เทย์เลอร์ สวิฟต์

เทย์เลอร์ สวิฟต์: “เลือกอยู่ข้างประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง”

“It keeps me awake, the look on your face, the moment you heard the news. You’re screaming inside, and frozen in time. You did all that you could do. The game was rigged. The ref got tricked. The wrong ones think they are right. You were outnumbered, this time.”

        —หน้าของคุณในชั่วขณะที่ได้ยินข่าวนั้นมันปลุกให้ฉันตื่น คุณกรีดร้องข้างใน ตัวแข็งยะเยือก ไม่รู้จะทำยังไงในเมื่อสิ่งที่ทำได้นั้นทำไปหมดแล้ว เกมพลิกไปหมด คนคดโกงคิดว่าพวกเขาถูกต้อง เราพ่ายแพ้ แต่ก็แค่ครั้งนี้เท่านั้นแหละ…

 

 

        Only The Young เพลงใหม่ล่าสุดของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ที่ใช้ประกอบ Miss Americana สารคดี Netflix บันทึกเรื่องราวชีวิตของเธอตั้งแต่วัยสิบสามจนถึงสามสิบ

        เทย์เลอร์เองคงไม่คิดว่าข้อความบนปกไดอารี่ “My life, my career, my dream, my reality” ที่เขียนในวันที่อายุสิบสาม ความปรารถนาที่จะให้ชีวิต อาชีพ ความฝัน และความจริงกลายเป็นสิ่งเดียวกันจะเกิดขึ้นได้ตามนั้นในวันที่เธออายุสามสิบ ร่วมยี่สิบปีของวันเวลาผ่าน เหตุการณ์เกินคาดเกิดขึ้นมากมายในชีวิต จะฟ้าลิขิตหรือไรก็ไม่รู้ หากสิ่งเดิมที่เธอยังทำอยู่คือเขียนเพลงต่อไปไม่ว่าสิ่งใดจะผ่านเข้ามา จะต่างกันไปก็เพียงแค่ว่าบทเพลงที่เธอเขียนนั้นไม่ใช่เรื่องราวเดิม

 

        “You know I adore you. I’m crazier for you than I was at sixteen…”

        ท่อนหนึ่งของเพลง Miss Americana & The Heartbreak Prince ที่เมื่อฟังเผินๆ อาจเหมือนว่าเป็นเพลงรักสไตล์เทย์เลอร์เดิมๆ หากประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาทำให้ใจเธอสั่นไหวกับเรื่องที่ต่างไป ‘You’ ที่ดึงความสนใจเธอในวันนี้กลับไม่ใช่ชายหนุ่มอีกต่อไป หากคือเหตุบ้านการณ์เมือง ความเป็นไปในสังคมของเธอ

        สารคดี Miss Americana เล่าถึงจุดเปลี่ยนระหว่างเส้นทางการเติบโตจากวันที่เธออายุสิบสามจนถึงสามสิบ จากเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่นิยามความสำเร็จว่าคือการได้รับเสียงปรบมือจากผู้คนรอบข้าง ต้องยืนยันตัวตนด้วยคุณค่าบางอย่าง ทั้งรูปร่าง รางวัล คำสรรเสริญ เยินยอ ต่อเมื่อเธอเป็นไปตามนิยาม ‘a nice girl’ ที่พวกเขากำหนดไว้

        แต่ไม่ว่าเธอจะพยายามเท่าไหร่ ก็ไม่มีทางทำให้ทุกคนรักได้อยู่ดี ความจริงข้อนี้ที่เธอเริ่มรับรู้ตั้งแต่วันที่ คานเย่ เวสต์ ดูถูกเธอบนเวที, ใครต่อใครที่เรียกเธอด้วยคำขึ้นต้นว่า “B****”, คอมเมนต์ต่างๆ นานาที่บอกว่าเธอนั้น ‘overrated’, ผู้คนสนใจว่าเธอเปลี่ยนคู่เดตบ่อยแค่ไหนมากกว่าเธอตั้งใจทำงานเพียงใด และฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เธอทนไม่ได้อีกต่อไปคือในวันที่เธอถูกลวนลาม แต่กลับถูกสังคมตั้งคำถามว่า “เธอปล่อยให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร” “ทำไมไม่ป้องกันตนเอง”…

        โชคยังดีที่ศาลตัดสินให้เธอชนะคดีการล่วงละเมิดครั้งนี้ ไม่มีใครรู้เลยว่าหากศาลผู้มีหน้าที่ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมเห็นผิดเป็นถูก โดนชักจูงจมูกด้วยผลประโยชน์บางอย่าง หากผลพลิกกลับเป็นเช่นนั้นระบบความเชื่อเธอจะพังพินาศเพียงใด โชคยังดีที่ความยุติธรรมยังมีในศาลยุติธรรมของอเมริกา แต่ถึงแม้ว่าเธอจะชนะคดีครั้งนี้ นี่ก็เป็นเหตุการณ์ในชีวิตที่ทำให้เธอหันมาเห็นความสำคัญของการพูดความจริงออกไป

 

‘Clean’ by Taylor Swift from Reputation Stadium Tour, 2018

 

        “Next time if there is an opportunity to change anything you’d better know what to say and what you stand for.” —ครั้งหน้าหากมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ คุณควรจะรู้ว่าต้องพูดอะไร และคุณค่าอะไรที่คุณพร้อมยืนหยัดปกป้อง

 

        เมื่อเจอกับตัวว่าการมีคนยืนหยัดกล้าพูดความจริงเพื่อต่อสู้กับผู้พยายามเปลี่ยนถูกเป็นผิดสำคัญเพียงใด หลังจากนั้นเป็นต้นมา เทย์เลอร์ก็เริ่มใช้เสียงของเธอในทางที่ต่างออกไป เปลี่ยนเรื่องที่สั่นสะเทือนในเธอให้ไปสั่นสะเทือนเคลื่อนไหวในเรื่องอื่นที่ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง

เทย์เลอร์ สวิฟต์

 

        “Don’t force your politics on people. Let people live their lives. That belief system is grilled into us. A nice girl doesn’t force their opinions on people. A nice girl smiles, and waves, and says thank you. A nice girl doesn’t make people feel uncomfortable with their views. I was so obsessed with not getting in troubles. I wouldn’t say anything that anyone could say anything about… I’m getting to the point when I can’t listen to people telling me to say out of this.”

        —อย่ายัดเยียดการเมืองใส่ผู้คน ปล่อยพวกเขาใช้ชีวิตของเขา ความเชื่อเช่นนั้นมันช่างหล่อหลอมเรา ผู้หญิงดีๆ ไม่ยัดความเห็นตัวเองใส่ผู้อื่น ผู้หญิงดีๆ ต้องยิ้ม โบกมือ กล่าวขอบคุณ ผู้หญิงดีๆ ไม่ทำให้คนอื่นรู้สึกอึดอัดว่าเธอคิดอย่างไร ฉันเคยหมกมุ่นกับการไม่เอาตัวเข้าไปเกี่ยวกับปัญหา ฉันจะไม่พูดอะไรให้ใครมาพูดสิ่งใดต่อได้ แต่มันมาถึงจุดที่ฉันทนฟังคนบอกให้เอาตัวออกห่างจากเรื่องนี้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

 

        เสียงที่เธอได้ยินมาตลอดว่า ‘a nice girl’ ควรทำตัวอย่างไร เป็นศิลปิน เป็นคนสาธารณะอย่ายัดเยียดความเห็นทางการเมืองให้ใคร ร้องเพลงรักไปน่ะดีแล้ว ไม่มีใครอยากฟังหรอกว่าเธอคิดเห็นทางการเมืองอย่างไร ผู้คนอยากฟังแค่เรื่องราวรักๆ เลิกๆ ของเธอเท่านั้นแหละ

        เสียงภายนอกที่ดังจนส่งผลต่อระบบความคิดของเธอ และเธอก็เชื่ออย่างนั้นอยู่นาน self-censor ตัวเองก็บ่อย จนกระทั่งช่วงเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐอเมริกาปี 2018 ที่เธอรู้สึกว่าจะปล่อยให้สถานการณ์เป็นอยู่โดยไม่ทำอะไรเลยไม่ได้อีกต่อไป เมื่อเทนเนสซี รัฐของเธอมีความเป็นไปได้ว่าจะได้ผู้แทนรัฐผู้หญิงที่ถูกแต่งตั้งโดยผู้ชาย ผู้แทนหญิงที่ไม่เห็นค่าความหลากหลาย ปัดตก protection act การคุ้มครองการละเมิดทางเพศ การแต่งงานของเพศเดียวกัน และอีกหลายการแสดงออกที่ขัดต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

 

        “I don’t care what they will write. I’m sad I had a chance two years ago and I didn’t do anything… I need to be on the right side of the history. If he didn’t win. At least, I try.” —ฉันไม่สนว่าใครจะว่าอย่างไร ฉันเสียใจที่มีโอกาสตั้งแต่เมื่อสองปีที่แล้ว (เลือกตั้งสหรัฐอเมริกาปี 2016) ที่จะทำอะไรสักอย่าง แต่ก็ไม่ได้ทำ ฉันจำเป็นต้องอยู่ข้างประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง และสุดท้ายไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร อย่างน้อยฉันก็ได้พยายาม”

 

        ความพยายามของเทย์เลอร์ในการใช้เสียงพูดเรื่องที่ต่างออกไปให้กับผู้ฟังกว่าร้อยล้านคนทั่วโลกที่ติดตามเธออยู่ แม้ใครต่อใครจะเตือนว่านั่นอาจส่งผลต่อชื่อเสียง หรือแม้แต่ความปลอดภัยของเธอเอง

        หากเทย์เลอร์ในวัยสามสิบ ไม่จำเป็นต้องได้รับเสียงปรบมือดังก้อง ชื่นชม เยินยอจากโลกภายนอกเพื่อจะพอใจกับตัวตนของเธออีกแล้ว ระหว่างทางการเติบโตที่ทำให้เธอรู้ว่า คนที่ไม่ชอบก็จะยังคงไม่ชอบเธอต่อไป สิ่งเดียวที่เธอทำได้และควรจะทำคือฟังเสียงข้างในของเธอเอง และเปล่งเสียงนั้นออกมาเพื่อสิ่งที่ใจเธอบอกว่านั่นคือเรื่องสำคัญ

 

เทย์เลอร์ สวิฟต์

 

        เทย์เลอร์ในวัยสามสิบปีที่ยังคงบอกข้อความเดิมที่เขียนไดอารี่บอกตัวเองในวัยสิบสามว่าให้ ‘Relax you’ve got this’ ผ่อนคลายซะ เธอทำได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เปลี่ยนไปตลอดกาล เมื่อเธอไม่จำเป็นต้องตามความคาดหวังของใครว่า ‘a nice girl’ ควรเป็นอย่างไร ในเมื่อเธอนิยามความหมายของคำนี้ด้วยปลายปากกาของเธอเอง เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกหรือไม่ รู้เพียงแต่ว่า ‘I need to be on the right side of history’ เธอต้องอยู่ข้างที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์ และนั่นไม่ได้หมายความว่าเธอต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อทำเช่นนั้น เธอยังคงสามารถชอบกลิตเตอร์ ทาเล็บสีชมพู แต่ในขณะเดียวกันก็ขับเคลื่อนสังคมได้เช่นกัน การทำงานเพื่อสังคมนั้นไม่ได้แปลว่าจะต้องสละความเป็นตัวเอง และการเป็นตัวของตัวเองก็ไม่ได้หมายความว่าต้องละทิ้งสังคมเช่นกัน

 

        “I can’t control what’s going to happen to me. I can only control what I write.” —ฉันไม่สามารถควบคุมสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ ฉันควบคุมได้เพียงสิ่งที่ฉันเขียนเท่านั้น

 

        ไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่เธอพยายามทำไปจะส่งผลหรือไม่ จะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ และแม้ความพยายามจะไม่เป็นผลสำเร็จในครั้งนั้นที่เธอพยายามเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งในรัฐของเธอ แต่อย่าได้สบประมาทพลังของความเชื่อมั่น ศรัทธา จำไว้ว่าครั้งหนึ่งเธอเคยเขียนบนปกไดอารี่ว่า “My life, my career, my dream, my reality” ความปรารถนาที่จะให้ความฝันและความจริงเป็นสิ่งเดียวกันที่อาจดูยากเย็นในวันนั้น แต่มันเป็นจริงได้หากเราเชื่อมั่นและมุ่งมั่นทำในสิ่งที่เชื่อต่อไปมากพอ

        และหากการเปลี่ยนแปลงอาจจะเกิดขึ้นช้าๆ จนหลายครั้งสั่นคลอนศรัทธาว่ามันจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ อย่างน้อยที่สุดก็ได้ตะโกนความจริงนั้นออกไป อย่างน้อยที่สุดเมื่อมองย้อนกลับมาจะบอกตัวเองได้โดยไม่เสียใจว่า เราได้เลือกยืนอยู่ข้างประวัติศาสตร์ด้านที่ถูกต้อง

        “But only the young… only the young… only the young can run. So run. And run. …They think that it’s over, but it’s just begun” —คนหนุ่มสาวเท่านั้นที่ไปต่อได้ ฉะนั้นจงไปต่อ ไปต่อซะ… พวกเขาคิดว่ามันจบลงแล้ว แต่มันแค่เพิ่งเริ่มเท่านั้นแหละ”