เหตุการณ์เดือนตุลา

Wake me up [before October] ends: อย่าปล่อยให้ตุลาคมผ่านไป อย่างไร้การจดจำ

Time will heal everything. กาลเวลาจะเยียวยาทุกสิ่ง

        หากจะมีคำโกหกยอดนิยมใดที่ใช้ปลอบใจผู้คน คงหนีไม่พ้นวลีนี้ วลีว่ากาลเวลาจะเยียวยาทุกสิ่ง ในที่สุดความจริงจะเปิดเผย…

        และหากจะมีคำโกหกใดที่ใช้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ที่แยบยล คงหนีไม่พ้นการปล่อยให้ผู้คนลืมเลือนมันไป ไม่ต้องถูกจดจำ

 

(1)

        “6 ตุลา…เรื่องอะไรหนูก็ไม่รู้เหมือนกัน รู้แค่ตอนที่เขาตีศพแล้ว รู้จากอินเทอร์เน็ตที่เขาแต่งแร็ปล่าสุด”

        หนึ่งในคำตอบจากคลิปสัมภาษณ์ 6 ตุลา…เรื่องอะไรหนูก็ไม่รู้เหมือนกัน ที่สำรวจความรับรู้ของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อเหตุการณ์เดือนตุลาคม เหตุการณ์ที่เกิดมาแล้วสี่สิบสามปีอาจไม่แปลกอะไรหากคนจะลืม ไม่แปลกอะไรหากคนรุ่นใหม่จะสับสนระหว่าง 14 และ 6 ตุลา จนผสมปนเปเป็น ‘16 ตุลา’ ก็ในเมื่อวันที่พวกเขาเกิดมา เหตุการณ์บ้านเมืองก็เข้าสู่สนามความขัดแย้งใหม่ เรื่องใหม่ที่รอให้ทำความเข้าใจ เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วให้มันแล้วไปอย่าเก็บไว้ให้เปลืองความทรงจำ

        มันง่ายที่จะแปะป้ายบอกว่าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจ แต่ช้าก่อน หากการเรียนการสอน การถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นถูกหยุดชะงักไว้นับแต่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ราวกับว่าเวลาจะชำระล้างฉากเหตุการณ์ขมขื่น ให้ความทรงจำค่อยๆ จางหายไปพร้อมๆ ควันเขม่าปืน…

        นอกจากคลิปสัมภาษณ์แล้ว ยังมีการสำรวจหนังสือเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตั้งแต่ พ.ศ. 2544 ไปจนถึง พ.ศ. 2560 พบว่าหนังสือเรียน 17 จาก 23 เล่ม (คิดเป็นร้อยละ 74) ที่ถูกสำรวจนั้นไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา’ เลย, บางเล่มไม่กล่าวถึงทั้ง 14 และ 6 ตุลา, บางเล่มกล่าวถึง 14 ตุลา แล้วข้ามกาลเวลาไปเกือบยี่สิบปีโผล่ที่พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เลยด้วยซ้ำ…1

        หรือแม้กระทั่งข้อมูลทั่วไปที่ ‘เปิดกูเกิล’ ไปตามที่ผู้ใหญ่บางคนแนะนำ ก็ยังพบว่ามีข้อมูลที่ถูกบันทึกคลาดเคลื่อน อย่าว่าแต่หลายเรื่องราวที่หายสาบสูญจากการไม่ถูกบันทึกแต่แรก ความทรงจำที่เว้าแหว่ง บิดเบือนจนคณะผู้จัดทำโครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’ ได้พยายามบันทึกเรื่องราวขึ้นใหม่ ความพยายามตั้งใจจำให้ชีวิตที่สูญไปไม่เป็นสุญญากาศลอยคว้างในการตั้งใจลืม

        ทั้งหนังสือเรียนและแหล่งข้อมูลสาธารณะทำให้เกิดหลายคำถามว่า ภาพความเข้าใจของเราต่อสังคมที่ล้อมเราอยู่นั้นถูก ‘สร้าง’ โดยใคร, มีใครพยายามให้เราลืมเรื่องสำคัญใดหรือไม่, ผู้มีอำนาจพยายามให้เราจำ – หรือลืมมันไปอย่างไร และเราจะทำอย่างไรได้ในการรื้อฟื้นความทรงจำ เพื่อไม่กลับไปทำผิดซ้ำย้ำแผลเดิม

 

(2)

        “เกือบ 40 ปี เราเพิ่งพบว่าคนถูกแขวนคอไม่ได้มีแค่สองคน แต่พบว่ามีสี่คน หรืออาจจะห้าคน ที่สำคัญคือมีสองคนที่เรายังไม่รู้ว่าเขาชื่ออะไร และศพของเขาอยู่ที่ไหน”

        จำนวนผู้เสียชีวิต หรือแม้กระทั่งชื่อที่แท้จริงของพวกเขา หนึ่งในเรื่องเล่า (narrative) ใหม่ที่โครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’ พยายามประติดประต่อประวัติศาสตร์ขาดวิ่น เพื่อเล่าเรื่องใหม่ให้กับประวัติศาสตร์เก่าที่ถูกเล่าผิดเพี้ยนไป หรือถูกปัดเขี่ยไปจากความทรงจำไม่ได้รับการเล่าถึงเลย

        “การได้มองรูปถ่ายเป็นการทำความรู้จักผ่านแววตาและใบหน้าของคนที่เคยมีเลือดเนื้อ เพื่อย้ำเตือนว่าพวกเขามีตัวตน ไม่ใช่เพียงภาพมัวหม่นเลือนรางที่เราจินตนาการไม่ออก”2

        หนึ่งในความพิเศษของ ‘บันทึก 6 ตุลา’ คือลักษณะของความทรงจำที่ถูกรวบรวม เรื่องเล่าที่เป็นความรู้สึกไม่ใช่ข้อมูล จดหมายลายมือไม่ใช่จดหมายเหตุ ฯลฯ ผ่านการเก็บข้อมูลหลากหลายรูปแบบทั้งการพูดคุย สัมภาษณ์ ภาพถ่ายที่กระจัดกระจาย ความพยายามที่จะรวบรวมความทรงจำให้มากพอ เล่าเรื่องใหม่ให้เสียงดังพอเพื่อกลบความเงียบปิดปาก สักแต่ว่าให้ลืม

 

(3)

        “You are not the problem. The problem is the problem.” คุณไม่ใช่ปัญหา ปัญหานั่นแหละคือปัญหา

        การแยกแยะปัญหาออกจากตัวตนคือหนึ่งในหนทางของ ‘การเล่าเรื่องบำบัด’ (narrative therapy) จิตบำบัดประเภทหนึ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นในปี 1980 โดยนักสังคมวิทยาชาวออสเตรเลียน และนักจิตวิทยาชาวนิวซีแลนด์ ที่เชื่อว่าการเล่าเรื่องช่วยให้เกิดกระบวนการทำความเข้าใจตัวตนใหม่ ปลดปล่อยให้หลุดพ้นจากอดีตที่กักขัง สร้างพลังให้เชื่อในความเป็นไปได้ในอนาคต

        นอกจากวิธีในการให้ผู้ป่วยเล่าเรื่องออกมา เล่าจนได้ยินเสียงตัวเอง หรือเล่าผ่านการเขียนเห็นเป็นตัวอักษร จนเริ่มเห็นตัวตนที่แยกออกมาจากเรื่องเล่าว่าเขาและประสบการณ์ที่เจอไม่ใช่สิ่งเดียวกันจนสามารถปลดแอกออกจากมันได้ ‘การเล่าเรื่องบำบัด’ ยังช่วยให้เกิดการ ‘จำ’ เรื่องเล่าใหม่ ผ่านการฟังเรื่องที่เล่าออกมา อ่านเรื่องที่เขียนออกมาแล้วเห็นว่าชัดๆ ว่าตรงไหนคือปมปัญหา จนสามารถทำความเข้าใจใหม่กับเรื่องเดิมที่เกิดขึ้นได้ เปลี่ยนความทุรนทุรายจากเรื่องเล่าที่กัดกิน เป็นขอบคุณบทเรียนที่ได้มา

        การ ‘จำ’ จึงเป็นหนึ่งในหลักการสำคัญของการเล่าเรื่องบำบัด ที่ประยุกต์ใช้ได้ตั้งแต่ระดับบุคคลกับการเผชิญหน้ากับประสบการณ์ร้ายๆ ความตายของคนใกล้ตัว, ความสัมพันธ์ที่แตกสลาย หรือแม้กระทั่งประวัติศาสตร์ที่หายไปจากการบันทึก

        การจำที่ทำให้ได้ทำความเข้าใจใหม่กับสิ่งที่เกิดขึ้น รับรู้ความรู้สึกปั่นป่วนที่เกิดขึ้นให้ชัดว่ามันทำงานอะไรกับเรา จุดไหนของมันที่มันทิ่มแทงใจเราเหลือเกิน เผชิญหน้ากับมันด้วยการเล่าเรื่องออกมา – จะด้วยเสียงของตัวเอง หรือตัวหนังสืออะไรก็ตามแต่ – เผชิญหน้ากับมัน รับรู้ว่ามันเกิดขึ้นแล้ว เรากำลังเดินจากมันมาแล้ว ขอบคุณบทเรียนที่เกิดขึ้น หันไปบอกกับสิ่งนั้นว่าเราจะนำบทเรียนนั้นติดตัวไป แต่ความเจ็บช้ำใดๆ จะวางไว้ตรงนี้ ที่นี่

        เรื่องเล่าบทนี้จบไปแล้ว

        พอแล้ว

        จะจรดปากกาเริ่มต้นบทใหม่แล้ว

 

(4)

        “ทำไมเราจึงต้องพยายามรู้จักผู้ถูกทำร้าย ไม่ใช่เพราะว่าการรู้รายละเอียดจะทำให้การวิเคราะห์การเมืองเปลี่ยนไป ภาพใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่ความสำคัญของรายละเอียดอยู่ที่ ในเมื่อพวกเขาถูกกระทำย่ำยีขนาดนั้นได้เพราะทำให้ต่ำกว่ามนุษย์ เป็นอมนุษย์ การแสดงความเคารพต่อคนเหล่านั้นอย่างดีที่สุด ให้เกียรติต่อเขาอย่างมากที่สุด คือการคืนความเป็นมนุษย์ให้กับพวกเขา”

        ปาฐกถา ‘คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย’3 โดย ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์คณะประวัติศาสตร์ ในงาน 40 ปี 6 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ที่ไม่เพียงกระตุ้นให้เกิดการรวบรวมการประกอบสร้างความทรงจำใหม่ ให้ความเข้าใจในเหตุการณ์นั้นมีเลือดเนื้อเชื้อไขมากกว่าเป็นอีกเหตุการณ์บนฉากประวัติศาสตร์ แต่ยังทำให้เห็นแง่มุมใหม่เกี่ยวกับการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ว่าไม่ใช่เพื่อประวัติศาสตร์ด้วยตัวมันเอง ไม่ใช่เพื่อการเมือง อุดมการณ์ สิ่งที่ถูกสร้างใดๆ แต่คือความเป็นมนุษย์นั่นแหละที่ควรเป็นหัวใจในการจดจำ การรำลึกถึงความเป็นมนุษย์ การเคารพ เห็นค่าในมนุษย์เท่านั้นที่จะทำให้เราหลุดจากวิบากกรรมเข่นฆ่ากันซ้ำๆ ในนามอุดมการณ์ อำนาจ หรือชาติเช่นที่ผ่านมา

        “การต่อสู้ในเรื่องนั้นก็ควรต้องดำเนินควบคู่ไปกับการเรียกร้องให้สังคมรู้จักเคารพและอย่าทำลายความเป็นมนุษย์เช่นนั้นอีก วิธีดีที่สุดคือคืนความเป็นมนุษย์ให้ผู้ถูกทำร้ายในวันนั้นทีละคน…”

        อาจารย์ธงชัยกล่าวชื่นชมว่าการส่งเสียงให้ 6 ตุลา’ ไม่เงียบต่อไปนั้นนับเป็นความพยายามครั้งยิ่งใหญ่ที่มีประโยชน์ต่อสังคมไทย แม้ข้อจำกัดบางประการจะทำให้การสื่อสารไม่สามารถไปไกลได้มากกว่านี้ แต่ 40 ปีที่ผ่านมาที่ทุกคนยังมารวมตัวกันหนาแน่นในพื้นที่ธรรมศาสตร์สถานที่เกิดเหตุ ทำให้อดีตไม่น่าเศร้าหมอง อนาคตไม่น่าสิ้นหวังอีกต่อไป และการจมปลักกับความโกรธคับข้องใจก็ไม่ได้ช่วยอะไร ถึงเวลาแล้วที่เราจะร่วมกันเล่าเรื่องใหม่ ทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น รวบรวมหลักฐาน พยายามจดจำให้ได้มากที่สุด

        จดจำไม่ใช่เพื่อกักขัง หากเพื่อปลดปล่อยตัวเอง สู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ก่อนเดือนตุลาคมจะผ่านพ้นไปอีกปี

 


อ้างอิง:

  • 1“ฉันไม่รู้จัก 6 ตุลา (1): สำรวจแบบเรียน-ความเข้าใจของนักเรียนไทยในปี 2562” (มกราคม, 2562) เขียนโดย นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ จาก https://prachatai.com/journal/2019/01/80694
  • 2“ฉันไม่รู้จัก 6 ตุลา (2): นักสืบประวัติศาสตร์ผู้(กำลัง)ทำงานแข่งกับเวลา” (มกราคม, 2562) เขียนโดย นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ จาก https://prachatai.com/journal/2019/01/80738
  • 340 ปี 6 ตุลา 19: ธงชัย วินิจจะกูล ปาฐกถา “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” (ตุลาคม, 2559) บันทึกโดย ประชาไท https://youtu.be/QSbs_oYN03E