Attraction as A Present

‘Attraction as A Present’ ค้นพบข้อความสำคัญในทุกความสัมพันธ์

“มนุษย์ไม่ได้กลัวความทุกข์ มนุษย์แค่กลัวความทุกข์ที่ไร้ความหมาย”

        วิกเตอร์ อี. แฟรงเคิล (Viktor E. Frankl) เขียนไว้ในหนังสือ Man’s Search for Meaning1 บันทึกความทรงจำว่าด้วยความหมายของชีวิตในวันเผชิญหน้ากับความตายในค่ายกักกันนาซี

        วิกเตอร์เล่าถึงความกลัว ความทรมานทั้งกายใจที่เห็นผู้คนมากมายทั้งคนไม่รู้จักและคนรักถูกทรมานจนถึงแก่ความตาย และไม่รู้ว่าวันสุดท้ายของตัวเองจะมาถึงเมื่อไหร่ ในช่วงเวลาตกต่ำที่สุดเช่นนั้น วิกเตอร์พบว่ามันไม่ใช่ความหวังที่ทำให้มนุษย์อยู่ต่อไปได้ หากคือการค้นพบความหมายที่ทำให้มนุษย์สามารถผ่านคืนวันโหดร้ายและเติบโตทางจิตวิญญาณภายใน

        การค้นพบของวิกเตอร์ที่ไม่ได้เป็นเพียงบทเรียนชีวิต หากยังเป็นบทเรียนแห่งความรักเช่นกัน เมื่อว่ากันตามจริงแล้วเราไม่ได้กลัวที่จะผิดหวัง ทุกข์ทรมาน อกหัก เราเพียงกลัวว่าทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นมันจะสูญเปล่า

        ‘พี่ณัฐ’ – ณัฐฬส วังวิญญู เล่าถึงหนังสือของวิกเตอร์และชวนให้เราเปลี่ยนคำถามใหม่ว่าทำอย่างไรจะมีสุข ไร้ทุกข์ เป็นทำอย่างไรเราถึงจะค้นพบความหมายของการมีชีวิตและมีความรักได้

 

Attraction as A Present

“เราจะเปลี่ยนคนรักให้เป็นครูได้อย่างไร”

        พี่ณัฐตั้งคำถามในวงกิจกรรม Attraction As A Present2 พร้อมชวนให้ผู้เข้าร่วมจับคู่กับคนที่รู้สึก ‘ดึงดูด’ ที่สุด อาจเป็นท่าทาง กิริยาอะไรบางอย่างของคนนั้นที่ช่างถูกชะตา ลองค้นหาดูว่าอะไรเกี่ยวกับเขาที่ทำให้เรารู้สึกเช่นนี้

        แรงดึงดูดที่ไม่ใช่เพียงสัญญาณทางกายภาพ หากมีข้อความบางอย่างซ่อนอยู่เสมอ พี่ณัฐชวนเราสำรวจตรวจใจดูว่าอะไรในตัวคนคนนี้ที่ทำให้เรารู้สึกสั่นไหว ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งความรู้สึกดีหรือหวั่นเกรง ไม่เป็นตัวของตัวเองเมื่ออยู่ใกล้กัน

 

Attraction as A Present

“ความสัมพันธ์เป็นช่องทางที่โลกใช้สื่อสารกับเรา”

        อาจเป็นความสัมพันธ์ที่เราอยากมีแต่มีไม่ได้ หรือจะเป็นความสัมพันธ์ที่มีอยู่แต่ไม่รู้สึกอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน ความสัมพันธ์กับโลกภายนอกล้วนสะท้อนโลกภายในที่เราเป็นทั้งนั้น

        บางคนดีต่อเราเหลือเกิน แต่ยิ่งใกล้เรายิ่งผลักไส มีม่านหมอกความไม่ไว้ใจบางอย่าง ความเชื่อลึกๆ ที่สะสมมาว่าไม่มีหรอกรักที่มีอยู่จริง เดี๋ยวก็ทิ้งกันไป – ความเชื่อลึกๆ ที่อยู่ข้างในใจเรา ที่ไปผลักไสความสัมพันธ์ที่เข้ามา ไม่ได้แปลว่าเขาไม่ดี เราแค่ไม่มีศรัทธาว่ารักจะดีได้ถึงเพียงนั้น

        หรือบางคนที่บอกตัวเองซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า อย่า อย่าตกหลุมรักคนแบบนี้ แต่เจอทีไรก็เอาตัวเองเข้าไปพัวพันซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกที ลองถามตัวเองดีๆ ว่าเราชอบคนลักษณะนี้จริงๆ หรือเพียงเพราะเขามีคุณลักษณะบางอย่างที่เราต้องการ คุณลักษณะบางอย่างที่ขาดหายไปในใจเราเอง

 

Attraction as A Present

“มองดูให้ดี ทุกคนล้วนเป็นเมสเซนเจอร์ ผู้ส่งผ่านข้อความ นำสารบางอย่างมาให้เรา”

        ในวันที่คร่ำครวญ ทุกข์ล้นหัวใจว่าชีวิตนี้ไม่มีทางขาดคนคนนี้ได้ ลองถามตัวเองใหม่ ถามตัวเองให้ชัดว่ามันคืออะไรเกี่ยวกับคนคนนี้ที่ทำให้เรารู้สึกเว้าแหว่ง ขาดพร่องกับตัวเองได้ขนาดนั้น

        มันคือความอิสระ ซื่อสัตย์ต่อตนเอง มั่นอกมั่นใจของเขา ในวันที่เราหวาดกลัว ไม่ยอมเผยตัวตนที่เราเป็นให้โลกรู้ หรือมันคือความร่าเริง มีชีวิตชีวาของเขาที่บอกกับเราว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะปล่อยให้เด็กน้อยข้างในของเราได้ออกมาโลดแล่นบ้าง

        หากรักใคร รู้สึกกับใครจนหมดใจ ลองดูสักครั้ง ลองมองให้ลึกข้ามผ่านกำแพงกายภาพที่อาจบดบังข้อความที่ซ่อนอยู่ สำรวจตรวจดูว่ามันคืออะไรเกี่ยวกับคนคนนี้ที่ทำให้เราโหยหา รู้สึกว่าถ้าชีวิตมีเขานั้นคงดีหรือชีวิตนี้ขาดเขาไม่ได้…

        เปลี่ยนความทุกข์ทุรนทุรายจากความสัมพันธ์ที่ไม่สมหวังให้เป็นพลังนำเรากลับมาทำความรู้จักตัวเราเอง ข้อความที่เขานำมาให้ ทำให้ทุกความสัมพันธ์มีความหมายและกลายเป็นของขวัญ ไม่ว่าสุดท้ายแล้วจะได้รักกันหรือเพียงพบเพื่อผ่านกันไป

 

Attraction as A Present

 

        เมื่อทุกความสัมพันธ์เป็นดั่งของขวัญ ความรักจึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัวต้องระมัดระวังอะไร หากใครทำให้รู้สึกวาบ หวิว โหวง สั่นไหว ก็แค่ศิโรราบ ยินยอม รู้สึกรักก็เพียงรักไป น้อมตัวสำรวจข้อความที่เขานำมาให้ ข้อความที่ทำให้เห็นความจริงได้ว่า สิ่งใดที่เราหลงรักในเขา เราล้วนมีความสามารถในการบ่มเพาะสิ่งนั้นให้เติบโตในตัวเราได้เช่นกัน

        ในแง่นี้นั้น

         ทุกความสัมพันธ์จึงเปี่ยมด้วยความหมาย

         สมบูรณ์ในการได้พบเจอ

 

“ความรักเป็นหนทางเดียวในการเข้าถึงส่วนลึกที่สุดของชีวิต ไม่มีใครสามารถรับรู้ถึงแก่นแท้ชีวิตมนุษย์อีกคนได้หากเราไม่รักเขาหรือเธอผู้นั้น ความรักเท่านั้นที่จะทำให้เราเห็นคุณค่าของคนที่เรารัก และได้เห็นคุณค่าของเราเองเช่นกัน”

– วิกเตอร์ อี. ฟรังเคิล 

 


อ้างอิง:

  • 1หนังสือ Man’s Search for Meaning  เขียนโดย Viktor E. Frankl พิมพ์ครั้งแรกในปี 1946
  • 2หนึ่งในกิจกรรมของงาน Sacred Mountain Festival

ขอบคุณภาพจาก: วรนุช สุขแสง