What a Wonderful World

What a Wonderful World: บทเพลงที่ชวนให้มองเห็นความสวยงาม ในสังคมที่เต็มไปด้วยความเส็งเคร็ง

“And I think to myself, What a wonderful world – ฉันจึงครุ่นคิดกับตัวเอง โลกนี้ช่างงดงามเหลือเกิน” น้ำเสียงนุ่มทุ้ม (และแหบเสน่ห์) ของหลุยส์ อาร์มสตรอง (Louis Armstrong) นักทรัมเป็ตและนักร้องเพลงแจ๊ซชาวอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค ดังแว่วขึ้นมาที่ไหนสักแห่งในช่วงสิ้นปี 2019 ท่ามกลางบรรยากาศอันนิ่งเนิบ พาให้เราหันกลับมา ‘ครุ่นคิดกับตัวเอง’ 

        ใช่, What a Wonderful World – โลกนี้ช่างงดงาม และเพลงนี้ก็ช่างดูเป็นเพลงที่ชวนให้เรามองโลกในแง่ดี อีกทั้งดนตรีของเพลงก็ดึงอารมณ์เราให้นิ่งสงบอย่างประหลาดจนจะเคลิ้มตามที่ลุงแซทช์โม (Satchmo) ร้องอยู่แล้วเชียว แต่พลันที่เสียงมอเตอร์ไซค์แต่งท่อแบบผิดธรรมชาติถูกบิดผ่านโสตประสาทไปอย่างจังบนถนนที่อยู่ไม่ไกล ฝันก็พลันมลาย กลายเป็นความคิดที่ว่า “เอ๊ะ หรือจริงๆ แล้วเพลงนี้มันกำลังประชดเรากันแน่” 

        What a Wonderful World เขียนโดย บ็อบ ทีเลอร์ (Bob Thiele) และ เดวิด ไวส์ (David Weiss) และปล่อยเป็นซิงเกิลในปี 1967 ระหว่างช่วงสงครามเวียดนาม มันถูกเขียนขึ้นเพื่อพยายามจะนำความหวังมาสู่เหยื่อหลายล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ทั้งการสูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รัก รวมถึงการที่เด็กๆ ต้องถูกส่งไปยังดินแดนห่างไกลจากครอบครัว เพื่อหลบหนีสงครามที่เกิดขึ้น ทั้งยังเพื่อช่วยบรรเทาบรรยากาศของความขัดแย้งรุนแรงในยุคที่เต็มไปด้วยการแบ่งแยกสีผิว เชื้อชาติ และปมปัญหาทางการเมืองซึ่งระอุไปทั่วสหรัฐอเมริกา 

        ถึงแม้ทศวรรษ 60s จะเต็มไปด้วยอคติเหล่านี้ แต่อาร์มสตรองผู้ซึ่งเป็นอเมริกันผิวสีกลับได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในสังคมคนผิวขาว ทั้งในฐานะนักดนตรีและในฐานะปุถุชนธรรมดา ซึ่งเป็นเสมือนสิทธิพิเศษที่สงวนไว้ให้กับชาวแอฟริกันและอเมริกันเพียงไม่กี่คนที่เป็นบุคคลสาธารณะ โดยเฉพาะอาร์มสตรองผู้มีอิทธิพลสำคัญต่อประวัติศาสตร์คนผิวสี

         อย่างไรก็ตาม แม้อาร์มสตรองจะมีชื่อเสียงมากและได้รับโอกาสให้เข้าถึงสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันเป็นอย่างดี ทั้งการได้รับประทานอาหารในร้านอาหารชั้นเลิศ หรือได้เข้าพักในโรงแรมชั้นหรูที่มักสงวนไว้สำหรับคนผิวขาว แต่เขาก็พยายามระมัดระวังไม่ให้สิ่งเหล่านี้กลับกลายเป็นการ ‘อวดโอ่’ ต่อคนอื่นๆ (แต่ก็ยังไม่วายถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นคนผิวสีที่ลืมตัว)

 

        ในแง่ความนิยม What a Wonderful World ขึ้นสู่ชาร์ตสูงสุดในสหราชอาณาจักร และถูกบันทึกไว้ใน Grammy Hall of Fame ในปี 1999 ถึงแม้ว่า What a Wonderful World จะเป็นเพลงที่ผู้คนยกให้เป็นเสมือนตัวแทนอาร์มสตรอง หากแต่ในความเป็นจริงเพลงนี้เทียบไม่ได้กับตัวตนที่แท้จริงและผลงานของเขาตลอดทั้งชีวิต—ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบทเพลงแจ๊ซ—เลยแม้แต่น้อย

        เดวิด ไวส์ เคยเล่าไว้ในหนังสือ Off the Record: Songwriters on Songwriting ของ เกรแฮม แนช (Graham Nash) ว่าเขาเขียนเพลงนี้ขึ้นมาเพื่ออาร์มสตรองโดยเฉพาะ และได้แรงบันดาลใจมาจากความสามารถของอาร์มสตรองที่ได้นำผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติรวมกันเป็นหนึ่งผ่านความเป็นเขา อย่างไรก็ตาม เพลงนี้กลับไม่ได้ถูกเสนอให้อาร์มสตรองเป็นผู้ขับร้อง แต่ไวส์เลือกที่จะส่งเพลงนี้ให้ โทนี เบนเน็ตต์ (Tony Bennett) เป็นคนแรก แต่เบนเน็ตต์ก็ปฏิเสธโอกาสในครั้งนี้ไป—ถึงแม้ว่า ริกกี้ ริคาร์ดี (Ricky Riccardi) ผู้เขียนหนังสืออัตชีวประวัติของอาร์มสตรองจะโต้แย้งขอกล่าวอ้างนี้ในภายหลังก็ตาม

        เรื่องน่าขันคือ หลังจากนั้น เบนเน็ตต์ได้นำเพลงนี้มาคัฟเวอร์หลายต่อหลายครั้งทีเดียว

        What a Wonderful World เป็นเพลงที่พูดถึงการชื่นชมยินดีกับความงดงามของสิ่งต่างๆ ที่รายล้อมเราอยู่ ทั้งเหตุการณ์บางเหตุการณ์ รวมถึงความมหัศจรรย์ของกลไกธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาจนเราละเลยหรือมองข้ามไป แต่หากเราลองหยุดมอง ใคร่ครวญ พิจารณา เราอาจได้มองเห็นความงามที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ อันหมายรวมถึงโอกาสในการเข้าถึงความลับของความงามแห่งชีวิตที่คนส่วนมากไม่เคยสัมผัสก็เป็นได้

        ผมอยากชวนให้คุณลืมเสียงท่อรถมอเตอร์ไซค์ไปก่อน ต่อจากนี้เราจะขอลอง ‘โลกสวย’ ผ่านบทเพลงนี้ดูสักรอบ

 

 

I see trees of green, red roses too

I see them bloom, for me and you

And I think to myself

What a wonderful world

“ฉันเห็นต้นไม้สีเขียว กุหลาบสีแดงก็เช่นกัน ฉันเห็นมันผลิบานให้แก่ฉันและคุณ ฉันจึงครุ่นคิดกับตัวเอง โลกนี้ช่างงดงามเหลือเกิน”

        กี่ครั้งที่เราจะมีโอกาสได้เฝ้ามองความเป็นไปของธรรมชาติรอบๆ กาย ต้นไม้ที่เจริญงอกงามในแต่ละวัน แต่ละเดือน และแต่ละปี ภาพดอกไม้ที่ค่อยๆ แย้มบานสะพรั่ง สำหรับบางคนอาจเป็นภาพชินตาที่แสนธรรมดา แต่บางคนก็ช่างแสนใส่ใจที่จะเฝ้ามองดูการเติบโตของมันด้วยความรู้สึกรื่นรมย์ยินดี 

        แม้ในสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยตึกรามโอ่อ่าสูงใหญ่ก็ตาม หากเราสามารถค้นพบพื้นที่สีเขียวที่ซุกซ่อนอยู่ตามตรอกมุมต่างๆ ได้บ้างก็คงจะดีไม่น้อย และคงไม่ทำให้หัวใจเราด้านชาจนเกินไป

I see skies of blue and clouds of white

The bright blessed days, the dark sacred nights

And I think to myself

What a wonderful world

“ฉันเห็นฟ้าสีคราม และก้อนเมฆสีขาว แสงสว่างราวกับจะอวยพรยามกลางวัน ค่ำคืนที่แสนศักดิ์สิทธิ์ ฉันจึงครุ่นคิดกับตัวเอง โลกนี้ช่างงดงามเหลือเกิน”

 

        สีสันยามกลางวันและยามค่ำคืน ล้วนเป็นปรากฏการณ์ปกติของกลไกแห่งโลกใบนี้ แต่สำหรับบางคนที่มีสายตาในการมองโลกที่ลึกซึ้ง เรื่องธรรมดาในการรับรู้ทางกายภาพอย่างเช่นการได้เผชิญกับวันที่อากาศดี ท้องฟ้าโปร่งโล่ง แจ่มใส เพียงเท่านั้นก็ช่วยเพิ่มความสดใส กระปรี้กระเปร่า ในการใช้ชีวิตตลอดทั้งวันได้ และถึงแม้ยามค่ำคืนจะดูมืดมิด เต็มไปด้วยความลึกลับ ไม่น่าไว้วางใจ แต่มันก็อาจเป็นเวลาสุขสงบที่เปิดโอกาสให้เราได้ใคร่ครวญถึงสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต และตกผลึกกับมันได้ 

 

The colors of the rainbow so pretty in the sky

Are also on the faces of people going by

I see friends shaking hands, saying how do you do

They’re really saying, I love you

“สีสันของสายรุ้งที่สวยงามบนท้องฟ้า เช่นกันกับบนใบหน้าของผู้คนที่ผ่านไปมา ฉันเห็นมิตรต่างจับมือซึ่งกัน ไถ่ถามว่าสบายดีไหม และพวกเขาก็บอกรักกันอย่างจริงใจ”

 

        รุ้งปรากฏขึ้นทันทีหลังจากน้ำท่วมใหญ่จากการบันดาลของพระเจ้า เพื่อขจัดบาปและความชั่วร้ายให้ออกไปจากโลก รุ้งจึงเป็นดั่งสัญลักษณ์ของความเมตตาจากพระองค์ และพันธสัญญาที่พระเจ้าทำกับโนอาห์ (ผู้เป็นตัวแทนของมนุษยชาติ) ว่าพระองค์จะไม่ทรงทำลายโลกด้วยวิธีดังกล่าวอีก—อ้างอิงจากพระคัมภีร์บทปฐมกาล 

        แต่หากมองจากบริบทของช่วงเวลาที่เพลงนี้ถูกแต่งขึ้น หรือขณะที่โลกเต็มไปด้วยความขัดแย้ง สายรุ้งคงเป็นความสวยงามที่เกิดขึ้นจากรวมกันสีสันอันหลากหลาย สะท้อนให้เห็นถึงมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความแตกต่างทางสีผิว ชาติพันธ์ุ รวมทั้งทัศนคติ แต่เมื่อมวลมนุษย์ที่แตกต่างหลากหลายเหล่านี้มาอยู่รวมกัน จึงบังเกิดเป็นความสวยงาม 

        บทเพลงนี้จึงคล้ายกับการบอกเป็นนัยว่า อยากให้ทุกคนมองเห็นและยอมรับในความแตกต่างหลากหลายของผู้คนในโลกใบนี้ เพราะมันคือหัวใจสำคัญที่จะทำให้โลกน่าอยู่ 

 

I hear babies cry, I watch them grow

They’ll learn much more

Than I’ll ever know

And I think to myself

What a wonderful world

Yes, I think to myself

What a wonderful world

“ฉันได้ยินเสียงเด็กร้องไห้ ฉันเฝ้ามองดูพวกเขาเติบโต พวกเขาจะได้เรียนรู้บางสิ่งมากกว่าที่ฉันเคยรับรู้ ฉันจึงครุ่นคิดกับตัวเอง โลกนี้ช่างงดงามเหลือเกิน ใช่แล้ว ฉันครุ่นคิดกับตัวเอง โลกใบนี้ช่างงดงามเหลือเกิน”

       
        ไม่น่าแปลกใจที่เสียงเด็กร้องอาจเป็นเสียงกวนโสตประสาทสำหรับบางคน แต่ในความเป็นจริง (หากจะพยายามมองให้ลึกซึ้งดูสักหน่อย – เพราะเพลงได้พาเราให้คิดในแง่บวกมาจวนจะจบอยู่แล้ว) มันก็คือสัญญาณของมนุษย์คนหนึ่งที่กำลังจะเติบโตสู่โลกอันกว้างใหญ่ที่มีบทเรียนอีกมากมายรอให้เผชิญ และหากพูดในบริบทช่วงเวลาที่เพลงถูกปล่อยออกมาในปลายทศวรรษที่ 60s อีกครั้ง What a Wonderful World จึงเปรียบเสมือนบทเพลงที่ต้องการมอบ ‘ความหวัง’ ให้กับผู้คน เพื่อร่วมกันมองไปยังวันข้างหน้าที่ดีกว่า และเป็นโลกที่เราปรารถนาให้ลูกหลานได้เติบโตขึ้นมาใช้ชีวิตที่พร้อมสมบูรณ์กว่าที่เคยเป็น

 

        ถึงแม้ว่าฟังดูเหมือนเป็นเรื่องตลกร้ายและขัดแย้ง เพราะชื่อเพลง What a Wonderful World ดูเหมือนจะชวนให้จินตนาการไปถึงภาพของโลกยูโทเปียอันสงบสุข แต่มันกลับถูกแต่งขึ้นในช่วงสงครามเวียดนามที่นับเป็นประวัติศาสตร์แสนโหดร้ายอันดับต้นๆ ของมนุษยชาติ หากแต่อย่างน้อยมันก็แสดงให้เห็นถึงหัวใจของมนุษย์ที่ยังคงมีความหวัง และยังมองเห็นแง่งามที่ซุกซ่อนอยู่ในชีวิตอันโหดร้าย (และน่ารำคาญ เช่นเสียงมอเตอร์ไซค์แต่งท่อประหลาดๆ) 

        ในการเฝ้ารอคอยความเปลี่ยนแปลงไปสู่ทางที่ดีในอนาคต เราอาจต้องให้เวลาเพื่อให้มนุษย์ได้ตกตะกอนและเกิดการตระหนักรู้ด้วยตนเอง รวมถึงอย่าลืมเปิดโอกาสให้ตนเองได้ใช้เวลาเพื่อชื่นชมสรรพสิ่งต่างๆ ในโลกใบนี้—บางอย่างที่เราอาจไม่เคยสนใจ ใส่ใจ หรือมักมองข้ามไป

        เพราะนั่นก็น่าจะเป็นมุมมองที่ดูเข้าท่าที่สุดแล้วในการใช้ชีวิตบนโลกอันเส็งเคร็งใบนี้ 

 


Recommended Track

01 Track: Heebie Jeebies Released: 1926

02 Track: Potato Head Blues Released: 1927

03 Track: Hello, Dolly! Album: Hello, Dolly! Released: 1964