“แก้วสาเกในมือฉันลอยลิ่วไปใส่เขา เขาโกรธ คว้าแก้วที่ร่วงหล่นใส่ตัววิ่งเข้ามาหาฉัน แล้วทุบแก้วนั้นอย่างแรงลงไปบนผนังห้องด้านหน้าฉันสองครั้ง พร้อมน้ำเสียงด่าทอที่แสดงว่าโกรธสุดขีดแล้ว ต้องบอกว่าดีที่ทุบกำแพง เพราะถ้าเลื่อนมาอีกนิดเดียวก็หน้าฉัน ขนาดกำแพงยังเป็นรู ทะลุจนแก้วหลุดเข้าไปได้ทั้งใบ ถ้าเป็นหน้าคงไม่ต้องพูดถึง”1
นี่ไม่ใช่บทละคร นิยาย หรือเรื่องแต่ง หากคือเรื่องจริงของผู้หญิงคนหนึ่ง เรื่องจริงที่เธอเก็บไว้กับตัวมาเนิ่นนาน อาจกล่าว (หา) ได้ว่าฝีมือการแสดงของเธอได้ห่อหุ้มแก้วสาเกที่แตกไปพร้อมกับใจได้อย่างแนบเนียน รอยยิ้มเข้มแข็งที่ผู้คนพบเห็นทำให้คิดว่าเธอไม่เป็นไร แต่ถ้าว่ากันตามจริงแล้วไม่ใช่แค่เธอหรอก หากเราทุกคนต่างสวมหน้ากากรอยยิ้มกว้างในละครชีวิตจริง เพื่อซ่อนน้ำตาภายใต้หน้ากากนั้น ซ่อนมือชุ่มเลือดที่กำเศษแจกันแตกละเอียดไว้ ขณะที่การแสดงยังคงดำเนินต่อไป…
(1)
มองหน้าปกเผินๆ ‘ปีแสง’ อาจคล้ายหนังสือเชิงอัตชีวประวัติบุคคล (autobiography) บันทึกเรื่องราวในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เรารู้จักกันในนามผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารอย่างเห็นอกเห็นใจ (empathic communication) นักบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว นักแสดง พอดแคสเตอร์ และบทบาทใหม่ในฐานะนักเขียน
แต่ไม่ใช่เลย ปีแสง ไม่ได้บันทึกหนทางสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญในสายอาชีพที่ว่า หากจะมีอยู่บ้างก็คงเป็นที่มาที่ไปว่าอะไรในชีวิตที่ผลักดันให้เธอทำสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ ทำในสิ่งที่เธอเองก็ไม่คิดไม่ฝันว่าจะมาพัวพันกับเส้นทางการเป็นผู้เยียวยาผู้อื่น เห็นอกเห็นใจผู้อื่น แถมเธอยังบอกว่าตัวเธอเองต่างหากที่ควรฝึกการเห็นอกเห็นใจมากที่สุด และเป็นผู้ที่ต้องได้รับการเยียวยามากที่สุด…
ด้วยเรื่องราวที่อย่าว่าแต่จะเขียนให้ผู้อื่นอ่าน เรื่องบางเรื่องนั้นต่อให้คิดจะเขียนในไดอารี่ส่วนตัว ยอมรับกับตัวเองว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นจริงๆ เราคิด เราทำเช่นนั้นจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก แต่ใช่—‘ดุจดาว วัฒนปกรณ์’ เขียนเรื่องเหล่านั้นไว้ในหนังสือเล่มนี้
(2)
การ ‘เขียน-ชีวิต-ตนเอง’ (graphein-bios-auto)2 ขึ้นมา ก็พอจะเรียกได้ว่า ปีแสง เป็นอัตชีวประวัติเล่มหนึ่ง ซึ่งมีความใกล้เคียงกับ ‘บันทึกความทรงจำ’ (memoir) จนหลายครั้งยากจะแยกว่าต่างกันอย่างไร แต่ความสำคัญของอัตชีวประวัติไม่ได้อยู่ที่นิยาม หากคือสิ่งที่มันกระทำทั้งต่อผู้อ่านและผู้เขียนเอง
‘ความเป็นผู้เขียนเรื่องตนเอง’ (self-authorship) เป็นหนึ่งในแนวคิดการพัฒนาตนเอง3 ที่ว่าด้วยการผสานคุณค่า ความเชื่อ ความปรารถนา และการกระทำของคนคนหนึ่งเข้าไว้ด้วยกัน โดยมองอัตลักษณ์ตัวตนว่าเป็นกระบวนการตลอดชีวิต (lifelong process) เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต ผ่านการพิจารณาเรื่องเล่าเรื่องเดิม โดยรื้อถอนและทำความเข้าใจใหม่ว่าประสบการณ์ที่พบเจอนั้นมีความหมายอย่างไร จนเกิดเป็นมุมมองและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปหลังจากนั้น
ในต่างประเทศได้มีการนำรูปแบบการเขียนอัตชีวประวัติมาเป็นแบบฝึกหัดในการให้นักเรียนได้พัฒนา ‘ความเป็นผู้เขียนเรื่องตนเอง’ เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกฟัง รู้ทันความรู้สึกนึกคิดในใจต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตว่าจะเลือกทำความเข้าใจมันแบบไหน เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และเติบโตไปกับสิ่งที่เข้ามากระทบใจ เพื่อให้ผู้เรียนได้เป็นผู้กำหนดชีวิตตัวเองผ่านการเขียนออกไป และเห็นความหมายของสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านการได้อ่านทบทวนเรื่องราวเหล่านั้น
คุณค่าของการเขียนเรื่องตัวเองออกมาไม่ได้อยู่ที่ชั่วขณะกำลังเขียนเพียงเท่านั้น หากอยู่ตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มเขียน คือการเริ่มต้นอย่างกล้าหาญที่จะเพ่งพิจารณาแม้กระทั่งประสบการณ์ที่ไม่อยากหวนกลับไปนึกถึงอีก กลับไปอยู่ในชั่วขณะที่เราปฏิเสธและอยากเขี่ยมันไปให้พ้นจากชีวิต กลับไปเพื่อทำความเข้าใจมันอีกครั้ง จนเห็นความสำคัญของมัน เห็นจนเชื่อว่าเรื่องราวของตนนั้นมีค่าพอที่จะได้รับเวลา ที่จะใคร่ครวญ และเขียนออกมา
การเชื่อในเรื่องราวส่วนตัว หมกมุ่นกับความเป็นตัวตนอาจดูเหมือนเป็นการปลูกฝังแนวคิดตะวันตกเรื่องปัจเจกชนนิยม (individualism) หากแท้จริงแล้วในกระบวนการเขียนนั้น ยิ่งเขียนกลับยิ่งพบว่าเราต่างประกอบสร้างขึ้นมาจากความสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัวและเหตุการณ์ต่างๆ เป็นการปะติดปะต่อประกอบสร้างจนเห็นความเชื่อมโยงของตัวเรากับสิ่งที่ใหญ่กว่า แต่ในขณะเดียวกันก็เห็นความพิเศษที่แตกต่างจากประสบการณ์เฉพาะตัวที่เราเจอ เห็นคุณค่าความแตกต่างในเรื่องราวของตนเอง จนเคารพความหลากหลายของผู้อื่น และเรื่องราวของผู้อื่นได้เช่นกัน
(3)
“เหมือนแจกันที่หล่นแตก พอจะกอบกู้มันขึ้นมาให้พอใช้งานได้ใหม่ ฉันก็มีโอกาสหยิบดูแต่ละชิ้น พิจารณาแต่ละเศษของมันอีกครั้ง ตอนแรกตั้งใจว่าจะเลือกเก็บเฉพาะชิ้นส่วนที่สวยงามกลับมาประกอบเป็นตัวเองใหม่ เราจะได้น่ามอง แล้วเอาเท้าถีบกลบวิถีที่ไม่สวยงามให้หล่นขอบโลกไปอย่างนั้น แต่สุดท้ายก็พบว่าเราทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะทั้งหมดนั่นเป็นตัวเรา ถ้าไม่เก็บทุกชิ้นส่วนมาประกอบเข้าด้วยกันใหม่ เราก็จะไม่มีวันสมบูรณ์”
การแหลกสลายของผู้เขียนที่สั่นสะเทือนผู้อ่าน และในขณะเดียวกันก็ประกอบร่างสร้างตัวผู้เขียนขึ้นมาใหม่ ไม่ต่างกับจังหวะของ ‘เศษแจกัน’ ที่ถูกหยิบขึ้นมาประกอบกันทีละชิ้น ทีละชิ้น ตัวตนที่ผู้เขียนโยนให้มันแตกแหลกสลายไปผ่านการเขียน ก็ดูจะได้รับการหยิบขึ้นมาพิจารณา และปะติดปะต่อเข้ากันใหม่ผ่านการเขียนเช่นกัน
อัตชีวประวัติประกอบไปด้วยการสัมผัสสองชั้น ชั้นนอกที่คนมักคิดถึงคือการเล่าเรื่องของตนเองออกไปให้ผู้อ่านฟัง แต่อีกชั้นที่อยู่ด้านในคือการกลับมาใกล้ชิดกับตัวเอง ใกล้ชิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นและความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อเหตุการณ์ต่างๆ ในขณะที่ผู้เขียนกำลังนึกทบทวนเรื่องราวในชีวิต
การสัมผัสชั้นในที่พากลับเข้าไปลึกถึงสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในห้วงความทรงจำ จะด้วยเวลาหรือจิตใจสั่งให้ลืมก็ตาม คือพลังพิเศษอีกอย่างของการเขียน การเขียนภาพจำเลือนรางให้ปรากฏเป็นตัวอักษรกายภาพ ที่ต้องเห็นมันก่อน เห็นตัวตนมันก่อนถึงจะไปเปลี่ยนหน้าตามันได้ ไม่ต่างอะไรกับการวินิจฉัยโรค ที่ต้องนั่งประจันหน้าหมอ ยอมรับคำวินิจฉัยที่อาจโหดร้ายไม่อยากฟัง แต่นั่นคือขั้นตอนสำคัญขั้นแรกในการเห็นหน้าตาโรคร้ายที่รุมเร้าเราอยู่ แล้วค่อยหาหนทางรับมือให้มันกลายเป็นเพียง ‘โรค’ ที่อยู่ในร่างกายเรา แต่โรคนั้นไม่ใช่ตัวเรา
(4)
We can only live forward. The dots will be connected backward. —“เราได้แต่ใช้ชีวิตไปข้างหน้า แล้วจุดต่างๆ จะเชื่อมโยงกันได้เพียงเมื่อมองย้อนกลับ”4
แต่ความเชื่อมโยงต่างๆ อาจไม่ปรากฏขึ้นเลย จุดต่างๆ อาจไม่ถูกเชื่อมโยงได้เลย หากเราไม่เริ่มเขียนจุดต่างๆ ที่เป็นตัวแทนเรื่องราวในชีวิตขึ้นมา
เราต้องเขียน—เขียนจนเห็นหน้าตา รูปร่าง และการมีอยู่ของมัน แล้วลากจุดเชื่อมโยงนั้น จนเห็นตาข่ายโยงใยความเป็นชีวิตของเรา ผ่านการทบทวน ยอมรับ และบอกเล่าเรื่องออกไป
อ้างอิง
- 1หนังสือ ปีแสง เขียนโดย ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ปี 2562 สำนักพิมพ์ a book
- 2https://en.wikipedia.org/wiki/Autobiography
- 3แนวคิด ‘self-authorship’ พัฒนามาจากหนังสือ In Over Our Heads: The Mental Demands of Modern Life (1994) เขียนโดย Robert Kegan ที่ว่าด้วยตัวตนที่เปลี่ยนไป (the evolving self) และหนังสือ Making Their Own Way: Narratives for Transforming Higher Education to Promote Self-Development (2001) ของ Marcia B. Baxter Magolda (2001) ที่มีการนำการเขียนเพื่อเป็นแบบฝึกหัดในการทำความเข้าใจและพัฒนาตนเองของผู้เรียนในระดับชั้นอุดมศึกษา
- 4ส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์งานรับปริญญามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ปี 2005 โดย สตีฟ จอบส์ ดูได้ที่ https://youtu.be/D1R-jKKp3NA