“ผู้ที่มีรักคือผู้เข้มแข็ง ผู้เข้มแข็งคือไม่มีความกลัว ผู้ที่ยังมีความกลัวไม่อาจมีความรักและให้อภัย แม้ว่ารักมันจะยากเย็น เกลียดชังมันจะง่ายดาย แต่ในลมหายใจสุดท้าย เธอจะตายพร้อมสิ่งใด…”
บทเพลง โปรดเรียกขานฉันด้วยนามอันแท้จริง ดังขึ้นอีกครั้งในค่ายเยาวชนเชียงดาว บทเพลงที่คล้ายเป็นเพลงประจำสถานที่แห่งนี้ไปเสียแล้ว ไม่ว่าจะกิจกรรมครั้งใด บทเพลงนี้ดูจะถูกนำกลับมาร้องใหม่ในบรรยากาศรอบกองไฟ ใต้แสงดาว ดอยหลวงตระหง่านตัดฟ้าสีดำอยู่เบื้องหน้า บรรยากาศลมหนาวต้นปีเขยิบเราเข้าใกล้กันมากขึ้น ชิดขึ้น รับความอุ่นของกองไฟและความใกล้กัน
ล้อมวงรอบกองไฟยามค่ำคืน ตื่นมาจิบกาแฟยามเช้า อ่านหนังสือรอกิจกรรมที่กำลังจะเริ่มในช่วงสาย หนังสือ – สัมภาระที่ขาดไม่ได้ทุกครั้งที่ขึ้นมาค่ายเยาวชนฯ และในหนนี้เป็นคราวของหนังสือที่มีชื่อว่า Whose Story Is This?1
“ฉันคอยสังเกตการเปลี่ยนแปลงตลอดหลายปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการหักล้างความไม่ปกติของอดีต วาดภาพอนาคตขึ้นใหม่ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Occupy Wall Street (2011), Idle No More (2012), Black Lives Matter (2013), #Metoo (2017)…
“วัฒนธรรมนั้นสำคัญอย่างยิ่ง มันคือโครงสร้างพื้นฐานความเชื่อที่ส่งผลต่อสังคม ฉันสังเกตว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นมักเริ่มต้นจากชายขอบ เริ่มต้นในที่มืด ค่อยๆ ขยายตัวคืบคลานเข้าสู่ตรงกลางจนสั่นสะเทือนโครงสร้างวัฒนธรรมที่ฝังลึกแน่นหนา แต่ยิ่งสังเกตไปเรื่อยๆ ฉันยิ่งพบว่า มันไม่สำคัญหรอกว่าเริ่มต้นจากตรงไหน จะจากตรงกลางไปสู่ขอบ หรือจากรอบนอกเข้ามาสู่กลางก็ช่างมันปะไร สำคัญเพียงแค่แรงสั่นสะเทือนนั้นต้องกระจายออกไป เพราะสังคมที่เราอยู่นั้นล้วนอาศัยอยู่ในความคิด บ้างเป็นบ้านให้เรา และบ้างก็เป็นคุกไร้หน้าต่างกักขังเราไว้ไม่ให้เห็นแสงเดือนแสงตะวัน…”
เงยหน้าขึ้นมาจากหนังสือเล่มนี้ และพลันนึกถึงหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่โด่งดังเมื่อปีที่ผ่านมา Homo Sapiens ที่ว่าด้วยใจความสำคัญของ ‘การเล่าเรื่อง’ ว่าเป็นเครื่องมือที่สร้างความเชื่อ วัฒนธรรม คุณค่าของผู้คนในสังคมร่วมกัน การเล่าเรื่องที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่นๆ สืบทอดเผ่าพันธุ์ยั่งยืนทรงพลัง เพราะความสามารถในการสื่อสาร ไม่ใช่แค่ส่งต่อข้อมูล ข้อความ หากสามารถส่งต่อความรู้สึกได้ผ่านเรื่องราวที่เล่าออกไป ความรู้สึกที่ซ่อนในเรื่องเล่านั่นไงที่ทำให้มนุษย์สั่นไหว จะทำให้ใครต่อใครรักกันก็ได้ หรือจะทำให้โกรธ เกลียด แค้นอยากฆ่ากันตายก็ได้เช่นกัน
“ผมรู้สึกว่าความทุกข์ร่วมกันของคนยุคนี้มีที่มาจากการถูกตัดขาด มันเหมือนกับว่าเราเชื่อมต่อกับอะไรก็ได้ แต่เรากลับรู้สึกแปลกแยก ไม่สัมพันธ์กับอะไรเลย…”
วิจักขณ์ พานิช กล่าวถึงความทุกข์ร่วมสมัยของผู้คนในช่วงหนึ่งของงาน Sacred Mountain Festival2 เทศกาลศิลปะ ดนตรี และจิตวิญญาณที่เขาริเริ่มร่วมกับ กฤตยา ศรีสรรพกิจ และ ชนินทร์ เจียรทัศนประกิต สามสหายผู้เปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้มาร่วมสร้าง รื้อฟื้นความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ผู้คน และตัวตนจริงแท้ของแต่ละคนอีกครั้ง ผ่านกิจกรรมในงานที่มีทั้งการนำของเหล่า ‘magicians’ พ่อมดแม่มดในสายจิตวิทยา ปรัชญา ศาสนา ศิลปะ ฯลฯ หรือผู้ร่วมงานเองอยากจะสร้างกิจกรรมใดก็ย่อมได้ตามใจปรารถนา จนกลายเป็นว่าตลอดเทศกาลนั้น เราต่างสลับบทบาทกันเป็นทั้งผู้เข้าร่วม เป็นผู้สร้างสรรค์ ในสนามเด็กเล่นทางจิตวิญญาณบนค่ายเยาวชนเชียงดาวตลอดหกวันห้าคืนที่เราอยู่ด้วยกัน
สนามเด็กเล่นทางจิตวิญญาณ ‘Spiritual Playground of Living Hearts and Souls’ ธีมของงานปีนี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นโดยผู้คนในงานเพียงเท่านั้น หากยังถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มีอยู่แล้วในค่ายเยาวชนฯ ตั้งแต่ดินจากก้อนหิน ขี้เถ้าที่นำมาโปรยเรียงเป็นทางเขาวงกต (Labyrinth) คดเคี้ยวไปมาเชิญให้เราเดินเข้าไปหาคำตอบ เปิดรับข้อความจากธรรมชาติให้กับปัญหาที่คาใจ, น้ำ ที่พัดผ่านศาลพญานาค น้ำที่ไหลมาจากดอยหลวงเชียงดาว ไหลจากที่สูงลงที่ต่ำนำพาความเคลื่อนไหว สร้างชีวิตให้กับทุกสิ่งที่สายน้ำได้ไหลผ่าน, ลม ที่พัดโบกสะบัดธงมนตรา พัดพาคำภาวนาที่เราอธิษฐานให้ชีวิตต่างๆ ด้วยความรักได้กระจายไกลสู่สรรพสัตว์ต่อไป, และไฟ เจ้าหลวงคำแดง ธรรมบาลแห่งดอยหลวงเชียงดาวที่คอยปกป้องพวกเราจากภัยอันตรายต่างๆ
ทั้งผู้คนที่มาร่วมสร้างสรรค์ ทั้งธาตุต่างๆ ที่ประกอบสร้างเทศกาลนี้ขึ้นมาทำให้รู้สึกได้ว่าความศักดิ์ (พลัง) สิทธิ์ (วิเศษ) นั้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่วัดวาอาราม โบสถ์ วิหาร หรือนางฟ้าเทวดาแห่งหนไหน หากความศักดิ์สิทธิ์นั้นมีอยู่แล้วในธรรมชาติ และในใจของเราเอง เพียงเรารับรู้และร่วมสร้างจน ‘พลังวิเศษ’ (ศักดิ์-สิทธิ์) นั้นได้เผยตนออกมา
ความรู้สึกต้องมนต์ ตกอยู่ในภวังค์ของความศักดิ์สิทธิ์ ความรู้สึกไว้วางใจ รักอย่างไม่ต้องสงสัยไร้ความกลัวนั้นจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยหากเราตัดสินองค์ประกอบในงานนี้ด้วยคุณค่ากระแสหลักของสังคม ทั้งการแบ่งแยก จำแนก ให้คุณค่าความรู้สูงสุดเพียงวิทยาศาสตร์ ลดค่ามิติทางด้านจิตวิญญาณ พิธีกรรม การร่ายรำภาวนา ศาลพญานาค หรือตัดสินความสัมพันธ์ในงาน เด็ก-ผู้ใหญ่ ชาย-หญิง สงฆ์-ฆราวาส ที่อยู่ร่วม เรียนรู้จากกันได้อย่างเท่าเทียม
หากเมื่อละวางการตัดสินนั้นไป ปล่อยวางว่าสิ่งใดถูกหรือผิด เพียงเปิดใจรับความศักดิ์สิทธิ์เข้ามา โลกที่เคยดูจะถูกแบ่งแยก ตัดขาดออกจากกันก็ดูจะหลอมรวมกลายเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้งด้วย ‘พลังวิเศษ’ ของกลุ่มและธาตุในธรรมชาติ ที่ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งประกอบสร้างให้เกิดเทศกาลให้เราได้มาสนุกสนานกันไปวันๆ หากเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของเรากลับมาหากันใหม่ในวันที่เราถูกทำให้แยกห่าง แตกต่างกันไป
“จะไม่ต่อลมหายใจของสงครามด้วยความโกรธแค้น จะไม่รับเอาความโกรธแค้น ไม่ส่งต่อความเกลียดชัง ในยามใดเพลิงไฟท่วมฟ้าไปในทุกทิศในจักรวาล ยามนั้นขอให้เธอเรียกขานเอ่ยนามความรักแห่งฉัน … ท่ามกลางไฟสงคราม ฉันจะเป็นดอกไม้งอกงาม กลางเปลวเพลิง”
เสียงเพลง โปรดเรียกขานฉันด้วยนามอันแท้จริง ดังก้องในใจขึ้นอีกครั้ง หลังเทศกาล ‘ภูเขาศักดิ์สิทธิ์’ จบไปไม่นาน ข่าวการเข่นฆ่าก็ปรากฏทุกช่องทางสื่อสาร ข่าวร้อนที่ตามมาไม่หยุดตั้งแต่เริ่มต้นทศวรรษใหม่ที่ดูเหมือนว่ายิ่งโลกเคลื่อนหน้าไป ยิ่งถดถอยเสื่อมลง เหตุการณ์ไฟไหม้ป่า การแพร่ระบาดของไวรัส จนถึงเหตุกราดยิง ที่ข่าวยิ่งโหดร้ายเท่าไร จิตใจยิ่งหม่นหมอง ดิ่งลงตามข่าวไปเท่านั้น
เปล่าเลย ไม่ได้ปฏิเสธว่าเรื่องราวเหล่านี้ไม่มีความสำคัญ เพียงแค่ตั้งคำถามว่ายังมีเรื่องราวอื่นอีกหรือเปล่าที่ควรค่าแก่การบอกเล่า เรื่องเล่าจากดอยหลวงเชียงดาว เรื่องราวภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ความสัมพันธ์แนบชิดระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ เรื่องราวที่เล่าขานความจริงใหม่ สร้างเลนส์สายตาใหม่ในการเห็นโลก เข้าใจโลก และรักโลกใบนี้ไปพร้อมกัน
อ้างอิง:
- 1Sonit, Rebecca. (2019). Whose Story Is This? Old Conflicts New Chapters. London: Granta Books.
- 2ติดตามกิจกรรมครั้งต่อไปของ Sacred Mountain Festival ได้ทาง www.facebook.com/sacredmountainfestival
ขอบคุณรูปภาพจาก: วรนุช สุขแสง และ @kelly_andherbooks