revolution

Revolution: คำตอบของความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่การปฏิวัติ แต่คือการอาศัยเวลาสร้างความเข้าใจ

ในช่วงปี 1968 โลกได้เผชิญกับสงครามครั้งใหญ่ที่เรียกว่าสงครามเย็น แม้เศรษฐกิจจะเริ่มขยายตัวอยู่บ้าง แต่สภาพสังคมตอนนั้นยังเต็มไปด้วยสารพัดปัญหาและยังไม่เข้าใกล้ความสงบสุข โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม ซึ่งได้จุดประกายให้คนหนุ่มสาวผู้เบื่อหน่ายกับสภาวการณ์เช่นนี้ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลง 

        หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของโลกที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในครั้งนั้นคือ สงครามเวียดนาม หรือสงครามอินโดจีนครั้งที่สอง ควันหลงหลังการรายงานมากมายบนหน้าสื่อเกี่ยวกับ ‘ยุทธการวันตรุษญวน (Tet Offensive)’ ซึ่งเป็นการเคลื่อนทัพทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในสงครามเวียดนาม ได้กระตุ้นให้เกิดการประท้วงเพื่อต่อต้านสงครามเวียดนามเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัย

        เริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกา ประเทศที่การประท้วงแพร่หลายมากที่สุด เนื่องจากกองทัพสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาล ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ได้สนับสนุนให้เวียดนามใต้ทำสงครามกับเวียดนามเหนือ ที่มีประเทศจีน และสหภาพโซเวียตหนุนหลังอยู่ โดยสหรัฐฯ ได้ส่งทหารเกณฑ์จำนวนมากออกไปรบ แต่ผลที่ได้กลับมาคือทหารต้องบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ความเสียหายจากการก่อสงครามยังลุกลามจากสหรัฐอเมริกาไปสู่อีกหลายประเทศในยุโรป

        จนกระทั่งวันที่ 17 มีนาคมในปีเดียวกันนั้น อังกฤษได้ก่อการประท้วงสงครามเวียดนามครั้งใหญ่ โดยกลุ่มผู้ประท้วงหลายพันคนเดินขบวนไปยังสถานทูตอเมริกันที่จัตุรัสกรอสเวเนอร์ (Grosvenor Square) ในลอนดอน จนเกิดการปะทะอย่างรุนแรงกับตำรวจ ยังไม่รวมถึงการประท้วงรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่โปแลนด์ และการลุกฮือของนักศึกษาและกลุ่มแรงงานชาวฝรั่งเศส

 

Revolution
image: magnumphotos

 

        ช่วงเวลานั้นเองที่ความคิดแบบเสรีชนเบ่งบาน วัฒนธรรมย่อยต่างๆ อุบัติขึ้นมามากมาย รวมถึงการกอดคอกันร้องรำทำเพลงเพื่อปลดปล่อยความรู้สึกผ่านดนตรีร็อกแอนด์โรล ซึ่งหนึ่งในวงดนตรีผู้มาเยียวยาหัวใจของหนุ่มสาวเหล่านั้นคือ The Beatles หรือสี่เต่าทอง สี่หนุ่มผู้เริ่มต้นจากการฟอร์มวงเล่นตามคลับในเมืองลิเวอร์พูล ก่อนสร้างชื่อเสียงขจรไปทั่วโลก

        แม้บทเพลงในยุคแรกของสี่เต่าทองจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักความสัมพันธ์เป็นหลัก แต่เมื่อสมาชิกของวงเติบโตขึ้น ประกอบกับสถานการณ์รอบตัว ย่อมส่งผลให้มุมมองในการเขียนเพลงเปลี่ยนไปด้วย กลายเป็นเพลงมีเนื้อหาเชิงวิพากษ์สังคม อย่าง Revolution หนึ่งในบทเพลงที่เขียนขึ้นจากผลกระทบทางการเมืองและสงคราม แต่มันไม่ใช่เพลงที่ปลุกระดมให้คนลุกฮือขึ้นมาก่อการปฏิวัติอะไรเลย หากแต่เป็นเพลงที่ชี้ให้เห็นผลร้ายจากการก่อสงครามและการใช้ความรุนแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมมากกว่า

 

revolution
image: thewire.in

 

        ช่วงปลายยุค 60 คณะสี่เต่าทองเดินทางไปยังเมืองฤาษีเกษ (Rishikesh) ประเทศอินเดียเพื่อเข้าค่ายฝึกสมาธิกับมหาริชี มเหช โยคี ครูชาวอินเดียผู้โด่งดังเรื่องการฝึกจิตและทำสมาธิ ณ ที่นั่นพวกเขายังได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ขลุกอยู่กับการแต่งเพลง โดยเฉพาะจอห์น เลนนอน ที่ตัดสินใจเขียนเพลง Revolution เพื่อสะท้อนคลื่นความรุนแรงที่โลกกำลังเผชิญ เขายังเคยให้สัมภาษณ์กับ Rolling Stone ไว้ครั้งหนึ่งว่า

        “ผมคิดถึงเรื่องพวกนี้ตอนอยู่บนเขาในอินเดีย ผมยังมีความรู้สึกว่า พระเจ้าจะช่วยเรา ทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี นั่นเป็นสิ่งที่ผมอยากพูด คือผมอยากพูดในเศษเสี้ยวหนึ่งของการปฏิวัติ ผมอยากบอกพวกคุณหรือใครก็ตามที่ได้ฟัง เพื่อสื่อสารและเพื่อบอกว่า ‘คุณจะพูดว่าอย่างไรก็ตาม แต่นี่คือสิ่งที่ผมพูดไง’ ”

 

You say you want a revolution

Well, you know we all want to change the world

You tell me that it’s evolution

Well, you know we all want to change the world

But when you talk about destruction don’t you know that you can count me out

Don’t you know it’s gonna be all right

All right, all right

‘คุณบอกว่าอยากให้เกิดการปฏิวัติ คุณรู้อะไรไหม เราก็อยากเปลี่ยนโลกด้วยกันทั้งนั้นแหละ คุณบอกผมว่ามันคือวิวัฒนาการ คุณรู้อะไรไหม เราก็อยากเปลี่ยนโลกด้วยกันทั้งนั้นแหละ แต่เมื่อคุณพูดถึงการทำลายล้าง รู้ไว้นะว่าผมไม่เอาด้วยหรอก คุณไม่รู้หรอกหรือ เดี๋ยวทุกอย่างมันจะดีขึ้นเอง’

 

        หลังการปล่อยเพลงได้เกิดการตอบสนองทันทีจากทั้งสื่อฝ่ายซ้ายและสื่อกระแสรองที่ตราหน้าว่าเลนนอนไม่กล้าเผชิญความเปลี่ยนแปลง แถมยังเป็น ‘พวกทรยศ’ เนื่องจากในเนื้อเพลงมีท่อนที่ร้องว่า ‘But when you talk about destruction, Don’t you know that you can count me out’ หรือ ‘คุณบอกว่าคุณต้องการปฏิวัติ แต่เมื่อคุณพูดถึงการทำลายล้าง, คุณตัดผมออกได้เลย’ แต่ในเวอร์ชัน ‘Revolution 1’ เลนนอนได้กระซิบคำว่า ‘in’ ไว้หลังประโยคที่ร้องว่า ‘count me out’ ด้วย จนทำให้เนื้อเพลงเปลี่ยนความหมายเป็น ‘นับผมเข้าไปด้วย’ สื่ออย่าง New Left Review ยังกล่าวประณามว่าเพลงนี้เป็นเพลงของ ‘ชนชั้นกลางผู้โศกเศร้าคร่ำครวญด้วยความกลัว’ อย่างไรก็ตาม Revolution และเดอะ บีทเทิลส์ก็ยังได้รับการยกย่องจากกลุ่มอื่นๆ ที่ปฏิเสธพวกลัทธิสนับสนุนความรุนแรง

        ถึงจะโดนวิจารณ์มากมาย แต่แถลงการณ์ถึงเพลง Revolution ของเลนนอนในปี 1980 ก็ยังคงยืนยันทัศนะทางการเมืองดั้งเดิมของเขาว่า ‘ไม่ต้องนับรวมผมถ้ามันเป็นการทำเพื่อความรุนแรง อย่าคาดหวังจะเห็นผมที่แผงกั้นบาร์ริเคต นอกเสียจากจะมีดอกไม้อยู่ด้วย’ การใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ไขความรุนแรงไม่ใช่และไม่เคยเป็นคำตอบสำหรับเขาเลย กระทั่งผลงานของเลนนอนในทศวรรษ 70-80 (หลังสี่เต่าทองแยกวง) ก็ยังคงยืนหยัดในความคิดนี้

        แน่นอนว่าตัวอย่างของความสูญเสียจากการใช้ความรุนแรงเข้าแก้ไขความรุนแรงล้วนถูกบันทึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์โลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพียงแต่ไม่แน่ใจว่าเราเคยเรียนรู้จากมันหรือไม่

 

You say you got a real solution

Well, you know we’d all love to see the plan

You ask me for a contribution

Well, you know we’re doing what we can

But if you want money for people with minds that hate

All I can tell is, brother, you have to wait

Don’t you know it’s gonna be all right

All right, all right

‘คุณบอกว่าคุณมีทางออกของปัญหา คุณรู้อะไรไหม เราก็อยากเห็นแผนที่ว่าของคุณเหมือนกัน คุณมาขอให้ผมร่วมมือด้วย คุณรู้อะไรไหม เราก็ทำเท่าที่ทำได้นั่นแหละ แต่ถ้าคุณอยากได้เงินไปให้คนที่มีใจเกลียดชัง ผมบอกได้เลยว่าคุณต้องรอเก้อ คุณไม่รู้หรอกหรือ เดี๋ยวทุกอย่างมันจะดีขึ้นเอง’

 

        แม้ Revolution จะมีอายุนานกว่าห้าสิบปี แต่บทเพลงนี้ยังคงสะท้อนสังคมปัจจุบันที่สุดขั้วไม่ต่างอะไรกับเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว ผู้ที่ขึ้นมามีอำนาจในสังคมมักชูภาพลักษณ์ของความเป็นคนบริสุทธิ์ และมีวาทกรรมสำหรับการเรียกร้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหากับตนเองเสมอ โดยที่เราไม่มีทางรู้ว่าเบื้องหลังความคิดนั้นคือสิ่งใด

        เมื่อลองมองกลับเข้ามาในบ้านเรา ช่วงเวลาที่การเลือกตั้งใกล้จะมาถึงนี้ เราเห็นบรรดาพรรคการเมืองและผู้นำออกมาเสนอนโยบายการแก้ไขปัญหาประเทศในมิติต่างๆ ผ่านสื่อทุกช่องทาง ถ้อยคำขายฝันเหล่านั้นดำเนินควบคู่ไปพร้อมกับการสาดโคลนป้ายสีกันไปมา สิ่งเลวร้ายทั้งจริงและไม่จริงถูกขุดถูกสร้างขึ้นมาเพื่อดิสเครดิตอีกฝ่าย แม้ปัจจุบันอาจจะไม่ได้มีสงครามฆ่าฟันที่รุนแรงเหมือนอดีต แต่ในยุคสมัยที่ทุกอย่างบนสื่อรวดเร็ว ไร้การกลั่นกรอง ความเข้าใจผิดบนโซเชียลฯ ยิ่งแพร่กระจายได้รวดเร็ว ความเกลียดชังต่อขั้วตรงข้ามยิ่งเข้มข้น ความสุขของเราคือการปิดหูปิดตาเพื่อฟังแค่เสียงคนที่เราสนับสนุนเท่านั้น

        หากในอดีตเราเลือกใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการสร้างสันติภาพ ปัจจุบันเราก็เลือกใช้ความเกลียดชังเป็นหนทางในการสร้างความปรองดอง—ท้ายที่สุดแล้วมันแตกต่างกันอย่างไร?

 

You say you’ll change the constitution

Well, you know we all want to change your head

You tell me that it’s the institution

Well, you know you’d better free your mind instead

But if you go carrying pictures of chairman Mao

You ain’t going to make it with anyone anyhow

Don’t you know it’s gonna be all right

All right, all right

‘คุณบอกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญใหม่ คุณรู้อะไรไหม เราอยากเปลี่ยนความคิดในหัวคุณมากกว่า คุณบอกว่ามันเป็นเพราะสถาบันหรือองค์กร คุณรู้อะไรไหม เปิดใจให้กว้างน่าจะดีกว่า ถึงคุณจะนำรูปประธานเหมาออกมาแห่ไปทั่วก็ตาม อย่างไรเสียก็ไม่มีใครเอาด้วยหรอก คุณไม่รู้หรอกหรือ เดี๋ยวทุกอย่างมันจะดีขึ้นเอง’

 

        เนื้อเพลงท่อนนี้สะท้อนความคิดของเลนนอนที่มีต่อ ‘วิถี’ ในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างชัดเจนที่สุด ในขณะที่กลุ่มอำนาจทุกขั้วต่างมุ่งความสนใจไปที่การเปลี่ยนแปลงระดับบนอย่าง ‘รัฐธรรมนูญ’ เลนนอนได้เตือนว่า อย่างไรก็ตามการมุ่งเปลี่ยนแปลงในระดับสถาบันอย่างนั้นเป็นเพียงแก้ที่ปัจจัยภายนอกส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าความคิดและจิตใจของผู้มีอำนาจไม่เปลี่ยนไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร

        ส่วนในท่อนที่อ้างอิงถึงประธานเหมา หรือเหมาเจ๋อตุง ถูกเพิ่มเข้าไปในเนื้อเพลงช่วงอัดเสียงที่สตูดิโอ ในระหว่างการถ่ายทำคลิปโปรโมตในปีนั้น เลนนอนบอกผู้กำกับว่ามันเป็นท่อนที่มีความสำคัญที่สุดในเพลง แต่ในปี 1972 เลนนอนได้เปลี่ยนความคิดของเขา โดยระบุว่า ‘ผมไม่ควรใส่ชื่อประธานเหมาเข้าไปในนั้นเลย’

        เพราะไม่ว่ายุคสมัยใด ล้วนมีคนตัวเล็กๆ ที่ต้องการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในสังคมอยู่เสมอตามอุดมการณ์ที่ตนเองเชื่อ

        การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องผิด มันเป็นเรื่องปกติที่สุดในโลกแล้วล่ะ เพียงแต่วิธีการที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ว่ากับเรื่องอะไรก็ตาม ตั้งแต่ชีวิตประจำวันไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่างมิติของการเมือง คุณเคยตั้งคำถามไหมว่า สุดท้ายแล้วมันจะนำมาซึ่งผลลัพธ์แบบใด?

        ความรุนแรงตอบโต้ความรุนแรง การใส่ร้ายกลับไปกลับมา ความเกลียดชังตอบแทนความเกลียดชัง ผลสุดท้ายจะนำมาซึ่งสันติภาพหรือความปรองดองรูปแบบไหนกัน?

        ในปี 1998 โยโกะ โอโนะ ได้ให้มุมมองที่เธอมีต่อเลนนอนในเพลง Revolution ซึ่งอีกนัยหนึ่งคือการสร้างความชอบธรรมให้กับสามี โดยเธอให้สัมภาษณ์ว่า “ทั้งหมดทั้งมวลในเพลงนี้ ไอเดียของจอห์นเกี่ยวกับการปฏิวัติคือ เขาไม่อยากสร้างสถานการณ์ที่ว่า คุณทำลายรูปปั้น แต่คุณก็กลายเป็นรูปปั้นเสียเอง และผลกระทบที่มากเกินไปจากการปฏิวัติ (revolution) เขาชอบการวิวัฒนาการ (evolution) มากกว่า ดังนั้น คุณต้องสนใจเรื่องการสร้างสันติภาพโดยวิธีการที่สันติด้วย และเขาก็ยืนกรานอย่างแน่วแน่ในเรื่องนั้น”

        จะมีประโยชน์อะไรหากคุณใช้ความรุนแรงเอาชนะความรุนแรง เพราะสุดท้ายแล้วมันก็คือการที่คุณได้หว่านเมล็ดความรุนแรงอีกที่หนึ่งไว้ เพื่อรอวันมาเอาชนะคุณในวันข้างหน้าเท่านั้น

 

FYI

        เพลง Revolution นั้นมีความพิเศษอยู่อย่างหนึ่งคือ มีอยู่ถึงสามเวอร์ชันด้วยกัน ได้แก่ ‘Revolution 1’, ‘Revolution 9’ และ ‘Revolution’ ทั้งหมดนั้นถูกบันทึกในสตูดิโอขณะที่บีทเทิลส์กำลังทำอัลบั้ม White Album แต่เพราะการบันทึกเสียงนั้นใช้เวลาในการอัดนาน แต่ละเทคก็ไม่เหมือนกัน จึงมีการแบ่งเป็นเวอร์ชันต่างๆ ออกมา ซึ่งแต่ละเวอร์ชันจะมีความแตกต่างในเรื่องของดนตรีและเนื้อเพลงบางท่อน

        สำหรับ ‘Revolution 1’ มีจังหวะช้า มีความเป็นร็อกน้อยแต่เป็นบลูส์สูง ส่วน ‘Revolution 9’ นั้นมีความแอ็บสแตร็กมาก เพราะเป็นเวอร์ชันที่ได้มาจากการผสมเสียงคนพูดและซาวนด์เอฟเฟ็กต์แปลกๆ หลอนๆ ที่ได้แรงบันดาลใจจากสไตล์แฟชั่นแบบอาว็อง-การ์ด ของโยโกะ โอโนะ ซึ่งทั้งสองเวอร์ชันนี้ได้ถูกบรรจุอยู่ใน White Album

        ในทีแรกเลนนอนต้องการให้เพลง ‘Revolution 1’ ออกเป็นซิงเกิลที่ไม่ได้รวมอยู่ในอัลบั้ม แต่ พอล แม็กคาร์ตนีย์ ก็ลังเลที่จะเผชิญการโต้เถียงกับจอร์จ แฮริสัน ที่แย้งว่าเวอร์ชันนี้มีจังหวะที่ช้าเกินไปที่จะออกเป็นซิงเกิล แต่เนื่องจากเลนนอนยืนกรานว่าต้องการให้เพลงนี้ออกเป็นซิงเกิล พวกเขาจึงบันทึกเพลงนี้อีกครั้งในจังหวะที่เร็วกว่าเดิม และมีซาวนด์กีตาร์ที่กราดเกรี้ยวขึ้น ผลสุดท้ายมันจึงออกมาเป็น ‘Revolution’ ที่มีความเป็นร็อกมากขึ้น และไม่ได้ถูกบรรจุในอัลบั้มปกติ แต่ถูกวางจำหน่ายในรูปแบบซิงเกิล

 


Recommended Tracks

01 Track:Taxman Album: Revolver Released: 1966

02 Track: A Day In The Life Album: Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band Released: 1967

03 Track: Eleanor Rigby Album: Revolver Released: 1966