Self-Esteem

Self-Empathy is the New Self-Esteem

“คนที่ประสบความสำเร็จมากขนาดนั้น มองว่าตนเองล้มเหลวจนเลือกจบชีวิตเพราะพลาดพลั้งครั้งเดียวได้อย่างไรกัน”

        คำถามของ อเล็กซานดรา ไรช์ (Alexandra Reich) แม่ทัพใหญ่แห่งดีแทค ซีอีโอหญิงคนแรกและคนเดียวในวงการโทรคมนาคมของไทยบนเวทีกล่าวเปิดงาน ‘ซูเปอร์โปรดักทีฟ’ ทอล์กโชว์ครั้งแรกของ รวิศ หาญอุตสาหะ ด้วยการตั้งคำถามว่า เราจะโปรดักทีฟไปทำไมกัน ในวันที่มนุษย์ควรทำงานน้อยลง กับสิ่งประดิษฐ์มากมายที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมา

        ในอนาคตที่แจ็กหม่าทำนายไว้ว่ามนุษย์จะทำงานน้อยลงเพียง 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (ไม่ใช่ต่อวัน) ในอนาคตเช่นนั้นที่เครื่องจักรกลจะทำหน้าที่แทนเรา เวลาที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้มนุษย์ผ่อนคลายลง แต่ตึงเครียดมากขึ้นกับการวิ่งวนหาความหมายของตัวตน

        ในอนาคตเช่นนั้น อเล็กซานดรามองว่าสิ่งสำคัญที่แท้จริงไม่ใช่การทำงานหนักประสบความสำเร็จในโลกภายนอก แต่คือการกลับมามองข้างใน ฟังเสียงหัวใจตัวเองว่าต้องการอะไร เห็นอกเห็นใจตนเอง และเห็นแก่ผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน

        อเล็กซานดราเล่าเรื่องชายสองคนที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการใช้ชีวิตของเธอ ผู้ชายสองคนที่มีความปรารถนาไม่ต่างจากเราทุกคนในการได้ทำในสิ่งที่ปรารถนา ความต่างระหว่างชายสองคนนี้คือคุณค่าที่แต่ละคนให้และนิยามคำว่าสำเร็จที่ดูจะต่างกัน

 

        ชายคนแรกเป็น ‘mentee’ ที่เธอเป็นพี่เลี้ยงให้ในบริษัทแห่งหนึ่งสมัยทำงานในยุโรป ชายหนุ่มหน้าตาดี ไฟแรง จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ใครๆ ต่างมั่นใจในตัวเขา และก็น่าจะพอๆ กันกับที่เขาก็มั่นใจในตัวเองกับการไต่บันไดอาชีพขึ้นทุกวัน จนกระทั่งวันหนึ่ง วันที่เขาถูกปฏิเสธจากงานในฝัน บริษัทใหญ่ที่เขามองว่าเป็นหลักไมล์ก้าวต่อไปในสายอาชีพ ความสำเร็จที่ผ่านมาดูจะไม่มีค่าอะไรเมื่อเทียบกับความผิดพลาดก้าวเดียวนี้ ความผิดพลาดที่เขาไม่เคยเจอ ไม่รู้จะจัดการกับมันอย่างไร จนตัดสินใจปลิดชีพตนเอง

        ชายคนที่สองมีชื่อว่า ‘ชิมมี่’ (Chimmi) บุตรบุญธรรมของอเล็กซานดราเอง ชิมมี่เกิดบนเทือกเขาสูงในเนปาล ในช่วงแรกที่เขาและเธอพบกัน เขาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้สักคำ ทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องใหม่ไปเสียหมด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ตู้เย็น หั่นขนมปัง หรือการกอดทักทายกัน แม้ชิมมี่จะขี้อายในช่วงแรกซึ่งไม่แปลกอะไรกับการต้องปรับตัวในสภาพแวดล้อมใหม่เช่นนั้น แต่ความขี้อายของเขา ไม่ได้หมายถึงความไม่เชื่อมั่นในตนเอง ตามที่ผู้คนมักจะเหมารวมความขี้อายไว้เช่นนั้น

        ในความพูดน้อยของชิมมี่ อเล็กซานดราเล่าว่ามีความอ่อนโยน นอบน้อม ความพร้อมที่จะเรียนรู้และทดลองซ่อนอยู่เสมอ แม้จะทำไม่ได้ในช่วงแรก แต่ชิมมี่จะลองทำ ไม่หัวเสียเมื่อพลาด ไม่ว่าจะขับรถ เรียนภาษา ลองไปพลาดไปอยู่อย่างนั้นจนถึงวันที่เขาสำเร็จการศึกษาจากฟินแลนด์ และเมื่ออเล็กซานดรามอบเงินรางวัลเป็นของขวัญเรียนจบ เขาก็ได้นำเงินก้อนนั้นไปซ่อมแซมบ้านพ่อแม่ที่เนปาลซึ่งได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 2015

        ชิมมี่ไม่ได้อ่อนโยนและใจดีกับผู้คนรอบตัวเขาเท่านั้น แต่เขายังอ่อนโยนและใจดีกับตัวเองตลอดเวลาที่ต้องปรับตัวในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ด้วย จนกระทั่งวันนี้ที่เขาดูจะปรับตัวและเติบโตได้อย่างงดงามแล้ว ชิมมี่ก็ยังอ่อนน้อมและมองว่าทุกๆ วันล้วนเป็นของขวัญเมื่อมองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นที่เขาเติบโตมา

        อเล็กซานดราเล่าว่าชีวิตของชายหนุ่มสองคนนี้ ได้สอนบทเรียนสำคัญ ไม่ใช่จะทำอย่างไรถึงจะสำเร็จในชีวิต แต่จะทำอย่างไรถึงจะมีความสุขระหว่างทางที่ก้าวเดิน ในขณะที่กุญแจสู่เส้นทางแรกนั้นอาจเป็น ‘ความมั่นใจในตัวเอง’ (self-esteem) อย่างที่เราได้ยินกันมานาน กุญแจสู่วิถีชีวิตที่มีความสุขและความหมายอาจต่างกันไปเป็น ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ (self-empathy/self-compassion) ต่อตนเอง ความสามารถในการอ่อนโยนกับตนเองได้ในวันที่อะไรอาจไม่เป็นไปตามหวัง แต่ยังประคับประคองให้ตัวเองเดินต่อไปได้แม้หนทางจะยากเพียงใด

 

        คาร์ล โรเจอร์ส (Carl Rogers) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้ที่ทำให้แนวคิด ‘ความมั่นใจในตนเอง’ (self-esteem) กลายเป็นที่แพร่หลายในศตวรรษที่ 20 โดยแนวคิดนี้มีจุดประสงค์แรกเริ่มเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาเด็กให้มีความเชื่อมั่นในตนเองในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้

        ‘ความมั่นใจในตนเอง’ ที่เราต่างถูกพร่ำสอนกันมาว่าเป็นคุณสมบัติที่ดี เป็นสิ่งที่ต้องบ่มเพาะให้เป็นส่วนหนึ่งของตัวตน จนกระทั่งมีงานวิจัยหนึ่งที่ตั้งคำถามว่า ‘ความมั่นใจในตนเอง ส่งผลต่อการทำงานที่ดีขึ้น ความสัมพันธ์ที่ดี ความสุข และวิถีชีวิตที่มีคุณภาพ จริงหรือ?’* งานวิจัยชิ้นใหญ่ที่เป็นความร่วมมือจากอาจารย์หลายมหาวิทยาลัยในอเมริกา ทั้งเยล บริติชโคลัมเบีย บราวน์ ยูทาห์ และฟลอริดา ซึ่งทำการศึกษา เก็บสถิติจากหลายข้อมูล ได้ออกมาเปิดเผยคำตอบต่อคำถามวิจัยครั้งนี้ว่า ความเชื่อมั่นในตนเองไม่ได้นำไปสู่ชีวิตที่มีความสุขอย่างที่ใครว่าไว้

        ‘ความมั่นใจในตนเอง’ ในคำก็บอกอยู่แล้วว่าความสนใจนั้นวางอยู่ที่ตนเองและมักเป็นเรื่องอัตวิสัย (subjective) ขึ้นอยู่กับ ‘มุมมอง’ (perception) ของผู้มอง มากกว่าจะเป็น ‘ความจริง’ (reality) ซึ่งนั่นหมายความว่าจะเชื่อมั่นว่าตัวเองนั้นเก่ง เพียบพร้อม หรือมองว่าตนเองนั้นแย่ ก็สุดแล้วแต่มุมที่ใครคนหนึ่งจะมอง – ไม่ว่าจะเขามองตนเองหรือถูกผู้อื่นมองมา

        ความสนใจที่วางไว้กับตนเอง ที่ ‘ขึ้นอยู่กับ’ มุมมองอัตวิสัยทำให้ระดับความมั่นใจในตนเองมักขึ้นลงผันผวนตามสถานการณ์ภายนอก – ชนะหรือแพ้ สำเร็จหรือล้มเหลว ได้มาหรือเสียไป รักหรือไม่รัก… โดยถ้าหากชนะ สำเร็จ ได้มา ถูกรัก ความเชื่อมั่นนั้นก็ดูจะพุ่งทะยาน แต่หากเป็นข้อหลังด้านตรงข้าม เจ้าความเชื่อมั่นก็ดูจะฝ่อห่อเหี่ยวไป

        ตรงข้ามกับความเชื่อส่วนใหญ่ที่เราต่างเคยเข้าใจ งานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นในตนเองไม่ได้นำมาสู่ความสุข และไม่ได้เป็นหนทางสู่ชีวิตที่ดีได้ด้วยตัวของมันเอง

        แล้วถ้าไม่ใช่ความมั่นใจในตนเอง คุณลักษณะที่เราควรบ่มเพาะให้เติบโตคืออะไร

 

        เรื่องราวของผู้ชายทั้งสองที่อเล็กซานดราเล่าไว้ ทำให้เห็นความต่างระหว่างชายทั้งสองคน – คนแรกนั้นมีความมั่นใจในตนเอง ทั้งจากพื้นฐานชีวิตที่ดี และการทำ ‘สำเร็จ’ มาโดยตลอด แต่เป็นสำเร็จในมุมมองที่ถูกตัดสินโดยประสบการณ์ภายนอก กล่าวคือหากชนะหรือสำเร็จ ได้มาก็เริงร่า หากแพ้หรือพลาดก็ร่วงหล่นลงมา

        ตรงกันข้ามกับ ‘ชิมมี่’ ที่ความพึงพอใจของเขาดูจะไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งเร้าภายนอก อย่างที่อเล็กซานดราได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า มันคือความถ่อมตนในทุกสิ่งที่ได้รับในชีวิต และความกระหายที่จะเรียนรู้ ในการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นในทุกๆ วันต่างหากคือสิ่งที่ผลักดันเขาในทุกๆ วัน

        ความถ่อมตนจนขอบคุณทุกประสบการณ์ที่ได้รับ กระหายที่จะเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยไป แต่ปลอบตัวเองได้ว่า ‘ไม่เป็นไร’ ในวันที่เกิดความผิดพลาด ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ ต่อตนเองที่ต่างจากความมั่นใจในตนเองตรงที่มุ่งไปสู่ระหว่างทาง ไม่ใช่ (เพียง) เป้าหมาย ให้ความสำคัญกับเสียงภายในใจตนเอง ไม่ใช่แค่เสียงภายนอกที่ตะโกนร้องบอกตัดสินว่าอะไรแพ้หรือชนะ สำเร็จหรือล้มเหลว ดีหรือไม่ดี

 

        “การมีความทะเยอทะยานเป็นสิ่งที่ดีในช่วงเริ่มต้น แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือมีความสุขในสิ่งที่ทำ มีความสุขเมื่อประสบความสำเร็จ และมีความอ่อนน้อมอยู่เสมอ พร้อมทั้งแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างทางให้ผู้อื่น ไม่เพียงแค่ถึงเป้าหมายแล้วจบ ก่อนที่เราจะเริ่มออกเดินทาง ขอให้ใช้เวลาสักนิดฟังเสียงหัวใจตัวเอง มันกำลังบอกอะไรกับคุณ และคุณต้องการมันจริงหรือเปล่า”

         สปีชที่เริ่มต้นด้วยคำถามและปิดด้วยคำถาม ที่คำตอบอาจซ่อนอยู่ในเรื่องเล่าของชายทั้งสอง – หรือคำตอบอาจซ่อนอยู่ลึกกว่านั้น ในเสียงข้างในตัวเรา ที่รอคอยให้เราเงี่ยหูฟังตลอดเวลา ว่าแท้จริงแล้วเราทะยานอยากมากมาย เพื่อเราเองหรือการตัดสินของใคร

 


อ้างอิง: * Roy F. Baumeister, Jennifer D. Campbell, Joachim I. Krueger, and Kathleen D. Vohs (2003). “DOES HIGH SELF-ESTEEM CAUSE BETTER PERFORMANCE, INTERPERSONAL SUCCESS, HAPPINESS, OR HEALTHIER LIFESTYLES?”. American Psychological Society: Vol.4 No.1 Retreived Sep 28, 2019, from http://assets.csom.umn.edu/assets/71496.pdf