Here Comes The Sun

Here Comes The Sun: เมื่อท้อแท้จงถอยออกมาหนึ่งก้าว และกลับไปเผชิญสิ่งเดิมด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป

ปี 1969 ถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับเต่าทองผู้เงียบขรึมอย่าง จอร์จ แฮร์ริสัน (George Harrison) มือกีตาร์แห่งวง The Beatles เขาถูกจับกุมในข้อหาครอบครองกัญชา เข้ารับการผ่าตัดต่อมทอนซิล และพยายามหลบออกจากวงชั่วคราว

        ในห้วงปีที่ถูกบันทึกไว้ว่ามีอากาศหนาวเหน็บยาวนานที่สุดในทศวรรษ 60s บวกกับความท้อแท้ในอุตสาหกรรมดนตรี แฮร์ริสันหลบเลี่ยงการประชุมวงที่ออฟฟิศของแอปเปิล เร็กคอร์ด เพื่อไปพักผ่อนอยู่ที่บ้านของสหายนักดนตรีอย่าง เอริก แคลปตัน (Eric Clapton) ที่อีว์เฮิร์สต์ (Ewhurst) มณฑลเซอร์เรย์ (Surrey) ประเทศอังกฤษ หรือที่รู้จักกันในนาม Hurtwood Edge สถานที่ที่แฮร์ริสันมักไปใช้เวลาอย่างเอื่อยเฉื่อยในบางช่วงของชีวิต 

        ทว่าที่นี่เอง ทำให้แฮร์ริสันเริ่มกลับมารู้สึกถึงอิสระและตกหลุมรักดนตรีอีกครั้ง วันหนึ่ง เขาหยิบกีตาร์อะคูสติกของแคลปตันแล้วออกไปเดินเล่นที่สวนรอบบ้าน ก่อนเกิดแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง Here Comes The Sun ที่ต่อมากลายเป็นซิงเกิลหนึ่งของอัลบั้ม Abbey Road และกลายเป็นหนึ่งในเพลงที่ผู้คนรู้จักมากที่สุดในฐานะเพลงที่แฮร์ริสันได้เขียนให้กับสี่เต่าทอง

        “ผมเขียน Here Comes The Sun ขึ้นในช่วงที่ออฟฟิศของแอปเปิลเริ่มกลายเป็นสถานที่ที่ทำให้เราต้องเปลี่ยนเป็นนักธุรกิจ มีคนเอาเอกสารมายื่นแล้วพูด ‘เซ็นนี่สิ’ ‘เซ็นนั่นสิ’ วันหนึ่งผมจึงหลบเลี่ยงการประชุมวงด้วยความตั้งใจ และไปเยือนบ้านของเอริก ความโล่งใจที่ไม่ต้องไปเผชิญหน้ากับพวกนักบัญชีผีตายซากพวกนั้นช่างยอดเยี่ยมเสียเหลือเกิน” แฮร์ริสันเล่าไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาอย่าง I, Me, Mine

        ในสารคดี George Harrison: Living in the Material World (2011) ของ มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) เอริก แคลปตัน ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เดือนที่แฮร์ริสันมาเยือนบ้านของเขาน่าจะเป็นช่วงเมษายนที่อากาศเริ่มอบอุ่นขึ้น เพราะก่อนหน้านั้น ข้อมูลจากสถานีอุตุนิยมวิทยาที่สถานีกรีนิช (The Greenwich Station) บันทึกไว้ว่าเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม ปี 1969 ลอนดอนมีสภาพอากาศหนาวเย็นกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานของทศวรรษ 60s เป็นอย่างมาก เมื่อย่างเข้าเดือนเมษายน มีการบันทึกชั่วโมงความยาวนานของแสงแดดในช่วงกลางวันได้รวม 189 ชั่วโมง ก่อนที่สถิติดังกล่าวจะถูกเปลี่ยนแปลงในปี 1984

 

 

         เกร็ดเล็กน้อยที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ Here Comes The Sun ถูกบันทึกด้วยเต่าทองเพียงสามคนคือ จอร์จ แฮร์ริสัน, พอล แม็กคาร์ตนีย์ และ ริงโก สตาร์ ส่วน จอห์น เลนนอน ไม่มีส่วนร่วมกับการบันทึกเสียงในเพลงนี้ เพราะกำลังอยู่ในระหว่างพักรักษาตัวจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ขณะเดินทางไปพักผ่อนที่สกอตแลนด์พร้อมกับภรรยา โยโกะ โอโนะ และลูกทั้งสอง (แต่กระนั้นลุงจอห์นและครอบครัวไม่ได้เป็นอะไรมาก ซ้ำยังมีภาพที่เขาและโยโกะนอนชูสองนิ้วยิ้มร่าหน้ารถคันที่บุบเบี้ยวอีกต่างหาก)

        เพราะความสบายใจระหว่างการพักผ่อนของแฮร์ริสันส่งผลให้ Here Comes The Sun มีมู้ดของเมโลดี้ที่แสนผ่อนคลาย ส่วนเนื้อเพลงก็แสนเรียบง่าย และสะท้อนถึงความรู้สึกโล่งอก ทั้งจากการเปลี่ยนผ่านของฤดูกาลอันหนาวเหน็บสู่ความอบอุ่นของฤดูใบไม้ผลิ และการพักผ่อนชั่วคราว ที่แฮร์ริสันได้สัมผัสกับการถอยห่างจาก (กิจการทางธุรกิจ) ดนตรีชั่วคราว

 

 

Here comes the sun, doo-dun doo-doo

Here comes the sun, and I say

It’s all right

‘นั่นปะไร ดวงอาทิตย์โผล่มาแล้ว และฉันก็เอ่ยออกมาว่า ทุกอย่างไม่เป็นไรแล้ว’

 

        ยามที่ดวงอาทิตย์ปรากฏกายออกมา เป็นสัญญาณของการเริ่มต้นวันใหม่เสมอ ในบริบทของเพลงนี้ เพียงแค่ดวงอาทิตย์ทอประกาย ก็พอจะทำให้แฮร์ริสันมีความสุขมากแล้ว เป็นไปได้ว่าในกรณีของเขา ความรู้สึกเป็นอิสระจากการได้สัมผัสรสชาติของแสงแดดหลังผ่านช่วงเวลาแห่งการทำงานอันบีบรัด เคร่งเครียด คือสิ่งที่ชุบชูหัวใจของเขาได้ดีที่สุด หรือในอีกมุมหนึ่ง ดวงอาทิตย์อาจเป็นสัญลักษณ์ของอนาคตที่สดใสของสี่เต่าทอง หลังจากความยากลำบากและความซับซ้อนในความสัมพันธ์ที่ทั้งสี่สมาชิกได้เผชิญในช่วงปลายทศวรรษที่ 60s

 

Little darling, it’s been a long cold lonely winter

Little darling, it feels like years since it’s been here

Here comes the sun, doo-dun doo-doo

Here comes the sun, and I say

It’s all right

‘ที่รัก มันช่างเป็นฤดูหนาวที่ยาวนานเสียเหลือเกิน ที่รัก รู้สึกราวกับผ่านไปยาวนานเป็นปีตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ นั่นปะไร ดวงอาทิตย์โผล่มาแล้ว และฉันก็เอ่ยออกมาว่า ทุกอย่างไม่เป็นไรแล้ว’

 

        ในระยะเวลาที่เท่ากัน เมื่อมีความสุข เรามักรู้สึกว่าเวลาผ่านไปรวดเร็ว ตรงกันข้าม เมื่อมีความทุกข์ เรามักรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้าเสมอ ปี 1969 ถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของ จอร์จ แฮร์ริสัน ทั้งความรู้สึกท้อแท้ในงานดนตรีกับสี่เต่าทอง คดีความต่างๆ รวมถึงเรื่องสุขภาพร่างกาย ในเชิงเปรียบเปรย ฤดูหนาวสำหรับแฮร์ริสันเองอาจหมายถึงฤดูแห่งความเศร้าเข้ากระดูก ซึ่งก็ตรงกับความเป็นจริงที่ว่า ฤดูหนาวปี 1969 ที่ลอนดอนนั้นหนาวเหน็บและยาวนานที่สุดในทศวรรษ 60s (ดั่งเนื้อเพลงที่ว่า It’s been a long cold lonely winter) ดังนั้น การรอคอยฤดูใบไม้ผลิที่อบอุ่นซึ่งจะมาเยือนในไม่ช้า หมายถึงปัญหาส่วนตัวที่เขาเผชิญกำลังจะคลี่คลายไปเช่นกัน

 

Little darling, the smile’s returning to the faces

Little darling, it seems like years since it’s been here

Here comes the sun

Here comes the sun, and I say

It’s all right

‘ที่รัก รอยยิ้มกำลังแต้มบนใบหน้า ที่รัก ดูเหมือนจะผ่านไปยาวนานเป็นปีตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ นั่นปะไร ดวงอาทิตย์โผล่มาแล้ว และฉันก็เอ่ยออกมาว่า ทุกอย่างไม่เป็นไรแล้ว’

 

        เมื่อช่วงเวลาที่ยากลำบากผ่านพ้น แฮร์ริสันค้นพบอิสระและความลุ่มหลงในการทำดนตรีอีกครั้ง พร้อมกับที่บทเพลงนี้ได้กลายเป็นอีกหนึ่งบทเพลงของสี่เต่าทองที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก (มีข้อวิเคราะห์ว่า Little darling หมายถึงกีตาร์อะคูสติกของ เอริก แคลปตัน ตัวที่แฮร์ริสันหยิบมาแต่งเพลงนี้) 

        ในที่สุด แฮร์ริสันก็ได้กลับมาเผชิญหน้ากับโลกกว้างอีกครั้ง หลังจากเขาเลือกที่จะปฏิเสธและเดินออกไปด้วยตนเอง แต่คงไม่มีใครปฏิเสธลงแน่ๆ ว่าการตัดสินใจถอยหลังออกมาของเขานั้นถูกต้อง (ถึงแม้ว่าการโดดประชุมของวงตัวเองจะฟังดูทะแม่งก็ตาม)

 

Little darling, I feel that ice is slowly melting

Little darling, it seems like years since it’s been clear

Here comes the sun, doo-dun doo-doo

Here comes the sun, and I say

It’s all right

‘ที่รัก ฉันรู้สึกว่าหิมะค่อยๆ ละลายอย่างเชื่องช้า ที่รัก มันช่างดูเป็นเวลายาวนานหลายปี นับแต่ครั้งสุดท้ายที่ได้เห็นอากาศสดใส นั่นปะไร ดวงอาทิตย์โผล่มาแล้ว และฉันก็เอ่ยออกมาว่า ทุกอย่างไม่เป็นไรแล้ว’

 

        หลังช่วงเวลาที่แสนท้อแท้กับอุตสาหกรรมดนตรี แฮร์ริสันรู้สึกว่าน้ำแข็งที่เคยเกาะกุมหัวใจเขาเริ่มละลายไปพร้อมๆ กับหิมะแห่งฤดูหนาวอันยาวนานที่เพิ่งผ่านพ้นไป ในที่สุด เขากลับมาหลงใหลดนตรีอีกครั้ง แล้วโลกรอบตัวก็กลับมาสดใสราวกับฤดูใบไม้ผลิอันอบอุ่นที่แสนคิดถึง

        ถึงแม้เดอะ บีเทิลส์จะโด่งดังคับฟ้าขนาดไหน ก็หนีไม่พ้นวังวนความเบื่อหน่ายของมนุษย์ในการทำอะไรบางอย่างซ้ำๆ ดั่งที่แฮร์ริสันได้ประสบมาแล้ว (สมัยนี้อาจคล้ายกับภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome) ความรู้สึกของแฮร์ริสันคงไม่ใช่การที่เขาไม่ได้รัก ไม่ได้หลงใหลในการเล่นดนตรี เพียงแค่เมื่อกำลังติดอยู่ในหล่มบางอย่างเป็นเวลานาน ทุกคนจำต้องหาเวลาถอยหลังออกมาจากสิ่งที่ซ้ำซากจำเจ หรือสภาพแวดล้อมเดิมเพื่อฟื้นฟูจิตใจ เปิดโอกาสให้ตนเองได้พบพานกับสิ่งใหม่ๆ มองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ชัดเจนขึ้น และเติมความตื่นเต้นให้กับตัวเอง ก่อนกลับไปเผชิญหน้ากับสิ่งเดิมด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป 

 


Recommended Tracks

01 Track: With a Little Help from My Friends Album: Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band Released: 1967

02 Track: I’ll Follow the Sun Album: Beatles for Sale Released: 1964

03 Track: All My Loving Album: With the Beatles Released: 1963