Reflect Release Reset รีชาร์จกลางปี เพื่อครึ่งปีที่เหลือ

Chris Baldwin1 อดีตนักปั่นจักรยานทีมชาติสหรัฐอเมริกา ที่ผันตัวมาเป็นโค้ชนักกีฬาในปัจจุบันบอกเคล็ดลับไว้ว่า หนึ่งในช่วงเวลาที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าตารางการซ้อมเข้มข้น ต่อเนื่องสม่ำเสมอ ก็คือช่วงเวลาการพัก ซึ่งเขามักจะจัดให้อยู่ตรงกลางหลังช่วง ‘พีก’ ของตารางการซ้อมในครึ่งแรกที่เพิ่งจบไป เพื่อให้นักกีฬาได้พักเครื่อง รีเซตร่างกาย จิตใจใหม่ก่อนจะเข้าสู่ช่วงการซ้อมถัดไปในครึ่งหลัง

        คริสไม่ได้บอกว่ามีสูตรสำเร็จว่าการพักที่ดีควรเป็นอย่างไร เขากล่าวติดตลกว่าถ้าคิดจะพักก็ไม่ควรหารูปแบบตายตัวด้วยซ้ำไป หลายครั้งเขาปล่อยให้นักกีฬาได้ตัดสินใจเองว่าอยากพักแบบไหน อยากพักไม่กี่วันแต่พักเต็มที่ไม่ซ้อมอะไร หรือพักยาวหน่อยแต่ได้วอร์มร่างกายบ้าง ทั้งนี้เขาบอกว่านี่ไม่ใช่ช่วงเวลาแห่งการปล่อยปละละเลย ตรงกันข้ามนี่คือเวลาแห่งการปรนนิบัติตนเอง ให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนจากความตึง ให้จิตใจได้ผ่อนคลายจากตารางซ้อมบนกระดานที่ลากยาวนานมาครึ่งปี

        ในบทความ เรามีสิทธิ์ที่จะขี้เกียจ โตมร ศุขปรีชา2 ผู้เขียนได้ยกงานวิจัยวิทยาศาสตร์มาเป็นอธิบายว่าเจ้าความขี้เกียจนี่ไม่ใช่สิ่งที่คน (ขี้เกียจ) ทึกทักไปเอง แต่มันเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานที่ฝังลึกอยู่ในพันธุกรรมของเราเหล่ามนุษย์ ความขยันต่างหากที่เป็นสิ่งถูกสร้าง (constructed) จากระบบทุนนิยมที่คุณค่าของคนดูจะอยู่ที่ผลผลิตของงาน

        เมื่อมองในแง่นี้ก็พอจะยิ้มมุมปาก เข้าข้างตัวเองได้บ้างว่านี่ฉันไม่ได้ผิดอะไร ความขยันบ้างานต่างหากคือวิสัยที่ผิดแปลก ขัดแย้งกับธรรมชาติมนุษย์

        หลักฐานทางวิทยาศาสตร์นี้ช่างสอดคล้องกับมุมมองสังคมวิทยาของมาร์กซ์ (Karl Marx) ที่กล่าวว่าระบบทุนนิยมนั้นสร้างสภาวะแปลกแยก (alienation) ทั้งในด้านความสัมพันธ์ระหว่างนายทุนและลูกจ้าง ที่ลดทอนความสัมพันธ์ฉันมนุษย์ให้เหลือเพียงค่าจ้างและแรงงานที่ต่างฝ่ายมีไว้แลกเปลี่ยนกัน รวมทั้งในมิติความเป็นมนุษย์เองที่แรงงานอย่างเราๆ ต่างต้องเค้นแรง รีดสมองราวกับเป็นเครื่องจักรในสายพานการผลิต กดสวิตช์เปิดตอน 9 โมงเช้า กดสวิตช์ปิดตอน 5 โมงเย็น ส่งมอบทั้งงาน เวลา เสรีภาพ และศักยภาพในความเป็นมนุษย์คิดได้เองให้กับนายจ้างที่ตอบแทนกลับมาด้วยค่าแรงในแต่ละวัน

        ต้องใช้ชีวิตในระบบทุนก็ว่ายากแล้ว การเติบโตมาในยุคที่คนรอบตัวต่างบอกว่าต้องเก่ง ต้องดี ต้องมีความรู้ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เอาตัวรอดเฉยๆ ในยุคนี้มันไม่ได้ ไม่ทัน จะเป็นปลาเฉื่อยๆ ไหลเอื่อยตามกระแสน้ำไปก็จะตายเอาง่ายๆ ในมหาสมุทรที่มีทั้งปลาใหญ่ ปลาเร็วคอยโฉบกิน ความกดดันที่แบกไว้บนไหล่ทำให้ไม่น่าแปลกใจอะไรที่จะมีงานวิจัยหลายชิ้น หนังสือหลายเล่มออกมาอธิบายปรากฏการณ์ยุคสมัยแห่งความเหนื่อยล้า หมดแรง (burnout generation) โดยเฉพาะกับชาวมิลเลนเนียล หรือคนที่อายุ 20 กลางๆ 30 หย่อนๆ วัยแรงงานที่ถูกรุมล้อมไปด้วยวาทกรรมแห่งความฝัน แพสชัน ความปรารถนา เป็นคนธรรมดาแทบจะเป็นเรื่องผิดกาลเทศะในยุคนี้ไป

        เอาละ ในเมื่อเลือกยุคเกิดไม่ได้ จะหนีไปในป่าไม่อยู่ในอำนาจของเงินตราก็ไม่น่าจะรอดเท่าไหร่ ถ้ายังต้องดิ้นรน ต้องทำงานต่อไป ก็หาวิธีอยู่กับมันให้งานดีได้ สภาพจิตใจดีด้วยไปแทนก็แล้วกัน

 

        หลายคนอาจนึกว่าช่วงปลายปีคือช่วงที่คนเราน่าจะเหนื่อยที่สุดจากการทำงาน แต่จริงๆ แล้วกลายเป็นว่าช่วงกลางปีนี่แหละที่คนเรามักจะเฉื่อยชาที่สุด ผ่านมาแล้วครึ่งปี เป้าหมายที่ตั้งไว้ยังเสร็จไปไม่กี่อย่าง เหลืออีกตั้งครึ่งทางกว่าจะถึงวันหยุดที่รอคอย

        Ritu Riyat3 ผู้อำนวยการศูนย์ Mindshift Wellness Center นักจิตบำบัดและนักสืบตรวจจับความเครียดชาวอเมริกัน เล่าเทคนิคง่ายๆ ที่อยากชวนทุกคนมาลองทำกันกลางปีนี้ด้วยสามขั้นตอนแห่งการ Re-: reffllect, release, reset ทบทวน ผ่อนคลาย และเริ่มใหม่

        Reflect ทบทวน: ตามที่โค้ช Chris Baldwin บอกไว้เบื้องต้นว่าการหยุดพักนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกที่ดี เพราะนั่นแหละคือช่วงเวลาที่ได้ทบทวนการซ้อมที่ผ่านไปว่าอะไรทำได้ดี อะไรที่ควรแก้ไข อะไรที่พัฒนาได้อีก ช่วงเวลาแห่งการทบทวนที่ช่วยให้นักกีฬาได้กลับมา ‘รู้สึก’ ภูมิใจ เสียใจ เสียดาย ความรู้สึกข้างในที่ใกล้ที่สุดแต่กลับไม่รับรู้เพราะไม่ค่อยได้อยู่กับมัน กายคอยแต่จะขยับตลอดเวลา มัวแต่รีบๆ ไล่ตามสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันจนไม่ทันได้รู้สึกตัวว่าเกิดอะไรในใจตนเอง

        Release ผ่อนคลาย: ช่วงเวลาแห่งการทบทวนที่ฟังดูเหมือนง่าย แต่อาจไม่ง่ายเท่าไหร่สำหรับใครที่ไม่ค่อยได้ฟังเสียงข้างในตัวเอง เจ้าความรู้สึกภูมิใจนี่ฟังไม่ยากหรอก แต่ความรู้สึกที่ไม่ง่ายเท่าไหร่อย่างความโกรธ ความผิดหวังนี่สิที่ยากจะรับมือ 

        ขั้นตอนการปลดปล่อย ผ่อนคลายจึงมีความสำคัญ การทบทวนในขั้นแรกเพื่อให้พบความรู้สึกที่แท้จริงนั้นไม่ใช่เพื่อให้เห็นแล้วแบกถือมันไว้ แต่คือเพื่อให้เห็น ทำความเข้าใจที่มาที่ไป ไม่ตัดสินตัวเองว่าทำไมรู้สึกแบบนั้น ยอมรับในการเกิดขึ้นของมัน แล้วปล่อยวาง เราเห็นเธอแล้วเจ้าความรู้สึก เรารับรู้แล้วว่าเธอรู้สึกอย่างไร เหนื่อย เสียใจ กับสิ่งที่ทุ่มเทลงไปแต่ยังไม่เห็นผลใช่ไหม เรารับรู้เธอแล้วว่าเธอเหนื่อย แต่ไม่เป็นไรนะ ไม่เป็นไร เราจะค่อยๆ ไปพร้อมกัน เราจะลองกันใหม่อีกที

        Reset เริ่มใหม่: ในหนังสือ แอ่งน้ำกลางทะเลทราย4 นิ้วกลม ผู้เขียนให้ไอเดียเล่นๆ ที่น่าเอามาทำจริงเอาไว้ว่า “พนักงานออฟฟิศอย่างเราๆ ควรใช้เวลาทำงานแค่หนึ่งอึดของแบตเตอรี่โน้ตบุ๊ก ตอนเช้าชาร์จแบตให้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วดึงปลั๊กออก หลังจากนั้นก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปจนกว่าแบตจะหมด พอแบตหมดปุ๊บก็เลิกทำ เก็บโน้ตบุ๊ก โบกมือบ๊ายบาย”

        พอรู้ว่าแบตเตอรี่มีเวลาจำกัด เราย่อมอยากใช้มันทำงานให้เต็มประสิทธิภาพ ไม่วอกแวกสลับหน้าจอทำงานไปเล่นเฟซบุ๊กสักหน่อย ยูทูบสักตอน ในทางตรงกันข้ามเมื่อเราเสียบแบตเตอรี่คาสวิตช์ไว้ตลอดเวลา มันก็ง่ายที่จะคิดว่างานก็อยู่ตรงนั้นแหละ แบตก็มี เดี๋ยวค่อยมาทำ ที่สุดท้ายงานก็ไม่เสร็จ ไม่ได้พักทั้งคอมฯ ไม่ได้พักทั้งคน

        รีเซต ขั้นตอนสุดท้ายหลังจากทบทวนและปลดปล่อย หลังจากที่ได้เห็นว่าเราทำอะไรไปบ้างแล้วในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา และยังเหลืออะไรที่ต้องทำอีกในครึ่งปีหลัง

 

        กลางปีแล้ว ถ้าสำรวจพลังงานแบตเตอรี่ตัวเองแล้วแบตเตอรี่เริ่มขึ้นขีดแดง ก็ลองปิดเครื่องสักพัก อย่าเสียบคาสวิตช์ไฟไว้ให้แบตเต็มไปอย่างนั้น แต่ไม่ได้งานอะไรที่คืบหน้า หรือทำไปก็ไม่ได้ดี ปิดคอม พักจอสักพัก ออกไปพักสายตา ออกไปพักใจ ทบทวน – ผ่อนคลาย – เริ่มใหม่ สำหรับครึ่งต่อไปของปี ที่ไม่รู้ว่างานจะดีกว่าเดิมไหม แต่อย่างน้อยฉันเองจะสดชื่น สดใสกว่าเดิม

 


อ้างอิง:

  • 1ติดตามบล็อกการโค้ชของ Chris Baldwin ต่อได้ที่ http://daybydaycoaching.com
  • 2เรามีสิทธิที่จะขี้เกียจ โดย โตมร ศุขปรีชา ตีพิมพ์ในหนังสือ October 08 (2010)
  • 3ติดตามงานเขียนของ Ritu Riyat ที่พูดถึงการภาวนาในชีวิตประจำวัน ต่อได้ที่ www.huffpost.com/author/ritu-riyat
  • 4หนังสือ แอ่งน้ำกลางทะเลทราย (2013) เขียนโดย นิ้วกลม