคน ทว่าตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนนั้นลดไปเรื่อยๆ จาก 15% ใน 50 ปีที่แล้วตอนนี้ลดลงไปอีกเป็น 20% ในเมืองสำคัญในการปลูกกาแฟอย่างเมืองกอร์ (Gore) ปริมาณของน้ำฝนนั้นลดลงมากกว่า 40 นิ้วต่อปี ทั้งหมดนี้ส่ผงผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตของเมล็ดกาแฟที่สามารถเก็บเกี่ยวได้
มีการตีพิมพ์ผลการศึกษาเรื่องนี้ไว้ในนิตยสาร Nature Plants ถึงการลดลงของปริมาณการส่งออกของเมล็ดกาแฟอาราบิกาของเอธิโอเปีย โดยคาดว่าเมื่อสิ้นศตวรรษนี้ปริมาณเมล็ดกาแฟจากเอธิโอเปีย น่าจะเหลือเพียงร้อยละ 39-50 ของปริมาณที่สามารถส่งออกได้ ณ ตอนนี้ ทีมนักวิจัยวิจัยเขาใช้ดาวเทียมช่วยสร้างภาพจำลองร่วมกับคอมพิวเตอร์วิเคราะห์สภาพอากาศที่เปลี่ยนไป รวมถึงผลกระทบของสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปกับพื้นที่เพาะปลูก เพราะเนื่องจากว่ากาแฟเป็นพืชที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงพอสมควร โดยเฉพาะพวกที่ขึ้นบนที่สูง ฉะนั้นเมื่อสภาพเปลี่ยน ฝนน้อยลง ความชื้นในอากาศน้อยลงก็มีแนวโน้มว่าผลผลิตของกาแฟก็จะลดลงด้วย
สิ่งที่นักวิจัยพบสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ เขาพบว่าเกษตรกรพยายามหาพื้นที่ปลูกกาแฟใหม่ๆ โดยเขยิบการปลูกาแฟขึ้นไปบนพื้นที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีการขยับขึ้นไปปลูกในพื้นที่ระดับ 1,200-2,200 ฟุต จากระดับน้ำทะเล ระดับที่ต่ำกว่านี้กลายเป็นว่าปลูกกาแฟอาราบิกาให้ได้ผลผลิตดี เป็นเรื่องยากเสียแล้ว หากอยากได้ผลผลิตที่ดีเกษตรกรชาวไร่กาแฟต้องเขยิบขึ้นสูงไปอีก
สำหรับการปลูกกาแฟอาราบิกา ผมต้องอธิบายเพิ่มเติมอีกนิดว่า การทำไร่กาแฟโดยเฉพาะกาแฟอาราบิกาไม่เหมือนทำไร่ข้าวโพด หรือไร่อ้อยแบบนั้นนะครับ กาแฟเป็นพืชที่ต้องอาศัยร่มไม้ใหญ่ในการเติบโต ต้องมีการออกแบบหน้าดินเพื่อกันการกัดเซาะด้วย หลายที่มีการคิดค้นการทำปลูกแบบขึ้นบันได แทรกไปตามป่า หรือการเว้นระยะห่างการปลูกต้นกาแฟเพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ง่าย เก็บเกี่ยง่าย ขณะเดียวกันหากเป็นเกษตรกรที่อยากขายได้ราคาดี ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับระบบนิเวศน์โดยรอบด้วย
การปลูกกาแฟอาราบิกาที่ดีได้นั้น สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ ความสมบูรณ์ของป่าและธรรมชาติก็ต้องเป็นใจให้ต้นกาแฟเหล่านี้เติบโตเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ความยากคือทั้งหมดที่ว่ามา ต้องอาศัยการบริหารจัดการและองค์ความรู้ไม่น้อยกว่าที่จะทำให้การปลูกกาแฟนั้นยั่งยืนและมีการจัดการที่ไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมโยรอบนั้น ไม่ได้ง่ายอย่างที่เรานึกภาพว่าก็แค่เอาต้นกาแฟใหม่ไปปักชำ
ผมเคยไปดูงานของมูลนิธิดอยตุงที่ทำงานร่วมกับ Coffee Hunter ผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมกาแฟมานาน นั่นคือ คุณโจเซ่ ยูเซกิ คาวาชิม่า เป็นผู้วางรากฐานการทำเกษตรกรรมให้กับเกษตรกรทั้งในจาเมกา อินโดนีเซีย และฮาวาย รวมถึงดอยตุง ประเทศไทย การได้เจอคุณโจเซ่และไปดู ‘หลังบ้าน’ ของไร่เครือข่ายของกาแฟดอยตุงพบว่ามันมีรายละเอียดมากมายเหลือเกิน ทั้งการวางแนวการปลูกตามต้นไม้ใหญ่ การดูคุณภาพของดินว่าจะให้รสชาติของเมล็ดกาแฟสามารถเป็นผลิตภัณฑ์ที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI=Geographical Indications) ได้ไหม วางแนวการปลูกอย่างไรเพื่อกะระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวได้และง่ายต่อการบำรุงรักษา ไหนจะการดูแลเรื่องโรคต่างๆ ที่จะมากับการนำพืชใหม่ๆ เข้าไปปลูกในพื้นที่ เหล่านี้ต้องใช้องค์ความรู้และสรรพกำลังมากมายอยู่ไม่น้อยในการวางแผนการทำงานและการจัดการเพื่อให้สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน ระหว่างทางยังต้องใช้ความอดทนอีกมากกับการรอให้ต้นกาแฟโตพอที่จะให้ผลผลิต นั่นหมายถึงแรงงานจำนวนมากอาจต้องปลูกพืชอื่นๆ ทดแทนหรือประกอบอาชีพอื่นระหว่างรอเก็บเกี่ยว ฯลฯ การย้ายที่ปลูกไปอยู่ในพื้นที่ๆ สูงขึ้น ซึ่งระบบนิเวศมีความอ่อนไหวกว่าด้านล่างสร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่ มากกว่าแค่ว่า ‘เขยิบ’ ขึ้นไปเท่านั้น
ถ้ายังจำกันได้ ประเทศไทยเราเคยประสบปัญหาเรื่องการทำไร่เลื่อนลอยอยู่พักหนึ่ง หลังจากที่ชาวเขาไม่รู้จะปลูกอะไรทดแทนฝิ่นที่โดนปราบปรามอย่างหนัก ก่อนที่โครงการหลวงจะได้กาแฟมาเป็นพระเอก
ตอนนี้เราต้องคิดกันต่อว่า การปลูกกาแฟในอนาคตอันใกล้อาจสร้างปัญหาแบบไร่เลื่อนลอยอีกหนแม้จะไม่ใช่แบบเดิม แต่ปัญหานั้นซับซ้อนกว่า ผลกระทบในระยะยาวก็เจ็บปวดไม่แพ้กัน
ในแวดวงกาแฟมีการพูดกันเล่นๆ ว่าอีกไม่นานราคาเมล็ดกาแฟอาราบิกา น่าจะถีบตัวสูงขึ้นกระทั่งคนทั่วไปหาซื้อดื่มกันยาก ซึ่งตอนนี้ก็มีความพยายามจะเพาะกาแฟจากห้องทดลองแทนจะปลูกจริงๆ ตามธรรมชาติ
เรื่องนี้เดี๋ยวคราวหน้าผมจะมาเล่าให้ฟัง