“ตอนที่หนูเกิดมา พ่อพูดอะไรกับหนูเป็นประโยคแรกรู้ไหม พ่ออุ้มหนูไปยืนริมหน้าต่างห้องพักในโรงพยาบาล มันสูงพอที่เราจะมองเห็นภาพมุมกว้างของเมือง พ่อกระซิบกับหนูว่า… ยินดีต้อนรับสู่โลกของเรานะลูก มันไม่ค่อยน่าอยู่นักหรอก แต่เราจำเป็นต้องมีศรัทธาว่าเราสามารถทำบางสิ่งบางอย่างให้ดีขึ้นได้”1
ความปรารถนาถึงโลกที่ดีกว่าน่าจะเป็นความหวังที่พ่อแม่ทุกคนล้วนมี และคงน่ายินดีไม่น้อยหากลูกของตนไม่เพียงรอคอยความหวัง แต่พยายามเป็นพลังและมีส่วนร่วมในการสร้างโลกที่ดีกว่า
ทว่าปัญหามันอาจอยู่ตรงนั้น ตรงที่เราต่างเกิดมาในโลกคนละเวลา คนละเหตุการณ์ จึงถูกหล่อหลอมให้เกิดความต้องการที่แตกต่าง และให้คุณค่าในสิ่งที่ไม่เหมือนกัน และติดอยู่ตรงที่ว่ามันอาจไม่ง่ายสักเท่าไหร่ เมื่อลูกที่เกิดมาเริ่มไม่พอใจและตั้งคำถามว่า ศรัทธาอย่างเดียวมันเพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้บางสิ่งบางอย่างดีขึ้นได้ อย่างที่พ่อเคยกระซิบบอกไว้ในวันที่เกิดมา
(1)
“ผู้นำฮ่องกงที่อ้างว่าไม่รู้สาเหตุที่ทำให้ความรุนแรงปะทุขึ้นแค่ต้องกลับไปส่องกระจกดูตนเองเท่านั้น—ความเพิกเฉย สนใจแต่ตนเองนั่นแหละคือรากของปัญหา”2
นี่คือคำตอบต่อคำถามของเจ้าหน้าที่ศาลระดับสูงในฮ่องกงผู้ร่วมตัดสินว่าแกนนำผู้เรียกร้องประชาธิปไตยมีความผิดข้อหาชุมนุมประท้วง และสร้างความเดือดร้อนน่ารำคาญในที่สาธารณะ3
ในครั้งนั้นเจ้าหน้าที่ศาลได้กล่าวว่า ไม่ทราบจริงๆ ว่าแรงจูงใจของผู้ชุมนุมประท้วงคืออะไร ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงโกรธกันขนาดนี้…
ไม่มีใครตอบได้ว่าเจ้าหน้าที่ศาลคนนั้นไม่ทราบจริงๆ หรือนั่นเป็นเพียงความเมินเฉย ไม่ใส่ใจ และยังมีคนอีกเท่าไหร่ที่เป็น ‘เจ้าหน้าที่ระดับสูง’ ที่อำนาจยังอยู่ในมือ แต่พวกเขากลับไม่เคยใส่ใจหรือเฉลียวใจบ้างเลยว่าความต้องการ ความไม่พอใจ ความปรารถนาของคนรุ่นใหม่นั้นคืออะไร
อย่างไรก็ตาม เริ่มมีการตั้งข้อสังเกตถึงลักษณะความขัดแย้งทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริหา สหราชอาณาจักร และฮ่องกง ว่ามีความคล้ายกันบางอย่าง ในแง่ที่ว่ามันเป็นการชักเย่อไปมาระหว่างโลกสองใบ—อำนาจเก่าและอำนาจใหม่—ที่มีเบบี้บูมเมอร์4อยู่ข้างหนึ่ง มิลเลนเนียลและเจนเนอเรชันซี (Gen-Z) อยู่อีกฝั่งของเชือกที่ดึงกันไปมา
(2)
“ผมแปลกใจที่ปรากฏการณ์ OK Boomer ในโลกโซเชียลมีเดียยังไม่กลายเป็นกระแสในฮ่องกง…”
‘OK, Boomer’ ปรากฏการณ์บนอินเทอร์เน็ตที่เริ่มจากเพลงของ Jedwill & Peter Kuli5 ที่เนื้อหามีการกล่าวถึงเบบี้บูมเมอร์ในสังคมอเมริกา กลายเป็นมีมที่ใช้แสดงอาการกรอกตาในสถานการณ์ที่ไม่เข้าใจ แต่พูดไปก็เท่านั้น—จึงทำได้เพียงตอบกลับไปว่า “OK, Boomer…”
“คนรุ่นใหม่ต่างได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจทั้งในอดีตและปัจจุบันของเบบี้บูมเมอร์—การตัดสินใจเหล่านั้นส่งผลต่ออนาคตของเรา เราต่างมีประสบการณ์นี้ร่วมกัน และเราสับสน ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป”6
‘OK, Boomer’ สะท้อนอารมณ์ของคนรุ่นใหม่ อาการพูดอะไรไม่ได้ ถูกตัดสินจากผู้ใหญ่ว่าเป็นคนรุ่นที่โกรธง่าย ไม่เชื่อฟัง ทั้งที่คนรุ่นก่อนผู้ใช้ทรัพยากรและยังคงครองอำนาจต่อไปนั่งอยู่ตรงนั้น หันมาบอกให้พวกเขาใจเย็น เชื่อผู้ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน แล้วแช่น้ำอุ่นอย่างสบายใจต่อไป ปล่อยคนรุ่นใหม่ให้อยู่อย่างอ้างว้างกับโลกที่ร้อนขึ้น สังคมที่เดือดขึ้นทุกวันโดยไม่ต้องรออาบน้ำร้อน
“มันสั้น ง่าย และไม่หยาบคาย”
“มันแปลว่าเราจะไม่โต้ตอบกับคุณ เพราะคุณจะไม่สนใจฟังคำอธิบายจากเราอยู่ดี”7
เพลงและมีมบนอินเทอร์เน็ตอาจดูเป็นกระแสที่เกิดขึ้นและอีกเดี๋ยวก็หายไป บูมเมอร์หลายคนออกมาวิจารณ์ว่าเป็นความพยายามเปล่าประโยชน์ ไม่ส่งผลอะไร แต่หากตั้งใจฟังดีๆ จะเห็นว่านี่เป็นการตอบสนองของคนรุ่นใหม่ เป็นเครื่องมือที่ใช้สื่อสารกับผู้ใหญ่ที่พวกเขาไม่รู้ว่าจะคุยด้วยอย่างไร เป็นความรู้สึกอัดอั้นอยู่ในใจว่าพวกเขาเหนื่อยหน่ายเหลือทนกับการต้องเป็นคนรุ่นที่ต้องแก้ปัญหา—รับภาระจากคนรุ่นก่อนหน้าที่บอกพวกเขาว่า เจ้าต้องปรารถนาถึงโลกที่ดีกว่า แต่ไม่เคยมีทีท่าจะรับฟัง
(3)
ท่าทีตอบกลับของบูมเมอร์นั้นต่างออกไป มีทั้งยักไหล่และบอกว่านี่มันก็แค่ ‘การดูถูกแบบเด็กๆ (childish insult)’ แค่ความไม่พอใจธรรมดา โลกยังมีปัญหาสำคัญให้ใส่ใจกว่านี้…
ไม่ใช่บูมเมอร์ทุกคนจะไม่สนใจ บูมเมอร์บางคนนั้นมองในมุมต่างออกไป พยายามทำความเข้าใจว่าในอาการกรอกตา เบ้ปากนั้นมีความรู้สึกที่แท้จริงของคนรุ่นใหม่ที่กระซิบว่าพวกเขาเหนื่อยและกังวล
กังวลกับอนาคตของโลกที่พวกเขายังต้องอยู่ต่อไปอีกนานกว่าครึ่งชีวิต—เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน การกระจายทรัพยากรที่ไม่เท่ากัน สังคมแบ่งชนชั้น โลกที่ร้อนขึ้นทุกวัน และความท้าทายอีกมากมายที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากคนรุ่นที่มาก่อน—รุ่นที่ยังถือครองอำนาจการตัดสินใจที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง
มาร์ก เปอร์นา (Mark C. Perna)8 เบบี้บูมเมอร์ผู้ศึกษาพฤติกรรมของมิลเลนเนียลและเจนเนอเรชั่นซี เสนอว่าแทนที่จะไม่พอใจกับปรากฏการณ์ ‘OK, Boomer’ ให้เปลี่ยนมาเห็นความสำคัญของภาษาและการสื่อสาร ชวนให้เบบี้บูมเมอร์ลองฟังความต้องการของคนรุ่นลูกรุ่นหลาน และเปิดโอกาสพูดคุย
การพูดคุยที่เริ่มได้ง่ายดายเพียงแค่ ‘รับฟัง-เคารพ-อย่างเท่าเทียม’ ซึ่งคำแนะนำทั้งสามข้อนี้สามารถทำได้พร้อมๆ กัน ผ่านการรับฟังที่เคารพความเห็นของอีกฝ่าย การก้าวข้ามช่องว่างระหว่างวัย และการไม่มีข้อจำกัดว่าใครเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่
รับฟังโดยวางประสบการณ์ ‘อาบน้ำร้อนมาก่อน’ ไม่ด่วนสวนกลับหรือรีบสอน แต่หยุดฟังจนได้ยินความต้องการบางอย่างว่า แท้จริงแล้วเราต่างปรารถนา ‘โลกที่ดีกว่า’ ไม่ต่างกัน
(4)
“ยินดีต้อนรับสู่โลกของเรานะลูก มันไม่ค่อยน่าอยู่นักหรอก แต่เราจำเป็นต้องมีศรัทธาว่า เราสามารถทำบางสิ่งบางอย่างให้ดีขึ้นได้”
บางสิ่งบางอย่างดีขึ้นได้ ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง คนรุ่นใดรุ่นหนึ่งทำ หากเป็น ‘เรา’ ที่ต้องทำสิ่งนั้นร่วมกัน—เริ่มจากหันมาเปิดใจ เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้พูดคุย—จนเห็นว่าพื้นที่ในช่องว่างระหว่างวัย เรามีความต้องการไม่ต่างกัน
อ้างอิง:
1หนังสือ พ่อหล่อสอนลูก (มีนาคม, 2016) เขียนโดย อธิคม คุณาวุฒิ สำนักพิมพ์ Way of Book
2บทความ “Why are Hongkongers so angry? Because their baby boomer leaders are living in a parallel universe” เขียนโดย Peter Kammerer (November, 2019) จาก South China Morning Post www.scmp.com/comment/opinion/article/3038067/why-are-hongkongers-so-angry-because-their-baby-boomer-leaders-are
3“Nine Umbrella Movement leaders convicted” (April, 2019). Amnesty International Thailand. Retreived from www.amnesty.or.th/en/latest/news/679
4เบบี้บูมเมอร์ในบริบทฮ่องกงเกิดระหว่างค.ศ. 1955-1968 จากตาราง “The Timing of Northeast Asia’ Baby Boomers” https://foreignpolicy.com/2019/11/25/ok-boomer-millennials-resent-ruining-world-generational-politics-mainland-china-hong-kong
5Peter Kuli & Jedwill – OK Boomer (official music video) https://youtu.be/AkJT3Loe6BE
6บทความ “OK Boomer isn’t just about the past. It’s about our apocalyptic future.” เขียนโดย Aja Romano (Nov, 2019) จาก VOX www.vox.com/2019/11/19/20963757/what-is-ok-boomer-meme-about-meaning-gen-z-millennials
7บทความ “ ‘OK, Boomer’ :Gen Z’s sassy dig at old-timers says a lot with very little” โดย Agence France-Presse (November, 2019) จาก South China Morning Post www.scmp.com/news/world/article/3037037/ok-boomer-gen-zs-sassy-dig-old-timers-says-lot-very-little
8บทความ “OK, Boomer: This is how to respond to Gen Z’s new meme” เขียนโดย Mark C. Perna (November, 2019) จาก Forbes www.forbes.com/sites/markcperna/2019/11/26/ok-boomer-this-is-how-to-respond-to-gen-zs-new-meme/#57bda9dd5b01