Damage Joy

‘Damage Joy’ ความรุนแรงยุติได้หากเรากรีดร้องออกไป – ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป

(1)

เขาหยิบไม้หนีบผ้ามาหนีบเธอทีละจุด เริ่มจากหัวไหล่นั่นคงไม่เจ็บเท่าไร หนีบผิวหนังชั้นบนของเธอไล่มาเรื่อยๆ ถึงเอวบางๆ นั่นน่าจะเจ็บพอใช้ ไล่ต่อลงมาถึงผิวหนังเหนือสะบ้า แล้วย้อนขึ้นกลับไปหนีบหนังหน้าเธอ แก้ม ริมฝีปาก จมูก เอาละ นั่นคงเจ็บน่าดู

 

Damage Joy

 

        คนดูบางส่วนเริ่มขยับให้หยุด คนดูบางส่วนยังคงดูต่อไป บ้างมีรอยยิ้มมุมปาก บ้างขำออกมาตามท่าทางเกินธรรมชาติ

        เขาดึงเชือกขึ้นมา ค่อยๆ ฟาดเธอทีละนิด น้ำหนักที่ฟาดลงไปค่อยๆ แรงขึ้น เธอบิดซ้ายบิดขวา กระโดดสะดีดสะดิ้งไปมา จังหวะเสียงเพลงที่ค่อยๆ ดังขึ้นเรื่อยๆ ฉากการแสดงแฟนตาซีที่เริ่มดูไม่ออกว่านี่เจ็บจริงหรือแสร้งทำ เป็นส่วนหนึ่งของการแสดง

        หากจะจริงหรือแสร้งไม่ใช่ใจความสำคัญ ใจความสำคัญอยู่ที่ธงในมือที่ถืออยู่ ธงในมือที่ได้รับมาก่อนเริ่มต้นการแสดง เครื่องมือเดียวที่มี ที่คนดูสามารถหยิบขึ้นมาโบกเมื่อไรก็ได้ เมื่อเห็นว่าความรุนแรงนั้นมากเกินไป และควรหยุดลงเสียที

        ก็แค่โบกธง ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลยที่จะทำ ก็แค่สะบัดมือไปมาอย่างนั้น แต่ความยากไม่ใช่การโบกธงหรอก หากคือการโบกโดยไม่คิด โบกโดยไม่สนใจคนรอบข้าง โบกตามสัญชาตญาณว่านี่มันมากเกินไป ไม่ปล่อยความอยากรู้ครอบงำ อยากดูว่าฉากต่อไปจะโหดแค่ไหน ซาดิสม์เพียงใด นักแสดงจะเบ้ปากบิดเบี้ยวมากขึ้นไหม หากคนดูยังไม่ยอมให้สิ้นสุดลง

 

(2)

        “หลังเหตุการณ์ที่สี่แยกราชประสงค์เดือนพฤษภาปี 2553 เรารู้สึกว่าความรุนแรงในบ้านเมืองเราค่อนข้างสูง จำได้ว่าเพื่อนๆ คนที่อยู่รอบตัวเราจะรู้สึกหงุดหงิดกับคนที่กำลังประท้วง เพราะทำให้การเดินทางไม่สะดวก และความหงุดหงิดนี้นำไปสู่คำพูดว่า ‘อยากให้พวกมันตาย’ จำไม่ได้ว่าใครพูด แต่จำความรู้สึกได้คือตกใจ มนุษย์สามารถพูดแบบนี้ต่อมนุษย์ได้ เรารู้สึกว่ามันแรงมาก ทำให้สงสัยว่าเรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง ความรู้สึกว่าเราพร้อมจะรุนแรงต่ออีกคนหนึ่ง มันเริ่มต้นจากอะไร”1

 

Damage Joy

 

                นานา เดกิ้น ผู้กำกับการแสดงเล่าถึงที่มาที่ไปของ Damage Joy ที่จัดขึ้นครั้งแรกหลังเหตุการณ์ในประเทศไทย พ.ศ. 2553 จากความรู้สึกสับสน ไม่ใช่แค่ต่อสถานการณ์ หากรวมถึงท่าทีของผู้คนในสังคม ที่ทั้งความมีส่วนร่วมอย่างถึงที่สุด และความอดทนอดกลั้น ไม่แยแสอย่างถึงที่สุดล้วนส่งผลต่อสภาวการณ์ในช่วงนั้น

        Damage Joy กลับมาอีกครั้งในงาน BIPAM 2019: EYES OPEN การประชุมนานาชาติทางศิลปะการแสดงแห่งกรุงเทพฯ วันที่ 16-20 ตุลาคมที่ผ่านมา เก้าปีหลังจากการแสดงครั้งแรกผ่านไป เก้าปีหลังจากเหตุการณ์เมื่อปี 2553 การแสดงฉากเดิมยังดำเนินต่อไป หากความรู้สึกต่อการแสดงที่เกิดขึ้นเริ่มหายกลายเป็นความเคยชิน

        ความอดทนอดกลั้นเป็นยอดดี ความสับสนต่อสิ่งที่ถูกพร่ำสอนมาแบบนี้ ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นการแสดง ที่ใจความสำคัญไม่ได้อยู่ (แค่) เนื้อหา หากรวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นโดยรอบบริเวณนั้น ทั้งการกระทำ (action) และไม่กระทำ (non-action) ของผู้ชมที่ส่งผลต่อการแสดงที่ดำเนินไป ผ่านอุปกรณ์อย่าง ‘ธง’ ที่ถูกแจกจ่ายให้กับผู้ชมก่อนการแสดงเริ่มต้น ด้วยกฎข้อเดียวที่ว่า การแสดงจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อทุกคนโบกธงในมือของแต่ละคนพร้อมกัน – เท่านั้น – ไม่เช่นนั้นแล้ว การแสดงนั้นจะดำเนินต่อไป ไม่ว่าฉากนั้นจะตลกร้ายเพียงใดก็ตาม

 

(3)

        ห้องแสดงสี่เหลี่ยมมืดเกือบสนิท ไร้เวทีขอบกั้นระหว่างพื้นที่แสดงและผู้ชมที่ถูกจัดให้นั่งรายล้อมขนาบข้างลานตรงกลางที่มีข้าวของวางกระจัดกระจายอยู่ ดนตรีเริ่มบรรเลง นักแสดงสี่คนในเสื้อผ้าสีสันสดใสกระโดดโลดเต้นเข้ามาในฉาก ยิ้มหัวเราะร่าทักทาย เต้นกระโดดกอดคอกันเป็นจังหวะ จนกระทั่งมีสิ่งแปลกปลอมบางอย่างเข้ามา ดนตรีเริ่มเปลี่ยนไป ฉากไฟสีสดใสเริ่มกลายเป็นสีแดงเดือด เสียงหัวเราะกลายเป็นเสียงหวีดร้อง ความสับสนวุ่นวายอลหม่านปรากฏในท่าทางและแววตา

        ฉับ!

        ฉากเปลี่ยนไปกะทันหัน ราวกับมีผู้กำกับสั่งการ นักแสดงปัดกวาดข้าวของที่กระจัดกระจาย คว่ำโต๊ะที่หงายให้กลายเป็นโต๊ะน้ำชา ต่างฝ่ายต่างเสิร์ฟน้ำท่าให้กัน ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นในฉากที่ผ่านมา

        ฉากน้ำชาที่วนกลับมาซ้ำๆ ฉากเปลี่ยนผ่านที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนไป แก้วชาเดิม ต่างคนต่างนั่งที่เดิม ฉากที่ถูกตัดจบกะทันหัน หลังความอลหม่านที่เมื่อชาถูกจัดวาง ขนมถูกเสิร์ฟ นักแสดงจะนั่งอยู่ตรงนั้นปฏิบัติต่อกันราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น… หากในครั้งที่สอง ที่สาม ที่สี่ สายตาของเขาเริ่มเปลี่ยนไปอย่างปิดไม่มิดในขณะที่เสิร์ฟชาให้กัน แสร้งยิ้ม บ้างถึงขั้นปาดบิสกิตกับก้นตนเองก่อนเสิร์ฟลงในจานให้อีกคน

 

Damage Joy

 

        ผู้ชมเริ่มโบกธงประปรายให้กับการกระทำน่าขยะแขยงนั่น แต่สายไปแล้ว บิสกิตปาดร่องก้นนั้นถูกเสิร์ฟไปแล้ว วงน้ำชากลับมาแล้ว ไม่มีใครโบกธงในขณะที่พิธีกรรมกำลังดำเนินไปในวงน้ำชา เสียงเพลงที่ผ่อนลง วงน้ำชาที่ดูสงบทำให้เราลืมไปว่าวงน้ำชานั่นแหละคือจุดเริ่มต้นก่อนความรุนแรงในช่วงต่อไปกำลังจะเกิดขึ้น

        เรารู้ เราเห็นแพตเทิร์นซ้ำๆ ซากๆ แต่มันง่ายเหลือเกินที่จะลืมไปว่าเรามีธงในมืออยู่ ลืมว่าเราสามารถโบกธงให้ยุติการแสดงได้ตั้งแต่ตอนนั้น ตอนที่เสียงเพลงนิ่งเงียบ ไม่มีฉากรุนแรง ราวกับทุกอย่างอยู่ในความสงบ ก่อนที่ความรุนแรงจะปะทุขึ้นอีกครั้ง ก่อนที่เราจะหลงเพลินไปกับฉากการแสดงนั่นจนลืมโบกธง หลงอยากรู้ว่าการแสดงจะหนักขึ้นอีกไหม จะมีฉากน่าตื่นตาตื่นใจอะไรอีก จะรุนแรงกว่านี้ได้มากถึงเท่าไหร่

        หรือมัวแต่หันซ้ายหันขวา สอดส่องพฤติกรรมคนรอบข้างว่ามีใครโบกธงหรือไม่ สนใจรอบข้าง สนใจทุกอย่าง มากกว่าจะใส่ใจธงในมือ – เครื่องมือและบทบาทเดียวที่เรามี

 

(4)

        นิยาย Making History2 ของสตีเฟน ฟราย (Stephen Fry) เล่าถึงหนึ่งพล็อตคลาสสิกในการเริ่มด้วยคำถาม ‘what-if’ โดยใช้หนึ่งตัวละครสำคัญในประวัติศาสตร์ที่มีผู้ตั้งคำถามหลายคนว่า โลกจะเป็นอย่างไรหากไม่มีฮิตเลอร์ในวันนั้น ตัวละครสำคัญที่ถูกมองว่าเป็นผู้จุดชนวนสงครามโลกครั้งที่สองและโศกนาฏกรรมของมนุษยชาติ

        หากนักประวัติศาสตร์หลายคน หรือแม้กระทั่งสตีเฟนเอง ชี้ให้เห็นว่าต่อให้ไม่มีฮิตเลอร์ สงครามโลกก็มีเชื้อไฟที่พร้อมระเบิดอยู่ดี กับความขัดแย้งคั่งค้าง และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ใช่ ฮิตเลอร์เป็นตัวละครสำคัญ แต่ไม่ใช่ผู้เล่นคนเดียวในฉากประวัติศาสตร์นั้นที่ทำให้ความรุนแรงระเบิดขึ้นมา

        ไม่มีปัญหาใดที่เกิดขึ้นแยกส่วนด้วยตัวมันเอง

        การไม่หยุดของคนอื่นที่ส่งผลต่อเรา

        การไม่หยุดของเราที่ส่งผลต่อคนอื่นเช่นกัน

        เราต่างมองกันไปกันมา

        จนไม่มีใครทำอะไร

        ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นต่อไป       

        ทวีแรงขึ้นเอง

        แรงขึ้นอีก

        จนสุดท้าย

        เราต่างก็หัวเราะออกมา

 

        ผู้แสดงไม่ใช่ผู้ที่อยู่ตรงหน้าสี่คนนั่นหรอก

        มันคือพวกเราเองต่างหาก

        พวกเราที่นั่งดู หัวเราะร่า ไม่ทำอะไร

        ที่ยังคงปล่อยให้การแสดงตลกร้าย ‘Damage Joy’ ดำเนินต่อไป

        และขำฝืนๆ กับความขมขื่นๆ ไปกับมัน

 


อ้างอิง:

        1‘Damage Joy’ ละครที่ทดสอบว่าคุณตลกบนความเจ็บปวดคนอื่นได้แค่ไหน จุดเริ่มต้นจากพฤษภา 53 (ตุลาคม, 2562) เขียนโดย นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ จาก https://prachatai.com/journal/2019/10/84806

        2Fry, Stephen. (1996). Making History. London: Hutchinson.

        3ติดตามงานอื่นๆ ของกลุ่มบีฟลอร์ได้ทางเฟซบุ๊ก B-floor

เครดิตภาพภาพ: BACC และ BIPAM