ไมเคิล แจ็กสัน, เดวิด โบวี, พรินซ์, มิก แจ็กเกอร์, จอห์น เลนนอน, พอล แม็กคาร์ตนีย์, สตีวี วันเดอร์ หรือ เอลตัน จอห์น ไม่ว่าคนไหนก็ล้วนเป็นเหล่าอัจฉริยะของแวดวงดนตรีในอดีต ที่บทเพลงและภาพลักษณ์ของพวกเขายังคงมีชีวิตโลดแล่นมาจนถึงปัจจุบัน แต่ในบรรดารายชื่อผู้ทรงอิทธิพลของโลกดนตรีเหล่านั้น หากขาดชื่อของ เฟรดดี้ เมอร์คิวรี (Freddie Mercury) ฟรอนต์แมนคนดังผู้ทรงพลังของวงควีน (Queen) ไปก็คงจะไม่สมบูรณ์และแปลกพิลึก
เฟรดดี้มีอายุครบ 73 ปี เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา หากเขาไม่ด่วนลาโลกไปก่อนในปี 1991 ถึงกระนั้น ในช่วง 45 ปีที่มีชีวิตอยู่ เขาได้ฝากเรื่องราวมากมายเป็นตำนานเล่าขาน ทั้งแง่มุมชีวิตส่วนตัว และดนตรี บทต่างๆ ในหน้ากระดาษของชีวิตเฟรดดี้ถูกถ่ายทอดออกมาให้ได้เห็นเกือบทุกแง่มุมบนสื่อมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสารคดี บทสัมภาษณ์ หนังสือ หรือเมื่อไม่นานมานี้อย่างภาพยนตร์เรื่อง Bohemian Rhapsody (2018) ทำให้จิตวิญญาณของเฟรดดี้ยังคงโลดแล่นอยู่บนโลกใบนี้เสมอไม่เคยจางหายไป
ถึงแม้วันนี้จะไม่มีเฟรดดี้แล้ว แต่บทเพลงอันทรงพลังมากมายที่เขาได้สรรค์สร้างไว้พร้อมกับวงควีนได้เปลี่ยนแปลงโลกดนตรี และยังคงถูกเปิดเล่นซ้ำอยู่เสมอ แต่มีอยู่เพลงหนึ่งที่แฟนเพลงวงควีนเคยให้นิยามว่าเป็นเพลงที่ ‘มีซาวนด์อันแตกต่างจากความเป็นควีน’ และเป็นบทเพลงดังของควีนที่เฟรดดี้เป็นผู้เขียนขึ้นมา นั่นคือ Crazy Little Thing Called Love
เฟรดดี้เขียน Crazy Little Thing Called Love ในปี 1979 มันถูกบรรจุในอัลบั้ม The Game (1980) และอัลบั้มรวมฮิตของควีนในปี 1981 เพลงนี้ประสบความสำเร็จ ไต่อันดับสูงสุดที่ 2 บนชาร์ตของสหราชอาณาจักรในปี 1979 กลายเป็นเพลงแรกของควีนที่ขึ้นอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงชาร์ตอื่นๆ เช่น ในออสเตรเลีย และถูกนำไปคัฟเวอร์โดยศิลปินหลายคน นับตั้งแต่ถูกปล่อยออกมา
โรเจอร์ เทย์เลอร์ (Roger Taylor) มือกลองวงควีน เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เฟรดดี้นึกเพลงนี้ได้ระหว่างเอนหลังแช่ตัวในอ่างน้ำอย่างสบายอารมณ์ที่โรงแรม Bayerischer Hof เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ระหว่างกำลังบันทึกเสียงอัลบั้ม The Game ที่นั่น เฟรดดี้นำเพลงที่เขาเขียนไปเสนอให้กับเทย์เลอร์ และ จอห์น ดีคอน (John Deacon) มือเบสของวง พวกเขาทั้งสาม และโปรดิวเซอร์คนใหม่ในช่วงเวลานั้นอย่าง เรนโฮลด์ แม็ก (Reinhold Mack) ได้เริ่มบันทึกเสียงเพลงนี้ที่ Musicland Studios โดยใช้เวลาเพียงชั่วโมงครึ่งเท่านั้น
“ผมใช้เวลาแต่งเพลงนี้ 5-10 นาที ด้วยกีตาร์ซึ่งก็ไม่ได้เก่งอะไรมาก แต่ในทางหนึ่งถือเป็นเรื่องดีนะ เพราะความที่คอร์ดค่อนข้างจำกัดนี่แหละ ทำให้ผมสามารถเขียนเพลงนี้ออกมาได้ภายในกรอบเล็กๆ ที่ไม่ซับซ้อนจนเกินไป ถ้าหากคอร์ดมากเกินไปผมอาจจะเขียนไม่ได้ก็ได้ ผมคิดอย่างนั้นนะ” เฟรดดี้ เคยบอกกับ Melody Maker ในปี 1981
ส่วนอดีตหัวหน้าคณะทัวร์ของควีนอย่าง ปีเตอร์ ฮินซ์ (Peter Hince) รำลึกความหลังของเบื้องหลังเพลงนี้ให้ Mojo ฟังในปี 2009 ว่าจู่ๆ เฟรดดี้ที่กำลังแช่น้ำอยู่ก็ผลุนผลันออกมาหาเขาในสภาพที่นุ่งผ้าขนหนูผืนเดียว และขอกีตาร์กับเขา “ผมส่งกีตาร์ให้เขา และเขาก็เริ่มแต่งมันออกมา ผมรับรู้ได้จริงๆ ว่าเฟรดช่างมีพรสวรรค์ในการเขียนเพลงที่ยอดเยี่ยมเช่นนี้เหลือเกิน”
เมื่อการบันทึกเสียงเสร็จสิ้น ควีนได้ทรีบิวต์เพลงนี้ให้กับราชาเพลงร็อกแอนด์โรลในตำนานอย่าง เอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) และ ‘Rockabilly’ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวเพลงรูปแบบร็อกแอนด์โรลยุคแรกสุด ในช่วงต้นทศวรรษ 1950s ซึ่งเป็นคำผสมระหว่างคำว่า ร็อก (จากร็อกแอนด์โรล) และคำว่า ฮิลบิลลี (Hillbilly) หรือเพลงคันทรี (คนมักเรียกดนตรีคันทรีว่าฮิลบิลลีในช่วงทศวรรษ 1940-1950s) นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมซาวนด์ที่ออกมาจึงมีความคล้ายคลึงกับเพลงของเอลวิสมากกว่าวงควีน อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่ออกมาคือแฟนๆ ของควีนกลับชอบเพลงนี้เป็นอย่างมาก
เรื่องเล่าสนุกๆ อีกอย่างคือด้วยความที่ Crazy Little Thing Called Love ถูกเขียนขึ้นจากกีตาร์อะคูสติกง่ายๆ ดังนั้น เวลาต้องเล่นสดเพลงนี้บนเวที เฟรดดี้จึงจำเป็นต้องเล่นกีตาร์ในท่อนอินโทรด้วย (อย่างเช่น บนเวที Live Aid อันลือลั่นที่สนามเวมบลีย์ ในปี 1985) ซึ่งนับเป็นบทเพลงแรกและเพลงเดียวที่เฟรดดี้เล่นกีตาร์บนเวที (และเป็นภาพที่ไม่คุ้นเอาเสียเลย)
ไม่น่าเชื่อว่าเพลงที่แต่งด้วยกีตาร์อะคูสติกและคอร์ดง่ายๆ ไม่กี่คอร์ด (แต่เพราะและติดหูมาก) ในระยะเวลาเพียงสิบนาทีกลับกลายเป็นอีกหนึ่งบทเพลงในตำนาน โดยเฉพาะกับเนื้อเพลงที่พูดถึง ‘ความรัก’ อันเปรียบเสมือน ‘สิ่งเล็กๆ อันแสนงี่เง่า’ ที่ทำให้เราทั้งกลายเป็นคนโง่ ทั้งหลงใหล วาบหวามหัวใจ แต่ก็จมดิ่งในบางครา ทำให้โลกสดใส และก็ทำให้พลันมลายในพริบตา ซึ่งเชื่อมโยงกับผู้คนทั้งโลก ที่ไม่ว่าใครย่อมต้องเผชิญกับวงจรความรักเช่นนี้เสมอ
This thing called love I just can’t handle it
This thing called love I must get ’round to it, I ain’t ready
Crazy little thing called love
‘สิ่งนี้ที่เรียกว่าความรัก ฉันจัดการกับมันไม่ได้เลย สิ่งนี้ที่เรียกว่าความรัก ฉันคงต้องเผชิญกับมัน แต่ฉันยังไม่พร้อมเลยจริงๆ กับสิ่งบ้าๆ ที่เรียกว่าความรักนี้’
ขึ้นชื่อว่าความรัก ไม่ว่าคุณจะฉลาดขนาดไหนย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจัดการกับสิ่งนี้ให้อยู่หมัด เนื้อเพลงท่อนแรกเล่าให้เห็นว่าในหลายครั้งความรักมักโผล่มาในเวลาที่เรายังไม่พร้อม (หรืออาจจะบ่อยๆ เลยก็ได้) แต่เป็นเรื่องประหลาด ถึงแม้ปากเราอาจยังไม่พร้อมหรือมีความกังวลอยู่ แต่หัวใจมักกลับเรียกร้องให้กระโจนเข้าไปเผชิญดู ก่อนที่ความรักจะนำมาซึ่งความอีรุงตุงนังในความสัมพันธ์อยู่เสมอๆ
This thing (This thing) Called love (Called love)
It cries (Like a baby) In a cradle all night
It swings (Woo, woo) It jives (Woo, woo)
It shakes all over like a jelly fish, woo, I kinda like it
Crazy little thing called love
‘สิ่งนี้ที่เรียกว่าความรัก มันร่ำร้องเหมือนเด็กทารกในเปลนอนยามค่ำคืน แกว่งไกวไปมา ขยับไหวตามจังหวะ สั่นรัวเหมือนแมงกะพรุน ฉันก็ชอบมันนะ ไอ้สิ่งบ้าๆ ที่เรียกว่าความรักนี้’
เปรียบไปความรักก็มีรูปแบบที่หลากหลาย แต่สิ่งเหล่านั้นกลับมีจุดหมายเดียวกันคือส่งผลโดยตรงต่อสมองและหัวใจ บางครั้งมันงอแงและเรียกร้องความสนใจเหมือนเด็กน้อย (หรือเด็กทารกอาจเปรียบเปรยเหมือนการอุทิศ หรือข้อผูกพันระหว่างกันและกันในความรักที่สำคัญยิ่งขึ้น)
คำว่า Swing และ Jive คือสไตล์การเต้นสองรูปแบบที่ได้รับความนิยมในยุคต้นของร็อกแอนด์โรล ในการเต้นรำต้องใช้พลังงานเยอะในการขยับร่างกาย หากเราขยับไม่พร้อมกับคู่เต้นอาจทำให้จังหวะสะดุดไม่ราบรื่น สิ่งที่ต้องทำคือค่อยๆ สังเกต เรียนรู้จังหวะซึ่งกันและกัน เพื่อการเคลื่อนไหวที่ลงตัว ไม่ต่างกับความสัมพันธ์ หากเราเรียนรู้ที่จะมองเห็นการเคลื่อนไหวของอีกฝ่ายได้ลึกซึ้งเท่าไหร่ จังหวะที่ขยับไปพร้อมกันจะยิ่งเป็นธรรมชาติ และสวยงามมากขึ้นเท่านั้น
แมงกะพรุนอาจเป็นความสวยงามของนักชีววิทยาทางทะเล แต่อาจเป็นสิ่งรบกวนของนักเดินเรือและคนทั่วไป ไม่ต่างกับความรัก บางครั้งสวยงาม บางครั้งช่างน่าอึดอัด อย่างไรก็ดี เรายังรู้สึกดีกับมันได้เสมอ
There goes my baby
She knows how to rock ‘n’ roll
She drives me crazy
She gives me hot and cold fever
Then she leaves me in a cool, cool sweat
‘อีกแล้วนะที่รัก เธอช่างรู้วิธีที่จะร็อกแอนด์โรล เธอทำให้ฉันคลั่งไคล้ ทำให้รู้สึกร้อนและหนาวไปพร้อมกัน แล้วก็ทิ้งให้ฉันจมอยู่กับเหงื่อเย็นๆ ที่ผุดพรายออกมา’
ในท่อนนี้ถือว่ามีวลีและคำที่เพลงร็อกแอนด์โรลในอดีตมักหยิบมาใช้ในบทเพลงมากมาย อย่างเช่น ‘There goes my baby’ ที่เราเห็นในเพลง There goes My Baby ของ The Drifter หรือเนื้อเพลงในท่อน ‘There goes my baby with someone new’ ของ The Everly Brothers รวมไปถึงคำว่า ‘Drives me crazy’ ที่มักเปรียบเทียบว่า ‘ความรัก’ หรือ ‘ใครสักคน’ มักทำให้เราหัวปั่นกับเรื่องรักๆ เสมอ ส่วนอีกคำคือ ‘Fever’ ที่เราอาจคุ้นเคยกับคำแปลว่าป่วยไข้ ซึ่งการเปรียบเทียบ ‘ความรัก’ กับ ‘ความป่วยไข้’ ถือเป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะกับดนตรีในยุค 50s
ทั้งหมดทั้งมวลล้วนอธิบายอานุภาพของสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่าความรักได้เป็นอย่างดี ถึงแม้มันจะไร้รูปร่างรูปทรง แต่กลับสามารถเปลี่ยนแปลง และขับเคลื่อนความรู้สึกของมนุษย์เราให้ ‘ถึงที่สุด’ ได้ราวกับยาชนิดแรงก็มิปาน
I gotta be cool, relax, get hip
And get on my tracks
Take a back seat, hitch-hike
And take a long ride on my motorbike until I’m ready
Crazy little thing called love
‘เอาล่ะ ฉันต้องนิ่งและผ่อนคลายไว้ ดึงสติกลับมาสู่เกม เหมือนโบกมือกวักเรียกรถ กระโดดขอนั่งเบาะหลังร่วมทางไปในเส้นทางยาวไกลบนมอเตอร์ไซค์ จนกว่าฉันจะพร้อมอีกครั้งกับไอ้สิ่งบ้าๆ ที่เรียกว่าความรักนี้’
ทางเดียวที่จะรับมือกับสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่าความรักคือการพยายามมีสติ (แม้จะยากเย็นก็ตามที) การพึงระลึกเสมอว่าความรักเป็นเพียงเกมหนึ่งของชีวิตที่มีจุดเริ่ม จุดจบ และการเริ่มใหม่ได้เสมอ อาจจะช่วยให้เราไม่ถลำลึกลงไปในเกมจนเกินความพอดี เพราะหากเมื่อไหร่ที่เราเริ่มหลุดเข้าไปในปากหลุมของความรักแล้ว คุณก็รู้ใช่ไหมว่ามันยากที่จะพยายามตะเกียกตะกายขึ้นมาขนาดไหน ดังนั้น จงเล่นเกมแห่งความรักให้เป็น
หากเมื่อไหร่ที่รู้สึกดำดิ่งไปในโลกแห่งความรักจนเริ่มไม่เป็นตัวเอง จงกระโจนขึ้นมอเตอร์ไซค์บิดหนีออกมาให้ไกลๆ เพื่อให้มองเห็นภาพมุมกว้างที่ชัดเจนขึ้น ปลดปล่อยจิตใจให้เป็นอิสระ ตั้งสติ คิดให้รอบคอบ แล้วค่อยกลับไปเผชิญหน้าความรักอีกครั้งก็อาจยังไม่สาย
แต่ก็นั่นแหละ ถึงแม้โลกนี้จะมีบทกวี ปรัชญา และข้อคิดเกี่ยวกับความรักที่สอนสั่งเรามากมายขนาดไหน แต่นั่นเป็นเพียงโลกของทฤษฎีเท่านั้น เพราะกฎเกณฑ์ในทางปฏิบัติมันช่างยากเย็นเสียเหลือเกินที่จะต้องต่อกรกับสิ่งเล็กๆ บ้าๆ ที่เรียกว่าความรักนี้
เหมือนกับที่เฟรดดี้เขียนไว้ในเพลงท่อนแรก ‘This thing called love I just can’t handle it’ ถึงแม้มันจะถูกเขียนขึ้นมาตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1970s แต่ไม่ว่าเมื่อไหร่ ยุคสมัยไหน หรือกับใคร ความรักช่างยากต่อการจัดการเสียจริง แต่ถึงกระนั้นก็ช่วยไม่ได้ที่เราจะอยากกระโจนไปลิ้มรสความหอมหวานของมันทุกครั้งอยู่ร่ำไป ใช่ไหม
สู้ต่อไปนะ มนุษย์ทุกคนผู้มีความรัก (หรือกำลังรอความรักอยู่)
Recommended Tracks
01 Track: Somebody to Love Album: A Day at the Races Released: 1976
02 Track: Under Pressure Album: Hot Space Released: 1982
03 Track: Radio Ga Ga Album: The Works Released: 1984