“ฤดูร้อนผ่านมาเยือนและก็จากไป ความไร้เดียงสามิอาจคงอยู่ได้ตลอด ช่วยปลุกฉันทีเมื่อเดือนกันยายนสิ้นสุดลง”
นี่คือประโยคสั้นๆ ท่อนแรกที่ฟังดูชวนหม่นเศร้าและน่าใจหายจากเพลง Wake Me Up When September Ends ของวงพังก์ร็อกอย่าง Green Day ที่เป็นอนุสรณ์สำหรับ บิลลี โจ อาร์มสตรอง (Billie Joe Armstrong) ที่มีต่อพ่อผู้ล่วงลับไปในยามเด็ก
ไม่ใช่แค่บิลลี แต่คนฟังเพลงทั่วไปเมื่อย่างเข้าเดือนกันยายน Wake Me Up When September Ends ก็มักจะเป็นเพลงที่โผล่วาบเข้ามาให้นึกถึงเสมอ ส่วนหนึ่งก็อาจจะใช่ที่ในชื่อเพลงมีชื่อเดือนกันยายนอยู่ แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นเพราะความเรียบง่ายของบทเพลง ความหมายของเนื้อเพลง และเบื้องหลังบทเพลงแสนเศร้านี้เชื่อมโยงกับความรู้สึกของผู้ฟังได้ไม่มุมใดก็มุมหนึ่ง เพราะมันพูดถึงการสูญเสีย บาดแผลในหัวใจ และการเติบโต
Wake Me Up When September Ends เป็นซิงเกิลที่ 4 จาก American Idiot (2004) สตูดิโออัลบั้มที่ 7 ของ Green Day เขียนโดย บิลลี โจ อาร์มสตรอง ฟรอนต์แมนของวง ซึ่งเกี่ยวกับการจากไปของพ่อที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง ในเดือนกันยายนปี 1982 ขณะที่บิลลีมีอายุเพียง 10 ขวบเท่านั้น
ไม่มีใครรู้ว่าความสูญเสียในวัยเด็กได้สร้างหลุมดำในหัวใจของเขาลึกขนาดไหน
ในวันงานศพของพ่อ บิลลีในวัยสิบขวบวิ่งกลับบ้าน ขังตัวเองไว้ในห้อง เมื่อแม่ของเขากลับมาถึงและรุดไปเคาะประตูห้อง หนุ่มน้อยบิลลีก็พูดกับแม่ของเขาผ่านประตูห้องว่า “Wake Me Up When September Ends” หรือ “ปลุกผมทีตอนที่เดือนกันยายนล่วงผ่านไปแล้ว” ก่อนจะกลายเป็นที่มาของบทเพลงที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของเดือนเก้าในทุกๆ ปีที่เวียนมาถึง
นอกจาก Wake Me Up When September Ends จะเชื่อมโยงกับผู้ฟังในมิติของความรู้สึกผ่านบทเพลงแล้ว ความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ก็ถือว่าน่าสนใจ ทั้งการขึ้นอันดับ 6 ใน Billboard Hot 100 ติดท็อปเท็นในชาร์ตของหลายประเทศในฝั่งยุโรป และในอเมริกา Wake Me Up When September Ends ถูกนำไปเป็นเพลงที่อุทิศให้กับผู้ประสบภัยจากมหันตภัยพายุเฮอริเคนแคทรีนา ที่สำคัญ ยังเป็นการอุทิศให้กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากการโจมตีในเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 ในปี 2001 อีกด้วย
บิลลีเคยขนานนามเพลง Wake Me Up When September Ends ว่าเป็นเพลงที่มีความหมายเชิงอัตชีวประวัติของเขามากที่สุดที่เคยเขียน มันเป็นดั่งบทเพลงที่ช่วยเยียวยาหัวใจ แต่ก็ยากเย็นทุกครั้งที่ต้องขึ้นแสดง ความจริงแล้วเพลงนี้ควรจะถูกบรรจุในอัลบั้ม Shenanigans (2002) แต่ตัวบิลลีเองยังไม่พร้อมที่จะบันทึกเสียง ดังนั้น มันจึงไปอยู่ในอัลบั้ม American Idiot ปี 2004 แทน
แม้ท่วงทำนองของ Wake Me Up When September Ends จะไม่มีอะไรซับซ้อน (แต่โครงสร้างของเพลง คอร์ดที่ใช้ และน้ำเสียงของบิลลี กลับสร้างความรู้สึกชวนคิดถึงบางสิ่งแทบขาดใจได้อย่างน่าประหลาด) หากทว่าความหมายของบทเพลงที่ถูกถ่ายทอดจากความรู้สึกที่มาจากก้นบึ้งของความทรงจำนั้นช่างฟังดูเศร้าสร้อยและแสนเจ็บปวด แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้การจากไปของคนหนึ่งคนที่สำคัญอาจทำให้นาฬิกาของชีวิตใครหยุดเดิน แต่นาฬิกาแห่งความเป็นจริงในชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อ พร้อมๆ กับการเติบโตที่ไม่ว่าชอบหรือชัง เราคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะไม่เผชิญได้
Summer has come and passed
The innocent can never last
Wake me up when September ends
Like my father’s come to pass
Seven years has gone so fast
Wake me up when September ends
‘ฤดูร้อนผ่านมาเยือนและก็จากไป ความไร้เดียงสามิอาจคงอยู่ได้ตลอด ช่วยปลุกฉันทีเมื่อเดือนกันยายนสิ้นสุดลง เหมือนคุณพ่อที่จากฉันไปไกลแสนไกล เจ็ดปีช่างผันผ่านไปไว ช่วยปลุกฉันทีเมื่อเดือนกันยายนสิ้นสุดลง’
เนื้อเพลงในท่อนแรกตีความหมายได้หลากหลายแง่มุม แต่หลักๆ เป็นการพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนผ่านของบางสิ่งที่จะนำมาซึ่งสิ่งใหม่ที่แปลกไป เช่น ฤดูที่ผันผ่านนำมาซึ่งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและบรรยากาศใหม่ๆ ในแง่หนึ่ง ช่วงเวลาบั้นปลายของฤดูร้อนยังมักเป็นช่วงที่เด็กคนหนึ่งกำลังจะเติบโตขึ้น เพราะมันคาบเกี่ยวกับวันหยุดฤดูร้อนที่กำลังจะหมดลง และการกลับเข้าสู่รั้วสถานศึกษาอีกครั้ง
เช่นเดียวกันกับความตายของ แอนดรูว์ อาร์มสตรอง (Andrew Armstrong) พ่อของบิลลี ที่มาเยือนในเดือนกันยายน และเปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล
เพียงเพราะเรายังไร้เดียงสาในวันนี้ ไม่ได้แปลว่าเราจะได้พบเจอแต่สิ่งที่ดีงาม หรือความไร้เดียงสาจะอยู่กับเราไปตลอด เพราะไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ความเปลี่ยนแปลงจะต้องมาเคาะประตูหน้าบ้านโดยไม่สนว่าเราจะพร้อมต้อนรับหรือไม่ เช่นเดียวกับสิ่งที่บิลลีได้พานพบในวัยเพียง 10 ขวบ
Here comes the rain again
Falling from the stars
Drenched in my pain again
Becoming who we are
As my memory rests
But never forgets what I lost
Wake me up when September ends
‘สายฝนร่วงหล่นลงมาจากดวงดาวบนฟากฟ้าอีกครั้ง กระหน่ำลงบนบาดแผลอีกครา ทำให้กลายมาเป็นเราในทุกวันนี้ เมื่อความทรงจำที่มีนิ่งสงบ อย่างไรก็ไม่อาจลืมเลือนสิ่งที่สูญไป ช่วยปลุกฉันทีเมื่อเดือนกันยายนสิ้นสุดลง’
สายฝนที่ร่วงหล่นลงมาเปรียบเสมือนน้ำตาที่ไหลรินจากดวงตา ในช่วงเวลาที่ความยากลำบากมาเยือน เราจะมองเห็นตัวตนที่แท้จริงของคนคนหนึ่งจากห้วงเวลาแห่งความเจ็บปวดเช่นนี้เสมอ เพราะพวกเขาจะไม่สามารถซ่อนความรู้สึกที่แท้จริงไว้ได้อีกต่อไป และความเจ็บปวดเหล่านั้นล้วนประกอบร่างให้เราเป็นเรา เป็นมนุษย์ที่มีความแหว่งวิ่นจากบาดแผลแห่งความทรงจำ
เมื่อวันที่คลื่นลมทะเลสงบลง ไม่ได้แปลว่าพายุจะไม่พัดพาคลื่นยักษ์มาอีก เช่นเดียวกับบิลลี ที่ถึงแม้จะยอมรับในความเป็นจริงของสิ่งที่เกิดได้ แต่ความทรงจำของความเจ็บปวดเกี่ยวกับคุณพ่อของเขายังไม่เคยจางหายไป
Summer has come and passed
The innocent can never last
Wake me up when September ends
Ring out the bells again
Like we did when spring began
Wake me up when September ends
‘ฤดูร้อนผ่านมาเยือนและก็จากไป ความไร้เดียงสามิอาจคงอยู่ได้ตลอด ช่วยปลุกฉันทีเมื่อเดือนกันยายนสิ้นสุดลง เสียงกระดิ่งสั่นระรัวอีกครั้ง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อต้นฤดูใบไม้ผลิ ช่วยปลุกฉันทีเมื่อเดือนกันยายนสิ้นสุดลง’
เสียงกระดิ่งหรือระฆังที่ดังขึ้นในยามหนึ่ง มักหมายถึงบางสิ่งบางอย่างกำลังจะสิ้นสุดลง และบางสิ่งบางอย่างกำลังจะเริ่มต้นขึ้น (นึกภาพเสียงกริ่งในโรงเรียน พอหมดเวลาพักเรามักรู้สึกขมขื่นทุกครั้งที่จะต้องกลับเข้าห้องเรียน) สำหรับบิลลี ฤดูใบไม้ผลิเป็นห้วงยามที่พ่อของเขายังมีชีวิต นั่นหมายถึงช่วงเวลาแห่งความสุข และความเยาว์วัยของบิลลีที่ยังคงอยู่เช่นกัน
แต่เมื่อใบไม้ผลิผันผ่าน ฤดูร้อนเวียนมาและจบลง การมาถึงของฤดูใบไม้ร่วงในต้นเดือนกันยายน นั่นเป็นช่วงเวลาที่ใบไม้จะปลิดปลิวร่วงหล่นจากกิ่งก้านสู่พื้น และเปรียบเสมือนสัญญาณแห่งวันเวลาของพ่อบิลลีที่กำลังสูญสลายลงไปช้าๆ กลายเป็นความทรงจำแสนเจ็บปวดในทุกครั้งที่เวียนมาถึง
Summer has come and passed
The innocent can never last
Wake me up when September ends
Like my father’s come to pass
Twenty years has gone so fast
Wake me up when September ends
‘ฤดูร้อนผ่านมาเยือนและก็จากไป ความไร้เดียงสามิอาจคงอยู่ได้ตลอด ช่วยปลุกฉันทีเมื่อเดือนกันยายนสิ้นสุดลง เหมือนคุณพ่อที่จากฉันไปไกลแสนไกล ยี่สิบปีช่างผันผ่านไปไว ช่วยปลุกฉันทีเมื่อเดือนกันยายนสิ้นสุดลง’
ในท่อนแรกของเพลง มีเนื้อเพลงที่บอกว่า “Like my father’s come to pass. Seven years has gone so fast” บิลลีเขียนเพลงนี้ในช่วงที่อายุประมาณ 17-18 ปี นั่นหมายถึงระยะเวลา 7 ปี หลังจากที่พ่อเขาจากไปตอน 10 ขวบ ส่วนในท่อนนี้ที่มีการเปลี่ยนเนื้อเพลงจาก ‘Seven years’ เป็น ‘Twenty years’ คือระยะเวลา 20 ปี ระหว่างช่วงปีที่พ่อของเขาจากไป กับช่วงปีที่มีการบันทึกเสียง (เสียชีวิตปี 1982 บันทึกเสียงปี 2002) แต่ถึงแม้เวลาจะเคลื่อนผ่านไปนาน ดูเหมือนว่าความทรงจำของบิลลีจะยังติดอยู่ที่เดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลง
ถึงแม้ว่าวันเดือนปีจะเคลื่อนผ่านมาและผ่านไปกี่ครา ความสูญเสีย ความเจ็บปวด ความโศกเศร้าที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ล้วนคือความจริงที่จะดำรงอยู่กับเราตลอดไป อยู่ที่ว่าเราเลือกจะวิ่งหนีจากความสูญเสียไปตลอด หรือยอมรับว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
ดังที่ถ้อยคำแห่งปัญญาของพุทธศาสนาได้กล่าวไว้ สิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ จงโอบกอดทุกสถานการณ์ที่เข้ามาในชีวิตเราด้วยความเข้าใจ ขอบคุณทุกสถานการณ์ที่ทำให้เราเติบโต แข็งแกร่ง เรียนรู้ และทำความเข้าใจว่าไม่มีอะไรเป็นได้ดังที่เราหวังตลอด
Recommended Tracks
01 Track: When I Come Around Album: Dookie Released: 1994
02 Track: Boulevard of Broken Dreams Album: American Idiot Released: 2004
03 Track: The Forgotten Album: ¡Tré! Released: 2012