Love Actually: เราเติบโตผ่านความสัมพันธ์

ฉันจำไม่ได้ว่ารับเอาเพลง Love ของ จอห์น เลนนอน เข้ามาสู่ชีวิตตอนไหน ก็คงเป็นช่วงวัยรุ่นนั่นล่ะ เพียงแต่ไม่แน่ใจว่าตอนนั้นเรารู้จักรักใครแล้วหรือยัง แต่ฉันก็โอบรับเพลงรักที่สุดแสนจะใช้ศัพท์เรียบง่ายนี้ไว้ในชีวิตมาจนทุกวันนี้ ทุกครั้งที่พูดคุยกับใคร หรือผุดคิดลำพังว่ารักคืออะไร เพลง Love มักแว่บเข้ามาเสมอ

 

“Love is real, real is love

Love is feeling, feeling love

Love is wanting to be loved…”

 

         ฉันไล่ดูเนื้อร้องตามไปจนจบเพลง ความรักของจอห์นคือหลายสิ่งอย่างที่ล้วนสวยงามทั้งนั้น

        สำหรับฉัน ความรักมีเรื่องของมุมมองและความเชื่อส่วนบุคคลเกี่ยวพันในนั้นมากอยู่ เพราะแม้วิทยาศาสตร์สามารถอธิบายการทำงานของสมองที่เป็นต้นตอของความรู้สึกรักได้ แต่กลับยังเหลือค้างคำถามที่ไกลโพ้นกว่า นั่นคือคนสองคนมาพบกันได้อย่างไร ทำไมต้องคนคู่นี้ ทำไมต้องเป็นคุณ ทำไมต้องเป็นฉัน ทำไมต้อง ณ จุดตัดนั้นของชีวิต ปริศนานี้ยังรอการคลี่คลาย

        ในเมื่อวิทยาศาสตร์ไม่สามารถสร้างความกระจ่างทั้งหมดได้ ฉันถึงว่าบางเรื่องของความรักไม่อาจชี้ถูกผิด มีแต่เห็นตรงหรือเห็นต่างก็เท่านั้น

        การพูดถึงความรักที่ไม่รู้จะหยิบคำไหนมาเป็นนิยามหนึ่งเดียวเป็นเรื่องยากต่อฉันมาก สารภาพว่าก่อนเขียน ฉันเริ่มต้นแบบซื่อๆ ด้วยการเปิดดูความหมายของคำว่า ‘รัก’ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งให้ความหมายไว้ว่า คือ ‘การมีใจผูกกันด้วยความห่วงใย มีใจผูกพันด้วยความเสน่หา มีใจผูกพันฉันชู้สาว’

        นั่นหมายความว่า รักเป็นความรู้สึกที่ต้องประกอบขึ้นด้วยสองบุคคลขึ้นไป หรือแม้แต่รักเขาข้างเดียว อย่างไรก็ต้องมีอีกคนให้ได้แอบรัก ขณะที่ความสัมพันธ์ก็ต้องอาศัยสองบุคคลขึ้นไปเช่นกัน ฉะนั้น จึงง่ายกว่ามาก หากฉันจะเขียนเรื่องรักผ่านความสัมพันธ์ จากมุมมองของผู้หญิงที่รักในความรัก เคยแอบรัก เคยถูกรัก เคยสมหวัง เคยผิดหวัง เคยนอกใจ เคยถูกนอกใจ เคยไม่น่ารัก จากประสบการณ์รักและความสัมพันธ์เท่าที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตได้

 

        กลับไปที่เพลงตั้งต้น ทุกครั้งที่ฉันร้องคลอมาถึงท่อน “Love is knowing we can be.” ฉันมักร้องผิดติดปากเป็น Love is growing. อยู่เสมอ อย่างไม่ตั้งใจ แต่ดันไปพ้องกับความเชื่อส่วนตัวคือ ‘เราเติบโตผ่านความสัมพันธ์’

        ฉันพบแนวคิดนี้ครั้งแรกในหนังสือเรื่อง Only Love is Real เขียนโดย ดร.ไบรอัน แอล. ไวส์ (แปลโดย มณฑานี ตันติสุข) อ่านในวัยที่เรื่องรักเริ่มเป็นเรื่องใหญ่ของชีวิต ฝันจะเจอคนที่ใช่ หวังจะได้ความรักที่ดี แล้วหนังสือเล่มนี้ก็มาบอกฉันว่าความรักที่ดีต้องวัดกันที่คุณภาพของความรักและการเติบโตของจิตวิญญาน ฉันร้องเหวอ ยากจัง ก็อะไรเล่าที่จะบอกเราให้รู้ว่า นี่ล่ะ รักที่มีคุณภาพ นี่เอง จิตวิญญาณที่เติบโตขึ้น

        เอาเข้าจริง ในวันและวัยนั้น เมื่ออยู่ในความสัมพันธ์ ฉันไม่เคยได้นั่งไตร่ตรองเลยว่านี่เรากำลังมีความรักที่มีคุณภาพอยู่หรือเปล่า ไม่เคยตรวจสอบตนเองว่าจิตวิญญาณเราเติบโตขึ้นบ้างไหม ฉันรู้แค่ว่าฉันรักคนนี้ แล้วความสัมพันธ์ก็ดำเนินไป มียามสุข มียามเศร้า มีเหตุให้เลิกรา ฉันเสียใจ รู้ตัวอีกที ก็พบรักใหม่ แล้วก็วนลูป สุข เศร้า เลิก และมีรักอีกครั้ง

        ช่วงวัยรุ่นที่ยังเฝ้าฝันถึงรักแท้ ความรักของฉันวนเป็นงูกินหางอย่างน่าเบื่อหน่าย

 

        กระทั่งสองสามปีก่อนจะเจอคนรักคนปัจจุบัน น่าจะสักปี 48 หรือ 49 ได้ ฉันได้อ่านหนังสือที่มณฑานี ตันติสุข เขียนไว้อีกเล่ม หนังสือชื่อ ผู้หญิงฉลาดรัก มีอยู่บทหนึ่งแจกแจงไว้ว่ารักที่ดีควรเป็นแบบไหน ข้อหนึ่งที่ตรึงความสนใจของฉันคือ หากใช่ความรัก สองคนจะดึงด้านที่ดีของกันออกมาโดยอัตโนมัติ แต่… “แม้เลิกกัน คุณก็ยังนำบทเรียนที่ได้มาสอนใจ” เหมือนมีเสียงดีดนิ้วดังขึ้นในหัวของฉัน

        ความรักที่ดีคือสุดใฝ่หาก็จริง แต่รักที่ต้องจบลงก็ใช่ว่าจะหมดดีไปด้วย รักครั้งที่ผ่านๆ มาของฉันอาจด้อยคุณภาพในแง่ของการดึงด้านดีของกันออกมา แต่ทุกความสัมพันธ์ก็ได้สร้างการเติบโตบางอย่างในตัวฉันอย่างไม่ทันรู้ นั่นคือ ทุกครั้งที่เริ่มต้นความรักครั้งใหม่ ฉันมักแน่วแน่กับตัวเองเสมอว่าอย่าผิดเรื่องซ้ำ อย่าจบกันด้วยสาเหตุเดิม ชีวิตมันจะไม่พัฒนาไปไหน

        การพบกันของสองคนอาจเป็นเรื่องของโชคชะตา แต่ตัวตนดั้งเดิมของเรานี่สิที่เป็นหัวเชื้อที่นำไปสู่สถานการณ์ต่างๆ ในระหว่างการคบหา ความสัมพันธ์คือพลังงานที่ถ่ายเทกันไปมา ทุกๆ เรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในข้อขัดแย้ง จะกระตุ้นหรือเรียกร้องให้เราแสดงธาตุแท้ภายใน ใจเย็นหรือใจร้อน อ่อนโยนหรือแข็งกร้าว คิดเร็วหรือตัดสินใจช้า และอีกนิสัยหลายแหล่ที่ประกอบขึ้นเป็นเราจะเผยออกมาขณะตอบสนองเหตุการณ์ตรงหน้านั้น ซึ่งบ่อยไปที่ความเป็นเรานี่ล่ะที่เป็นตัวทำลายความสัมพันธ์

        ความสัมพันธ์ไร้คุณภาพอาจเหมือนบทเรียนที่เราต้องสอบให้ผ่าน เมื่อสอบผ่านบทเรียนนี้แล้วถึงได้เลื่อนชั้นไปสู่บทเรียนใหม่ ได้เรียนกับครู (คู่) คนใหม่ในเรื่องที่สูงส่งขึ้น แต่หากสอบตกซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราอาจต้องกลับสู่บทเรียนเดิม แถมอาจต้องเจอครูอีกคนที่สอนด้วยวิธีที่เข้มข้นกว่าเพื่อพาเราสอบผ่านไปให้ได้ จนกว่าเราจะเจอความรักที่ถูกคู่ และชีวิตมักจะจัดข้อสอบมาให้เราได้อย่างน่าอัศจรรย์เสมอ

        การสอบตกแล้วต้องเจอกับบทเรียนซ้ำซากเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับฉันมาก ความสัมพันธ์ในแพตเทิร์นเก่า แค่เปลี่ยนตัวแสดงไป เหมือนเดินย่ำเท้าอยู่กับที่ที่เหนื่อยพอๆ กับการเดินไปข้างหน้า แต่กลับไม่ได้เดินไปไหนไกล แต่โชคดีเหลือเกินที่มนุษย์มีจิตอิสระเป็นอำนาจ เราเลือกได้ว่าจะยอมจำนนแค่ตรงนั้น หรือทำความเข้าใจแล้วแยกย้ายกันไปเติบโตในเส้นทางอื่นที่ดีกว่า จะเอาแต่เฝ้าโทษว่าอีกฝ่ายเป็นคนผิด หรือหันมองตนเองด้วยเพื่อแก้ไขไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

        การเรียนรู้ที่จะไม่ทำผิดในเรื่องซ้ำเป็นการเติบโตขึ้นในทางหนึ่งของมนุษย์ Personal Growth ไม่ใช่แค่ดีต่อรักครั้งใหม่ เหนืออื่นใดคือดีต่อตัวเราเองที่สุด เมื่อมีรัก สองฝ่ายจะยิ่งเกื้อกูลอุ้มชูกัน นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีโดยปริยาย ตามธรรมชาติ ร่างกายเพิ่มขนาดเพื่อขยายการใช้ชีวิต ภายในของเราก็จำเป็นต้องขยายใหญ่ขึ้นเพื่อการเป็นคนที่ดีขึ้นและมีรักที่ดีขึ้นเช่นกัน

        คนที่ไม่ได้กำลังอยู่ในความสัมพันธ์ฉันคนรักกับใคร ฉันก็ยังเชื่อว่าเราสามารถเติบโตขึ้นได้ในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ พ่อลูก แม่ลูก พี่น้อง เพื่อนพ้อง ลูกจ้างเจ้านาย หรือในสถานการณ์ที่ใครบางคนเข้ามาสอนให้เราตื่นรู้ในบางเรื่อง

 

        มีโควตหนึ่งของ จอห์น เลนนอน ที่ฉันชอบมาก “Love is the flower you’ve got to let grow.” ความรักของจอห์นเป็นดอกไม้อีกต่างหาก และแน่นอนว่าหากต้องการเห็นดอกไม้แบ่งบาน เราต้องให้เวลามันได้เติบโต