Summer has come and passed. The innocent can never last. Wake me up when September ends. —ฤดูร้อนผ่านมาแล้วผ่านไป ความบริสุทธิ์สดใสอยู่กับเราไม่นาน ปลุกฉันที ในวันที่เดือนกันยายนผ่านพ้นไป…
ประโยคอมตะในเพลง Wake me up when September ends อัลบั้ม American Idiot (2004) ของ Green Day ยังคงเป็นเพลงที่ถูกหยิบมาเปิดซ้ำในเดือนกันยายนไม่ว่าจะผ่านพ้นไปกี่ปี ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ จะเป็นวลีติดตลกงานเยอะในช่วงค่อนปลายปี ปลุกฉันทีเมื่อเดือนนี้ผ่านพ้นไป หรือมีเหตุการณ์ความเศร้าอะไรบางอย่างที่ไม่อยากจดจำในช่วงปลายฝนต้นหนาวในเดือนกันยายน
เหตุผลข้อหลังเป็นเหตุผลที่ทำให้ บิลลี โจ อาร์มสตรอง (Billie Joe Armstrong) นักร้องนำและมือกีตาร์วงกรีนเดย์เขียนเพลงนี้ขึ้นมา หลังพ่อของเขาจากไปด้วยโรคมะเร็งในวันที่เขาอายุเพียง 10 ปี เขาเล่าให้ฟังถึงที่มาของเพลงนี้ว่า หลังเสร็จสิ้นงานศพพ่อ เขาเอาแต่ขังตัวเองอยู่ในห้อง ปฏิเสธที่จะรับรู้ความเป็นจริงว่าพ่อได้จากไป ไม่เปิดประตูให้ใครเข้ามา แม้แต่แม่ของเขาที่คอยเคาะประตูด้วยความเป็นห่วง เขาก็ได้แต่ตอบกลับไปว่า “กันยายนผ่านไปเมื่อไร แม่ค่อยมาปลุกผมแล้วกัน” …ความรู้สึกสูญเสียของเด็กวัยสิบปีในวันนั้น กลายเป็นที่มาของชื่อเพลงในตำนาน Wake me up when September ends ที่เรายังร้องขานมาจนวันนี้
แม้หลายคนจะตีความว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่วงแต่งเพื่ออุทิศให้กับเหตุวินาศกรรมในวันที่ 11 กันยายน 2001 หรือ ‘9/11’ ตามชื่อของอัลบั้ม American Idiot ด้วยความที่แทบทุกแทร็กในอัลบั้มนี้ล้วนพูดถึงประเด็น coming of age การก้าวพ้นวัย ทั้งในเชิงความเป็นนักร้องวัยรุ่นที่กำลังก้าวผ่านความเป็นเด็กสู่ผู้ใหญ่ และการอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ขณะนั้นกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 และก้าวผ่านเหตุการณ์สำคัญอย่าง 9/11 ที่เปลี่ยนโลกของผู้อยู่ในเหตุการณ์ เปลี่ยนสังคมอเมริกัน และความสัมพันธ์ของนานาประเทศไปตลอดกาล
ไม่ว่าที่มาของเพลงจะเป็นเรื่องราวส่วนตัวของพ่อ หรือเรื่องราวร่วมกันของคนในสังคม ร่องรอยอารมณ์ความเศร้าที่ยิ่งพยายามจะหนีเท่าไหร่ ยิ่งแจ่มชัด กระแทกกระทั้นความรู้สึก จนส่งผลให้เพลงนี้มีท่วงทำนองสะเทือนอารมณ์ เป็นบทเพลงในตำนานทั้งของวง Green Day และบทเพลงอมตะประจำเดือนกันยายน
การวิ่งหนีความเศร้า ปฏิเสธมันไป อย่าปลุกฉันให้มาเผชิญหน้ากับมัน ดูจะไม่ใช่แค่เป็นเรื่องส่วนตัวของบิลลีเท่านั้น หากยังเป็นวิธีการที่เราหลายคนทำโดยไม่รู้ตัวเมื่อสูญเสียคนสำคัญในชีวิต
‘Grief’ ความทุกข์โศกทรมานเป็นความเจ็บช้ำทางจิตใจอย่างหนึ่งที่เวลาเกิดขึ้นมา บีบคั้นหัวใจแต่ทำอะไรไม่ได้ จิตใจจึงไปบงการสมองให้ลืมมันซะ จะได้ไม่ต้องรับมือกับความเจ็บปวดนี้
แต่จูเลีย ซามูเอล (Julia Samuel) ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาบำบัดด้านการรับมือความเศร้า เล่าไว้ในหนังสือ Grief Works: Stories of Life, Death, and Surviving (2007) ว่าประสบการณ์ทำงาน 25 ปีของเธอได้สอนบางอย่างเกี่ยวกับความสูญเสีย ว่าถ้าหากเรารู้จักรับมือกับมัน การสูญเสียนั้นจะเป็นบทเรียนสำคัญที่ไม่ใช่แค่เพียงเกิดขึ้นผ่านไป แต่จะสอนให้เราเข้าใจชีวิต
การเผชิญหน้าคือขั้นตอนแรกที่จูเลียแนะนำไว้ ไม่ว่าจะฟังดูขวานผ่าซากหรือกำปั้นทุบดินยังไงก็ตาม
“เมื่อสูญเสีย ทุกความรู้สึกในใจคุณจะถูกบดขยี้ เรื่องเล็กน้อยที่สุดส่งผลใหญ่โตได้เสมอ ความจริงก็คือคุณต้องทำงานกับความรู้สึกเจ็บปวดนั้น ต้องอนุญาตให้มันเกิดขึ้น ความเจ็บปวดนั้นเป็นเครื่องเหนี่ยวนำการเปลี่ยนแปลง มันช่วยพาคุณเปลี่ยนผ่านไปสู่ความจริงใหม่ๆ”
การยอมรับนั้นเป็นขั้นแรกในการรับมือความสูญเสีย ในขณะที่การวิ่งหนีความจริงนั้นไม่ช่วยอะไร อาจปิดหูปิดตาให้ช่วงเวลานั้นผ่านไปได้ในระยะสั้น แต่คุณจะไม่มีวันหายจากความเจ็บปวดที่ขยี้ใจในระยะยาว
จากประสบการณ์ตรงในชีวิต จูเลียแบ่งความสูญเสียออกเป็นสองประเภทคือความสูญเสียที่คาดการณ์ไว้ก่อน และความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เธอเล่าว่าแทบทุกความสูญเสียในชีวิตเธอเป็นสิ่งที่คาดไว้มาก่อน ยกเว้นการสูญเสียครั้งหนึ่งที่ไม่ได้นำมาซึ่งความเศร้าแค่เธอเองแต่กับคนนับล้าน – อุบัติเหตุของเจ้าหญิงไดอานา เพื่อนของเธอ ปรากฏการณ์ที่ผู้คนนับล้านออกมาแสดงความเศร้าโศกเสียใจ มีเรื่องราวบันทึกของเจ้าหญิงไดอานามากมายให้เราได้จดจำ ทำให้เธอเห็นความแตกต่างระหว่างยุคสมัยในวันนี้กับยุคพ่อแม่ของเธอหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่พวกเขาไม่มีแม้แต่ช่องว่างในการได้จัดการกับความเสียใจนั้นด้วยซ้ำ พวกเขาเพียงต้องใช้ชีวิตต่อไป และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม war trauma ยังคงเป็นแผลในใจต่อไปกับคนรอบข้างและลูกหลานของผู้เสียชีวิตในสงคราม ไม่ว่ามันจะผ่านพ้นไปนานกี่ปี
ทั้งประสบการณ์ทำงาน เรื่องราวส่วนตัวกับการเสียเพื่อนของเธอ และการได้เห็นความต่างระหว่างยุคสมัยในการรับมือกับความเศร้า จนทำให้เธอเห็นว่าการพูดคุยอย่างเปิดเผย การเผชิญหน้าเมื่อความสูญเสียเกิดขึ้นนั้นสำคัญต่อการใช้ชีวิตของผู้ที่ยังต้องอยู่ต่อไปอย่างไร
การได้พูดคุยกับใครสักคน หรือแทนที่จะคร่ำครวญส่วนที่คิดถึงที่สุดเกี่ยวกับเขาหรือเธอผู้จากไป (ไม่ว่าจะจากเป็นหรือจากตาย) จูเลียแนะนำให้จดจำส่วนนั้นเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นความสดใสในแววตาเวลายิ้ม ความใจดีมีเมตตากับคนรอบข้าง ความคิดต่าง ท้าทาย กระตุ้นให้เห็นโลกมุมใหม่ได้เสมอ ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามเกี่ยวกับเขาหรือเธอ จูเลียบอกว่าให้จดจำมันไว้ จดจำจนสิ่งนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของคุณ ราวกับเขาไม่ได้จากไปไหน
หรือหากไม่รู้จะพูดกับใคร เรื่องอ่อนไหวแบบนี้บางทีก็ไม่ใช่จะพูดกับใครได้ง่ายๆ ก็ลองเขียนมันออกมา คลายความเศร้าอัดแน่นมาเป็นเส้นสายตัวอักษร เขียนความรู้สึกออกมาอย่างซื่อตรง จริงใจ อย่างที่บิลลีได้เขียนระบายความเศร้าที่มีต่อพ่อของเขาในบทเพลง…
Here comes the rain again, falling from the stars.
Drenched in my pain again, becoming who we are.
As my memory rests but, never forgets what I lost.
Wake me up when September ends.
หยาดฝนพรั่งพรูโปรยปราย ดวงดาวพร่างพรายร่วงหล่นจากฟ้า ความเจ็บปวดเปียกโชกไปด้วยน้ำตา กลายมาเป็นเราในวันนี้ วันที่คลื่นความทรงจำกลับสงบ แต่ไม่เลย ไม่เคยลืมเลือนสิ่งที่ผ่านพบเพื่อจากลา ปลุกฉันที ในวันที่เดือนกันยายนผ่านพ้นไป…