Love Actually: เมื่อเข้าใจ เราจะโกรธกันไม่ลง

หนึ่งในละครที่ฉันกำลังชอบมาก คือเรื่อง วัยแสบสาแหรกขาด ที่สะท้อนปัญหาด้านพฤติกรรมและความสับสนของเด็กวัยเรียนวัยรุ่น เล่าผ่านโครงการของโรงเรียนที่ช่วยเข้าไปคลี่คลายถึงต้นตอปัญหา ซึ่งล้วนมีที่มาจากครอบครัว มาจากพ่อและแม่ที่เป็นโลกใบแรกของพวกเขา จากญาติพี่น้องที่เป็นสิ่งแวดล้อมแรกที่เด็กมี ในโอบอ้อมที่ควรเป็นต้นธารของความรัก บางบ้านกลับอ้างว้าง เป็นความรุ่มร้อนที่เด็กอยากวิ่งหนี หรือเป็นระเบิดเวลาที่สามารถปลิดชีวิตที่กำลังเจริญเติบโตให้เป็นจุณได้ทุกเมื่อ

        ในภาค 2 ที่ทีมละครใช้คำว่าโครงการ 2 ครูทรายทิพย์ และ ผอ. กร แต่งงานกันแล้วค่ะ และยังคงจับมือกันสานต่อโครงการที่ทั้งคู่ร่วมปลุกปั้นมาในภาคแรก ภาคนี้จึงไม่ใช่แค่การเล่าถึงปัญหาของเด็กๆ เท่านั้น แต่ยังแซมแทรกประเด็นระหว่างผู้ใหญ่ด้วยกันเองไว้อยู่มาก

        ฉากหนึ่งในวงประชุม ผอ. กร ไถ่ถามถึงความคืบหน้าในแนวทางการแก้ปัญหาของเด็กแต่ละเคส ครูทรายรายงานว่ากำลังอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูล ซึ่งเป็นคำตอบที่คนถามไม่พอใจนัก ผอ. กร หงุดหงิด ขึ้นเสียงใส่ทีมงาน โดนหมดไม่เว้นแม้แต่ภรรยาที่ตอนนี้กำลังสวมหมวกครูผู้นำโครงการ เขาตำหนิเธอต่อหน้าลูกน้องที่นั่งประชุมด้วย

        คืนเดียวกันนั้น ในบ้านที่ทั้งสองอยู่ร่วมในฐานะสามีภรรยา กรถามคนรักว่าโกรธเขาหรือไม่ ทรายตอบว่าเธอจะโกรธเขาได้อย่างไรกัน เพราะยอมรับว่าเธอเองก็ทำงานชักช้าอยู่มาก และที่สำคัญกว่าคือเธอเข้าใจว่าเขาจริงจังกับโครงการนี้แค่ไหน แล้วไหนจะความกดดันที่กำลังแบกไว้บนบ่า เขาต้องการพิสูจน์เจตนารมณ์แน่วแน่ให้แม่ของตนเห็น ขณะที่ครูบางส่วนของโรงเรียนไม่เห็นด้วย ผู้ปกครองบางคนมองว่าเด็กในโครงการนี้คือรอยด่างพร้อย

        ทรายทิพย์เป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาแก่เด็กและครอบครัว เธอจึงมีวุฒิภาวะมากพอที่จะเข้าใจความรู้สึกขุ่นมัวที่ถูกกวนขึ้นในใจของสามี มองเห็นว่าอะไรคือชนวนที่ทำให้เขาแสดงท่าทีเช่นนั้น

 

        ฉันเล่าถึงละครมายาวเหยียด จุดประสงค์หนึ่งก็คืออยากชวนให้ลองดูละครเรื่องนี้กันค่ะ ทั้งคนที่เป็นพ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยเรียน ทั้งคนที่กำลังอยู่ในช่วงการปรับตัวของชีวิตสมรส อีกประเด็นที่อยากชวนคุยถึงก็คือฉากในละครที่ยกมาเล่าข้างต้น

        เวลาที่คนรักของเราชวนทะเลาะหรือแสดงอาการที่ไม่น่ารักออกมา ไม่ว่าจะฉุนเฉียวหรือเงียบบึ้งใส่ สักกี่ครั้งกันคะที่เราจะสงบและมองอย่างลึกซึ้งถึงข้างในของอีกฝ่ายได้อย่างครูทราย

        การทำความเข้าใจในคนอื่นเป็นเรื่องยากมาก เพราะเอาแค่เข้าใจตัวเองให้ได้ยังแสนยากเข็ญ แล้วยิ่งเราๆ คือคนธรรมดา เป็นพนักงานษริษัท เป็นคนทำมาค้าขาย ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านจิตวิทยา และมีใช่ไหมที่บางเวลา ระดับวุฒิภาวะในความสัมพันธ์ของเราลดต่ำลงได้อย่างน่าตกใจ แต่ถึงอย่างนั้น คำว่า ยาก ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่สามารถ เสมอไป

        ฉันเชื่อว่าเราทุกคนต่างยังมีเด็กเล็กๆ อยู่ในตัว เด็กที่พร้อมงอแงได้ทุกเมื่อที่ไม่ได้ดั่งใจ เด็กที่ร้องจ้าได้ง่ายๆ เมื่อรู้สึกหวาดกลัว เด็กที่เอาแต่ใจเมื่อรู้สึกไม่เป็นที่รัก ย้อนนึกถึงวัยที่ยังไม่รู้เดียงสา เราช่างไร้เหตุผล เรารู้แค่เราหิว เราร้อน เราหนาว เราอยากเล่น เราง่วงนอน เราต้องการการตอบสนองกลับมา เมื่อไม่ได้อย่างที่ปรารถนา บางครั้งเราทำถึงขั้นอาละวาดได้

        เติบใหญ่ขึ้น เรื่องทุกข์ร้อนของเราก็ทบทวี หลายหนเชียวที่ความกลัว ความกลุ้มกังวล ความไม่ได้ดั่งใจในร่างกายที่ใหญ่โตนี้ ได้ปลุกเด็กที่ยังไม่รู้เหตุรู้ผลในตัวเราให้ตื่นขึ้นมา ข้างในของเราลงไปชักดิ้นชักงอแล้ว ร้องไห้จ้าแล้ว อยู่ที่ว่าจะแสดงพฤติกรรมใดออกมาให้เห็น

        หากแต่ยามที่เราเผลอทำตัวไม่น่ารักใส่คนรัก ไม่ได้แปลว่าเราไม่รักเขาแล้ว หรือเราเป็นคนไม่น่ารักโดยเนื้อแท้ เช่นเดียวกัน หากสักครั้งที่คนของเราจะไม่น่ารักใส่เราบ้าง นั่นต้องมีอะไรสักอย่างที่เป็นตัวขับให้เกิดพฤติกรรมนั้น ในละคร กรไม่ได้ตั้งใจอารมณ์ร้อน ไม่ได้ต้องการทำให้ภรรยาเสียหน้า แค่ข้างในของเขากำลังเป็นกังวล

        ผอ. กร ไม่ได้หัวร้อนแค่ครั้งนั้นครั้งเดียวค่ะ แต่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีกครั้ง เพื่อนครูของทรายถามเธอว่าไม่โกรธเขาเลยจริงๆ หรือ ทรายบอก “ก็หงุดหงิดบ้าง แต่เข้าใจเลยไม่โกรธ”

        เมื่อไหร่ที่เราเผลอทำตัวไม่น่ารัก ลึกๆ แล้วเราก็แค่ต้องการให้คนที่เรารักหยิบยื่นความเข้าใจให้ ไม่ใช่การลงโทษกลับ หากวันใดที่คนรักของเราตกอยู่ในภาวะนั้นบ้าง การเยียวยาที่เขาต้องการก็ไม่ต่างไปจากที่เราปรารถนา การทำความเข้าใจอีกฝ่ายว่าอะไรคือแรงผลักดันของพฤติกรรมนั้นๆ จึงจำเป็น คนของเราเพิ่งผ่านเรื่องอะไรมา มีความทุกข์ร้อนใดติดค้างอยู่ในใจเขา ความเข้าใจดูจะเป็นทางออกเดียวที่ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียดได้

 

        เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ฉันเองพยายามมาตลอดในความสัมพันธ์ ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง คนข้างๆ ฉันก็คงเช่นนั้น เพราะบางทีฉันก็งี่เง่าเกินจะเข้าใจ แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือเรายังพยายาม ตราบใดที่ยังรัก เราปฏิเสธการทำความเข้าใจต่อกันไม่ได้

        ในรายการ Super Soul Sunday หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ สนทนากับ โอปราห์ วินฟรีย์ ท่านให้คาถา (Mantra) หรือแนวทางการสื่อสารในความสัมพันธ์ไว้ ข้อหนึ่งนั้นคือ เราจะพูดอย่างไหร่เมื่อคนรักกำลังเป็นทุกข์ มีวิธีใดที่เราจะช่วยคลายความทุกข์ของอีกฝ่าย

        คาถาของท่านช่างเรียบง่าย สงบ และสุดแสนดีงาม

        “Darling, I know you’re suffering. That is why I am here for you.—ที่รัก ฉันรู้ว่าเธอกำลังเป็นทุกข์ และฉันอยู่ตรงนี้กับเธอแล้ว”

        หลวงปู่บอกว่า ปัจจุบันขณะที่เรามอบให้เขานี่ล่ะที่ช่วยให้ทุกข์บรรเทาเบาบางลง ต่อจากนั้นก็คือฟังเขาอย่างตั้งใจและเข้าใจ

        ฉันไม่เคยได้ใช้ประโยคนี้ของท่านเลยค่ะ แต่หากเมื่อไหร่ต้องพูดออกมา ฉันรู้ว่าคาถานี้จะได้ผล