Subtle Activism

Subtle Activism: ปรับพลังงานในใจ เปลี่ยนความเป็นไปรอบตัว

“ผมได้ยินว่าประมาณ 8 ปีที่แล้ว มีคนตายเพราะการประท้วงกว่า 90 คน ผมสงสัยว่าแล้วทำไมถึงไม่มีคดีอาญาเกิดขึ้นเลย”1

        ‘ชองยุนซอก’ ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ผู้ขึ้นชื่อเรื่องความตรงไปตรงมาในเนื้อหาวิพากษ์สังคมตั้งคำถามซื่อๆ แต่แสบทรวงว่านั่นสินะ ทำไม เราถึงยังแน่นิ่งสงบได้ในสถานการณ์ที่ผ่านมา

        เราโกรธไม่พอหรือเปล่า และถ้าไม่ใช่ความโกรธ ถ้าไม่อยากโกรธแล้ว เหนื่อยมากแล้ว เราจะขับเคลื่อนด้วยอะไรได้อีกบ้าง

 

(1)

        ฝ่าการจราจรหนาแน่นหลังเลิกงานเพื่อไปร่วมวงสนทนายามเย็นที่จัดขึ้น ณ วัชรสิทธา2 พื้นที่ภาวนา ศึกษาเรียนรู้มิติด้านจิตวิญญาณกลางเมืองกรุง ทางเดินห้าชั้นไปสู่ห้องบนสุดของอาคารพงศ์วราภา ทำหน้าที่ราวกับประตูเปลี่ยนผ่าน ปรับพลังงานให้กลับมารู้ตัวกับลมหายใจถี่ๆ ตามก้าวที่เดินขึ้นบันได ค่อยๆ วางสิ่งใดๆ ที่แบกมาไว้ระหว่างการก้าวเดินขึ้นไป

        ‘Subtle Activism’ ชื่อกิจกรรมที่จัดขึ้นในวันนั้น ชื่อที่กระตุกความสงสัย ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่อยากรู้จนต้องพาตัวเองมาที่นี่ หันไปมองอีกกว่าห้าสิบชีวิตที่มารวมตัวกันในเย็นวันนั้น ต่างคนต่างหามุมของตัวเอง ยิ้มทักทายกัน แม้ไม่ได้พูดอะไร แต่รู้สึกได้ว่าเราต่างมี ‘โจทย์’ ที่แต่ละคนกำลังจัดการ และอยากรู้ว่า subtle activism การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงพลังงานนั้นเป็นเช่นไร

       การงาน ความรัก ความสัมพันธ์ หรือความโกรธสังคม โกรธอำนาจกดขี่ โกรธอำนาจเก่าที่ไม่เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ ความร้อนของโลกที่เริ่มส่งผลต่อความร้อนในใจ ความโกรธที่ทำอะไรไม่ได้ และอยากรู้ว่าถ้าไม่ใช่ความโกรธ จะขับเคลื่อนด้วยอะไร

        เพราะใช่ ความโกรธมันขับเคลื่อน แต่มันก็เหนื่อยเหลือเกิน

 

Subtle Activism

Subtle Activism คืออะไร

        Mary Inglis ครูจากฟินด์ฮอร์น ชุมชนจิตวิญญาณทางสกอตแลนด์ เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาถึงสิ่งที่ผู้เข้าร่วมเองก็คงมีอยู่ในใจ คำประสมที่ความหมายดูตรงกันข้ามกัน ‘subtle’ ความละเอียด อ่อนโยน ที่ให้ความรู้สึกคนละขั้วกับ ‘activism’ ที่มักสื่อถึงการเคลื่อนไหว ความรุนแรง การกระทำ การแสดงออก คำสองคำนี้มาผนวกรวมกันได้อย่างไร

        subtle activism แปลไม่ง่ายเท่าไหร่ และการจำกัดความไว้ในนิยาม ‘ความคิด’ ผ่านรูปแบบของคำอาจไม่ถูกเสมอไป เพราะเอาเข้าจริงแล้ว การใช้ความรับรู้ ความรู้สึก ในรูปแบบที่มองไม่เห็น แต่ไม่ได้แปลว่าไม่เป็นจริงคือหัวใจของ subtle activism นี้

        การขับเคลื่อนทางสังคมที่ใช้พลังงานอย่างละเอียด ใช้การปฏิบัติทางจิตวิญญาณเป็นหนทางในการขับเคลื่อน การจัดการกับความขัดแย้งทั้งในระดับตนเอง ความสัมพันธ์ สังคม นานาชาติ และโลก โดยไม่เบียดเบียนชีวิตใดในการต้องเปลี่ยนแปลง

        แมรีเปรียบเทียบ subtle activism เป็นเครื่องปรุงที่ใช้ในการทำอาหาร เปรียบเราเป็นดั่งเกลือเม็ดหนึ่งที่มีมวลสารในตัวของมันเอง มีรสชาติอัดแน่นในเม็ดเกลือนั้นเอง เมื่อเกลือนั้นหย่อนลงไปในหม้อซุป เกลือจะกลายเป็นซุปทั้งหมด แต่รสชาติของเกลือนั้นไม่ได้หายไปไหน เพียงแค่กระจายกลายเป็นรสชาติรวมของซุปหม้อนั้น

        พลังงานอัดแน่นในเราที่เป็นเกลือแต่ละเม็ด เป็นน้ำตาล เป็นพริกไทย เป็นเครื่องปรุงรสชาติต่างๆ ก็เช่นกัน รสชาติที่มาจากเรา เมื่อใส่ลงไปในซุปหม้อนั้นก็จะส่งผลต่อรสชาติทั้งหมดทั้งมวล – แม้รูปร่างของความเป็นเกลือนั้นได้หายไปแล้ว

        subtle activism จึงไม่ใช่การแทนที่ ไม่ใช่ความมุ่งหมายที่จะปรากฏให้เห็น แต่มุ่งทำหน้าที่เป็นพลังงานพื้นฐานที่จะหล่อหลอมให้เกิดสภาวการณ์ใหม่ๆ ไม่หวังจะให้ซุปหม้อนั้นกลายเป็นรสชาติของเกลือไปเสียหมด แต่ทำหน้าที่กลมกล่อม ตัดความหวานไป เค็มไป ปรับพลังงานโดยรวมให้พอดี จากการกลั่นรสชาติในตนเอง – เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของซุปหม้อนั้น แต่ไม่หวังจะเป็นซุปหม้อนั้นเสียเอง เป็นองค์ประกอบของซุปหม้อนั้น โดยไม่ต้องหวังเปลี่ยนแปลงมัน เพียงแค่เป็น… 

 

        แมรีขยายความในเรื่องของการ ‘เป็น’ ว่า subtle activism ไม่ใช่เรื่องของการส่งออกไป ให้ไป กระทำมันออกไป ตามที่หลักการการเคลื่อนไหว (activism) มักจะเป็น เช่น ครั้งหนึ่งที่เธอทะเลาะกับสามี ที่เธอรู้ว่าในนาทีนั้น การบอกคำรัก การแสดงออกให้เขารู้ว่ารัก แทบไม่ส่งผลอะไร สิ่งเดียวที่เธอทำได้คือการ ‘เป็น’ ความรักนั้น พลังงานที่เธอรู้ว่าจะช่วยปรับสภาพแวดล้อมตึงๆ ระหว่างเขาและเธอให้กลับมาผ่อนคลายได้อีกครั้ง การ ‘เป็น’ ความรักที่เริ่มได้จากเธอ ผ่อนคลายตัวเธอก่อน จนค่อยๆ คลายความร้อนรุ่มในใจให้เขาไปด้วย

        และไม่ใช่แค่เรื่องของความสัมพันธ์ subtle activism ยังทำงานในระดับอื่นๆ ไม่ต่างกัน เพราะเราต่างเป็นสนามพลังในตัวเองกันทั้งนั้น สนามพลังที่มองไม่เห็น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีอยู่จริง สนามพลังที่เชื่อมต่อเราเข้ากับพลังงานอื่นๆ ในคลื่นที่ใกล้กัน สนามพลังที่ยิ่งมีมากเท่าไหร่ ยิ่งส่งผลต่อมวลรวมทั้งนั้น

        “ในที่ต่างๆ ทั่วโลก มีกลุ่มคนมากมายกำลังทำอะไรบางอย่างเพื่อเกื้อหนุนโลกและจักรวาลอยู่เสมอ แม้ว่าเราจะอยู่ในช่วงเวลาที่รับรู้ไม่ได้ มองไม่เห็นใคร ก็ให้เริ่มจากตัวเอง เราเป็นอย่างไร สนามพลังงานของเราก็เป็นอย่างนั้น มันมีการเชื่อมโยงถึงกันกับสนามพลังงานใหญ่อยู่ตลอดเวลา…”

        เหมือนกับรสชาติของเกลือ น้ำตาล พริกไทยในซุปหม้อนั้น หากเราเห็นว่าซุปนั้นหวานไป เค็มไป จืดไป อยากได้รสชาติไหนก็จงเป็นรสชาตินั้นที่เราต้องการเสริม เพิ่มให้กับมัน เพราะเราต่างเป็นเศษส่วนหนึ่งของทั้งหมด (fractal of the whole) ไม่ปรากฏ ไม่เห็นในภาพที่เป็น แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีอยู่จริง

เราจะสามารถปฏิบัติ subtle activism ในชีวิตจริงได้อย่างไร

        subtle activism อาจฟังเป็นคำใหม่ แต่แท้จริงแล้วอยู่บนฐานของการปฏิบัติภาวนาที่ไม่ได้ถูกจำกัดในความเป็นศาสนาใดๆ หากคือการกลับมารับรู้ อยู่กับความจริงที่ปรากฏ รับรู้ถึงสภาวะที่กำลังเกิดขึ้นในตัวตน – ร้อนไป เย็นไป โกรธไป เฉยชาเกินไป … แล้วค่อยๆ กลับมาปรับสภาวะทางใจให้ ‘เป็น’ สภาวะที่ปรารถนา – เป็นสิ่งนั้นเองจากตนเอง ไม่เพ่งเล็งไปที่ภายนอกให้เป็นอย่างที่ใจต้องการ

        เป็นการปลดปล่อยท่ามกลางความกดขี่ เป็นการอภัยไม่คิดแค้นท่ามกลางความโกรธ เป็นความอ่อนโยนท่ามกลางความรุนแรง เป็นการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเราเอง

 

(2)

        ฝนตกหนักจนบานกระจกสั่นระหว่างกิจกรรมสามชั่วโมงค่อยๆ ซาลงแล้ว ข้างนอกมืดสนิท ความสว่างของพระอาทิตย์เมื่อยามมาถึงหายไป เหลือเพียงเสียงผู้คนบนถนนสี่แยกพิชัย แสงไฟและเสียงรถจอแจที่หายไป พอๆ กับความร้อนวูบวาบบางอย่างในใจดูจะคลี่คลายลง

        ความร้อนที่ค่อยๆ ผ่อนคลายซึ่งไม่รู้ว่าจะส่งผลต่อสนามพลังอะไรยิ่งใหญ่กว่าตัวเราตามที่แมรี่บอกไหม แต่สิ่งเดียวที่รับรู้ได้อย่างแท้จริง ชัดเจน คือความเบาที่เกิดขึ้นในใจ ความวางใจในอะไรบางอย่างที่ถึงแม้จะยังไม่เห็นอะไรที่เปลี่ยนไป แต่รับรู้ได้ถึงพลังละเอียดอ่อนโยนในการเป็นเศษส่วนเล็กน้อยที่ย่ิงใหญ่ในกระแสธารแห่งความเปลี่ยนแปลง 

 


อ้างอิง:

  • 1‘สังคมไทยยังโกรธไม่พอ’ มองไทยจากมุม ‘ชองยุนซอก’ นักทำหนังสายวิพากษ์ จาก https://prachatai.com/journal/2018/08/78208
  • 2ติดตามกิจกรรมได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ วัชรสิทธา