yesterday

Yesterday: ความฝัน ไข่คน และแม่ผู้เป็นที่รัก สู่บทเพลงอมตะแห่งวันวาน วันนี้ และตลอดไป

ลองจินตนาการว่าจะเป็นอย่างไรหากโลกนี้ไม่มีบทเพลงของ The Beatles? 

     คำถามง่ายๆ ที่ถูกใส่ไอเดียสู่การพัฒนาเรื่องราวให้มีสีสันตามสไตล์ฮอลลีวูดจนกลายมาเป็นภาพยนตร์รอมคอมอย่าง Yesterday ของผู้กำกับ แดนนี บอยล์ (Danny Boyle) และเขียนบทโดย ริชาร์ด เคอร์ติส (Richard Curtis) แน่นอนว่าแฟนเพลงสี่เต่าทองเห็นชื่อปั๊บก็ต้องรู้ปุ๊บว่ามันมาจากบทเพลงบัลลาดอมตะนิรันดร์กาลของสี่เต่าทองที่พวกเขารัก เขียนขึ้นโดย พอล แม็กคาร์ตนีย์ หนึ่งในสมาชิกสี่เต่าทอง (และเป็นหนึ่งในสองสมาชิกร่วมกับ ริงโก สตาร์ ที่ยังคงมีชีวิตอยู่) ซึ่งแฟนเพลงสี่เต่าทองชาวไทยกำลังจะได้รับชมกันช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้

 

     ย้อนกลับไปช่วงทศวรรษที่ 1960s และเป็นยุคที่กระแสร็อกแอนด์โรลครองโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความคลั่งไคล้ The Beatles ของคนหนุ่มสาวทั่วโลกที่จุดกระแส Beatlemania ในทศวรรษนั้น Yesterday ถูกปล่อยออกสู่ผู้ฟังครั้งแรกกับอัลบั้ม Help! ในเดือนสิงหาคมปี 1965 ก่อนที่บทเพลงที่มีความยาวเพียงแค่ 2.03 นาทีนี้จะสั่นสะเทือนโลกดนตรีอย่างมาก ทั้งการเป็นเพลงที่ถูกนำมาคัฟเวอร์บ่อยที่สุด จนถึงปัจจุบัน Yesterday ถูกคัฟเวอร์ไปมากกว่า 2,200 เวอร์ชัน ซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลกดนตรี ถูกโหวตให้เป็นเพลงที่ยอดเยี่ยมที่สุดของศตวรรษที่ 20 จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีและผู้ฟังของ BBC Radio ถูกโหวตให้เป็นเพลงพ็อพอันดับ 1 ตลอดกาลโดย MTV และ นิตยสาร Rolling Stone และได้รับการแต่งตั้งให้เข้าสู่หอเกียรติยศแกรมมี่ในปี 1997

 

yesterday

 

     แต่เบื้องหลังเพลงอมตะนี้กลับมีที่มาจากความฝัน อาหารเช้าอย่างไข่คน และแม่อันเป็นบุคคลที่รัก

     พอลฝันถึงเมโลดี้ของเพลง Yesterday ในคืนหนึ่งที่ห้องของเขาที่ Wimpole Street เมื่อสะดุ้งตื่นขึ้นมา พอลรีบปรี่ไปยังเปียโนข้างเตียง และบรรเลงเมโลดี้ที่เขาได้ยินในฝันออกมาเพื่อไม่ให้เมโลดี้ชุดนั้นเลือนหายไป ความกังวลแรกของพอลคือเขาไม่มั่นใจว่าเมโลดี้ชุดนี้เขาคิดเป็นคนแรก หรือเขาเคยได้ยินคนอื่นเล่นแล้วจดจำมาโดยไม่รู้ตัว พอลใช้เวลาหลังจากนั้นประมาณหนึ่งเดือนในการตระเวนถามผู้คนในแวดวงดนตรีว่าพวกเขาเคยได้ยินเมโลดี้ชุดนี้มาก่อนหรือไม่ คำตอบของผู้คนเหล่านั้นทำให้เขาคลายความสงสัย นั่นเป็นเมโลดี้ของเขาเองจริงแท้

     “มันเหมือนกับความรู้สึกว่าคุณเก็บของบางอย่างไปส่งตำรวจได้อย่างไรอย่างนั้นเลย ตอนนั้นผมคิดว่าถ้าภายในสองสามอาทิตย์นี้ไม่มีใครมารับของชิ้นนี้คืน มันก็จะตกเป็นของผม”

     หลังจากมั่นใจว่าเขาไม่ได้ขโมยเมโลดี้ของใครมา พอลเริ่มต้นเขียนเนื้อเพลงที่เหมาะสมกับเมโลดี้ชุดนี้ ในทีแรกชื่อของเพลงนี้ถูกตั้งว่า Scrambled Eggs หรือไข่คน และเนื้อเพลงสุดไพเราะที่เราคุ้นเคยกันในท่อนแรกก็ถูกแต่งไว้ว่า “Scrambled eggs / Oh my baby how I love your legs / Not as much as I love scrambled eggs” (ขอบคุณพระเจ้าที่ในเวลานั้นพอลไม่เกิดอาเพศขึ้นมาและใช้เนื้อเพลงนี้จริงๆ) เขาใช้เนื้อเพลงนี้เพื่อเป็นไกด์จนกระทั่งขัดเกลาเนื้อเพลงที่เหมาะสมขึ้นมาได้ในที่สุด และถึงแม้ในเครดิตการเขียนเพลง Yesterday จะเป็น Lennon/McCartney ที่เป็นเครื่องหมายการค้าของการแต่งเพลงระหว่าง จอห์น เลนนอน และ พอล แม็กคาร์ตนีย์ ระหว่างที่อยู่สี่เต่าทอง แต่เป็นที่รู้กันว่าพอลเป็นผู้แต่งเพลงนี้ด้วยตนเอง 

     Yesterday เล่าถึงการสูญเสียคนรักไปจากความผิดพลาดที่ถูกก่อขึ้นในความสัมพันธ์และไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้ ความเจ็บปวดคือเราอาจไม่เคยทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเลิกราได้เลย นอกจากเนื้อเพลงที่เชื่อมโยงความรักความสัมพันธ์ของผู้คนทุกยุคสมัย ในแง่ของดนตรี การใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้นที่มีเพียงแค่อะคูสติกกีตาร์ Epiphone Texan 1958 วง String Quartet บรรเลง และเสียงร้องสุดละมุนของพอล แต่สามารถถ่ายทอดความไพเราะเคล้าความโศกออกมาเป็นเพลงบัลลาดแสนเรียบง่าย กินใจ ถือเป็นความคลาสสิกและยอดเยี่ยมที่สุดของตำนานแห่งโลกดนตรีวงนี้

 

 

Yesterday, all my troubles seemed so far away

Now it looks as though they’re here to stay

Oh, I believe in yesterday

“เมื่อวันวาน ปัญหาทุกอย่างช่างดูไกลแสนไกล แต่บัดนี้กลับเข้ามารุมเร้าตรงหน้า แต่ฉันยังเชื่อในวันวาน”

 

     เพลงท่อนแรกบรรยายถึงความรู้สึกในการมองไปยังอดีตที่แสนดี ไร้ซึ่งปัญหาเข้ามาเกาะเกี่ยว จากมุมมองของปัจจุบันขณะ แต่ไม่มีปัญหาไม่ได้แปลว่ามันจะไม่โผล่เข้ามา เพราะเมื่อความสัมพันธ์ดำเนินไปถึงจุดหนึ่ง สิ่งต่างๆ เหล่านั้นจะค่อยๆ เผยโฉมให้ได้เห็น เหมือนกับในท่อนที่บรรยายว่าปัญหาที่เคยหลบซ่อนอยู่ในความสัมพันธ์ บัดนี้เดินทางมาอยู่ต่อหน้าเรียบร้อยแล้ว

 

Suddenly

I’m not half the man I used to be

There’s a shadow hanging over me

Oh, yesterday came suddenly

“ทันทีทันใด ส่วนหนึ่งที่เคยเป็นตัวฉันกลับสูญสลายไป ดั่งเงาที่มาทาบทับเหนือร่าง ภาพวันวานนั้นย้อนกลับมาไม่ทันตั้งตัว”

 

     การบรรยายถึงเงาที่มาทาบทับร่างไว้ฟังดูคล้ายสังหรณ์ไม่ดีที่เกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ เมื่อไหร่ก็ตามที่เงาค่อยๆ รุกไล่ลงมาทอดทับร่าง เราไม่มีทางหลีกหนีมันไปได้ คล้ายกับความทรงจำอันขมขื่นที่บางขณะมันอาจโผล่ขึ้นมาในห้วงความคิดโดยที่ไม่ให้เราได้เตรียมใจ

 

Why she had to go

I don’t know, she wouldn’t say

I said something wrong

Now I long for yesterday

“เหตุใดเธอจึงจากลา ฉันคงไม่มีทางรู้ เพราะเธอไม่ได้เอ่ยกล่าวอะไร ฉันคงพลั้งพลาดพูดอะไรผิดไป และตอนนี้ฉันคิดถึงวันวานเหลือเกิน”

 

     วินาทีแรกเราอาจรักกัน วินาทีถัดมา ทุกอย่างอาจพังสลายลงต่อหน้าต่อตาโดยไม่ทันได้ตั้งตัวและไม่สามารถล่วงรู้ถึงเหตุผลได้เลย นี่คือรูปแบบของสิ่งที่เรียกว่าความสัมพันธ์ ก่อร่างขึ้นและพังทลายลงซ้ำแล้วซ้ำเล่า

     อย่างไรก็ตาม มีเกร็ดที่น่าสนใจที่เล่าไว้ในอัตชีวประวัติของ พอล แม็กคาร์ตนีย์ ในขณะที่ผู้ฟังหลายคนเชื่อมโยงบทเพลงนี้ระหว่างพอลกับคนรักของเขา (พอลเขียนเพลงนี้ในช่วงที่ยังมีความสัมพันธ์กับ เจน แอชเชอร์ (Jane Asher) ก่อนที่จะสิ้นสุดลงสี่ปีให้หลังจากนั้น) แต่ในความเป็นจริงเพลงนี้คล้ายเป็นการแสดงความเคารพต่อ แมรี แม็กคาร์ตนีย์ (Mary McCartney) แม่ผู้ล่วงลับไปในปี 1956 เมื่อพอลอายุได้ 14 ปี ด้วยเช่นกัน

     “แม่ของผมจากไปตอนผมอายุ 14 นั่นเป็นความช็อกและความสูญเสียที่สุดของผมในช่วงวัยนั้น ท่านเสียชีวิตเพราะมะเร็ง แต่นั่นเป็นสิ่งที่ผมได้รู้หลังจากเสียท่านไป ทีแรกผมไม่รู้เลยว่าทำไมท่านต้องจากผมไป” พอลเล่า “การจากไปของแม่ทำให้พ่อหัวใจสลาย การต้องเห็นพ่อร้องไห้เป็นสิ่งที่แย่ที่สุดสำหรับผม ผมไม่เคยได้ยินเขาร้องให้มาก่อน มันกระทบครอบครัวของเราอย่างมหันต์”

     ในปี 2013 พอลให้สัมภาษณ์กับ Mojo ว่าเขาไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้มาก่อน แต่เมื่อได้ร้องเพลงนี้ต่อเนื่องหลายปี เขาจึงเริ่มคิดว่า แท้จริงแล้ว Yesterday อาจเกี่ยวกับแม่ของเขาต่างหาก “ผมคิดว่าผมร้องเพลงนี้โดยนึกถึงแม่แบบไม่รู้ตัว” คำบอกเล่าของพอลสะท้อนถึงเนื้อเพลงท่อน “Why she had to go, I don’t know, she wouldn’t say, I said something wrong…” 

     เรื่องของ แมรี แม็กคาร์ตนีย์ กับบทเพลงที่พอลแต่งไม่ได้มีแค่เพลง Yesterday หากจำได้ อีกเพลงที่โด่งดังมากอย่าง Let it be ก็มีการกล่าวถึงเธอเช่นกันในท่อน “When I find myself in times of trouble, Mother Mary comes to me. Speaking words of wisdom, Let it be” 

 

Yesterday

Love was such an easy game to play

Now I need a place to hide away

Oh, I believe in yesterday

“เมื่อวันวาน เกมแห่งความรักช่างเล่นง่ายดาย แต่ตอนนี้ฉันกลับต้องการพื้นที่เพื่อหลีกหนีไป แต่อย่างไรฉันก็ยังเชื่อมั่นในวันวาน”

 

     แน่นอนว่าเมื่อทุกอย่างพังทลายลง เรามักนึกย้อนไปถึงความทรงจำของรักในวันวานที่ทุกอย่างดูสดใส ราวกับว่านั่นเป็นสิ่งที่อยู่แสนไกลจากซากปรักหักพังของความรักในตอนนี้ที่ล้มเหลวไม่เป็นท่าเสียเหลือเกิน สิ่งที่เราทำได้อาจไม่ใช่การย้อนเวลากลับไปวันชื่นคืนสุขนั้น แต่เป็นเพียงการหลบลี้หนีไปพักใจ ครุ่นคิดถึงบทเรียนที่ได้รับมาอย่างตกผลึก และก้าวเดินต่อไป

     อย่างไรก็ตาม การทิ้งท้ายด้วยประโยคเรียบง่ายอย่าง “I believe in yesterday” หรือความเชื่อมั่นในวันวานนั้น ฟังดูแสนกำกวม ทั้งดูเศร้า ทว่าขณะเดียวกันก็โรแมนติก เพราะฟังคล้ายเป็นการมองความล้มเหลวในแง่ดี บางทีการย้อนระลึกถึงอดีตที่ขมขื่นอาจเป็นกับดักให้เราติดอยู่ในหล่มของความทุกข์เดิม แต่การเลือกเก็บเกี่ยวเฉพาะความทรงจำที่ดีก็สามารถแปรเปลี่ยนเป็นความหวังถึงสิ่งที่ดีกว่าในวันพรุ่งได้เช่นกัน

     การจากลาอาจดูเหมือนความเจ็บปวด แต่มันก็งดงามในเวลาเดียวกัน ดั่งเช่นกับเพลงนี้ที่ถึงแม้จะเศร้าสร้อย แต่ก็ไพเราะจับใจ

 


Recommended Tracks

01 Track: And I Love Her Album: A Hard Day’s Night Release: 1964

02 Track: Blackbird Album: The Beatles Release: 1968

03 Track: Let It Be Album: Let It Be Release: 1970