การเติบโต

ความหมายที่แท้จริงของการ ‘เติบโต’ ในหน้าที่การงาน

“คนมักลืมว่างานทำให้เราเติบโตได้นะ ไม่ได้หมายถึงตำแหน่งหน้าที่ แต่หมายถึงข้างในเรา”

     ประโยคที่ วีรพร นิติประภา กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับ จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ ประโยคที่เขาไม่ปล่อยให้มันเป็นเพียงหนึ่งในบันทึกบทสัมภาษณ์ ประโยคที่สื่อสารใจความสำคัญบางอย่างจนต้องนำมาขยายความในคำนำหนังสือ Between Hello and Goodbye ครู่บทสนทนา ของเขา ประโยคที่ทำให้เขานึกถึงงานตลอดสิบปีที่ผ่านมาที่ได้ออกไปสัมภาษณ์ผู้คนมากหน้าหลายตา

     จริงอยู่ที่ในวันนี้ จิรเดช ผู้เขียนดูจะเติบโตในหน้าที่การงาน จากเด็กจบใหม่ในกองบรรณาธิการ กลายมาเป็นบรรณาธิการบริหาร a day ในปัจจุบัน หากเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลง ความหมายของ ‘การเติบโตในหน้าที่การงาน’ (career growth) ดูจะต้องถูกนิยามใหม่ การเติบโตของเขาดูจะไม่ใช่การเก็บแต้มจำนวนคนที่ได้ไปสัมภาษณ์ หากมันคือการเติบโตระหว่างชั่วครู่บทสนทนา ที่หน้าที่การงานพาเขาไปพบเจอ

     รูธ ชาง (Ruth Chang) ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาเล่าไว้ในเท็ดทอล์ก How to make hard choices ของเธอว่า มันง่ายมากหากใครจะหน้าที่การงานของเธอในวันนี้แล้วคิดว่ามันเป็นเส้นทางสายตรง เธอคงชัดเจนกับตัวเองมากเหลือเกิน เธอคงไม่เคยเดินออกนอกเส้น ไม่เคยวอกแวกไปไหน ถึงได้เติบโตในหน้าที่การงานมากขนาดนั้น

     แต่เปล่าเลย รูธ เล่าให้ฟังถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในวันที่เธอตัดสินใจแต่งงาน การย้ายตามสามีไปอยู่อาศัยในต่างประเทศเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นในวันนั้น แต่แล้วมันกลับทำให้เธอหดหู่ใจ เมื่อหันไปมองรอบตัวแล้วเห็นว่าเธอค่อยๆ เดินถอยห่างวิชาชีพทนายความที่เธอพยายามเรียนรู้มาค่อนชีวิต

     จนวันหนึ่งที่เธอเกือบหลุดสติแตก ตกใจว่าตัวเองอาจกำลังเดินหลงทาง ไม่เดินหน้าไปไหนอยู่นั่นเอง เธอก็ค้นพบว่า แท้จริงแล้วเธอไม่ได้หยุดอยู่กับที่เลย การเปลี่ยนที่อยู่อาศัย เปลี่ยนวิถีชีวิต ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ก็เป็นการเติบโตครั้งใหญ่ของชีวิตเช่นกัน เพียงแค่มันไม่ใช่การเติบโตภายนอก ในสิ่งที่คำว่า ‘เติบโตในหน้าที่การงาน’ (career growth) มักหลอกให้เราเข้าใจ หากมันคือการ ‘เติบโต’ อย่างแท้จริง เติบโตจากภายในต่างหาก ที่เธอค้นพบว่าเป็นใจความสำคัญ

 

 

     ในโลกยุคปัจจุบัน ที่เราต่างอกสั่นขวัญแขวนกับคำว่า ‘disruption’ โลกของการทำงานก็เช่นกันที่กำลังเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ไม่ใช่แค่การเตือนว่าเทคโนโลยีจะมาแทนที่คนเท่านั้น หากยังรวมถึงลักษณะของงาน การเกิดขึ้นของงานใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน งานใหม่ที่ยังต้องอธิบายว่ามันคืออะไร จะวางแผน ‘career growth’ การเติบโตในที่ทำงาน ใช้อายุงานมาประเมินผลรายปีว่าเรากำลังก้าวไปอีกขั้น ได้อย่างไรกัน

     การทำงานเดียวไปตลอดชีวิต (one job for life) อาจเคยเป็นคุณสมบัติชั้นเลิศของคนทำงาน แต่ในยุคที่คนเปลี่ยนงานเร็วขึ้นเรื่อยๆ จาก 3 งานตลอดชีวิตโดยเฉลี่ยต่อคนในปี 2000 กลายเป็น 10 งานต่อคนในปี 2014 และ 15 งานต่อคนในปี 20141 รูธ พาเรานิยามคำว่า ‘การเปลี่ยนแปลง’ ใหม่ว่าไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หากคือโอกาสในการเรียนรู้ เติบโตต่างหาก และคุณสมบัติที่ดีของคนทำงานก็ไม่ใช่การทู่ซี้อดทนในหน้าที่การงานอย่างเดียวต่อไป หากมันคือความไม่ทนในเรื่องไม่เป็นเรื่อง พร้อมปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ปรับตัว เรียนรู้ตลอดเวลาต่างหาก ที่เป็นลักษณะที่ควรมี

 

     แต่…

     ในวันที่หุ่นยนต์เรียนรู้ได้ดี เรียนรู้ได้เร็ว การเรียนรู้เพียงเพื่อฟังก์ชั่นใช้งาน เพียงเพื่อให้รอดไปวันๆ มนุษย์คงไม่ต่างอะไรจากหุ่นยนต์ สก็อต ซานเทนส์* นักเขียน นักจิตวิทยา นักฟิสิกส์ ได้ตั้งคำถามที่สำคัญเอาไว้ว่า ในวันที่หุ่นยนต์เรียนรู้ได้ดีขึ้น (และเราช้าลง) อีกไม่นานคงทำงานได้ไม่ต่างจากเรา มนุษย์เราจะยังคงทำงานไปเพื่ออะไร

     สำหรับสก็อตเอง บทเรียนสำคัญจากการค้นพบเรื่องความสามารถในการเรียนรู้ของหุ่นยนต์นั้นไม่ใช่แค่เพื่อให้เราตื่นเต้นกับวิวัฒนาการ หรือตื่นตูมกลัวว่าจะสูญเสียงานไป หากคือการกลับค้นพบคำตอบว่า “งานนั้นเป็นเรื่องของเครื่องจักร ชีวิตนั้นเป็นเรื่องของมนุษย์” (jobs are for machines, and life is for the people)

 

     ในวันที่ใครต่อใครต่างบอกว่า ‘การเรียนรู้’ เป็นทักษะที่สำคัญในโลกของการทำงานยุคใหม่ เพื่อที่จะเติบโตอยู่รอดให้ได้ต่อไป ทั้งจิรเดช, รูธ และสก็อต พาเรากลับมาทบทวนอีกครั้ง ตั้งหลักใหม่ ในวันที่อาจเผลอเปรียบเทียบ สงสัยว่าเรากำลัง ‘เติบโต’ ในหน้าที่การงานหรือเปล่า ในโลกที่วิ่งเร็วเหลือเกิน จนเผลอถอดใจว่านี่เราวิ่งช้าไปไหม ทั้งสามได้พาเราตั้งคำถามใหม่ว่า ความหมายของการ ‘เติบโต’ ในหน้าที่การงานที่แท้นั้นคืออะไร

     “คนมักลืมว่างานทำให้เราเติบโตได้นะ ไม่ได้หมายถึงตำแหน่งหน้าที่ แต่หมายถึงข้างในเรา”

     ในขณะที่กำลังทบทวนตั้งคำถามใหม่ ประโยคดังกล่าวก็ดังขึ้นมาอีกครั้ง หรือแท้ที่จริงความหมายของการเติบโตนั้นมันไม่ใช่ตำแหน่งหน้าที่การงาน หากคือการบ่มเพาะความหมายของชีวิตให้เติบโตไปกับงานที่ทำ

 


อ้างอิง: *Santens, Scott. (2016). “Deep Learning Is Going to Teach Us All the Lesson of Our Lives: Jobs Are for Machines” Retrieved from http://bit.ly/2ZifWQM