คุณเคย… ‘ขอโทษ’ เวลาไม่เห็นด้วย ต้องการแสดงความเห็นใหม่ ที่ต่างไปจากใครในที่นั้น
‘ขอโทษ’ ที่ไม่สามารถทำตามคำขอบางอย่างได้ ทั้งที่ไม่ได้บอกพร่องในหน้าที่อะไร
‘ขอโทษ’ ที่ใส่ใจมากไป ห่วงใยมากไป รักมากเกินไป… บ้างหรือไม่?
เราถูกสอนกันมานานว่า ‘ขอโทษ’ นั้นเป็นเรื่องที่ดี การขอโทษเป็นมารยาททางสังคม ช่วยลดแรงปะทะก่อนที่ความขัดแย้งอาจเกิดขึ้น ใครขอโทษก่อนยิ่งดี อย่าไปยึดถืออัตตาตัวตน…
คำสอนที่เคยถูกพร่ำบอกมาตลอด จนบางทีลืมตั้งคำถาม บางทีก็เผลอโพล่งไปโดยไม่รู้สึกขอโทษด้วยซ้ำ รู้เพียงแค่ว่าต้องกล่าวอะไรบางอย่างเพื่อลดความจริงจังของข้อความ รักษาภาพมารยาทของตัวเอง หรือแม้กระทั่งเพื่อทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดที่เรารู้สึกผิด…
ใช่ การขอโทษเป็นการรักษาเสถียรภาพความสงบทางสังคมที่เราหวงแหนและให้คุณค่ากันนักหนา แต่มันช่วยรักษา peace of mind ความสงบในใจเราได้หรือไม่ เราอาจต้องสำรวจตัวเองแล้วตั้งคำถามกันใหม่
ซูซาน ไฮต์เลอร์ (Susan Heitler) นักจิตวิทยาบำบัด เขียนไว้ในหนังสือ Prescription Without Pills: For Relief From Depression, Anger, Anxiety, and More (2016) ว่าการพูดขอโทษบ่อยๆ ส่งผลต่อความเครียด ความวิตกกังวล เพราะมันไปกระตุ้น Hyperactive Amygdala ส่วนของสมองที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ที่หลายครั้งการใช้คำว่า ‘ขอโทษ’ ในกรณีที่เราไม่ได้รู้สึกผิดอะไรทั้งนั้น เพียงแค่มันง่ายกว่าที่จะเลี่ยงการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เป็นการเอาตัวรอดระยะสั้น แต่กลายเป็นว่าการขอโทษซ้ำไปซ้ำมาย้อนแย้งกับความรู้สึกข้างใน กลับกลายเป็นกดทับตัวเองและความรู้สึกภายในระยะยาวโดยไม่รู้ตัว
เช่น การอยู่ในความสัมพันธ์ที่ใช้ความรุนแรง พอรู้ตัวว่ากำลังจะถูกโจมตีไม่ว่าจะทางวาจาหรือร้ายที่สุดคือทางกาย ความเคยชินกลับทำให้เรารีบกล่าวปกป้องตัวเอง รีบเอ่ยออกมาว่าขอโทษที่ทำอย่างนั้น ที่พูดแบบนั้น …ทั้งที่ไม่ได้ทำผิดอะไร แค่รู้สึกว่าต้องกล่าวอะไรออกไป เพื่อป้องกันตัวเอง เพื่อให้อีกฝ่ายรู้ตัวว่าเราสำนึกแล้ว จนผู้กระทำตัวจริงไม่สำนึกอะไร เราเองก็ไม่ได้แก้ไขหรือปลดปล่อยตัวเองออกจากวงจรนั้น จนกลายเป็นความวิตกกังวลวนอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป
ในขณะที่การขอโทษมากไปทำให้วิตกกังวล ความเป็นมนุษย์ขี้นอยด์ ไม่มั่นใจในตัวเอง ก็ทำให้วิตกกังวลมากเกินไปจน จนเผลอขอโทษออกมาอย่างไร้ความจำเป็นอยู่บ่อยๆ เช่นกัน ขอโทษที่คิดมากไป เป็นห่วงมากไป หรือแม้กระทั่งขอโทษที่ขอโทษมากเกินไป…
การขอโทษแบบนี้ นอกจากจะไม่ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นแล้ว ความหมายของคำว่าขอโทษก็ดูจะน้อยลงไปในความรู้สึกของผู้ฟังอีก อะไรที่มันมากเกินไปความหมายมันก็ดูจะเจือจาง
ในเท็ดทอล์ก How Apologies Kill Our Confidence มายา โยวาโนวิค (Maja Jovanovic) นักจิตวิทยาทางสังคมยกตัวอย่างหลายๆ สถานการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าการกล่าวขอโทษโดยที่ไม่ได้รู้สึกจริงๆ ว่าขอโทษ แต่ขอโทษเพื่อกลบเกลื่อนสถานการณ์บางอย่างนั้นทำให้เรา ‘ตัวเล็ก’ กว่าที่เป็น ทั้งยังส่งผลกับความมั่นใจและการนับถือตนเอง
ทั้งนี้มายาและซูซาน ไม่ได้บอกว่าเราไม่ควรจะขอโทษ คำถามคือเราควรจะขอโทษตอนไหนหรือกล่าวคำว่าอะไรแทนคำนี้ ครั้งต่อไป เวลาจะกล่าวขอโทษ อาจลองตั้งหลักดูก่อนว่าเรารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ หรือไม่ ถ้าเป็นสิ่งที่ทำผิดจริง รู้สึกผิดกับมันจริงๆ กล่าวมันออกไปเลย อย่าเก็บเอาไว้ กล่าวออกไปอย่างจริงใจ ยอมรับความผิดของตัวเอง และให้เรื่องราวที่กระทบใจกันจบลงตรงนั้นด้วยคำว่าขอโทษ
แต่ถ้าในหลายครั้งที่ไม่ได้ทำผิดอะไร ลองทบทวนสถานการณ์ใหม่ หลายครั้งคำว่าขอโทษอาจถูกเว้นไว้ได้โดยไม่ผิดแปลกอะไร เช่น (ขอโทษ) ขอแสดงความเห็นในประเด็น…, (ขอโทษ) ช่วงนี้ยุ่งมาก ไม่สามารถรับงานนี้ได้จริงๆ, (ขอโทษ) เห็นหายไปนาน เลยโทร.หา อยากรู้ว่าโอเคหรือเปล่า…
หรือหลายครั้งที่คำว่าขอโทษ อาจแทนที่ได้ด้วยคำที่อาจดูไม่ได้มีความหมายเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วเรารู้สึกแบบนั้นมากกว่าขอโทษด้วยซ้ำไป คำที่เป็นมารยาททางสังคมเหมือนกัน แต่ส่งผลทางสมองต่างกัน คำนั้นคือคำว่า ‘ขอบคุณ’
มายาเล่าถึงครั้งหนึ่งที่เธอรออาหารอยู่นาน เมื่อพนักงานเสิร์ฟเดินมา เธออยากรู้ว่าเขาจะพูดอะไร แทนที่เขาจะเลิ่กลั่ก กลับกล่าวว่า ‘thank you for waiting’ คำว่าขอบคุณที่เปลี่ยนความรู้สึกของเธอไป กลายเป็นตอบกลับไปว่า ‘you’re welcome’ และทานอาหารต่อไปได้ อย่างไม่มีอะไรติดค้าง
เหตุการณ์ครั้งนั้นที่ทำให้เธอลองเอ่ยคำว่า ‘ขอบคุณ’ ก่อนจะเผลอหลุดคำว่าขอโทษออกมา และพบว่ามันใช้ได้ดีในหลายสถานการณ์ เช่น เวลาเผลอพูดมากไป รู้ตัวอีกทีก็จะเอ่ยคำว่าขอโทษออกมา แทนที่จะพูดออกไปด้วยความเคยชินว่า ขอโทษที่พูดมาก… (ฉันนี่มันแย่จริงๆ) ลองเปลี่ยนเป็น ขอบคุณที่รับฟัง… (พวกเธอเป็นเพื่อนที่ดีจัง)
ครั้งต่อไป ก่อนจะเอ่ยคำว่า ‘ขอโทษ’ ออกไปเพียงเพราะความเคยชิน ลองหยุดตรวจสอบความรู้สึกตัวเองดูก่อนว่ารู้สึกขอโทษจริงๆ เลยต้องพูดออกไป ถ้ารู้สึกผิดจริงๆ พูดออกไปเลย พูดอย่างจริงใจ อย่าลังเลเก็บมันเอาไว้
แต่ถ้าเมื่อไร ที่ไม่ได้ทำผิดอะไร ลองเปลี่ยนใหม่ ทบทวนความหมายของสิ่งที่อยากสื่อสารออกไปว่า ‘ขอโทษ’ จำเป็นต้องอยู่ในประโยคนั้นไหม หรือลองเปลี่ยนใหม่เปลี่ยนจากคำว่าขอโทษ เป็นคำว่า ‘ขอบคุณ’