ในดินแดนแห่งความจริงทุกอย่างเปลี่ยนผัน
และโชคชะตากับคนเรา ไม่เคยได้คุยกัน
มันไม่ยอมบอกให้ใครรู้ก่อน ว่าจะเสียอะไรไปเมื่อไร
อย่างวันนั้น ฉันไม่รู้จริงๆ ว่ามันจะเป็นวันสุดท้ายที่ได้เจอกัน
เธอกับฉัน จะไม่ได้พบกันต่อไป
ถ้าหากเพียงได้รู้ว่ามันจะเป็นครั้งสุดท้าย
ฉันก็คงทำได้ดีกว่าแค่พูดทักทาย
แต่เพราะฉันไม่รู้ ความรู้สึกที่ควรจะอยู่ในประโยคสุดท้าย
เธอไม่เคยได้ยิน1
ความรู้สึกเสียดายต่อสิ่งที่ไม่เคยพูดไปในประโยคสุดท้าย วันสุดท้าย ไม่ได้ปรากฏแค่ในบทเพลงรัก หากเป็นหนึ่งในความสนใจทางด้านจิตวิทยาว่าทำไมนะ ทำไม ทำไมความรู้สึกเสียดายถึงมีพลังนักหนา ทำไมคำว่า “ถ้าหากได้รู้…” “ถ้าหากได้ทำ…” “ถ้าหากได้บอกออกไป…” ถ้า-ถ้า-ถ้า คำที่แสดงให้เห็นว่า ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ กลับไม่ช่วยอะไร มีแต่ยิ่งเสียดายมากขึ้นทุกที
ความรู้สึกเสียดายไม่ใช่เรื่องที่คิดไปเอง หากมีผลการศึกษามากมายแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะอยู่ในวัฒนธรรมไหน ศาสนาใด เชื้อชาติอะไร ความรู้สึกเสียดายมีความเป็นสากล และคนเรามักจะเสียดายกับสิ่งที่ไม่ได้ทำมากที่สุด
นี่ไม่ใช่การค้นพบใหม่เลย เราต่างได้ยินประโยคที่ว่า “เสียดายที่ไม่ได้ทำ” อยู่เสมอ คำถามคือเพราะอะไรกัน ทำไมเราถึงยังไม่ลงมือทำ
หรือจะเปลี่ยนคำถามใหม่ — แล้วจะทำอย่างไร เราถึงจะลงมือทำในสิ่งที่เราอยากทำเสียที
ซอนญ่า (Sonja Lyubomirsky) อาจารย์ภาควิชาจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียผู้ที่ไม่ได้แค่สอน หากชอบทดลองวิธีการใหม่ๆ ว่าในแต่ละวันผู้คนจะสามารถใช้ชีวิตให้มีความสุขมากขึ้นได้อย่างไร ด้วยวิธีการง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกิจวัตรบางอย่างจนติดเป็นนิสัย เช่น การหายใจห้านาทีระหว่างวัน หรือแม้กระทั่งการ ‘จำลอง’ ว่านี่อาจเป็นเดือนสุดท้าย สัปดาห์สุดท้าย หรือวันสุดท้ายของคุณในการอยู่ในเมืองนี้ ที่ทำงานนี้ หรือกับคนคนนี้
ซอนญ่าทดลองเทคนิคนี้กับกลุ่มตัวอย่าง 140 คน โดยให้จินตนาการถึงสถานการณ์บางอย่างราวกับว่าจะนี่เป็นครั้งสุดท้าย (as if it’s the last…) และให้ผู้ทดลองจดบันทึกว่าในแต่ละวันพวกเขาทำอะไร และรู้สึกว่ามีอะไรต่างไปจากเดิม2
สมมติฐานข้อหนึ่งคือผู้คนจะรู้สึกหดหู่กับการรับรู้ว่านี่อาจเป็นครั้งสุดท้าย แต่ผลการทดลองปรากฏว่าพวกเขากลับมีความสุขมากขึ้นในช่วงเวลา ‘สุดท้าย’ นั้น เพราะได้ใช้เวลาอย่างเต็มที่ในกิจกรรมที่อยากทำมานาน และหลายคนเลือกใช้เวลาอยู่กับครอบครัว เพื่อน คนรัก รวมถึงคนสำคัญทั้งหลายในชีวิต
เมื่อคุณมองชีวิตใหม่และคิดว่านี่อาจเป็นครั้งสุดท้ายของชีวิตที่จะได้ทำสิ่งเหล่านี้ อยู่ตรงนี้ มันทำให้คุณชื่นชมสิ่งที่มีอยู่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว คนรัก งาน หรือเพื่อนบ้าน
เหนือสิ่งอื่นใด มันคือการได้ใช้เวลากับคนที่สำคัญกับคุณจริงๆ ได้ทำในสิ่งที่อยากทำจริงๆ ได้รู้สึกดื่มด่ำกับประสบการณ์หรือกับคนตรงหน้าอย่างเต็มที่
ในทางตรงกันข้าม หากผู้ทดลองมองว่าทุกสิ่งล้วนไร้ความหมายในการจะพยายามใดๆ ต่อไป ปล่อยให้เวลาผ่านเลยจนวันสุดท้ายมาถึง นอกจากจะทำให้ความโศกเศร้าในช่วงเวลานั้นถาโถมหนักขึ้น ยังดูจะเร่งวันสุดท้ายให้มาถึงเร็วขึ้นด้วย
ไม่ใช่ความรับรู้ว่าจะต้องตายจากไปหรอกที่ส่งผลต่อความเศร้า แต่คือการยอมพ่ายแพ้ต่อชีวิตและความหมดใจในการมีชีวิตต่อไปต่างหากที่ทำให้จิตใจนั้นแย่ลง
จอห์น ลีช (John Leach) นักวิจัยด้านประสาทวิทยาค้นพบว่าความรู้สึกยอมแพ้หมดหวัง ส่งผลต่อการทำงานของสมองในส่วน frontal-subcortical circuits ที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งเมื่อส่วนนี้ทำงานผิดปกติหรือขาดแรงจูงใจต่อชีวิต สมองก็จะหลั่งโดปามีน—สารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่สร้างความรู้สึกพอใจ—ในระดับที่ลดลงเช่นกัน3
วันเวลาที่ดีๆ เมื่อเกิดขึ้นซ้ำๆ
มันก็ทำให้เราลืมว่าต้องจบลงสักวัน
ทั้งที่มีโอกาสทำทุกอย่าง ที่ใจคิดตั้งมากมาย
แต่ว่าฉันก็ไม่เคยได้ทำ เพราะคิดว่าทำมันเมื่อไรก็ได้…
ล่วงเข้าเดือนสุดท้ายของปีแล้ว จริงอยู่ที่ปีหน้าฟ้าใหม่ย่อมมาถึง ปีหน้าที่เราก็จะตั้งเป้าหมายชีวิตกันอีกครั้ง มีความปรารถนา ความฝันใหม่ๆ ให้วิ่งตาม แต่ถ้าจะปล่อยเดือนสุดท้ายนี้ให้ผ่านไป ยอมจำนนกับมันเพราะคิดว่ามันก็เป็นแค่เดือนสุดท้ายของปี ป่วยการ ไร้ความหมายที่จะพยายามในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เราก็อาจสูญเสียโอกาสในการใช้ชีวิตในช่วงนี้ให้เต็มที่
เพราะแม้ว่าจะเป็นเดือนสุดท้ายของปี แต่เราไม่มีวันรู้หรอกว่าชีวิตจะมีเดือนใหม่ให้ได้ใช้จริงๆ หรือไม่
ท่ามกลางความไม่รู้ ความไม่แน่นอนมากมาย สิ่งเดียวที่ทำได้ในตอนนี้ ที่นี่ กับคนตรงหน้านี้ คือทำสิ่งดีๆ ทุกสิ่งที่อยากทำ รักเท่าที่อยากรัก ราวกับว่าวันนี้เป็นวันสุดท้าย
อ้างอิง:
- 1เนื้อเพลง ครั้งสุดท้าย โดย ‘แสตมป์’ – อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข
- 2บันทึกการบรรยาย ‘The How of Happiness with Sonja Lyubomirsky’ ของ Sonja ในงาน Happiness and Its Causes (2016)
- 3บทความ ‘People can die from giving up the fight’ โดย Press Office of University of Portsmouth’ (Sep 27, 2018)